xs
xsm
sm
md
lg

‘ความรุนแรงทางเพศ’...มิตรแท้คู่หญิงไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘ผอ.รพ.โหด กักขัง-ตื้บเลขาฯ สาว’
‘แก๊งวัยรุ่นรุมโทรม ด.ญ.วัย 14 ปี’
‘จับพ่อข่มขืนลูกสาวจนมีหลาน-ขืนใจซ้ำอีก’
‘แจ้งจับผอ.โรงเรียนเทศบาลดังทำร้ายร่างกายนักเรียนหญิง’


พาดหัวข่าวเหล่านี้คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงทางเพศ

ความรุนแรงทางเพศ โดยแท้จริงแล้ว คือการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ เอารัดเอาเปรียบ ใช้กำลังบังคับข่มขู่ การคุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว จนเป็นเหตุให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียหายส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะอยู่ในช่วงอายุใด ฐานะเช่นไร อาชีพอะไรก็ตาม

จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิง ปี 2551 ระบุว่า จากการบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาวิกฤตความรุนแรง พบว่าผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศจำนวน 73 ราย หรือร้อยละ 10 ของผู้เข้ามารับคำปรึกษา และแบ่งเป็น 256 กรณีปัญหา ซึ่งผู้ที่มารับคำปรึกษา 1 ราย อาจมีปัญหามากกว่า 1 กรณีโดยปรึกษาด้านกฎหมาย 77 กรณี ข่มขืน 54 กรณี

และจากการจัดเก็บสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศจากหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับ ในปี 2551 ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด และคม ชัด ลึก พบข่าวการละเมิดทางเพศ 227 ข่าว มีผู้ถูกกระทำทั้งผู้หญิงและผู้ชายจำนวน 280 ราย และผู้กระทำจำนวน 355 ราย

นั่นอาจหมายความว่า แม้จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ความรุนแรงทางเพศก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในทางกลับกัน สถิติข้างต้นนั้นย่อมไม่ใช่ตัวเลขจริงแน่นอน เพราะยังมีเหยื่อความรุนแรงอีกหลายกรณีที่ไม่เป็นข่าว

หรือนี่คือความรุนแรงที่ฝังลึกอยู่ในโครงสร้างวัฒนธรรมที่เอออออำนาจของผู้ชาย แต่ย่ำยีผู้หญิง บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นคมด้านร้ายที่หันเข้าเชือดเฉือนสถานการณ์ให้หนักหนายิ่งขึ้นไปอีก

สะท้อนให้เห็นภาพที่แจ่มชัดว่า เกิดเป็นหญิงไทย แท้ที่จริงแสนลําบาก

มีปัญหาปรึกษา ‘มูลนิธิเพื่อนหญิง’

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงการที่ผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศว่า จากตัวเลขของผู้หญิงที่ถูกกระทำทางเพศในปี 2552 พบว่า มีปริมาณที่สูงกว่าปี 2551 ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่รู้จักสนิทสนม คุ้นเคย จึงทำให้ผู้ถูกกระทำไว้ใจ ไม่มีความระแวง หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย เช่น รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต เป็นเพื่อนของเพื่อน สามีของผู้บังคับบัญชา

“ยกตัวอย่างเช่น ผู้ถูกกระทำอายุ 19 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวส. ผู้กระทำเป็นน้าเขย ซึ่งบังคับข่มขืนพร้อมกับถ่ายคลิปวิดีโอไว้ข่มขู่ จากนั้นได้นำภาพมาบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เรื่อยมาเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกือบ 1 ปี ถ้าไม่ยอมจะนำภาพเผยแพร่ ผู้ถูกกระทำไม่กล้าบอกใคร แต่ก็ไม่ต้องการตกอยู่ในสภาพแบบนี้ จึงได้เข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิ ในเบื้องต้นได้ดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจ และได้พาไปแจ้งความที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (บก.ปดส.) ต่อมาผู้ถูกกระทำได้ถอนแจ้งความ เนื่องจากผู้ปกครองไม่ให้เอาเรื่อง”

และเป็นที่น่ากังวลยิ่งขึ้นว่า จากสถิติของปี 2551 พบผู้หญิงที่ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด คือ 3 ขวบ และอายุที่มากที่สุด คือ 53 ปี

สุเพ็ญศรี บอกว่า ทางแก้ไขมีหลายวิธีด้วยกัน แต่ในส่วนของศูนย์พิทักษ์ฯ จะมีการให้บริการทั้งด้านกฎหมายและสังคมสงเคราะห์ควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิได้มีการทำงานแบบจังหวัด 10 จังหวัด ซึ่งได้แก่ สุรินทร์ เชียงใหม่ ลำพูน อำนาจเจริญ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ชุมพร และกรุงเทพฯ โดยทางมูลนิธิฯ มีกลุ่มแกนนำในพื้นที่เป็นเครือข่ายชุมชน เครือข่ายกลไกรัฐ มีการทำกิจกรรมในรูปแบบชุมชน ‘ลด ละ เลิก เหล้า ลดความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก’ ให้มีการรณรงค์ร่วมปรึกษาเพื่อลดความรุนแรงระหว่างผู้หญิงและเด็กให้ทุกหน่วยงานในท้องที่เข้ามามีส่วนร่วม และมีหน่วยงานภาครัฐมาประสานกำกับดูแล

สุเพ็ญศรียังบอกอีกว่า ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ ให้ศูนย์พิทักษ์ฯ ทำการรับเรื่องร้องเรียนการถูกกระทำทางเพศในที่ทำงานเพิ่มขึ้น ถ้าผู้ใดกำลังประสบกับปัญหาความรุนแรงทางเพศสามารถโทรศัพท์มาปรึกษาได้ที่ 0-2513-1001 หรือจะเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อนหญิงก็ได้ หรือ ติดต่อที่ศูนย์พึ่งได้ 1300 ทุกจังหวัด

ภัยโลกไร้สายกับความรุนแรงทางเพศ

ภัยความรุนแรงทางเพศยังแอบแฝงมากับความทันสมัยของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

สุเพ็ญศรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าภัยที่เกิดกับผู้หญิงที่มีผลกระทบต่อสังคมยิ่งเพิ่มมากขึ้น ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ถ้าใช้ไม่ถูกทาง อย่างเช่นการนำไปใช้เพื่อหลอกลวง เช่น มีผู้หญิงเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์ฯ ว่าฝ่ายหญิงบอกเลิก แต่ฝ่ายชายไม่พอใจ จึงไปลงกระทู้กล่าวหาว่าฝ่ายหญิงขายบริการทางเพศ

แต่ส่วนใหญ่ที่เจอบ่อยและมากที่สุด คือการพูดคุยออนไลน์ รวมถึงการโพสต์รูปในโปรแกรมที่สามารถเห็นหน้าตาได้

“การพูดคุยกันทาง MSN จะมีการพูดโอ้อวดว่าตัวเองหน้าตาดี นิสัยดี รักครอบครัว รักพ่อแม่ ต้องการหาคนมาเป็นคู่ ยังไม่แต่งงาน อยากมีเพื่อน โดยใช้ภาษาที่สนุกสนานอ่อนหวาน ทำให้เหยื่อหรือผู้หญิงเคลิบเคลิ้ม กลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น เด็กเยาวชนผู้หญิง แต่กลุ่มผู้ใหญ่ก็มี เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ มีการนัดเจอกัน และเมื่อพบว่าคนที่คุยด้วยไม่ได้มีหน้าตาดี นิสัยดีอย่างที่คิด ฝ่ายชายก็จู่โจมฝ่ายหญิงแบบไม่ให้ทันตั้งตัวและนำไปสู่การถูกกระทำทางเพศในที่สุด นี่ก็คือเทคโนโลยีที่มีผลต่อการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง” หัวหน้าศูนย์สิทธิสตรี กล่าว

กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ จิตสาธารณะต้องฟื้นฟู

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายและที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม อธิบายเกี่ยวกับ การกระทำความรุนแรงทางเพศในทางกฎหมายว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท โดยบทลงโทษความผิดเกี่ยวกับเพศสามารถช่วยผู้ถูกกระทำให้ได้รับความเป็นธรรมได้

“กฎหมายสามารถใช้ได้จริงและลงโทษได้จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือเมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วฝ่ายหญิงหรือผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ ไม่ค่อยกล้าแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาคดีมักไม่ค่อยได้รับการสะสางเท่าที่ควร เพราะฝ่ายกระทำได้ทำลายหลักฐานเพื่อไม่ให้ตำรวจหรือฝ่ายพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบได้ และตัวคนถูกกระทำเองก็เกิดความเครียด ความกดดัน ความอับอาย รวมทั้งกลัวการตอกย้ำจากสังคมจึงไม่กล้าเปิดเผยมากนัก แต่ถ้าคนที่ถูกกระทำกล้าออกมาแจ้งความก็เท่ากับช่วยสังคมในการแก้ไขปัญหานี้อีกทางด้วย”

ด้าน ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ สถาบันพัฒนาตนเองและนักบริหาร คลินิกสุขภาพจิต ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำความรุนแรงทางเพศว่า ปัญหาความรุนแรงเกิดจากสังคมไทยในปัจจุบันขาดคำว่า ‘จิตสาธารณะ’ คือขาดความรัก ความเอื้ออาทร ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสำนึกต่อสังคมและบุคคลรอบข้าง ถ้าคนไทยขาดจิตสาธารณะมากขึ้นก็จะทำให้ในสังคมมีแต่คนที่ชอบเอาเปรียบ มองแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง

“เช่นความรุนแรงทางเพศที่เกิดจากเจ้านายกระทำกับลูกน้อง พ่อกับลูกก็เกิดจากการขาดจิตสาธารณะ เมื่อมีโอกาสกระทำได้ก็จะกระทำทันที และส่วนหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงเกิดมากขึ้นคือความก้าวร้าวที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัว แต่จะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู สังคมสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย รวมทั้งระยะเวลาในการบ่มเพาะความก้าวร้าวนั้น”

สำหรับการเยียวยาของผู้ชอบกระทำความรุนแรงทางเพศ ศ.ดร.นพ.วิทยา บอกว่า ต้องเริ่มจากครอบครัวและเอากฎหมายเข้าช่วย

“การจะเยียวยารักษานั้นจะเป็นเรื่องยาก ถ้าผู้กระทำ ผู้ชอบใช้ความรุนแรงไม่ทำด้วยความสมัครใจหรือไม่ยอมคิดที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น ครอบครัว สังคม ต้องเป็นแบบที่ดีเพื่อหล่อหลอมให้บุตรหลาน ลดการใช้ความรุนแรงการก้าวร้าวและเร่งสร้างจิตสำนึกหรือจิตสาธารณะที่ดี รวมถึงการเอากฎหมายมาใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยที่กฎหมายนั้นต้องเข้มแข็ง มีบทลงโทษที่ชัดเจนและยุติธรรม”

ตั้ง ‘สติ’ ยับยั้งความรุนแรง

ฟากตัวแทนเยาวชนจากสำนักข่าวเด็กและเยาวชน ‘ขบวนการตาสับปะรด’ อย่าง ชุติมา ใจคง ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองของคนทำสื่อ เสพสื่อ และในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งว่า ภาวะความรุนแรงที่มีอยู่ในขณะนี้ถือได้ว่ายังอยู่ในสถานการณ์ปกติไม่ได้ลดน้อยลงหรือถ้าเพิ่มขึ้นก็คงเพิ่มไม่มากนัก แต่ถ้าจะมีเพิ่มมากขึ้นคือลักษณะของการกระทำที่บุคคลใกล้ชิดมักกระทำต่อผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้หญิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสวัสดิภาพของผู้หญิงยังไม่ปลอดภัย

“ปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่มีบ่อเกิดมาจากการที่สังคมโลกเปลี่ยน มีคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีสื่อที่รวดเร็วชัดเจน ทั้งภาพและเนื้อหาสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งการที่ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยวขาดการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานเท่าที่ควร ทำให้ขาดความอบอุ่น ความรักจากครอบครัว หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง เมื่อเกิดความเครียดจากหน้าที่การงานก็พยายามหาทางออกหาทางระบายโดยเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อนและเมื่อระบายกับคนใกล้ตัวไม่ได้ก็เกิดการเก็บกดไปกระทำต่อบุคคลอื่น”

……….

จะเห็นได้ว่าปัญหานี้คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ไม่ใช่เรื่องเกิดกับใครคนใดคนหนึ่งแล้วผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานและเดือดร้อนคือผู้ถูกกระทำและครอบครัวเท่านั้น แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับสังคม ระดับประเทศ และระดับโลก ที่ทุกคนต้องช่วยกัน โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ คือตัวคุณก่อน มิฉะนั้นปัญหานี้คงจะอยู่คู่หญิงไทยและสังคมไปอีกนาน

************

เรื่อง : ทิติยา เถาธรรมพิทักษ์
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น