xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนคลองเตย มหานครในสลัมกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายสิบปีที่ผ่านมา คำว่า ‘สลัม’ ดูจะเป็นคำที่ไม่ค่อยสุภาพ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้สังคมรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา เป็นแหล่งมั่วสุม เป็นแหล่งยาเสพติด และเป็นแหล่งอะไรต่างๆ อีกมากมาย

“การที่มันมีคนมาอยู่กันแออัด เวลาเกิดปัญหาจึงเห็นค่อนข้างชัด แต่ความจริงแล้วถ้าเทียบกับตามอพาร์ตเมนต์หรือตามตึกที่อื่นๆ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ตัวเลขไม่สูง เพราะคนไม่ได้อยู่กันอย่างยัดเยียด” เป็นข้อสังเกตของ เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป

ด้วยความที่เป็นพื้นที่มีปัญหา ทางรัฐจึงพยายามแก้ไขพื้นที่เหล่านี้ วิธีหนึ่งก็ด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียก จาก ‘สลัม’ เป็น ‘ชุมชน’ แทน หรูหราน่าดู

ถ้าพูดถึงชุมชนแออัดในกรุง ‘คลองเตย’ คงต้องถือเป็นอภิชุมชนแออัด ใหญ่โต เก่าแก่ และคลาสสิกที่สุด

โดยมีที่ตั้งอยู่บนที่ดินของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริเวณท่าเรือคลองเตยริมแม่น้ำเจ้าพระยามานมนานกว่า 50 ปี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประเทศไทยกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆ

อันเป็นช่วงที่ภาครัฐพยายามผลักดันอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ทำให้รัฐบาลต้องสั่งสินค้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างชาติ ท่าเรือคลองเตยซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำจึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการขนถ่ายสินค้า แรงงานเหล่านี้นี่เองที่เป็นคนกลุ่มแรกที่ทำให้เกิดชุมชนคลองเตย เพราะเมื่อไม่มีที่ซุกหัวนอน เหล่าแรงงานทั้งหลายจึงบุกเบิกถิ่นฐานบนที่ดินของ กทท.
จนกลายเป็นชุมชนคลองเตยในที่สุด

ข่าวคราวการไล่รื้อชุมชนคลองเตยมีให้ได้ยินมาตลอด แต่ชาวคลองเตยที่แม้จะถูกมองว่าเป็นคนทำงานขายแรง การศึกษาน้อย ก็สามารถยื้อยุดที่ทางของตนไว้ได้กว่าครึ่งศตวรรษ

และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีข่าวว่า กทท. จะนำพื้นที่แห่งนี้ไปพัฒนาให้สมกับเป็นพื้นที่ทองคำ มีศักยภาพพัฒนาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ในแนวเส้นทางการเติบโตของเมือง

โดยทาง กทท. ได้อนุมัติให้บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด เข้ามาจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ รวมเวลาทั้งสิ้น 30 ปี โดยช่วง 1-3 ปีแรก จะนำพื้นที่ 120 ไร่ ด้านทิศเหนือของอาคารสำนักงาน กทท. พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ตลาดใหม่ คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ใน 4-5 ปี ส่วนระยะที่ 2 จะสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 12 ชั้นรองรับชุมชนในพื้นที่ 1.2 หมื่นครัวเรือน หรือประมาณ 7 หมื่นคน และพัฒนาตลาดคลองเตยเป็นตลาดที่สะอาด สวยงาม

โดยคาดว่าจะเปิดบริการได้ใน 9-10 ปี หลังเริ่มดำเนินโครงการ ส่วนระยะสุดท้ายจะพัฒนาพื้นที่ใกล้ทางด่วนให้เป็นอาคารสำนักงานและอื่นๆ

ชีวิตและเสียงจากคลองเตย

ภาพของบ้านที่เอาไม้อัด สังกะสี มาปะติดปะต่อให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว ปรากฏให้เห็นจนชินตาเมื่อเราลงพื้นที่พูดคุยกับชาวคลองเตย ถึงชีวิตที่เป็นไปในปัจจุบันและความเคลื่อนไหวใหม่ที่กำลังคืบเข้ามาในชีวิต

