xs
xsm
sm
md
lg

‘ศูนย์ฮัจญ์’ ประสานมุสลิมไทยสู่เมกกะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์–ฮินดู ซิกข์’ หรือแม้แต่ศาสนา นิกาย ลัทธิอื่นๆ ในโลก ล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็มีองค์ประกอบหลักคำสอน ประเพณี พิธีกรรมเป็นของตัวเอง แต่ถ้าให้ทายว่า ศาสนาใดที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับสองของโลก บางคนก็อาจจะรู้หรือบางคนไม่รู้ บ้างก็รู้แต่ไม่แน่ใจ แต่ถ้าบอกว่าศาสนานี้มี 'อัลเลาะห์’ เป็นพระเจ้าและมี ‘มุฮัมมัด’ เป็นศาสดา ทุกคนก็คงนึกออกแน่นอน

และนั่นก็คือศาสนาอิสลามนั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกศาสนาหนึ่งที่มีความสำคัญของโลก มีคนนับถือประมาณ 1.6 พันล้านคนจากประเทศมุสลิม 67 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนประชากรทั้งโลก ซึ่งอยู่ที่ 6.8 พันล้านคน

ในประเทศไทยศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และปัจจุบันมีชาวมุสลิมประมาณ 3.9 ล้านคน คิดเป็น 5.8 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรของประเทศ หากเทียบอัตราส่วนประชากรมุสลิมทั่วโลก ประเทศไทยคือ 0.3 เปอร์เซ็นต์

โดยรากศัพท์ 'อิสลาม' มาจากคำว่า 'อัส-สิลมฺ' หมายถึง สันติ โดยมีนัยว่าการสวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้มนุษย์ได้พบกับสันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้ ศาสนาอิสลามยังมีหลักคำสอนซึ่งประกอบด้วยหลักการศรัทธา หลักการจริยธรรม และหลักการปฏิบัติ

โดยหนึ่งในหลักการปฏิบัตินั้นคือการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งสักครั้งหนึ่งในชีวิตของชาวมุสลิมต่างก็อยากเดินทางไปเข้าร่วมพิธีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเดินทางไปเข้าร่วมพิธีนี้ต้องใช้ความอุตสาหะ อดทนต่อความยากลำบาก เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ มีความสามารถที่จะไปโดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารในการเดินทาง มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก...กว่าที่มุสลิมแต่ละคนจะเข้าพิธีฮัจญ์ได้

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมฮัจญ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกิจกรรมฮัจญ์ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทาง ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ผู้แสวงบุญ รวมไปถึงเพื่อเป็นข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับกิจกรรมฮัจญ์

นอกจากนี้ ยังมีการทำหนังสือเดินทาง บริการฉีดวัคซีนป้องกัน และตรวจสุขภาพของผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์อีกด้วย

ทำให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญแก่ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมไม่น้อยกว่าศาสนาพุทธเลยทีเดียว โดยเฉพาะพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

'ศูนย์ฮัจญ์' สำคัญไฉน

คงจะสงสัยกันว่า 'ศูนย์ฮัจญ์' มีความสำคัญหรือมีหน้าที่อย่างไรในการที่จะทำให้มุสลิมในประเทศไทยไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นในฐานะเจ้าของไอเดียอย่าง กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม อนุชา หะระหนี หัวหน้าฝ่ายประสานงานกิจการศาสนาอิสลาม ได้กล่าวถึงหน้าที่หลักของศูนย์นี้ว่า คือการประสานงาน โดยจะต้องประสานทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำหนังสือเดินทาง การฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพ รวมทั้งเป็นศูนย์สถิติด้วย โดยทางกรมฯ มุ่งมั่นจะให้ศูนย์นี้มีลักษณะการบริการในรูปแบบวัน สต็อป เซอร์วิส

"แต่ก่อนการดำเนินการบางอย่าง เช่น ทำหนังสือเดินทาง ผู้ไปประกอบพิธีอาจจะต้องขึ้นมาส่วนกลาง ซึ่งต่อไปนี้ไม่ต้องแล้ว สามารถทำที่นั่นได้เลย หรือแม้แต่คู่มือที่กรมศาสนาเป็นผู้จัดพิมพ์ ทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องมารับที่นี่ แต่ต่อไปเราก็ตั้งใจว่าจะส่งไปที่นั่นเลย ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกมากขึ้น"

อีกหน้าที่ที่สำคัญก็คือการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่จะไปประกอบพิธี ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ทั้งนิทรรศการ การอบรม ฯลฯ

"เราอยากจะให้การทำงานของศูนย์ฯ มีความใกล้ชิดกับทางกรมฯ มากที่สุด เพราะจะได้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเรื่องนโยบายและทิศทาง โดยอีกไม่กี่อาทิตย์นี้จะมีการประชุมถึงรูปแบบของหน่วยงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะแจ้งให้คณะรัฐมนตรี และ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ทราบ ซึ่งเราคิดว่าคงไม่นานเกินรอ ศูนย์ก็น่าจะเปิดดำเนินการได้

“ตอนนี้ ทั้งเรื่องสถานที่และบุคลากรมีความพร้อมหมดแล้ว โดยที่คุยกันจะให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ ศอ.บต. ที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหัวหน้าศูนย์ แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนเรื่องงบประมาณทาง ศอ.บต. เองก็มีงบให้อยู่แล้ว และในอนาคตก็คงมีการจัดตั้งงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป"

ก่อกำเนิด 'ศูนย์ฮัจญ์'

เมื่อรู้ว่าศูนย์ฮัจญ์มีความสำคัญ มีจำเป็นอย่างไรสำหรับพี่น้องมุสลิม แต่จุดเริ่มต้นของความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ฮัจญ์ล่ะคืออะไร? และใครคือคนต้นคิด? ในประเด็นนี้ อนุชา เล่าว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงวัฒนธรรมมาพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่าควรมีการจัดตั้งศูนย์ที่จะบริการประชาชนเกี่ยวกับกิจการฮัจญ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีนี้ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

เพราะพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีประชาชนมุสลิมเป็นจำนวนมาก และปีๆ หนึ่งของผู้เดินทางไปร่วมพิธีนั้นมาจากพื้นที่ตรงนี้ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์

"หากจะถามว่าที่ผ่านมามีความยุ่งยากใช่ไหม ก็ไม่ใช่ แต่เราเล็งเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ เพราะฉะนั้น กิจกรรมบางอย่าง เช่น การอบรมผู้เดินทาง ซึ่ง ศอ.บต. ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ทำให้การดูแลออกมาในภาพรวมเท่านั้น ดังนั้น การทำเช่นนี้จะได้มีกรอบหรือโครงสร้างอะไรต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น

"และถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ที่ผ่านมาเราก็คุยเรื่องนี้กันมานานกับหลายๆ ฝ่าย เช่น น่าจะมีการทำเอ็มโอยู (บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ) ระหว่างกรมศาสนากับ ศอ.บต. แต่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมก็ไม่ได้เริ่มต้นสักที ซึ่งคิดว่าปัญหาหลักๆ นั้นอยู่ที่ไม่มีองค์กรเครือข่ายในภูมิภาคเหมือนหน่วยงานอื่น แม้ปัจจุบันนี้จะมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด แต่ก็ไม่ใช่หน่วยงานของกรมฯ โดยตรง เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ และเมื่อลองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ผมเคยไปดูงานมา เรื่องนี้เขามีเครือข่ายทั้งนั้น เพราะถ้าไม่มีก็ลำบาก

"ส่วนองค์กรทางศาสนานั้น ถึงจะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ถ้าเราจะเอาเครือข่ายที่เกี่ยวกับฮัจญ์ก็คงทำได้บางส่วนเท่านั้น เพราะเขาไม่ใช่หน่วยราชการ การทำงานบางอย่างก็คงยากลำบาก"

'ฮัจญ์' ครั้งหนึ่งในชีวิต (มุสลิม) ที่ต้องไป

“โดยหลักการระบุชัดเจน คนที่จะเดินทางไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพ มีความพร้อม มีสุขภาพดี มีเงิน มีพาหนะเดินทางที่ปลอดภัย ถ้ามีกำลังและทุกอย่างพร้อมแล้วไม่ไป จึงถือว่าผิด และเขาจะไม่มีโอกาสได้ตายในสภาพของคนที่เป็นมุสลิม ซึ่งถ้ามองในแง่คนนับถือศาสนา ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ” อับดุลการีม (อรุณ) วันแอเลาะ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ผู้แทนจุฬาราชมนตรี) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องชาวมุสลิม

เมื่อถามถึงว่า การเดินทางไปแสวงบุญของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ผู้แทนจุฬาราชมนตรีก็บอกว่า มีความสำคัญด้านการร้อยเรียงหลักปฏิบัติสำคัญ 5 ประการของมุสลิม ซึ่งประกอบด้วย 1.ต้องมีอุดมการณ์ปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระเจ้าอัลเลาะห์ 2.การดำรงละหมาดวันละ 5 เวลา 3.การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน 4.การซะกาตหรือการเข้าใจในระบบสังคมสงเคราะห์ในศาสนาอิสลาม และ 5.การแสวงบุญที่เมืองเมกกะเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์

