xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเอ๋ยเด็กดี เลิกเล่นเก้าอี้นายกฯ กันเถอะ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?”

ทหาร ครู หมอ พยาบาล ตำรวจ นักธุรกิจ นายกฯ และบลา บลา บลา

เข้าใจว่าเด็กครึ่งค่อนประเทศคงเคยผ่านคำถามทำนองนี้มาแล้ว แต่ลองคิดอย่างขึงขังนิดๆ คำว่า อยาก ‘เป็น’ กับ อยาก ‘มีอาชีพ’ ไม่น่าจะเหมือนกัน

เอาล่ะ บางคนอาจบอกว่าน่าจะใช้แทนกันได้ในบางกรณี แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่เหมือนกัน แล้วทำไมพอเจอคำถาม ‘โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?’ คำตอบจึงมักออกไปทางกิจกรรมแนะแนวอาชีพเสียร่ำไป

เด็กๆ อาจอยากตอบใจจะขาดว่า หนูจะเป็นผู้พิทักษ์โลก นักสำรวจอวกาศ ค้นหาเนสซีที่ทะเลสาบล็อกเนส ฯลฯ เพียงแต่คำตอบที่อยากตอบต้องติดอยู่กับ ‘ความเป็นไปได้’ ที่ใครก็ไม่รู้เป็นผู้กำหนด

พรุ่งนี้วันเด็กแห่งชาติ ‘คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม’ คำขวัญวันเด็กก็ออกมาแล้ว และดูจริงจังเหมือนไม่อยากให้เด็กอ่าน แต่ให้ผู้ใหญ่อ่านเพื่อเอาไปสอนสั่งเด็กๆ อีกที

ด้านภาครัฐและเอกชนก็จัดกิจกรรมเอาใจเด็กๆ กันมโหระทึก แต่ไม่รู้สึกบ้างหรือว่า กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่งานวันเด็กทุกปีวนเวียนกับการให้เด็กได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ถ่ายรูปกับรถถัง เลี้ยงไอติม ไม่ก็ตั้งเวทีให้เด็กแต่งตัวแปลกๆ แล้วขึ้นไปเต้นแร้งเต้นกา โดยบอกว่าเป็นการกล้าแสดงออก ก็ไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ช่วยหาอะไรไม่ต้องซ้ำๆ กันทุกปีบ้างได้ไหม

ก็เลยอยากชวนไปดูว่า Somebody เขามีวิธีสนุกเอ็นจอยไลฟ์กับเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ อย่างไร โดยไม่ต้องงอนง้อวิธีการเดิมๆ ที่ดูเป็นพิธีกรรมประจำปีมากกว่าการเปิดโลกกว้างๆ ใบนี้ให้เด็กได้วิ่งเล่น

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์

“ผมอยากจะพาไปดูดาว แต่คงไม่พาไปท้องฟ้าจำลอง อยากจะพาไปตามเขื่อนบางแห่งที่เป็นสถานที่ดูดาวได้ดีมาก อยากให้เด็กไปเห็น ไปสัมผัสความงดงามตามธรรมชาติ เรื่องของจินตนาการ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงดาว ท้องฟ้า จักรวาล ก็คงจะเล่าให้หลานฟังว่าวิธีการดูดาว มีแผนที่ดาว กลุ่มดาวที่เห็นบนท้องฟ้าที่พาไปนอนดูอยู่นั้น มันคืออะไร ถ้าโชคดีเห็นทางช้างเผือกด้วยก็จะยิ่งดี

“แล้วจะเล่าให้เขาฟังว่าแต่เดิม มนุษย์เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับดวงดาวและจักรวาลอย่างไร วันนี้เป็นอย่างไร เรารู้แค่ไหน แล้วอนาคตอีก 500 ปี ความรู้ก็จะเปลี่ยนไปอีก คิดว่าถ้าพาไปอย่างนี้ หลานจะได้รู้จักจินตนาการ เพราะสิ่งที่เราเห็นด้วยตาเปล่านี่นะ มันเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นเองของจักรวาล เพราะทั้งปีเราจะเห็นดาวด้วยตาเปล่าได้ในที่ซึ่งมืดจริงๆ ไม่มีแสงรบกวนนั้น เห็นได้มากที่สุดแค่ 7,000 ดวง

“ที่สำคัญที่สุดเลยคือให้หลานได้มีหัวคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ว่าความรู้มันไม่คงที่”

คริสโตเฟอร์ ไรท์ พิธีกรรายการ คริสต์ เดลิเวอรี่

“ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจะพาไปต่างประเทศ ไปดูฟุตบอล โดยเฉพาะถ้ามีลูกชายก็อยากพาไปดูฟุตบอลในสนาม ให้เขาเห็นบรรยากาศ คนเป็นพันเป็นหมื่น เวลายิงเข้าคนก็เชียร์กัน คือเวลาไปดูฟุตบอลในต่างประเทศ บางทีจะเห็นเด็กตัวเล็กๆ ใส่เสื้อฟุตบอล พ่อแม่เขาจะปลูกฝังให้เด็กชอบทีมนี้ รักกีฬา พอเด็กกลับมาจากสนามฟุตบอล เขาก็จะมีความรู้สึกอยากเตะบอล

“ผมก็เคยเป็นไง ตอนเด็กๆ ไปดูบอล แล้วก็อยากเล่นบอล เชียร์กันมันมากให้เด็กมีกีฬาอยู่ในสายเลือด แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กจะได้หลังจากออกมาจากสนามคืออยากจะเป็นเหมือนนักฟุตบอลพวกนั้น มันเป็นความฝัน

“แล้วก็อาจสอนภาษาอังกฤษบ้าง อย่างเช่นลูกบอลชนเสา ชนคาน เราจะพูดว่ายังไง หรืออาจสอนให้เขารู้จักฮีโร่ฟุตบอล เพราะผมจำได้ว่าตั้งแต่อายุห้าหกขวบ ผมก็เริ่มชอบฟุตบอล ชอบมาก พ่อผมปลูกฝังมา แล้วจะคอยติดตามนักฟุตบอลคนนั้นๆ เวลาผมเล่นบอลในสนามก็จะจินตนาการว่าผมเป็นนักบอลคนนั้น คนนี้ แล้วทำให้ผมรักกีฬาฟุตบอลมากตั้งแต่เด็ก”

โอปอล์-ปาณิสรา พิมพ์ปรุ นักแสดงชื่อดัง

“สำหรับตัวโอปอล์ ถ้าถามว่าวันเด็กอยากไปไหน ก็อยากไปบางปู เพราะตอนเด็กๆ แม่พาไปบ่อยๆ เลยฝังใจว่า วันเด็กจะไปกินปูที่บางปู แต่ถ้าต้องพาเด็กไป พอดีว่าโอปอล์มีหลาน ก็อยากพาหลานมาหน้าห้องจัดคลื่น 94 อีเอฟเอ็ม ที่โอปอล์จัดรายการอยู่ เพราะหน้าห้องต้องมีป้ายไฟกะพริบ วิบวับ ตื่นตา ไม่น่าจะได้เห็นที่ไหนง่ายๆ โอปอล์เชื่อว่า การที่เด็กมาเห็นเราทำงาน มีป้ายไฟวิบๆ วับๆ อาจทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจที่อยากทำงานแบบเรา อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เด็กตั้งใจเรียน เพื่อที่จบมาจะได้มาทำงานดีๆ ใกล้ป้ายไฟนี้ และหลานพึ่งอายุแค่ 4 ขวบ รู้สึกว่าน่าจะดีกว่าให้นั่งอยู่บ้านดูการ์ตูน เบน10”

อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ ปี 2552

“ถ้าผมมีลูก ผมคงพาลูกไปใช้เวลาด้วยกันในครอบครัว เพราะมันน่าจะเป็นเวลาที่เป็นส่วนตัวมากกว่า วันเด็กเป็นวันของเขา ดังนั้น เขาอยากจะทำอะไรหรือไปที่ไหน เราก็จะพาเขาไป แต่คงไม่ใช่ลักษณะที่เป็นกิจกรมรวมหมู่ หรือเป็นที่ชุมชนมากๆ น่าจะเป็นเป็นที่สงบๆ เพราะจะได้ใช้เวลาด้วยกันจริงๆ เราต้องให้โอกาสเขาในวันนั้น คงต้องพูดคุยและสอบถามเพื่อให้รู้ความต้องการจริงๆ ของเขาก่อน ไม่ใช่พาเขาไปไหนต่อไหน โดยที่ไม่ถามเขาสักคำว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ กันแน่”

ติ๊ก ชิโร่-มนัสวิน นันทเสน ศิลปินยอดนิยม

“หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ผมจะเน้นเรื่องของการศึกษามากๆ เพราะฉะนั้นจึงมีสถานที่หลายๆ แห่งผมอยากจะพาลูกไป เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เพื่อเขาจะได้ความรู้ ทักษะของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการทดลอง ทดสอบ และเหตุผล ที่สำคัญเขาจะได้มีความสุขกับการละเล่นต่างๆ ด้วย หรือไม่ก็เป็นอะควาเรียม น้ำทะเล ทะเลเทียม ท้องฟ้าจำลอง หรือห้องสมุด

“อีกที่ที่ตอนนี้อยากจะพาลูกไปมากๆ ก็คือสถานเสาวภา เพราะที่นี่มีการจัดนิทรรศการ Visual และเป็นฐานความรู้เรื่องงูที่ติดอันดับโลกเลยนะครับ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แถมมีทิวทัศน์สวยงาม มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับงูเต็มเปี่ยม งูประเภทไหนปลอดภัย งูอย่างไหนอันตราย น่าสนใจมากๆ เลย คือผมอยากจะเน้นความรู้เป็นหลัก ส่วนเรื่องความสุข ผมไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไหร่นัก เพราะพื้นฐานของเด็กๆ เขาสามารถมีความสุขได้แทบทุกที่แหละครับ เช่นบางทีเขาเจอเพื่อนเขาก็มีความสุขแล้ว”

กิจจา ยามันสะบีดิน ศิลปินกราฟฟิตี้

“เรื่องที่ผมชอบก็คือศิลปะ ผมก็อาจพาไปทำอะไรที่เกี่ยวกับวาดรูป หรือทำอะไรที่เกี่ยวกับจินตนาการ ที่คิดว่ามันน่าสนุก เรารู้ว่าตอนเด็กเราผ่านมายังไง แล้วเราก็อยากให้เขาผ่านมาอย่างเราบ้าง แต่ว่าให้มันดีขึ้น เหมือนอย่างตอนเด็กๆ เราไม่ค่อยมีใครแนะนำไปที่ไหน ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไปด้วยตัวเอง แต่ถ้าเราได้ดูแลคน เราก็อาจจะแนะนำเขาว่า ที่นี่มันน่าสนใจนะ รูปแบบมันน่าสนใจนะ ถ้าเราสอนเขาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นก็จะมีอะไรทีคล้ายๆ กับภูมิต้านทาน

“ผมอยากให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้สังคมคนไม่ค่อยให้เกียรติกัน อย่าไปตามสังคม ตามสื่อมากนัก อยากให้อ่านมากกว่า เพราะมันเหมือนเป็นการฝึกจินตนาการ”

แป้ง-ภัทรีดา ประสานทอง นักวาดการ์ตูน

“วันเด็กอยากอยู่บ้าน (หัวเราะ) คือแป้งคิดว่า การอยู่บ้านมันก็สนุกได้นะ ถ้าเราหากิจกรรมที่ทำให้สนุกได้ ไม่ใช่พอถึงวันพิเศษทีไรก็ต้องออกจากบ้าน การออกจากบ้านตลอดมันเหนื่อยนะ จริงๆ เราน่าทำให้บ้านของเราให้มันสนุกนั่นแหละดีที่สุด

“อย่างที่บ้านแป้งทำ ก็คือเราจะซื้อเต็นท์มาอันหนึ่ง แล้วก็กางใต้ต้นไม้ที่บ้าน ให้หลานๆ เล่นอยู่ภายในบ้าน เหมือนเป็นการเที่ยวป่า ซึ่งเขาก็แฮปปี้กันมากเลยนะ อย่างตอนที่อยู่ในเต็นท์ แล้วมีผู้ใหญ่เดินมา ก็จะมีเงาดำๆ ใหญ่ๆ ใช่ไหม เด็กๆ เขาก็จะกรี๊ดกร๊าดเหมือนเจอผีหรือเสืออยู่ในป่านี่แหละ หรือสมัยที่แป้งเด็กๆ ที่บ้านจะมีกิจกรรมขุมทรัพย์ให้หาลายแทง เอาไปซ่อนในที่ต่างๆ แล้วก็เดินในสวนในบ้าน ต้องไปหาคำใบ้ที่ผูกไว้กับต้นไม้ แล้วคำใบ้นั้นก็บอกต่อไปว่าต้องไปหาของขวัญต่อที่ไหน แค่นี้แป้งคิดว่า มันก็สนุกมากแล้วสำหรับเด็กๆ”

