ย้อนกลับไปในปี 2457 ที่สหรัฐอเมริกา บริษัท เยอเนอรัล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น ออฟ แคลิฟอร์เนีย (ปัจจุบันคือ บริษัท โมบิลออยล์ จำกัด) ปิ๊งไอเดียทำบัตรลักษณะเหมือนเหรียญโลหะขึ้นมาเพื่อให้พนักงานและลูกค้านำไปใช้ชำระค่าน้ำมัน นี่ถือเป็นจุดกำเนิดของบัตรเครดิต
จากนั้นปี 2493 เกิดบัตรไดเนอร์สคลับใช้ซื้อสินค้าและบริการแทนการจ่ายเงินสด ซึ่งต่อมาบัตรเครดิตถูกพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้นโดยบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส
แม้การเข้ามาทำตลาดครั้งแรกในประเทศไทยของบัตรเครดิตไดเนอร์สคลับ เมื่อปี 2512 จะไม่เปรี้ยงปร้าง เพราะมีนักธุรกิจเพียงหยิบมือเดียวที่สมัครเป็นลูกค้า แต่ตอนนี้บัตรเครดิตได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนหลากหลายกลุ่มจากหน้ามือเป็นหลังมือ
เพราะบัตรเครดิตเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งจ่ายค่าสินค้า บริการ และค่าอื่นๆ ในร้านค้าและการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต
คนจำนวนไม่น้อยพิสมัยการใช้บัตรเครดิตรูดปื๊ดๆ แทนการจ่ายเงินสดหรือไม่นั้น ดูได้จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่ระบุว่า เมืองไทยมีผู้ใช้บริการบัตรเครดิต ทั้งของธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทย และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีจำนวนทั้งสิ้นถึง 13,403,853 ใบ (บัญชี) มีปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 65,799.35 ล้านบาท และปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ 2,995.70 ล้านบาท
เมื่อจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตพุ่งสูงขึ้น แน่นอนว่าอาชญากรรมบัตรเครดิตหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยบัตร ขโมยข้อมูลในบัตร ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รูดปื๊ดทำพิษ
‘อาชญากรรมบัตรเครดิต’ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มักมีผู้โทรศัพท์เข้าไปร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานรับเรื่องร้องเรียน ยกตัวอย่างเรื่องร้องเรียนให้ฟัง เช่น บัตรเครดิตหายหรือถูกขโมย บัตรถูกแฮกขโมยข้อมูล เอกสารถูกขโมยเพื่อนำไปปลอมแปลงทำบัตรเครดิต โดยอาชญากรรมบัตรเครดิตมีทั้งที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ทำกันเป็นขบวนการ หรือบางทีบัตรอาจจะหล่น แล้วคนที่รู้จักหยิบไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ
“กรณีบัตรเครดิตหาย ส่วนใหญ่จะไม่โดนกดเงินสดแต่จะเป็นการรูดซื้อสินค้าตามร้านค้ามากกว่า ซึ่งก็เกิดขึ้นโดยที่เจ้าของบัตรไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็มีหมายศาลมาที่บ้านแล้ว และเมื่อบัตรหายและมีการติดตามทวงหนี้ ทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตก็สำรองเงินจ่ายไปก่อนและมาเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรภายหลัง”
ไม่ต่างจาก พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ รองประธานและผู้จัดการแผนกประกันภัยรถยนต์และทรัพย์สินส่วนบุคคล บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ จำกัด ที่มองว่ายุคนี้อาชญากรรมบัตรเครดิตทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ
“คนร้ายมีทั้งคนไทยและต่างชาติ การก่อเหตุก็มีตั้งแต่ง่ายๆ จนถึงที่สลับซับซ้อนอย่างการติดตั้งอุปกรณ์ตามตู้เอทีเอ็ม แล้วก็ดูรหัส จากนั้นก็ก็อบปี้ข้อมูล โอนเงินข้ามบัญชี หรือแม้แต่เวลาเราไปรับประทานอาหาร แล้วยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานเสิร์ฟ เขาก็สามารถก็อบปี้บัตรเราง่ายๆ ด้วยการเอาโทรศัพท์มือถือถ่ายด้านหน้า-ด้านหลัง เพื่อใช้ข้อมูลซื้อของผ่านเว็บไซต์”