“แต่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมมากกว่า ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับทำอะไรก่อนหลัง การไปประกอบพิธีฮัจญ์ไม่ใช่หลักปฏิบัติสูงสุด หลักสูงสุดคือการทำละหมาดวันละ 5 เวลาต่างหาก”

นอกจากนี้ อับดุลการีม ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกิจการฮัจญ์ขึ้นที่จังหวัดยะลาว่า เป็นเรื่องน่ายินดีของพี่น้องชาวมุสลิม เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ เช่น เรื่องการทำหนังสือเดินทาง จากแต่ก่อนต้องมาทำเรื่องที่กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันสามารถทำที่จังหวัดได้เลย

“หรือเมื่อก่อนหากต้องการเดินทางไปแสวงบุญก็ต้องมาขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมือง แต่ปัจจุบันได้มีเครื่องบินที่สามารถบินตรงไปลงที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเลย เช่น ที่หาดใหญ่ กระบี่ ภูเก็ต จากที่ผมได้ไปสัมผัสมา พี่น้องมุสลิมเราชื่นใจ ปลื้มปีติที่กรุณาอำนวยความสะดวกแบบนี้ นอกจากนั้น เมื่อเราไปอยู่เมืองเมกกะ ทางการไทยก็มีการส่งแพทย์ไปดูแลพี่น้องชาวไทยอีกด้วย”

ไป'ฮัจญ์'ไม่ยากอย่างที่คิด

หลายคนอาจคิดว่าการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิมนั้น ค่อนข้างยากลำบาก กว่าจะจัดเตรียมเอกสาร ค่าเดินทาง ติดต่อที่พัก ประสานกับหน่วยงานต่างๆได้ก็ต้องใช้ระยะเวลานาน หรือบางคนก็ไม่รู้ว่าการไปประกอบพิธีฮัจญ์มีขั้นตอนนอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากที่ไหนก่อน

ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี ชี้แจงขั้นตอนการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบียว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในเมืองไทยที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์นั้น ก่อนอื่นต้องมีพาสปอร์ต

จากนั้นในเดือนมีนาคมของทุกปีต้องไปลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์กับบริษัทที่ประกอบกิจการนำคนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์และกรมการศาสนา เพื่อที่กรมการศาสนาจะได้ตรวจสอบหรือบอกเลิกการขึ้นทะเบียนได้

โดยแต่ละปีเมืองไทยจะมีผู้ได้รับคัดเลือกไปประกอบพิธีฮัจญ์ประมาณ 13,000 คน และผู้ที่ได้ไปประกอบพิธีนี้จะจ่ายเงินให้อแก่บริษัทเหล่านั้นเพื่อเป็นค่าเดินทางและค่าดูแล

สำหรับคนยากจนหรือคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หน่วยงานในท้องที่จะให้ทุนกับคนบางส่วนเพื่อให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ปัจจุบัน การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของผู้แสวงบุญชาวไทย จะมีหน่วยงานของรัฐคือกรมการศาสนาและผู้นำฮัจญ์ในประเทศไทยคอยดูแล อำนวยความสะดวก ประสานงานกับหน่วยงานในซาอุดีอาระเบีย

“ที่ผ่านมาถือว่าอำนวยความสะดวกได้ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถพัฒนาขึ้นไปให้ได้มากยิ่งขึ้นจนถึงมากที่สุดได้ แม้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะมีปัญหาความไม่สงบ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ของคนในพื้นที่”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.วรวิทย์ บอกอีกว่า เห็นด้วยกับการตั้งศูนย์ฯ กิจการฮัจญ์ที่จังหวัดยะลา และกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในกิจกรรมฮัจญ์คือ การตั้งสำนักงานผู้นำฮัจญ์ทั้งในประเทศไทยและในซาอุดีอาระเบีย

………

แม้โครงการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมฮัจญ์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดยะลา จะยังไม่เปิดทำการ แต่คงไม่ช้าเกินรอที่พี่น้องชาวมุสลิมจะได้มีความสะดวกสบายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ พิธีศักดิ์สิทธิ์ของผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วโลก เนื่องจากมีหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่างก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
……….

เรื่อง : ทีมข่าวCLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น