ต็อป-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เจ้าของธุรกิจสาหร่ายทอดเถ้าแก่น้อย

“ถ้าผมมีลูก ผมจะพาลูกไปสองที่ หนึ่งคือตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้น พาไปดูความคึกคักของตลาดหุ้น มีความสนุกอย่างไร ตื่นเต้นยังไง ในอนาคตผมคิดว่าจะเหมือนกับในสหรัฐอเมริกาที่มีคนจำนวนมากและตัวเลขหุ้นวิ่งไปมา คิดว่าลูกอาจจะมีความสนใจเรื่องตัวเลขตรงนั้นก็ได้ จะบอกลูกว่า สถานที่ที่พาเขามาคืออะไร ถามเขาว่าสงสัยไหมว่าคนเยอะๆ น่ะ เขามาทำอะไรกัน ถ้าเขาไม่สนใจปีต่อไปก็คงไม่พามาอีก ถ้าลูกสนใจก็จะพาเขามาอีก แต่ถ้ามีลูกผมจะพาเขาไปแน่นอน

“สองคือจะพาเขาไปดูที่ดิน แล้วให้เขาจินตนาการว่าที่ดินที่เขายืนอยู่ตอนนั้น เขาอยากให้เป็นอะไร เป็นแบบไหน มีอะไรบ้าง อาจจะเป็นการเพิ่มไอเดียทางธุรกิจของผมเองก็ได้ครับ อาจจะเป็นมากกว่าสวนสนุกก็ได้ เป็นการฝึกจินตนาการเขาด้วย”

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนนามปากกานิ้วกลม

“คิดว่าจะพาไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า จริงๆ ถ้ามีลูกหรือมีหลานก็อยากให้เขาเห็นชีวิตคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา และน่าจะได้เห็นตั้งแต่เด็กๆ เราก็จะบอกเขาว่าในสังคมยังมีคนต้องการโอกาส และถ้าในวันหนึ่งข้างหน้าเราโตขึ้น เรามีอะไรที่มากกว่า เราก็น่าจะให้เขาได้ และคิดว่าจะช่วยเหลือเขาได้ ส่วนมากกิจกรรมวันเด็กก็เป็นเรื่องการเสริมความฝันของเขาว่าถ้าเขาอยากเป็นนั้นเป็นนี่ก็พาเขาไปดูอาชีพหรือความฝันของเขา ซึ่งผมว่ามันก็ดี แต่เมื่อเป็นแล้ว เราก็ควรที่จะคิดถึงคนอื่นมากกว่าการคิดถึงตัวเองด้วย”

“อีกที่ที่จะพาเขาไปคือร้านหนังสือ แต่ร้านหนังสือสามารถพาไปได้ทุกวันอยู่แล้ว เราจะให้ของขวัญเขาทุกวันเด็กเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม ผมคิดว่าการอ่านหรือหนังสือที่เหมาะสมกับเขาในแต่ละช่วงก็จะเปลี่ยนไป เราก็อยากแนะนำหนังสือที่เด็กๆ ควรอ่านในตอนนั้น”

……….

ไม่ได้คิดสมาทานถ้อยคำที่ว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ แบบทื่อๆ เพราะทั้งความรู้กับจินตนาการต่างเป็นปีกสองข้างของกันและกัน แต่เราจะฝึกให้เด็กๆ มีจินตนาการได้อย่างไร ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่กล้าจินตนาการหนุกๆ ที่หลุดออกไปจากพิธีกรรมประจำวันเด็กแห่งชาติอายุ 50 กว่าปี

ถึงไม่แหวกมาก แต่เราก็คิดขึ้นเอง


……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


ติ๊ก ชีโร่
ต็อป-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เจ้าของธุรกิจสาหร่ายทอดเถ้าแก่น้อย
แป้ง-ภัทรีดา ประสานทอง นักวาดการ์ตูน
คริสโตเฟอร์ ไรท์ พิธีกรรายการ คริสต์ เดลิเวอรี่
อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ ปี 2552
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น