… ยุนโฮปลดเสื้อผ้าของร่างบางออกอย่างรีบร้อน ทนไม่ไหวแล้ว คนตรงหน้าเขาดูยั่วยวนเกินไป แจจุงเองก็เช่นกัน ต่างฝ่ายต่างถอดเสื้อผ้าของอีกฝ่ายอย่างรีบร้อน จนกระทั่งร่างกายของทั้งคู่เปลือยเปล่า …
… ฝ่ามือบอบบางของแจจุง ค่อยๆปลดกระดุมเสื้อของยุนโฮช้า ๆ เผยแผ่นอกแกร่งที่ต่อจากนี้ จะกลายเป็นที่พักพิงของร่างบาง แจจุงลูบไล้แผงอกของยุนโฮอย่างแผ่วเบา ทำให้ความอยากที่จะครอบครองในตัวร่างบางของยุนโฮ ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปช้าๆ
“คุณยุนโฮ...ผมรักคุณ...”
“ฉันก็รักเธอแจจุง...ต่อจากนี้ เธอจะไม่ใช่ตุ๊กตาของฉัน แต่เธอคือ คนรักของฉัน และจะเป็นตลอดไป” …
นี่เป็นเพียงแค่ฉากหนึ่งในนวนิยายประเภทเพศที่สาม หรือที่เรียกในกลุ่มผู้นิยมอ่านว่า ฟิควาย (Fic-Y มาจากคำว่า Fiction-Y) นวนิยายที่กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มนักอ่านวัยรุ่นที่ไม่ใช่พวกเพศที่สาม
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว หลายคนมองว่ามาจากการเข้ามาของกระแสเกาหลีฟีเวอร์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่นิยมเขียนนวนิยายลงในเว็บบอร์ด เมื่อวัดกระแสการตอบรับของนวนิยายแนวนี้จากจำนวนคลิกที่หลั่งไหลของผู้เข้ามาอ่านแล้ว ผู้แต่งเองจึงมีการนำมารวบรวมตีพิมพ์ ออกแบบรูปเล่ม ด้วยตนเอง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่นักเขียนหน้าใหม่ที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนอันแท้จริงได้
กำเนิดกระแสY
ฟิคชั่นวาย (Fiction Y) นวนิยายของคนรักเพศเดียวกันกำเนิดเกิดมาพร้อมกับการ์ตูนญี่ปุ่นหลายๆฉบับที่มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนเนื้อหานั้นก็จะเกี่ยวกับชายรักชาย (บอยเลิฟ) และหญิงรักหญิง (เกิร์ลเลิฟ) เช่น การ์ตูนเรื่อง รีบอร์น ซึ่งเป็นการ์ตูนชายรักชายที่โด่งดังมากจนเหล่าแฟนฟิคหรือคนที่ชอบอ่านฟิคเกือบทุกคนจะต้องรู้จัก จากแต่ก่อนที่เนื้อเรื่องเป็นเรื่องรักธรรมดา แต่ในปัจจุบันการที่มีผู้แต่งมากขึ้นก็ทำให้จินตนาการกับเรื่องเพศเข้ามาปนกันและดัดแปลงการดำเนินเรื่องเรื่อยมา
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กระแสเกาหลีที่โด่งดังไปทั่วโลกและในบ้านเรานั้นก็เช่นกัน ทำให้วัฒนธรรมของเกาหลีนั้นได้เข้ามาสู่ประเทศไทยของเรามากมายจนก่อให้ทั้งผู้แต่งและผู้อ่านนิยายและการ์ตูนญี่ปุ่นได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญของเกาหลีมากขึ้นในที่สุด
นิยายเหล่านี้จะมี 3 ประเภท คือ ชาย-หญิง, ชาย-ชาย, หญิง-หญิง แต่ที่แตกต่างคือ ชาย-ชาย นั้นจะเรียกว่า Yaoi หรือ “ ยะโอย ” และจะเรียกฝ่ายรุกว่า เซเมะหรือเมะ เรียกฝ่ายรับว่า อูเคะหรือเคะ หญิง-หญิง เรียกว่า Yuri หรือ “ ยูริ ”
ผู้เขียนนวนิยายแนวดังกล่าวได้เล่าถึงความเป็นมาของนวนิยาย ว่าการเกิดขึ้นของนวนิยายประเภทนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น สำหรับคอการ์ตูนแล้วมักจะนำตัวละครที่พวกเขาชื่นชอบมาแต่งเป็นนวนิยายประเภทชายรักชายหรือหญิงรักหญิงตามความชอบส่วนตัวของแต่ละคน
“ก่อนหน้านี้สมัยคัดตุน จอห์นนีจูเนียร์ สมัยที่ญี่ปุ่นดังมันก็มีมาตั้งนานแล้ว ก็เลยเปลี่ยนจากญี่ปุ่นมาเป็นเกาหลี กระแสเกาหลีมาแรงกว่าเพราะอะไรๆ ก็เกาหลีจึงทำให้คนชอบเกาหลีมากขึ้น พอเกาหลีเข้ามาก็จะคิดแล้วว่า คู่วายคู่ไหนดังจนต้องไปหาฟิคอ่านกัน คือถ้ามีเกาหลีก็ต้องมีฟิควาย”
นักเขียนตัวน้อยที่มีนามปากกาว่า ri_ki บอกถึงสิ่งที่ทำให้อยากติดตามคือ การที่ได้ชื่นชอบศิลปินเกาหลี จึงอยากหัดสร้างโครงเรื่องและอยากลองฝึกการใช้ภาษาบรรยายเนื้อเรื่องด้วย
แฟนฟิคหญิงที่คลั่งไคล้เกาหลีบอกว่า ติดตามอ่านฟิคชั่นมาเป็นเวลามากกว่า 9 ปีแล้ว จริงๆเรื่องฟิคชั่นพวกนี้มีมานานมากแล้ว ยิ่งมีคนตามอ่านฟิคชั่นไปเรื่อยๆ ก็จะมีคนแต่งเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ พอคนตามอ่านก็มีแรงบันดาลใจที่คนเขียนอยากจะแต่งฟิคกันต่อ ฟิควายที่เห็นกันอยู่เกิดจากเรื่องจินตนาการที่แต่งขึ้นมาเป็นเรื่องราวที่มีตัวเอกของเรื่องเป็นชายกับชาย ซึ่งมีทั้งสองอยู่ในการดำเนินเรื่อง ซึ่งความแตกต่างระหว่างประเภทของฟิคนั้น การดำเนินเรื่องไม่ได้ต่างกันมากนักจึงทำให้เป็นที่นิยม
ตรึงใจวัยรุ่นหญิง
สิ่งที่น่าแปลกใจที่เกิดขึ้นในการติดตามกระแสฟิควายนั่นก็คือ แฟนฟิคส่วนใหญ่ที่คอยติดตามอ่านเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นผู้หญิงมากถึง 98% ผู้ชายเป็นเพียงส่วนน้อยที่จะชื่นชอบและติดใจในการอ่านฟิค อะไรที่ทำให้ฟิควายเป็นที่ชื่นชอบของผู้หญิง เกิดจากความชอบดาราหรืออาจจะเป็นการดำเนินเรื่องที่น่าดึงดูดใจของผู้แต่งที่แต่งให้อยู่ในโลกๆหนึ่งที่ไม่มีอยู่จริง และนี่น่าจะเป็นคำตอบที่เข้าท่าที่สุด คือ “จินตนาการ” นั่นเอง
การตีพิมพ์ฟิคเป็นเล่มตามที่เด็กวัยรุ่นซื้อหาอ่านกันนั้น เกิดจากการโพสต์ฟิคเรื่องต่างๆ ลงบนเว็บไซต์ เรื่องไหนที่เป็นที่นิยมมีการโหวตสูงหรือเรตติ้งสูงก็จะถูกตีพิมพ์ออกมาตามความต้องการ ส่วนในเรื่องของราคานั้น ผู้เขียนฟิคจะเป็นผู้กำหนดราคา บางเล่มอาจมีราคาสูงถึง 300 กว่าบาท แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของแฟนฟิคทั้งหลาย
ผู้แต่งฟิคบางคนในขณะนี้ จะเน้นเรื่องอีโรติกกันมาก เพื่อที่จะได้ขายนิยายของตัวเองซึ่งพวกเขาไม่ได้นึกถึงว่าใครจะเป็นคนอ่าน ไม่สนใจเรตติ้งตามที่เขาตั้งกันไว้ สนใจแต่เรื่องสิ่งที่ตนเองจะได้รับนั่นก็คือ เงิน อีกส่วนหนึ่งก็คือ เด็กบางคนก็เป็นส่วนสำคัญที่มักจะหาเนื้อเรื่องประเภทนี้ อยากจะหาอ่านในเรื่องที่ตนเองอ่านไม่ได้
ธาตุแท้ฟิควาย
ความน่าสนใจของฟิควายที่แสดงถึงจุดเด่นให้เห็นอย่างเด่นชัดก็คือ ความรักของเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง เช่น คิบอมกับทงเฮ เรียก คิเฮ, ฮันเกิงกับฮีชอล เรียก ฮันชอล ฮันชอล, ฮยอกแจกับคิบอม , ฮันฮยอกกับฮีชอลและยุนโฮกับแจจุง เรียก ยุนแจ
สำหรับการจัดโครงสร้างรูปเล่มของฟิควายนั้น จะไม่มีชื่อโรงพิมพ์ ชื่อผู้พิมพ์ จะมีเพียงเว็บไซต์และนามปากกาของผู้แต่งซึ่งคนอ่านก็ทราบโดยทั่วกันว่า จะหาแหล่งซื้อหรือจะหาอ่านได้จากที่ไหน แหล่งที่หาซื้อแบบที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วนั้นก็ต้องสั่งซื้อนั่นเอง หรือหากจะซื้อด้วยตนเองนั้น คงต้องเดินถามสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมวัยรุ่นย่านกลางเมือง
ผู้เแต่งฟิคที่นามปากกาว่า KA_TO_AM เธอนั้น ชื่นชอบ Super junior เป็นชีวิตจิตใจบอกว่า เธอแต่งนิยายประเภทนี้มาประมาณ 1 ปีแล้ว ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแล้วประมาณ 5-6 เล่ม เธอมักจะใช้การดำเนินเรื่องในแบบที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถอ่านได้ จะไม่มีเรื่องเพศเข้ามาถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจริงๆเธอนั้น ไม่เห็นด้วยกับหลายๆ คนที่แต่งนิยายที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องเพศรุนแรง
ทุกสิ่งมีข้อดีข้อเสีย
การอ่านหนังสือไม่ใช่ความผิด อะไรก็ตามที่อยู่บนโลกนี้ โลกแห่งความฝันหรือจินตนาการ ล้วนแต่มีข้อดีและข้อเสียรวมกันอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบดึงสิ่งไหนเข้ามาสู่ตัวเอง สำหรับการอ่านฟิควายก็เช่นกัน เป็นสิ่งดีไม่ใช่หรือที่คนไทยจะฝึกให้เด็กมีจินตนาการและรักในการอ่านหนังสือสักประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญก็ปิดกั้นความคิดของเด็กไม่ได้เสียด้วย หน้าที่ของผู้ใหญ่จึงมีส่วนในการแนะนำเด็กให้รู้จักผิดถูกมากกว่าที่จะห้ามให้เด็กทำอะไรตามใจตนเอง สอนให้เด็กแยกแยะในสิ่งต่างๆ
ผู้เขียนนวนิยายแนวนี้กล่าวย้ำเตือนมาว่า ทุกอย่างมันก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี ถ้าเราชอบอะไร ทำอะไรให้อยู่ในขอบเขต ปล่อยให้นิยายที่อ่านอยู่ในเพียงจินตนาการ
“สำหรับเรามีขอบเขตชอบแค่นี้นะ อะไรคือสิ่งที่ควรเลียนแบบและอะไรที่ไม่ควรเอาไปเลียนแบบ ถึงแม้ว่า ไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยเราก็ได้ฝึกการอ่านและมีสิ่งที่แทรกมาคือวัฒนธรรมของประเทศอื่น”
วีระชัย ดวงพลา หรือ เดอะดวง เจ้าของผลงานการ์ตูนเรื่อง อินโนเซนส์ บอกถึงความคิดเห็นต่อการเขียนนิยายเหล่านี้ว่า ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการเขียน ถ้าเราต้องการเขียนนิยายรักอย่างเดียวก็ไม่ผิดอะไร ถ้ามีการบรรยายเรื่องเพศเข้ามาด้วยก็ไม่ดี ส่วนผลกระทบต่อสังคมนั้น ถ้ามีเรตตามอายุที่กำหนดไว้ก็ถือว่าดีแล้ว ถ้าแค่ตั้งไว้เฉยๆก็ไม่มีผลอะไรทุกคนก็หาอ่านได้อยู่ดี จึงน่าจะมีผลกระทบประมาณหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตัวผู้อ่าน ซึ่งผู้เขียนนั้นควรจะเลี่ยงเพราะผู้อ่านเป็นวัยรุ่น
“ สำหรับน้องผู้แต่งนิยายเหล่านี้ ที่บอกว่าเป็นการฝึกเขียน ผมว่า ก็ถูกนะ แต่คนแต่งนั้นต้องคำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ เป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ”
“แฟนฟิคส่วนใหญ่ที่คอยติดตามอ่านเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นผู้หญิงมากถึง 98% และ จินตนาการเป็นคำตอบเดียวที่ดึงดูดใจของผู้หญิงได้มากที่สุด”
การแบ่งเรตติ้ง
ฟิคชั่นเหล่านี้ไม่ได้มีแค่การแยกประเภทของเพศตัวละครเท่านั้น ยังมีการแยกประเภทอายุของผู้อ่านอีกด้วย ว่าเรื่องไหนไม่เหมาะสมกับคนอายุเท่าไหร่ ได้แก่
G หรือ General คือระดับที่ทุกเพศทุกวัยสามารถอ่านได้
PG หรือ Parental Guidance Recommended เป็นเนื้อหาหนักกว่าระดับ G มีการใช้คำที่ไม่สุภาพแต่ไม่ถึงกับหยาบคาย
PG-13 เป็นเนื้อหารุนแรงบ้าง ไม่เหมาะสมกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี
NC-17 หรือ Not suitable for children under 17 คือ จะมีฉากรักที่เป็นเนื้อหาและภาษารุนแรง ไม่เหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี
R ย่อมาจาก Restricted เป็นเนื้อหาที่มีความรุนแรงเป็นหลัก เช่น เรื่องเพศ คำหยาบคาย การกระทำที่รุนแรง
เรตเหล่านี้ไม่ได้ใช้เฉพาะบนเว็บไซต์แต่ยังใช้ในการแต่งนิยายทั่วไปอีกด้วย ฟิคบางเล่มอาจจะมีหรืออาจจะไม่มีก็แล้วแต่ผู้เขียนว่าจะกำหนดเรตนี้ไว้ในเล่มหรือไม่
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี