หน่วยงานเอกชนและรัฐบาลอเมริกันควงแขนเตรียมความพร้อมสู้ภัยไซเบอร์อย่างสมานสามัคคี กูเกิล (Google) ผนึกกำลังอินเทล (Intel) ให้ความร่วมมือหน่วยข่าวกรองรัฐบาลหวังตั้งคอกป้องกันนักเจาะระบบตัวร้ายในอนาคต
รับกับที่ส.ส.อเมริกันพร้อมใจผ่านร่างกฏหมายให้งบพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเพื่อรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์อย่างทันใจ แสดงถึงความตื่นตัวต่อภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตในฐานะปัญหาใหญ่ของรัฐบาลและผู้ประกอบการ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามสู่ประชาชน
กูเกิล อินเทล และหน่วยข่าวกรองต่างประเทศของสหรัฐฯ หรือสภาความมั่งคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US National Security Agency : NSA) นั้นไม่ได้ออกมาประกาศรายละเอียดความร่วมมืออย่างเป็นทางการ แต่ความร่วมมือนี้ถูกเปิดเผยเมื่อองค์กรการกุศลเพื่อรักษาสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ หรือ Electronic Privacy Information Center (EPIC) ออกมาเรียกร้องให้ NSA เปิดเผยรายละเอียดความร่วมมือกับกูเกิล เพื่อให้สาธารณชนทราบว่ายักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตและหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯมีเงื่อนไขดำเนินการระหว่างกันอย่างไร
แม้เรื่องจะแดงขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครออกมาให้รายละเอียดความร่วมมือครั้งนี้ โดยนักสังเกตการณ์เชื่อว่าภาคเอกชนและรัฐบาลของสหรัฐฯ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อหาทางสืบสวนและค้นหาเบาะแสเพื่อเอาผิดกรณีระบบไอทีของบริษัทสัญชาติอเมริกันถูกเจาะระบบไปเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าจะเป็นบันไดไปสู่การป้องกันภัยโจมตีระบบขั้นอื่นๆ ในอนาคต
ข่าวเรื่องกูเกิลร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการพร้อมใจกันลงมติผ่านกฏหมายเรื่องการตั้งกองทุนเพื่อวิจัยและฝึกสอนความรู้ด้านการป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา มติเห็นด้วย 422 ต่อ 5เสียง ไฟเขียวให้งบประมาณเพื่อเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ให้กับทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของรัฐบาลสหรัฐฯกว่า 49 แห่งถูกพบร่องรอยการเจาะระบบโดยแฮกเกอร์ต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้สภาผู้แทนฯสหรัฐมองว่าการวิจัยด้านความปลอดภัยเหล่านี้ไม่ควรกระจุกตัวอยู่เฉพาะในภาคการศึกษาหรือภาคธุรกิจรายใดรายหนึ่ง แต่ควรจะเกิดขึ้นบนความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายในชาติ จึงต้องการจัดสรรกองทุนเพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสาธารณชน ด้วยการให้ความรู้ การวิจัย และการพัฒนาระบบ โดยงบประมาณในการพิจารณาครั้งนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านสหรัฐ
ญัตตินี้ถือเป็นญัตติเรื่องความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์เรื่องแรกที่สามารถผ่านการพิจารณาในช่วง 1 ปีที่บารัค โอบามาก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว นอกจากการจัดสรรทุน ส.ส.อเมริกันยังต้องการให้มีการจัดตั้งหน่วยงานหัวกะทิเรื่องความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เพื่อให้มีการรายงานความคืบหน้าภัยออนไลน์แก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯโดยตรง
ความตื่นตัวเรื่องภัยไซเบอร์นี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทไอทีสหรัฐหลายสิบแห่งใน"ซิลิกอนวัลเลย์"เขตอุตสาหกรรมไอทีของสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าถูกแฮกเกอร์ต่างชาติเจาะระบบและขโมยข้อมูลลับของบริษัทไปตั้งแต่ปลายปี 2009 หนึ่งในนั้นคือกูเกิลที่ออกมาให้รายละเอียดว่าพบการเจาะระบบจีเมลที่อนุมานได้ว่าเป็นความพยายามในการปราบปรามกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสระในประเทศจีนของรัฐบาลมังกร จนทำให้เกิดความขัดแย้งและการเจรจาอื่นๆตามมา แน่นอนว่าการเจาะระบบครั้งนั้นยังไม่สามารถตามดมมือใครได้ และนี่คือบทเรียนราคาแพงที่ทุกฝ่ายในแดนอินทรีย์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก
Company Related Links :