xs
xsm
sm
md
lg

อียิปต์ตายเจ็บกว่า800 ยันม็อบใหญ่ไล่มูบารัควันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเอฟพี - บริเวณใจกลางกรุงไคโรที่เป็นศูนย์กลางการชุมนุมประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค กลายเป็นสมรภูมิปะทะกันนองเลือดในวันพุธ(2) และยืดเยื้อมาจนถึงวานนี้(3) เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนทางการอียิปต์ยกกำลังบุกเข้าต่อสู้กับพวกผู้ประท้วง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน ขณะที่แกนนำของผู้ประท้วงยืนกรานไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลจนกว่ามูบารัคจะออกไป พร้อมกับยืนยันจัดการชุมนุมใหญ่อีกในวันนี้(4)

ในวันที่ 10 แห่งการลุกฮือของประชาชนอียิปต์ แนวร่วมแห่งชาติเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นแกนนำของฝ่ายค้านได้ปฏิเสธไม่ยอมเจรจาใดๆ กับทางระบอบปกครองของประธานาธิบดีมูบารัค จนกว่าผู้นำประเทศที่ครองอำนาจมาถึง 30 ปีแล้วจะออกไป โมฮัมเหม็ด อะบุล กอร์ โฆษกของแนวร่วมกล่าวกับเอเอฟพี

ก่อนหน้านั้น สถานีโทรทัศน์ของรัฐรายงานว่า รองประธานาธิบดีโอมาร์ สุไลมาน ได้ทำพิธีเปิดการสนทนากับ “พรรคการเมืองและกลุ่มพลังต่างๆ ในชาติ” ถึงแม้ตัวเขาเองได้บอกปฏิเสธไม่ยอมพูดจาใดๆ กับฝ่ายค้าน จนกว่าพวกผู้ประท้วงจะยอมกลับบ้าน

แต่ โมฮัมเหม็ด อะบุล กอร์ ตอบโต้ว่า ต่อเมื่อมูบารัคออกไปนั่นแหละ ทางแนวร่วมจึงพร้อมที่จะสนทนากับสุไลมาน ทั้งนี้แนวร่วมนี้ประกอบไปด้วย โมฮาเหม็ด เอลบาราเด นักการทูตผู้เคยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ, สมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood), ขบวนการเคฟายะ และพรรคการเมืองอื่นๆ

ขณะที่การต่อสู้กันเพื่อควบคุมสมรภูมิแห่งจัตุรัสตอห์รีร์ ใจกลางกรุงไคโร ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการชุมนุมประท้วงต่อต้านมูบารัคคราวนี้ ยังคงดำเนินอยู่เป็นระยะๆ หลังจากเริ่มขึ้นในบ่ายวันพุธ(2) แล้วยืดเยื้อต่อเนื่องตลอดทั้งคืนจนกระทั่งเข้าสู่วันพฤหัสบดี(3) โดยที่กระทรวงสาธารณสุขให้ตัวเลขว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา การปะทะกันทำให้มีผู้ถูกสังหารไป 5 คน และบาดเจ็บ 836 คน

ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันทั้งด้วยก้อนหิน ท่อนไม้ และระเบิดขวดแบบโมโลตอฟค็อกเทล โดยที่แผ่นหินปูพื้นของบริเวณจัตุรัสถูกงัดขึ้นมาทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดพอเหมาะแก่การใช้มือขว้าง

ในช่วงเช้าวานนี้(3) ในที่สุดกำลังทหารราว 50 คนก็ได้เคลื่อนเข้ามาเพื่อสร้างเขตกันชนระหว่างกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุนมูบารัค ทว่าในเวลาต่อมาพวกหัวรุนแรงของกลุ่มหนุนก็ได้บุกฝ่าแนวเขตดังกล่าวและขว้างก้อนหินเข้าใส่ผู้ประท้วงอีก จากนั้นฝ่ายทหารจึงต้องส่งขบวนรถถังออกมาผลักไสให้พวกผู้สนับสนุนมูบารัคถอยห่างออกไปใหม่

น.พ.โมฮัมเหม็ด อิสมาอิล ซึ่งอยู่ที่สถานพยาบาลชั่วคราวที่ตั้งอยู่ในบริเวณสี่แยกอีกแห่งหนึ่งถัดไปจากตอห์รีร์ ระบุว่าในช่วงคืนวันพุธ มีมือปืนบุกเข้ามายิงสังหารผู้ประท้วงต่อต้านมูบารัคจนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 4 คน โดยที่เชื่อกันว่าผู้ที่ยิงคือตำรวจนอกเครื่องแบบซึ่งจงรักภักดีต่อฝ่ายรัฐบาล