อำพัน เสนาคำ ชายชราวัย 77 ปี ย้อนความหลังให้ฟังว่า เมื่อปี 2495 ตัวเขาซึ่งบวชเป็นสามเณรได้ย้ายมาอยู่ที่วัดเทพากร เขตบางพลัด หลังสึกออกมาในปี 2497 อำพันย้ายมาอยู่คลองเตย และเข้าทำงานเป็นคนงานของการท่าเรือฯ

“สมัยนั้นงานต้องการคน เพราะคนมีน้อย จบมาก็เข้าทำงานได้เลยไม่ต้องสอบ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่คนต้องการงาน งานน้อยต้องแย่งกัน”

พื้นที่คลองเตยสมัยที่อำพันเป็นหนุ่ม ยังไม่มีการก่อสร้างกรมศุลกากร พื้นที่แทบทั้งหมดเป็นทุ่งนา มีบ่อเลี้ยงปลา มีกระต๊อบขนาดเล็ก 5-6 หลัง ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาเหมือนทุกวันนี้ อำพลจึงถือเป็นคนกลุ่มแรกที่มาอยู่ในชุมชนคลองเตย

50 กว่าปีต่อมา จากกระต๊อบเล็กๆ 5-6 หลัง เกิดเป็นชุมชนย่อยๆ 32 ชุมชน เช่น ชุมชนน้องใหม่ ชุมชนร่มเกล้า และชุมชนหัวโค้ง เป็นต้น คนจากหลากหลายถิ่นย้ายเข้ามาอยู่ในคลองเตย คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพวกหาเช้ากินค่ำและผู้ใช้แรงงาน มีบ้างที่เรียนจบวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแล้วได้ทำงานบริษัท

ชาวบ้านหลายคนเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนคลองเตยมาตลอดชีวิต บางคนอยู่มา 60 ปี บางคนย้ายมาจากต่างจังหวัด ทั้งภาคเหนือ-อีสาน-ใต้ แต่งงานมีลูก มีหลานจนพวกเขาไม่สามารถพูดภาษาถิ่นของพ่อแม่ได้อีกแล้ว

แม้ปัญหาอาชญากรรมและฉกชิงวิ่งราวจะลดน้อยลงกว่าอดีตมาก แต่ปัญหาในชุมชนคลองเตยที่ทิ่มแทงใจอำพันอยู่ไม่คลาย คือปัญหาค่าครองชีพที่สูงมากและปัญหายาเสพติดซึ่งกลายเป็นเหมือนภาพลักษณ์ลบๆ ของชุมชนแห่งนี้

“ของแพง ชาวบ้านรายได้น้อยจึงอดมื้อกินมื้อ ส่วนปัญหายาเสพติด ตอนนี้กลับมาระบาดอีกแล้ว ปราบไม่หมดหรอก”

อำพันไม่คัดค้านแผนพัฒนาพื้นที่ของการท่าเรือฯ

“ดีครับ ชุมชนและบ้านเมืองของเราจะได้เจริญขึ้น ไม่มีใครอยากอยู่สลัมแบบนี้หรอก ถ้าสร้างที่พัก 12 ชั้นจริง คนในชุมชนจะได้ขึ้นไปอยู่กัน ใครก็หวังอยากมีชีวิตที่ดีกันทั้งนั้นแหละ แต่ขออย่างหนึ่ง ค่าเช่าต้องถูกด้วย เพราะคนในชุมชนมีรายได้น้อย”

สาวคลองเตยผมทองเปรี้ยวจี๊ด วัย 20 ปี ศศิธร จันทร์ปิยวงศ์ เธออยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดเล่าว่า ส่วนใหญ่ลูกหลานชาวคลองเตยมักเข้าเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนและละแวกใกล้เคียง เช่น โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจและโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา
กิจกรรมยามว่างในช่วงเย็นของวัยรุ่นคลองเตยไม่ต่างจากวัยรุ่นถิ่นอื่นๆ คือ ผู้ชายเล่นฟุตบอล ส่วนผู้หญิงตีแบดฯ และวิ่ง

ปัญหาในชุมชนที่ศศิธรพบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือ ปัญหาขยะล้นชุมชน

“คนอยู่เยอะไงคะ ขยะก็เยอะเป็นธรรมดา แก้ไม่ได้หรอกคะ” ส่วนปัญหาคลาสสิกอีกอย่างคือ สามีภรรยาทะเลาะกัน สาวคลองเตยแสดงความเห็นต่อแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. ว่า

“สร้างห้างฯ ก็ดีนะ จะได้ไม่ต้องเดินทางไปห้างฯ ที่อยู่ไกลๆ” แต่หลังจากสร้างเสร็จ เธออยากให้จัดการเรื่องปัญหาจราจรควบคู่ไปด้วย เพราะเชื่อว่ารถจะติดมาก

ขณะที่ รัศมี คำแดง แม่ค้าข้าวเหนียวไก่ปิ้ง วัย 64 ปี สวนทันควันว่า

“ห้างฯ มีเยอะแล้วนะแถวนี้ ขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย ไม่เห็นคนไปซื้อของกันเลย เพราะคนแถวนี้ไม่ค่อยมีเงินกันหรอก ไหนจะร้านสะดวกซื้ออีกไม่รู้กี่ที่ ถ้าสร้างที่พัก 12 ชั้นมาแล้วจะให้ไปอยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเช่าล่ะ”

รัศมีไม่มีความคิดต่อต้านบ้านหลังใหม่ 12 ชั้น แต่กลัวว่าจะไม่มีปัญญาเช่า แต่สำหรับศศิธร เธอกลับไม่เห็นด้วยอย่างแรง เพราะมองว่าอยู่บ้านแบบทุกวันนี้ก็ดีแล้ว และคนเฒ่าคนแก่ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มานานๆ คงไม่อยากย้ายไปอยู่ในที่พักสูงๆ

รัศมีย้ายบ้านจากสระบุรีมาอยู่ชุมชนคลองเตยกับสามีที่ทำงานที่การท่าเรือฯ ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน บ้านของรัศมีในชุมชนร่มเกล้าซึ่งเป็นชุมชนย่อยในชุมชมคลองเตยมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน และหนึ่งในนั้นคือ ลูกซึ่งทำงานที่การท่าเรือฯ

แม่ค้าข้าวเหนียวไก่ปิ้งบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในคลองเตยว่า เมื่อก่อนที่พักยังเป็นสลัม จากนั้นมีการสร้างแฟลตให้คนในชุมชนเข้าไปอยู่ โดยเสียค่าเช่าเดือนละ 1 พันกว่าบาท แต่คนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้น้อยก็ยังอยู่อาศัยในชุมชนแออัดที่มีบ้านหลังเล็กๆ

“ทำไงได้ละ จะให้ไปอยู่ที่ดีๆ ก็ไม่มีเงินเช่า เลยต้องดักดานอยู่ที่แออัดๆ แบบนี้” รัศมีว่า

ในอดีต หนึ่งในปัญหาที่อยู่คู่คลองเตยคือ ปัญหาลักขโมยและมิจฉาชีพ

“สมัยก่อนขโมยเยอะมาก อย่างถ้ามีรถกระบะบรรทุกของมาเต็มหลังรถ รถมาติดไฟแดงแถวถนนอาจณรงค์เนี่ย คนก็จะใจดีวิ่งไปช่วยขนของลงกันใหญ่เลย ไม่ต้องรอให้ของไปถึงบริษัทหรอก (หัวเราะ)”


คนเมืองอยู่ได้เพราะคนจน

“ขณะนี้เรายังไม่รู้ทั้งหมด การท่าเรือฯ ยังไม่ได้บอกว่าตัวแฟลต 12 ชั้น มันมีขนาดเท่าไหร่ การจัดสัดส่วนพื้นที่เป็นยังไง เพราะชาวบ้านมีหลากหลายอาชีพ เขาจะตอบได้ว่าอยากขึ้นหรือไม่ ต้องรู้ก่อนว่า การจัดสรรพื้นที่ ขนาดห้องมันประมาณเท่าไหร่ ถ้ามีคนแก่ คนแก่จะขึ้นไปได้หรือเปล่า ค่าใช้จ่ายจะรับไหวหรือเปล่า มีที่จอดรถ มีตลาดให้ดำเนินชีวิตเหมือนที่เป็นมาหรือเปล่า เพราะคนที่นี่ก็จะหากินอยู่ในพื้นที่แถวนี้” เพ็ญวดี เล่าถึงความคิดของชาวคลองเตยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ

สมพิศ ผอบเพ็ชร ประธานสมาพันธ์ผู้นำชุมชนคลองเตย ไม่ปฏิเสธว่าแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. จะช่วยสร้างความเจริญให้ชาติบ้านเมืองและก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่ชุมชนคลองเตย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเข้ามาพัฒนาพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องที่ด้วย

“ชาวคลองเตยไม่ต่อต้านความเจริญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้ดีขึ้น จะรื้อที่พักหรือแฟลตของพวกเราก็ได้ แต่หลังจากนั้นต้องดูแลความเป็นอยู่ด้านต่างๆ ของพวกเราด้วย เช่น ที่พัก การรักษาพยาบาล การศึกษา และอาชีพ”

การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของการท่าเรือฯ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สมพิศเรียกร้อง เพื่อให้การใช้พื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“จะดำเนินการอย่างไรกับพื้นที่ พวกเราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ถ้าจะสร้างที่พักใหม่ ก็อยากทราบรายละเอียดว่ามีค่าเช่าเท่าไหร่ จะให้ไปอยู่กันอย่างไร ทั้งหมดทุกคนเลยไหม เพราะมีประชาชนบางส่วนที่ยังต้องการอยู่ในที่พักแบบเดิม ไม่อยากย้ายขึ้นไปอยู่ที่พักสูงๆ แล้วการท่าเรือฯ จะจัดการอย่างไรกับคนเหล่านี้ จะสร้างที่พักรูปแบบเดิมให้ไหม”

การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ชาวคลองเตยเรียกร้อง แต่ถ้าถามว่าพวกเขารู้สึกกดดันเรื่องที่อยู่อาศัยหรือไม่ เพ็ญวดีตอบว่าชาวคลองเตยคุ้นชินกับการต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยมายาวนานแล้ว พวกเขาทนทานแรงปะทะได้
……….

เมื่อคนจนมาอยู่รวมกันมากๆ กลายเป็นสลัม คนเมืองมักมองเป็นพื้นที่มีปัญหา แต่หากไม่มีคนกลุ่มนี้ รับรองได้ว่าโครงสร้างของเมืองมีอันต้องสั่นคลอนชนิดเลี่ยงไม่ได้

“เราต้องยอมรับว่าสังคมเมือง ชนชั้นกลางในเมืองอยู่ได้ด้วยการซื้อสินค้าราคาถูก” เพ็ญวดีอธิบายความจำเป็นที่เมืองต้องมีคนจน

“ชนชั้นกลางก็ไม่ได้รวยมาก ซึ่งคนที่เป็นฐานของการผลิตเสื้อผ้าราคาถูก ข้าวแกงราคาถูก คือคนจนและมักอาศัยในสลัม พวกเขาเป็นฐานของความเจริญของเมือง

“แต่คนทั่วไปไม่ค่อยเห็นคุณค่าของคนจน เห็นแต่ปัญหา เห็นแต่ยาเสพติด พอเป็นแบบนี้ คนก็จะคิดว่าต้องเอาคนจนออกไป การที่คนจนอยู่ได้ในเมืองและผลิตสินค้าราคาถูกให้ชนชั้นกลางในเมืองได้ ก็เพราะเขามีที่อยู่อาศัยราคาถูกหรือสลัม ถ้าเขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนชนชั้นกลาง เขาก็จะไม่สามารถขายแรงงานราคาถูกแบบนี้ได้”

ชาวชุมชนคลองเตยและชุมชนแออัดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็คือฟันเฟืองที่ทำให้มหานครแห่งนี้ขับเคลื่อน

“มันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้คนจนเหล่านี้อยู่ในเมืองได้ เพราะพวกเขาคือคนสร้างงานที่สนับสนุนให้ชนชั้นกลางอยู่ได้” เพ็ญวดีทิ้งท้าย

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร








กำลังโหลดความคิดเห็น