หากบัตรเครดิตหายหรือถูกโจรกรรมข้อมูล เจ้าของบัตรต้องรีบไปแจ้งความและอายัดบัตรให้เร็วที่สุด เพื่ออายัดบัตรในส่วนที่ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นหลักฐานหากถูกฟ้องร้องเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการบัตร และป้องกันหนี้ที่จะเกิดภายหลัง
นฤมลบอกว่า ขั้นตอนการพิสูจน์เพื่อสาวไปถึงตัวผู้กระทำผิดในอาชญากรรมบัตรเครดิตค่อนข้างยาก
“การพิสูจน์ทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งอายัดก่อนที่บัตรจะถูกผู้อื่นนำไปใช้ ถ้าแจ้งหลังจากถูกใช้แล้วจะพิสูจน์ยากว่า ผู้ถือบัตรหรือใครเป็นผู้ทำธุรกรรมทางการเงินนั้น ส่วนการพิสูจน์การแฮกข้อมูลของบัตร การเอาข้อมูลของคนอื่นไปทำบัตรเครดิต ปัจจุบันมีความรัดกุมในการเซ็นสำเนาที่ต้องมีการกำกับไว้ว่าใช้ทำอะไรเพื่ออะไร กรณีนี้จึงไม่ค่อยพบ”
ทั้งนี้ทั้งนั้น แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งชี้แจงว่า หากบัตรเครดิตถูกขโมยหรือมีมิจฉาชีพโจรกรรมข้อมูลในบัตรไปใช้จ่ายทำธุรกรรมทางการเงิน ผู้ถือบัตรเครดิตสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้
โดยพิจารณาจากธุรกรรมที่เกิดว่าเกิดกับช่องทางการซื้อผ่านบัตรแบบใด ถ้าเป็นการนำบัตรที่ถูกขโมยไปใช้ทางอินเทอร์เน็ต (Card not present) ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่มีการแสดงบัตรขณะซื้อขาย ผู้ถือบัตรสามารถปฏิเสธการจ่ายได้ หากตรวจพิสูจน์แล้วพบว่าไม่ได้ใช้จริง
“ถ้าเป็นการซื้อแบบแสดงบัตรก็ยิ่งชัดเจนขึ้นในการตรวจสอบหาผู้ที่นำบัตรมาใช้จริง อาจตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดของร้านค้านั้นๆ หรือหลักฐานลายเซ็นบนสลิปบัตร แต่ถ้ากรณีบัตรหาย ผู้ถือบัตรไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังการแจ้งอายัดบัตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติเป็นสากลของทุกๆ บัตรเครดิตอยู่แล้ว”
ประกันบัตรเครดิตบุกไทย
จากปัญหาอาชญากรรมบัตรเครดิต และตัวเลขผู้ถือบัตรเครดิตในเมืองไทยที่มีมากเอาการ ทำให้บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ฯ เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ประกันบัตรเครดิต ซึ่งมีในต่างประเทศมา 2-3 ปีแล้ว
ความเสียหายที่กรมธรรม์ตัวนี้จะรับผิดชอบ คือกรณีถูกขโมยบัตรไปใช้ รวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูลในบัตรทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งบริษัทจะรับผิดชอบให้ 12-24 ชั่วโมงก่อนจะมีการแจ้งอายัดบัตรกรณีบัตรหาย และ 60 วันหากถูกโจรกรรมข้อมูล
การรับเงินค่าสินไหม ทำได้โดยส่งเอกสารแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใบรับรองการแจ้งอายัดกับธนาคาร รวมไปถึงใบแจ้งหนี้ของธนาคารที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นบริษัทฯ จะจ่ายเช็คภายใน 2 สัปดาห์ ในวงเงินไม่เกินที่ลูกค้าซื้อประกันเอาไว้
อย่างไรก็ตาม การผลิตอะไรใหม่ๆ ออกมาก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกโกงได้ ซึ่งรองประธานบริษัทประกันภัยกล่าวว่า ในข้อนี้ทางบริษัทได้คิดเอาไว้แล้ว โดยก่อนอื่นบริษัทจะมีการสกรีนลูกค้าระดับหนึ่งก่อน โดยจะดูจากข้อมูลที่ลูกค้ากรอกเป็นเบื้องต้น เพื่อเช็คว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน
แต่ทั้งนี้ ก็ยอมรับว่าคงไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย เพราะหากผู้นั้นตั้งใจจะโกง เช่น ให้เพื่อนไปทำธุรกรรมแทน ขณะที่ตัวเองแจ้งบัตรหายก็คงจะหาทางป้องกันได้ลำบาก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าเองว่ามีความสุจริตแค่ไหน
