xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.เน้นสร้างยุติธรรมในพื้นที่ จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นสร้างความยุติธรรม เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความละเอียดอ่อนของวิถีชีวิตประชาชนที่แตกต่างกันด้านศาสนาและวัฒนธรรม จำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (19 ส.ค.) นายวีระยุทธ สุขเจริญ รอง ผอ.ศอ.บต.ฝายยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานปี 2551 และการจัดทำแผนปฏิบัติงานปี 2552 ของผู้ปฏิบัติงานศูนย์ยุติธรรมชุมชน ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2551 ณ ห้องประชุมโรงแรม บีพี.แกรนด์ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นตามยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต.เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเข้าใจยุทธศาสตร์ ทิศทางแก้ไขปัญหาแนวทางการดำเนินงานของ ศอ.บต. ให้สอดคล้องกับประชาชนในพื้นที่ ให้บุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนงานต่างๆ ที่จัดทำในปี 2551 และให้ จนท.กระบวนการยุติธรรม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี 2552 ของผู้ปฏิบัติงานศูนย์ยุติธรรมชุมชน มีบุคลากรจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ จากหน่วยงานกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม 130 คน

นายวีระยุทธ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นบทบาทงานยุติธรรมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2551 และแนวทางการดำเนินงานในปี 2552 โดยยึดนโยบายกระทรวงยุติธรรมเป็นหลักพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพของยุติธรรมกระแสหลัก เช่น ตำรวจ ทนายความ อัยการ ในการทำงานร่วมกันเพื่อเร่งสะสางคดีค้างต่างๆ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพัฒนาความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้มาก และทันเหตุการณ์ เพราะที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่จะมีปัญหาด้านพยานบุคคลที่ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือ ส่วนหนึ่งมาจากความเกรงกลัวอิทธิพลในพื้นที่ ดังนั้น การรวบรวมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความละเอียดอ่อนของวิถีชีวิตประชาชนที่แตกต่างกันด้านศาสนาและวัฒนธรรม จำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และวิถีชีวิต เช่นกฎหมายครอบครัว กฎหมายเรื่องมรดก อันจะเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่

ส่วนเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนจะดำเนินการโดยคณะกรรมของการชุมชน และคณะกรรมการอิสลามจังหวัด ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกสมานฉันท์ ดังนั้น ยุติธรรมชุมชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนมีความรู้ดูแลตนเองและครอบครัวเกี่ยวกับข้อกฎหมายเบื้องต้น เช่น กฎหมายสิทธิเสรีภาพของประชาชน การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ การร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม การเฝ้าระวังอาชญากรรม ยาเสพติดเหล่านี้ หากชาวบ้านมีความรู้ขั้นพื้นฐาน จะสามารถร่วมกันดูแลชุมชนให้สงบสุขอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ได้อย่างยั่งยืน

ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะด้านของศูนย์ยุติธรรมฯ คือ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น ทหาร หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง การอบรมประชาชนของโรงเรียนการเมือง และการร่วมกับ ศอ.บต.ในการให้ความรู้แก่ประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น