ถอยคืนกลับไปประมาณ 20 ปี ครั้งที่องค์ความรู้ทางการแพทย์ เทคโนโลยี และการเข้าถึงยายังเป็นเรื่องเข้าไม่ถึง เมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลาย เอชไอวีในกระแสเลือดก่อการลำพอง เชื้อชวนโรคร้ายสารพัดเข้ากัดกิน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตราวใบไม้แห้งร่วงหล่นกลางฤดูหนาว
ผ่านมา 20 ปี การรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับที่โลกชื่นชม ปัจจุบัน เรามีผู้ติดเชื้อประมาณ 6 แสนคน และมีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ราว 1-1.5 หมื่นคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงยาและองค์ความรู้ในการดูแลตนเอง พร้อมๆ กับทัศนคติของสังคมต่อผู้ติดเชื้อได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น มิได้เห็นผู้ติดเชื้อเป็นสิ่งมีชีวิตน่ารังเกียจเหมือนอดีต
แต่เอชไอวีก็ยังคงเป็นเอชไอวี ไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์จะหวาดกลัวเท่ากับความตาย กำแพงแห่งอคติและความกลัวจึงยังดำรงอยู่ เพียงแต่มันอาจจะบางลงและไม่แข็งกร้าวเท่าเดิม
นั่นหมายความว่าเรายังสามารถกร่อนเกลาให้มันบางลงได้อีก
ณ ที่แห่งนี้เคยพูดถึงความรักของผู้พิการและยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีกำแพงชนิดใดแข็งแกร่งพอจะห้ามปรามความรัก ไม่ว่ามนุษย์จะมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ ณ ชายขอบหรือศูนย์กลางของสังคม ความรักคือความเท่าเทียมที่ทุกคนสามารถมีได้
เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ ยังมีอคติบางประการที่เชื่อว่า ผู้ติดเชื้อไม่ควรมีรัก...
ทำไมไม่หยุด?
“ผู้ติดเชื้อจะถูกตั้งคำถามเรื่องการมีคู่ใหม่ จะถามว่ายังมีเซ็กซ์อยู่เหรอ มีคู่ใหม่เหรอ ทำไมไม่หยุดคิดเรื่องนี้ อีกแบบคือในกรณีที่ติดเชื้อทั้งคู่ แล้วคิดถึงเรื่องการมีลูก ก็จะถูกถามว่าทำไมยังท้องอยู่ ทำไมไม่หยุด ทำไมไม่คิดถึงลูก นี่คือปัญหาที่จะเจอ” นิมิต เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อธิบายถึงคำถามที่ผู้ติดเชื้อมักต้องเผชิญ
ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งคือการที่ผู้ติดเชื้อไม่กล้าเปิดเผยผลเลือดแก่คู่ของตน ซึ่งในกรณีนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างระหว่างชาย-หญิง ถ้าผู้ติดเชื้อเป็นฝ่ายชาย มีความรู้และความรับผิดชอบ เขาย่อมสามารถป้องกันคู่ของตนจากการติดเชื้อได้ง่ายกว่า ขณะที่หากฝ่ายหญิงเป็นผู้ติดเชื้อ การต่อรองในเรื่องการป้องกันจะน้อยกว่า สุดท้าย ก็กลายเป็นความรู้สึกผิดที่ติดตัวไปตลอด หากคู่ของตนพลอยติดเชื้อไปด้วย
“เรื่องความรักของคนสองคน สังคมต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยน ไม่ใช่ปรับเฉพาะเมื่อรู้ว่าคุณติดเชื้อ โจทย์ใหญ่ในทัศนะเรื่องเพศก็คือการพูดคุยกันในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศของคนสองคน ไม่ว่าคุณจะติดเชื้อหรือไม่ การพูดคุยสื่อสารถึงประสบการณ์ทางเพศของแต่ละฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ จะเป็นไปได้ยังไงที่จะเกิดการสื่อสารแบบนี้ หรือในเบื้องต้น ถ้ายังไม่พร้อมจะสื่อสาร เราก็ต้องอาจต้องมีสมมติฐานข้อหนึ่งไว้ก่อนว่า แต่ละคนที่มาเจอเรา น่าจะมีประสบการณ์ทางเพศมาแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถามก็ได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการป้องกัน คือเราต้องหาช่องให้ตัวเอง ถ้าคิดว่าไม่กล้าถาม เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ พอเหตุมันเกิดขึ้นก็สายไปแล้ว”
ฟังดูยุ่งยากใช่ไหม? ฟังดูแล้วรู้สึกว่าผู้ติดเชื้อควรไปบวช ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องรักใคร่หรือเปล่า?
กอดแรงๆ ได้ไหม?
เปล่าเลย...ความเป็นผู้ติดเชื้อมิใช่สิ่งที่แสดงออกชัดแจ้งเหมือนผู้พิการ พวกเขาไม่ต่างจากคนทั่วไป (ผู้พิการก็เช่นกัน) ผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีครอบครัวที่อบอุ่นและระหองระแหงไม่ต่างกัน พวกเขาต้องการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ไม่ต่างจากผู้คนในสังคม
ปี 2527 เกิดเรื่องราวใหญ่โต เมื่อผู้ติดเชื้อหญิงคนหนึ่งเกิดตั้งครรภ์เป็นกรณีแรกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ใหญ่โตขนาดว่า หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์ต้องลงมาดูแลการทำคลอดด้วยตัวเอง จากเหตุการณ์นั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อหญิงจำนวนไม่น้อยถูกโน้มน้าวจากบุคลากรสาธารณสุขให้ทำหมัน โดยที่บางคนไม่เคยมีโอกาสเป็นแม่คน
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เล่าว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะรู้ว่าตนเองติดเชื้อก็ตอนที่ไปฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาล จากเรื่องน่ายินดีที่จะได้ชีวิตใหม่ในอ้อมกอด พลิกกลับ 180 องศา เป็นกระชากความรู้สึก อย่างไรก็ตามปัจจุบันมียาที่สามารถลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
“ตอนแรกเราเข้าใจว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อคงไม่มีใครอยากท้องอีก เพราะไม่อยากผ่านช่วงที่ต้องลุ้นว่าลูกจะติดเชื้อหรือไม่หรือลูกจะได้รับผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าช่วงสองสามปีหลังจะมีเคสที่ท้องใหม่ ซึ่งทำให้เราเริ่มตระหนักและต้องถามคนไข้จริงๆ จังๆ มากขึ้น คนไข้เองก็เริ่มคุยกับเราว่าอยากมีลูกอีก แล้วตอนนี้ก็พร้อม หรือบางคนแต่งงานใหม่ สามีคนใหม่อาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้ว่าฝ่ายหญิงติดเชื้อ แต่ฝ่ายสามีก็เรียกร้องว่าต้องมีลูก”
อาจสงสัยว่าถ้าไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติได้แล้วจะมีลูกได้อย่างไร มีคำอธิบายดังนี้-กรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ติดเชื้อและฝ่ายชายไม่ติด คุณหมอนิตยาบอกว่ากรณีนี้ง่าย เพียงแต่รอช่วงที่ฝ่ายหญิงไข่ตกและร่างกายแข็งแรง เชื้อถูกกดไว้เต็มที่ แล้วจึงนำน้ำอสุจิของฝ่ายยชายฉีดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ
ถ้าฝ่ายชายเป็นผู้ติดเชื้อ กรณีนี้จะมีความยุ่งยากเล็กน้อย โดยจะต้องนำน้ำอสุจิของฝ่ายชายไปผ่านการล้างเชื้อหรือ สเปิร์ม วอช (Sperm Wash) เพื่อล้างเอาเชื้อเอชไอวีออก หลังจากนั้นก็ทำการตรวจสอบอีกรอบ ก่อนจะฉีดเข้าสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิง
“อย่างโครงการ Sperm Wash ช่วงแรก คนต่อต้านเราเยอะนะ บอกว่าทำไมไปสนับสนุนให้คนติดเชื้อมีลูก เราก็บอกว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้เขามีลูก ไม่ได้ไปกระตุ้นให้เขาอยากมีลูก แต่คนที่อยากมีลูกอยู่แล้วตามธรรมชาติของสังคม ควรจะได้รับการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อมันอยู่ที่มุมมองของคนว่าจะมองยังไง เราไม่ได้คิดคัดค้านผู้ติดเชื้อที่อยากจะมีครอบครัว”
การทำหน้าที่พ่อแม่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็นอะไร เอาล่ะ มันเป็นความรู้สึกที่เลี่ยงไม่ได้ ถ้าพวกเขาจะคิดว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีอยู่บ้างที่ทำให้ลูกต้องเสี่ยง ทำให้ลูกมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ แต่ความรู้สึกนี้แหละที่ผลักดันให้พวกเขาต้องทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เงื่อนไขในชีวิตจะพึงทำได้ จึงมีคำถามน่ารักๆ จากคนเป็นแม่ที่ห่วงลูกว่า
‘กอดลูกแรงๆ ได้ไหม? แล้วลูกจะติดเชื้อหรือเปล่า?’
“บางคนมาถามว่าลูกอยากกอด เรากอดเขาได้มั้ย กอดแรงเป็นอะไรไหม หรือบางคนกินขนมอยู่ แล้วลูกมาแย่งไปจากปากแม่ไปกินลูกจะติดไหม มันเป็นความกังวลเล็กๆ น้อยๆ แต่มันไม่ติด”
‘...ก็รักที่เขา ไม่ได้รักที่เชื้อ’
เปิ้ล เป็นช่างซ่อมรถและช่างไฟฟ้า อ้อ เป็นพนักงานนวดแผนไทย ทั้งคู่เจอกันในกิจกรรมกลุ่มของผู้ติดเชื้อ จากการโทรศัพท์พูดคุยขอคำปรึกษา พัฒนาเป็นความผูกพันทางใจระหว่างคนสองคน
เอาเข้าจริงๆ การที่เรากำลังพูดถึงความรักของกลุ่มผู้ติดเชื้อ อาจเป็นการขยายความโดยใช้เหตุก็เป็นได้ อ้อบอกชัดถ้อยชัดคำว่า เอชไอวีกับการที่เราจะรัก จะอยู่กับใครสักคน มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย เธอไม่เคยเอาเรื่องนี้มาคิดมากกว่าการที่คู่รักทั่วไปจะคิดเวลาสร้างครอบครัว เหมือนกับเปิ้ล เขาบอกว่า
“เราไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต มันเป็นเรื่องธรรมดา อีกอย่างคือเราทำงานด้านนี้ด้วย เลยมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะต้องเอามากังวล”
ชายรักชายอย่าง ต้อม ก็รู้สึกไม่ต่างกัน เรื่องของความรักไม่ได้เกี่ยวว่าคุณจะเป็นอะไร มันมีแค่คำถามง่ายๆ ที่ตอบยากๆ ว่าคุณรักคนคนนั้นจริงหรือเปล่า และคนคนนั้นรักคุณจริงหรือเปล่า
“ไม่ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับความรัก ความเข้าใจ การอยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องของการดูแลกัน คนที่ไม่ติดเชื้อที่อยู่ด้วยกันมีปัญหากันก็เยอะ คนที่ติดเชื้ออยู่ด้วยกัน ดูแลกันก็เยอะ”
ความรักกลับยิ่งทำให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันและภูมิคุ้มใจที่แข็งแกร่งมากขึ้น ต่างเป็นนาฬิกาของกันและกัน เตือนกันว่าถึงเวลาต้องกินยาแล้วนะ ต่างเป็นหัวไหล่ให้กันและกัน ในยามเหนื่อยล้ากับชีวิตและต้องการที่ซบพิง
เรื่องยากที่สุดมันอยู่ก่อนหน้านั้น มันคือการเปิดเผยความจริง
ทั้งเปิ้ล, อ้อ และต้อม ผ่านการให้คำปรึกษาแก่เพื่อนผู้ติดเชื้อมามาก คำถามหลักข้อหนึ่งที่พวกเขาต้องเจอคือ ความกลัวที่จะบอกอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ในกรณีที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าอีกฝ่ายติดเชื้อหรือไม่
พวกเขากลัวว่า เมื่อใดที่อีกฝ่ายรู้ความจริง ความรักจะหนีหาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ย้อนกลับไปสู่คำถามเดิมว่าความรักนั้นจริง-ลวงแค่ไหน ยอมรับสิ่งที่คนคนนั้นเป็นได้หรือเปล่า รักที่เลือดหรือรักที่ใจ ถ้าคำตอบคือรักที่ใจ ทุกอย่างก็จบ
“ผมเคยถามคนที่ไม่ติดเชื้อ แต่มีแฟนเป็นผู้ติดเชื้อว่าทำไมถึงอยู่ดัวยกัน เขาตอบว่า ก็รักที่เขา ไม่ได้รักที่เชื้อ” ต้อมเล่า
รสรินทร์ เกรียงสินยศ นักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เธอคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อที่แบกความกังวลเข้ามา จากประสบการณ์ของเธอที่มี เมื่ออีกฝ่ายรู้ว่า ‘ว่าที่เจ้าสาว’ ติดเชื้อ แผนการแต่งงานที่เตรียมไว้ก็ล้มครืนทันที
อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยผลเลือด แม้จะยาก แต่ก็ดีกว่าการปิดบัง เพราะนั่นจะทำให้การใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อลำบาก ต้องคอยหลบซ่อนเวลากินยาต้องคอยหาข้ออ้างเมื่อมาหาหมอ หน้าที่ของเธออย่างหนึ่ง จึงเป็นการช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีความมั่นใจที่จะบอกความจริงกับคู่ชีวิต โดยไม่ใช่การไปกดดันให้บอก แต่อธิบายข้อดีต่างๆ จากการบอกความจริง
“คนที่มีความรักกัน ถ้าคิดให้ดี เรื่องนี้มันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก ถ้าเรามีความรักเป็นพื้นฐาน เพราะการใช้ชีวิตร่วมกันไม่ใช่เพื่อความสุขเท่านั้น แต่คือการร่วมทุกข์และร่วมสุข”
..........
กำแพงแห่งอคติยังมีอยู่ บ่อยครั้ง มันเป็นทั้งกำแพงในความคิดและกำแพงในชีวิตจริง
แต่อะไรคือข้อดีของกำแพง
เปล่า, พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อสร้างมันขึ้น สังคมต่างหาก และมันมักใหญ่โตมากเสียด้วย แต่เมื่อใดที่ใครคนหนึ่งฝ่ากำแพงชนิดนี้เข้ามาได้ มันก็เป็นบทพิสูจน์ในระดับหนึ่งว่าความรักเป็นสิ่งมีค่าเพียงพอ
ถึงที่สุด เราน่าจะลืมๆ เรื่องนี้ไปซะ เพราะการติดเชื้อหรือไม่ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยกับความรัก
*********
เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ : ทีมภาพ CLICK