เอกซเรย์ประกันบัตรเครดิต
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ข้อมูลว่า กรณีเกิดการสูญหายของบัตรเครดิตจะยากต่อการพิสูจน์ว่า เป็นการกระทำของบุคคลภายนอก หรือเกิดจากการฉ้อฉลของผู้เอาประกัน ดังนั้น ประกันบัตรเครดิตจึงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยไม่ค่อยพิจารณารับประกันบัตรเครดิตสำหรับบุคคลทั่วไป แต่อาจจะพิจารณารับประกันฯ เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้น
ดังนั้น การประกันบัตรเครดิตจึงยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในเมืองไทย
ปัจจุบันมีการประกันภัยทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบแพกเกจ ซึ่งมีหลายหมวดความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว ซึ่งความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกซื้อได้ คือหมวดความคุ้มครองเกี่ยวกับการสูญเสียทางการเงิน จากการใช้บัตรเครดิตที่สูญหายหรือการโจรกรรมโดยทุจริต โดยบริษัทจะชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรจ่ายเงินของผู้เอาประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายหลังจากบัตรจ่ายเงินเกิดการสูญหายหรือถูกโจรกรรม
และหมวดความคุ้มครองโจรกรรมที่ถอนเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ โดยให้ความคุ้มครองการโจรกรรมเงินจากบัตรจ่ายเงิน ตามความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย และการบาดเจ็บทางร่างกาย (ค่ารักษาพยาบาล)
อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันจะต้องศึกษารายละเอียดในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากแต่ละบริษัทจะกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป
สำหรับหน้าที่ของ สำนักงาน คปภ. ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองในลักษณะนี้แก่บริษัทประกันภัยแล้ว โดยการพิจารณาเงื่อนไข ความคุ้มครองต่างๆ ให้เหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัย แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทประกันภัยยังมิได้ยื่นขอรับความเห็นชอบอัตราเบี้ยประกันภัย ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจึงยังไม่มีการขายในขณะนี้ แต่สำนักงาน คปภ. สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาดเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคโดยเร็ว
ช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีประกันบัตรเครดิต กรมธรรม์ที่กล่าวมาข้างต้น จะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมในการต่อสู้คดี ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย และสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย
แหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ แสดงความเห็นต่อกรมธรรม์ประกันบัตรเครดิตว่า หากมีบริษัทประกันที่กล้าออกมารับความเสี่ยงแทนผู้ถือบัตรก็น่าจะเป็นการดี แต่ในเชิงการปฏิบัติจริงนั้น จะยากและมีเงื่อนไขของการที่จะต้องพิสูจน์ว่าบัตรนั้นถูกโจรกรรมข้อมูลจริง
นอกจากนั้น ประกันบัตรเครดิตเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับธนาคารผู้ออกบัตร เพราะถือเป็นการลดความเสี่ยงของธนาคารที่จะต้องรับผิดชอบหนี้สูญที่อาจเกิดจากการปฏิเสธการจ่ายจากผู้ถือบัตร แต่ต้องมีความระมัดระวังด้วย
“ผู้ประกอบการประกันต้องระวังการที่นักฉวยโอกาสจะใช้ช่องทางนี้ในการหากินจากการซื้อกรมธรรม์ แล้วแจ้งบัตรหายหรือถูกโจรกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าในการให้ข้อมูลเท็จแก่บริษัทประกันด้วย"
..........
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK