เอเจนซี/เอเอฟพี - ทางการอียิปต์ประกาศวันพุธ(26) ห้ามการชุมนุมเดินขบวน และรีบเข้าสลายผู้ประท้วงที่พยายามรวมตัวกันอีก หลังจากที่ในวันอังคาร(25) ก็ได้ใช้แก๊สน้ำตาและเครื่องฉีดน้ำเข้าขับไล่ฝูงชนหลายหมื่นคน ซึ่งออกมาเรียกร้องขับไล่รัฐบาลทั้งในกรุงไคโรและเมืองอื่นๆ การเคลื่อนไหวประท้วงเช่นนี้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ขับไล่ผู้นำประเทศตูนิเซียที่อยู่ใกล้เคียงกันนั้น นับเป็นสิ่งที่ไม่เกิดปรากฏขึ้นมาก่อนกับประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ ตลอดระยะเวลาการปกครองยาวนานถึง 30 ปีของเขา
พวกนักเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งจำนวนมากอาศัยเครื่องมือสื่อสังคมสมัยใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น เฟซบุ๊ก และ ทวีตเตอร์ ได้เรียกร้องให้ชาวอียิปต์ออกมาตามท้องถนนอีกเมื่อวานนี้ เพื่อยุติการปกครองของมูบารัคที่กดขี่และทำให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อน หลังจาก “วันแห่งความโกรธแค้น” เมื่อวันอังคาร ซึ่งมีผู้ประท้วงออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และเกิดการปราบปรามและปะทะกัน จนมีผู้เสียชีวิตไปรวม 4 คน เป็นผู้ประท้วง 3 และตำรวจ 1 คน
ทั้งนี้ภายหลังที่การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อถึงตอนกลางคืนวันอังคาร ตำรวจก็ได้ยิงแก๊สน้ำตาและใช้เครื่องฉีดน้ำเข้าสลายผู้ประท้วงที่บริเวณจัตุรัสตอห์รีร์ ใจกลางกรุงไคโร เมื่อย่างเข้าชั่วโมงแรกๆ ของวันพุธ กระทั่งถึงเวลาเช้า ทั้งไคโรและเมืองอื่นๆ ก็ดูจะอยู่ในความสงบ โดยที่ตำรวจได้ระดมกำลังเป็นจำนวนมากออกรักษาการณ์รอบๆ นครหลวง
ขณะที่พนักงานทำความสะอาดกำลังกวาดก้อนหินและเศษหักพังชิ้นท้ายๆ ออกจากท้องถนนของกรุงไคโร หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าก็ถูกส่งมาถึงยังแผงขาย โดยที่พาดหัวตัวโตเรื่องทางการออกคำสั่งห้ามชุมนุม
“ห้ามการเคลื่อนไหวที่มุ่งยั่วยุก่อกวน ห้ามการชุมนุมประท้วง หรือการจัดการเดินขบวน ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที และผู้เข้าร่วมจะถูกส่งตัวไปให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบทำการสอบสวน” สื่อต่างๆ รายงานคำสั่งที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์
ตามรายงานของผู้สื่อข่าว วานนี้มีผู้ประท้วงพยายามมาชุมนุมกันอีกทั้งในกรุงไคโร และในเมืองมาฮัลเลาะห์ เอล-คูบรา ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม ทว่าได้ถูกตำรวจเข้าสลายอย่างรวดเร็ว
อย่างน้อยที่สุดในช่วงเช้าวันพุธ(26) บรรยากาศก็แตกต่างไปจากในวันอังคาร ซึ่งมีผู้ชุมนุมเดินขบวนจำนวน 2-3 หมื่นคน ออกมาเรียกร้องให้มูบารัคลงจากตำแหน่ง พวกเขาแสดงความโกรธกริ้วไม่พอใจต่อปัญหาความยากจน, การว่างงาน, การทุจริตคอร์รัปชั่น, และการกดขี่ปราบปราม ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในอียิปต์ ทั้งนี้การประท้วงคราวนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ประชาชนชาวตูนิเซีย ซึ่งเป็นชาติมุสลิมในแอฟริกาเหนือเช่นเดียวกัน ได้ชุมนุมประท้วง จนในที่สุดก็กดดันให้ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมานานต้องลาออกและหลบหนีไปลี้ภัยในต่างประเทศ
ผู้ประท้วงในวันอังคารได้ตะโกนคำขวัญให้โค่นล้มมูบารัค และฉีกภาพของประธานาธิบดีผู้นี้และ กามัล ผู้เป็นบุตรชายของเขา ซึ่งชาวอียิปต์จำนวนมากเชื่อว่ากำลังได้รับการบ่มเพาะเพื่อขึ้นครองตำแหน่งต่อไปในอนาคต ถึงแม้ทั้งบิดาและบุตรคู่นี้ต่างปฏิเสธว่าไม่มีแผนการเช่นนั้น