ถึงแม้จะเผชิญการโจมตีอย่างรุนแรงด้วยฝีมือของพวกที่เข้าใจกันว่าเป็นคนของระบอบปกครองมูบารัค แต่พวกผู้ประท้วงนับหมื่นก็ยังประกาศว่า พวกเขาจะเดินหน้าแผนการที่จะจัดการชุมนุมเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันนี้(4) ซึ่งพวกเขาขนานนามว่าเป็น “วันแห่งการลาจาก” ของมูบารัค

จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจัตุรัสตอห์รีร์ ทำให้นานาชาติเพิ่มเสียงประณามทางการอียิปต์มากขึ้น สหรัฐฯซึ่งเคยออกมาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้น ได้ประณามการใช้ความรุนแรงต่อ “ผู้ทำการประท้วงอย่างสันติ” ขณะที่ บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติก็กล่าวว่า การโจมตีต่อพวกชุมนุมประท้วงเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ “ไม่สามารถยอมรับได้”

ทางด้านผู้นำของชาติใหญ่ๆ ในยุโรป อันได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, และสเปน ได้ร่วมกันออกคำแถลงเรียกร้องให้อียิปต์ดำเนินการเปลี่ยนถ่ายอำนาจกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ การเรียกร้องเช่นนี้เป็นการกล่าวย้ำสิ่งที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้แถลงเอาไว้ในวันก่อนหน้านั่นเอง

ทว่านี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอียิปต์ยังไม่ยอมอ่อนข้อให้ โดยที่กระทรวงการต่างประเทศได้ออกคำแถลงตอบโต้ว่า การเรียกร้องดังกล่าวเหล่านี้ “มุ่งที่จะทำให้สถานการณ์ภายในประเทศ (อียิปต์) ยิ่งลุกลาม”

อาเหม็ด ชาฟิก นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดๆ ของอียิปต์ ดูจะพยายามบรรเทาความโกรธกริ้วที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากเหตุการณ์การปะทะกันที่จัตุรัสตอห์รีร์ โดยเขาได้กล่าวขอโทษสำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น แลสัญญาะจะไม่ยอมให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก แต่เขาก็ยืนกรานว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่าใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เวลานี้ผู้ประท้วงในจัตุรัสตอห์รีร์ ส่วนใหญ่เป็นพวกฮาร์ดคอร์หนุ่มๆ ซึ่งมีทั้งพวกชนชั้นกลางที่จบมหาวิทยาลัยและไม่ได้เคร่งครัดศาสนา กับพวกนักเคลื่อนไหวอิสลามิสต์ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งมีฐานะยากจนกว่า คนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอย่างในประเทศตูนิเซีย ซึ่งประธานาธิบดีซิเน อัล-อาบิดีเน เบน อาลี ถูกบังคับให้หลบหนีออกนอกประเทศในเดือนที่แล้ว

ทว่าชาวอียิปต์อื่นๆ จำนวนมากยังคงมีความเคารพยกย่องมูบารัค และปรารถนาที่จะให้เขาจากไปอย่างมีเกียรติมากกว่า

อนึ่ง จากความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาในกรุงไคโร ได้ส่งผลทำให้น้ำมันดิบชนิดเบรนต์ ขยับราคาขึ้นไปอีกเมื่อวานนี้โดยอยู่ในระดับ 103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เมื่อวานนี้ยังเกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นที่เยเมน ประเทศอาหรับอีกรายหนึ่งที่มีผู้นำประเทศซึ่งปกครองแบบเผด็จการมาอย่างยาวนาน

ถึงแม้ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเละห์ จะพยายามตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการแถลงในวันพุธว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อครบวาระในปี 2013 โดยจะไม่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพ หรือพยายามให้บุตรชายของเขาสืบทอดตำแหน่ง ทว่าฝ่ายต่อต้านก็ยังไม่พอใจและจัดการชุมนุมประท้วงขึ้นตามแผนโดยที่มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลแก้ลำด้วยการจัดการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งปรากฏว่าสามารถระดมคนได้มากพอๆ กับกลุ่มประท้วง แถมยังบุกเข้าไปยึดจัตุรัสกลางกรุงซานา อันเป็นจุดนัดหมายของฝ่ายประท้วงไว้ก่อนด้วย จนพวกชุมนุมประท้วงต้องเปลี่ยนไปรวมพลกันที่มหาวิทยาลัยซานาซึ่งอยู่ห่างออกไป 2 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเมื่อวานนี้ยุติลงโดยไม่ได้มีเหตุรุนแรงอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น