xs
xsm
sm
md
lg

‘ไข่ไก่ชั่งกิโล’ อลวนอลเวงเรื่องไข่ๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดิมประเทศไทยมีกระบวนการขายไข่แบบค้าปลีก แบ่งแยกขนาดของ ‘ไข่’ ออกตามเบอร์ เริ่มต้นตั้งแต่ขนาดใหญ่ เบอร์ 0 ไล่จนถึงขนาดย่อมอย่างเบอร์ 6 ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนก็ต่างกันไป บ้างมีเจตจำนงที่ต้องการไข่ฟองใหญ่ บ้างต้องการไข่ขนาดกลาง พื้นฐานของคนไทยเลยเคยชินกับการบริโภคไข่ตามเบอร์ ที่มีให้เลือกตามขนาด ซึ่งราคาก็ผันเปลี่ยนไปตามขนาดเช่นกัน

แต่วันนี้ความเคยชินของผู้บริโภคก็ถูกทำลายลง เมื่อรัฐบาลของ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายให้ขายไข่ไก่โดยการขายแบบชั่งกิโลฯ เพื่อจะลดต้นทุนในเรื่องของการแยกขนาดไข่ของเกษตรกร ตามแผนปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ หนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล ที่อ้างว่าจะตอบโจทย์ของปัญหาในสังคมไทยอย่างมีมิติ และกลายเป็นเรื่องราววิพากษ์กันอย่างหนาหู

ความต่างของ ‘ไข่’ ในรูปแบบค้าส่ง-ค้าปลีก

นโยบายการขายไข่แบบชั่งกิโลฯ ขายเกิดขึ้น หลังการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์, สมาคมผู้ค้าไข่ไก่, สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และตัวแทนตลาดสด โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะเริ่มทดลองขายไข่ไก่แบบชั่งกิโลฯ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในตลาดสดบริเวณเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ ตลาดยิ่งเจริญ, ตลาดมีนบุรี, ตลาดรังสิต โดยจะจำหน่ายไข่ไก่แบบคละในราคากิโลกรัมละ 50-52 บาท ที่จะลดภาระรายจ่ายให้ประชาชนได้ฟองละ 10-20 สตางค์ ตามที่รัฐบาลสำรวจ

ด้านผู้ผลิตไข่ไก่ส่งตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อย่าง นภาพร เครือรัฐติกาล แห่งสงวนฟาร์ม มองนโยบายการขายไข่เป็นกิโลกรัมเป็นเรื่องปกติที่ผู้ค้าส่งปฏิบัติกันตลอดมา

“การขายส่งก็ถือเป็นเรื่องทำกันอยู่แล้ว เพราะเวลาขายจะมีรถมารับ แล้วรับซื้อไปเป็นกิโลกรัม โดยไม่จำเป็นต้องมีการคัดขนาดไข่ แต่การขายที่น่าเปลี่ยนแปลงก็คือ การขายแบบปลีก ซึ่งปกติจะขายเป็นแผง ซึ่งหากถามว่าสามารถปรับมาขายแบบเป็นกิโลกรัมได้หรือไม่นั้น ก็ถือว่าทำได้ และไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรมากนัก แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการคัดขนาดอยู่เหมือนเดิม”

โดยนภาพรมองว่า การขายไข่แบบชั่งกิโลฯ นั้น เป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ซื้อรายย่อย

"จริงๆ คุณจะขายแบบไหนได้ทั้งนั้น ถ้าคนซื้อรับได้ เช่น เบอร์ 2 หนัก 62 กรัม ส่วนเบอร์ 6 หนัก 7 กรัม อะไรก็คิดกันไป มันไม่ยากหรอกที่จะทำ คนซื้อก็คิดเป็น คนขายก็คิดเป็น ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่มันจะยุ่งนิดหน่อย เพราะคนซื้อเขาไม่ค่อยใช้เศษสตางค์กัน แล้วมันไม่รู้จะปรับกันยังไงดี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญมากๆ ต่อให้คุณจะขายแบบไหนก็ตามก็คือ ต้องมีการคัดขนาด ขายแบบคละไม่ได้เด็ดขาด เพราะคนซื้อจะไม่รับรู้แน่นอน ความนิยมของคนซื้อที่มีต่อไข่นั้นไม่เหมือนกัน อย่างไข่เล็กคนไม่นิยม เพราะเปลือกมันเยอะ”

ที่สำคัญ นภาพรมองว่า หากรัฐบาลจะทำนโยบายจริงๆ ก็ต้องไม่บังคับให้ทุกคนตามกันหมด เพราะนั่นอาจจะนำไปสู่ปัญหามากกว่าที่จะเป็นการแก้ปัญหา

เมื่อ (ไข่) ไก่แตกแถว

ส่วนผสมสำคัญของเบเกอรี่ คงหนีไม่พ้นไข่ไก่ ซึ่งแต่ละสูตรก็ใช้ปริมาณไข่ไก่ที่จำแนกต่างกันไป สมภพ กาศยปนันทน์ เจ้าของร้านท่าน้ำนนท์เบเกอรี่ ในฐานะของผู้ประกอบการซึ่งใช้ไข่ทีละมากๆ มีความเห็นว่า การขายไข่เป็นกิโลฯ นั้น จะนำความยุ่งยากมาสู่ผู้ประกอบการ

“ตอนที่ทำขนมนี่ ผมนับเป็นฟองเอานะ เพราะในสูตรที่เราทำใช้หน่วยของฟองในการวัด ซึ่งวันหนึ่งก็ใช้อยู่ประมาณ 1,500 - 2,000 ฟอง ซึ่งถ้ามันมาขายเป็นกิโลฯ เราก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน มันจะยุ่งยากตรงที่เราต้องมาคำนวณสูตรใหม่หมด ต้องมาใช้หน่วยกรัมแทน อย่างสมมติทำขนมอย่างหนึ่งใส่ใข่ 40 ฟอง เราก็ต้องมาคำนวณว่า 40 ฟองที่ว่านั้นมันเป็นกี่กรัม”

แต่ไม่ได้มองการขายไข่ไก่แบบชั่งกิโลฯ ด้านลบ แต่เท่าที่ประเมินความเสี่ยงกับธุรกิจของตนนั้น สมภพกลับพบแต่ข้อเสีย

“แต่คิดไปคิดมาแล้ว ถึงอย่างไรทางเราก็จะต้องสั่งไข่เป็นฟองมาอยู่ดี เพราะเราต้องการไซส์ไข่ที่มีขนาดเท่ากัน เพราะมันจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานในการทำขนมนั้น บางครั้งมันจะต้องแยกไข่แดง ไข่ขาวด้วย ซึ่งถ้าไข่มาแบบคละ ปริมาณไข่แดงไข่ขาวที่ได้ก็ต่างกัน คุณภาพของไข่ฟองเล็กหรือฟองใหญ่ก็ต่างกัน”

ไม่ใช่ของใหม่ นโยบายชั่งกิโลฯ ไข่ไก่ ภาค 2

ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดภาวะไข่ล้นตลาด กระทั่งเกิดการรณรงค์ให้ขายไข่แบบชั่งกิโลฯ ขาย ซึ่งครั้งนั้นกลับประสบความล้มเหลว ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าถึงนโยบายที่ล้มเหลวและล่มสลายไป เพราะผู้บริโภคไม่ยินดีร่วมมือ
“เมื่อผู้บริโภคไม่ตอบรับ ในที่สุดก็ต้องหยุดไป ทางห้างฯ เองก็ไม่สะดวก อุปสรรคเยอะ ทำเป็นกิโลแล้วใส่ถุงมันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะแตกได้”

ฉวีวรรณ ขยายความต่อว่า วิธีการชั่งกิโลฯ ไข่ขายในสมัยเมื่อก่อน จะมีวิธีการชั่งโดยนำใส่แผงหรือภาชนะเป็นถาดเล็กๆ แล้วก็วางบนตาชั่งทั่วไป ซึ่งไม่มีความคล่องตัวเหมือนการขายแยกขนาด ส่วนขั้นตอนการชั่งอาจจะยังไม่เป็นปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาในขั้นตอนการใส่ถุง ซึ่งวันนี้ผู้บริโภคค่อนข้างติดเรื่องความสะดวกสบาย การเลือกซื้อไข่แบบชั่งกิโลฯ คงมีหลายกลุ่มที่ปฏิเสธ

ทั้งนี้สังเกตได้ว่าความต้องส่วนนี้ ตรงกับการวางตลาดของบริษัทค้าไข่ขนาดยักษ์แห่งหนึ่ง โดยไข่ที่ขายนั้นจะถูกบรรจุเป็นแพ็กอย่างดี แล้วนำไปขายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ ไม่ได้ขายแบบชั่งกิโลกรัมหรือเป็นแผงเหมือนกับผู้ประกอบการรายย่อย ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของวิธีการขายไข่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัท และน่าจะเป็นทางเลือกของผู้บริโภคด้วย

ส่วนแม่ค้าขายไก่อย่าง วิยดา นิลสุวรรณ วัย 28 ปี เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เห็นว่าการขายไข่แบบชั่งกิโลฯ นั้น เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับการซื้อขายในปริมาณมากๆ แต่สำหรับค้าปลีกอาจมีความเป็นไปได้

“ถ้าขายปลีกก็พอขายได้นะ คือถ้าขายปลีกระหว่างตัวเราเองกับลูกค้ามันไม่มีปัญหา อย่างลูกค้าซื้อ 3 ฟอง เราก็ชั่งได้ แต่อาจจะมีปัญหาเวลาขาดไปนิดหนึ่งลูกค้าอาจจะไม่เอา แต่ถ้าเกินก็เอา ปัญหามันอยู่ตรงนี้ไง ไข่มันไม่เหมือนกระเทียมหรือหัวหอมที่เราหยิบออกได้ ไข่มันเป็นฟองๆ ชั่งแล้วน้ำหนักไม่ถึง บางทีลูกค้าเขาจะไม่เอา อย่างคนมาซื้อไข่แก้บน เอาไข่สิบแผง เราก็มัดไปเลย แต่ถ้าบอกว่าจะเอาไข่เท่านี้โล แล้วเราจะมาชั่งยังไง มันยุ่งยาก”

ข้อสังเกตจากประสบการณ์ของวิยดาที่น่าสนใจก็คือ เธอไม่คิดว่าการขายไข่เป็นกิโลกรัมจะช่วยให้ไข่ราคาถูกลง ด้านฟาร์มขายไข่เองก็ลงทุนกับเครื่องคัดแยกไปพอสมควร และถ้าเจอฟาร์มหัวหมอที่ให้ไก่กินวิตามินเสริมเพื่อให้เปลือกไข่มีความหนาผู้บริโภคก็จะยิ่งเสียเปรียบ
………

ช่วงเวลา 3 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2554 ที่รัฐบาลขอเวลาทดลองจำหน่ายไข่แบบชั่งกิโลฯ ผู้บริโภคคงเป็นคำตอบที่ดีว่า นโยบายนี้จะไปรอด หรือจะหยุดไปอีกสัก 10 ปี แล้วกลับมาให้วิพากษ์กันระลอกที่ 3
>>>>>>>>>>
 

……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร



กำลังโหลดความคิดเห็น