xs
xsm
sm
md
lg

‘อิก โนเบล’ กระตุกความคิดด้วยความไร้สาระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขำกันไว้เถิด

     ‘ทำให้คนหัวเราะในแวบแรก แล้วคิดได้ในเวลาต่อมา’

     สโลแกนนี้ คล้ายจะอธิบายความเป็น ‘อิก โนเบล’ (Ig Nobel) รางวัลแห่งเสียงหัวเราะและความขบขัน ได้ดีที่สุด

     แต่นั่นแหละ เพราะประกาศเจตนารมณ์ของรางวัลอย่างชัดแจ้งถึงเพียงนั้นแล้ว เจ้ารางวัล ‘อิก โนเบล’ นี้ จึงไม่จำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ใดๆ ให้เหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องแบกหามความเคร่งขรึมเข้าถึงยาก หรือคงความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น

     พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ มันเป็นรางวัลที่ล้อเลียน ขบกัดรางวัลโนเบลอันทรงคุณค่าได้อย่างน่ารักน่าหยิก แต่ถึงแม้จะเป็นรางวัลที่แลดู ‘ขำๆ’ ‘ถ่อมตน’ ไม่ซีเรียส จริงจัง เอาความสัปดน ตลกโปกฮาเข้าว่า

     กระนั้น นับวันรางวัลนี้ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันไม่ได้มีให้แค่ความขำ หัวเราะพอเพลินๆ แต่รางวัลหลายต่อหลายชิ้น ยังสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมายให้แก่ผู้คน

     นอกจากนี้ มันยังนำไปสู่การต่อยอดทางความคิด เป็นแรงบันดาลใจให้กับการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ กระทั่งนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยนึกถึงหรือคาดคิดมาก่อน

     เอาล่ะ ถ้าคุณ เพิ่งเคยได้ยินชื่อของรางวัล อิก โนเบล เราก็จะพาย้อนไปดูรางวัลอิก โนเบลอันสุดแสนจะไร้สาระ ในวันคืนเก่าๆ

     เป็นต้นว่า ปี 2547 รางวัล อิก โนเบล สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ตกเป็นของคู่พ่อลูก แฟรงค์ และโดนัลด์ สมิธ ที่คิดค้นวิธีหวีผมปกปิดหัวล้าน โดยทั้งคู่เผยถึงเทคนิคเฉพาะตัวว่า การหวีผมปิดหัวล้านให้แนบเนียนนั้น ต้องแบ่งผมที่มีอยู่น้อยแสนน้อย ว่าให้ค่อยๆ หวีจากด้านที่มีผมยาวมาทับด้านที่มีผมน้อยที่สุด

     มิพักต้องเอ่ยถึงรางวัลดังๆ อย่าง ‘กฎ 5 วินาที’ ของ จูเลียน คลาร์ก ในวัย 17 ปี (ณ ปีนั้น) ที่ได้รับอิก โนเบล สาขาสาธารณสุขไปครอง จากผลงานวิจัยของเธอที่ว่า ถ้าอาหารตกพื้นไม่ถึง 5 วินาที แล้วหยิบมากิน อาหารนั้นยังคงสะอาด ไม่มีเชื้อโรค, รางวัลอิก โนเบล สาขาสันติภาพ ที่ตกเป็นของ ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ ผู้คิดค้นคาราโอเกะ โดยเหตุผลที่คณะกรรมการให้ไว้ ว่า มันสอนคนเรารู้จักมีน้ำอดน้ำทนกับคนอื่นได้มากขึ้น

     เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย แต่ก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า อิก โนเบล ที่ก่อตั้งมานับแต่ ปี 2534 ด้วยหวังว่า จะเป็นช่วยเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดให้กับการคิดค้นแบบนอกกระแสนั้น ได้รับเสียงตอบรับจากคนทั่วโลกมากแค่ไหน

     มิเช่นนั้น คงไม่อยู่ยั้งยืนยง สร้างเสียงหัวเราะ และกระตุ้นการค้นคว้าใหม่ๆ มาจนถึงทุกวันนี้

กำเนิด 'อิก โนเบล'

     ก่อนอื่น เราคงต้องเล่าถึงรางวัล 'โนเบล' ที่เป็นแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดรางวัล อิก โนเบลกันก่อน

     รางวัล โนเบล ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั้น เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่ทำผลงาน เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ โดยรางวัลนี้ ก่อตั้งขึ้นจากเจตนารมณ์ก่อนเสียชีวิตของนายอัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ที่รู้สึกผิด กับการที่ผลงานของตนถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร (ผลงานชิ้นนั้นคือระเบิดไดนาไมท์)

     ส่วนรางวัล อิก โนเบล นั้นก่อตั้งโดย นาย มาร์ค อับราฮัมส์ บรรณาธิการนิตยสารวิทยาศาสตร์ ในปี 2534 เป็นต้นมา โดยมอบรางวัลให้กับงานวิจัยหรือผลงานค้นคว้าที่ถูกคิดขึ้นมา และเป็นงานที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (Improbable Research) และจัดการมอบรางวัลทุกปีโดยมอบปีละ 10 รางวัลในสาขาต่างๆ กันไป ตามแต่ว่าปีนั้นจะมีผลงานวิจัยแบบใดเข้ามา

     แต่หลักๆ แล้วรางวัลที่มอบซ้ำๆ กันทุกปีก็จะมีอยู่ไม่กี่สาขา เช่น สาขาการแพทย์ สาขาจิตวิทยา สาขาเคมี สาขาวรรณกรรม สาขาฟิสิกข์ สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาสันติภาพ ฯลฯ ส่วนสาขาแปลกๆ ที่นานๆ จะมาทีก็เช่น สาขาวิหควิทยา สาขาพลศาสตร์ สาขาอากาศยาน ฯลฯ

     โดยในแต่ละปี นายมาร์ค อับราฮัม และคณะ จะคอยสอดส่องหาผลงานวิจัยที่ไม่ได้รับความสนใจจากนิตยาสรวิทยาศาสตร์ แต่ทว่า มีแง่มุมที่น่าทึ่ง (รวมถึงน่าตลกขบขันอยู่ในที) มาเป็นแคนดิเดทรางวัล อิก โนเบล

อิก โนเบล 2009

     ในปีนี้ เจ้าของโนเบลสาขาสันติภาพ คือนาย บารัก โอบามา บุรุษที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งในโลก
     แต่สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล อิก โนเบล สาขาสันติภาพ ในปีนี้กลับเป็น
สเตฟาน โบลลิเกอร์, สเตฟเฟน รอสส, ลาร์ส ออสเตอร์ฮาลเวก, มิชาเอล ทาลี และ บีท คนิวบูห์ล จาก มหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ซึ่งไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขามาก่อน
 
    โดยงานวิจัยที่ทำให้พวกเขาทั้ง 5 ได้รับรางวัล อิก โนเบิล ในครั้งนี้ก็คือ ‘การถูกตีหัวด้วยขวดเบียร์เปล่า กับขวดที่มีเบียร์อยู่เต็ม อย่างไหนจะดีกว่ากัน’ (ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยมากว่าเกี่ยวข้องกับสันติภาพอย่างไร)

     ส่วนผลงาน อิก โนเบล ที่ได้ใจผู้ชม และสร้างความรู้สึกน่าทึ่ง ปนสนุกสนาน ได้มากที่สุดในปีนี้ เป็นผลงานของ เอลีนา บอดนาร์ จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ออกแบบเสื้อยกทรง ที่สามารถดัดแปลงเป็นหน้ากากกันแก๊สพิษ!!!

     บอดนาร์ นั้น เคยอาศัยอยู่ที่ยูเครน ในช่วงที่มีเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิล ทำให้เธอเห็นความสำคัญในการเตรียมตัวพร้อมด้านสาธารณสุขอยู่เสมอ
    และผลงานของเธอนั้น ก็เป็นผลงานที่คำนึงถึงมนุษยชาติคนอื่นๆ ด้วย เพราะยกทรง 1 ตัว ของเธอ สามารถทำเป็นหน้ากากกันแก๊สพิษได้ถึง 2 ชิ้น นับว่า บอดนาร์ มีจิตสำนึกที่คิดถึงส่วนรวมอยู่ไม่น้อย

     ส่วนรางวัลอื่นๆ ที่น่าสนใจในปีนี้ได้แก่ ‘วัวที่มีชื่อ ให้นมได้มากกว่าวัวที่ไม่ได้รับการตั้งชื่อ’ ของแคเทอรีน ดักลาส และ ปีเตอร์ โรวลินสัน ในสาขาสัตวแพทย์
     สาขาการแพทย์ได้แก่ผลงานเรื่อง ‘การสืบเสาะหาต้นเหตุโรคปวดข้อนิ้ว โดยอุตสาหะหักข้อนิ้วมือซ้ายทุกๆ วัน โดยไม่ทำกับมือขวาเลย เป็นเวลากว่า 60 ปี’ โดยลุง โดนัลด์ อุงเกอร์ ฯลฯ (สนใจผลของรางวัลทั้งหมด สามารถติดตามต่อได้ที่ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000116239)


มองโลกมุมต่าง ด้วยอารมณ์ขำๆ

     “ผมมองว่าการตั้งรางวัลล้อเลียนขึ้นมา ส่วนหนึ่งมันก็สนุกดี แต่มากกว่าการเสียดสี ล้อเลียนแล้ว ยังมีอะไรมากกว่านั้นไหม? เช่น รางวัล ‘อิก โนเบล’ ก็เปรียบได้กับการนำงานทางวิชาการที่ เคร่งเครียด มาทำให้ดูขำๆ แต่อีกแง่หนึ่งผมก็อดตั้งคำถามไม่ได้ ว่า เราได้อะไรมากกว่าความขบขัน”

     เป็นการตั้งข้อสังเกตจาก สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

     “แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การเกิดขึ้นของรางวัลล้อเลียนก็อาจจะต้องการทดสอบว่า รางวัลต้นแบบที่ถูกล้อเลียนนั้น จะยังคงความศักดิ์สิทธ์ต่อไปได้ไหม”

     นั่นคือสิ่งที่ชาวโนเบลต้องตอบ แต่อาจารย์หนุ่มก็ยังคงตั้งคำถามต่อไป ถึงรางวัลล้อเลียนประดามีว่า

     “ถึงที่สุดแล้ว มันน่าจะมีเส้นแบ่งอะไรบางอย่าง อธิบายได้ว่า อะไรคือความจริง อะไรคือการล้อเลียน เพราะทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกของการรับรู้ ‘ความจริง’ แบบแปลกๆ สำหรับการล้อเลียนต่างๆ ถ้าผู้รับสารเขารู้ถึงข้อเท็จจริง รู้ถึงที่มาที่ไปของการล้อเลียน หรือความขบขันนั้นก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่รู้ถึงข้อเท็จจริง ถึงความเป็นมาแล้วคิดว่าเรื่องล้อเลียนนั้นเป็นเรื่องจริง?”

     นั่นคงเป็นสิ่งที่ ‘ผู้รับสาร’ ทุกคน ควรต้องหาทางสืบค้นด้วยตนเอง ผสานกับสิ่งที่เรียกกันว่า ‘วิจารณญาณ’ นั่นเอง

     อิก โนเบลนั้น ถือได้ว่าเป็นรางวัลล้อเลียน (mock award) ที่โด่งดังพอๆ กับรางวัลโกลเด้น ราสเบอร์รี่ อวอร์ดส์ (Golden Raspberry Awards) ที่มอบให้กับหนังห่วยประจำปี ซึ่งวัฒนธรรมรางวัล 'mock award' ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายในมุมมองของคนในสังคมปัจจุบัน

     “ผมมองว่ารางวัลพวกนี้มีประโยชน์ เพราะมัน ทำให้คนเราได้ รับรู้ว่ามีคนที่คิดอีกแง่ มีคนที่มองอีกมุมหนึ่ง เป็นมุมที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป”

     วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening แสดงความเห็นต่อ mock award ที่สร้างความขบขันและแฝงอารมณ์จิกกัดเล็กๆ ประชดประชันเสียดสีหน่อย ๆ

     ในสายตาของวิภว์ เขามองว่า รางวัลเหล่านี้แม้จะดูไร้สาระหรือขำๆ สำหรับคนทั่วไป แต่ในความไร้สาระนั้นก็มีประโยชน์ มีแง่ดีอื่นๆ อีก นอกเหนือไปจากการสร้างเสียงหัวเราะ หรือสะกิดเตือนให้เรารู้ว่า ยังมีใครบางคน มองโลกในมุมต่างด้วยอารมณ์อมยิ้ม ประโยชน์ที่ว่านั้นก็คือ

     “รางวัลเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกว่า เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง สบายๆ แล้วก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจดีได้ด้วย เช่นรางวัล ‘อิก โนเบล’ หรือรางวัลราสเบอร์รี่ ที่มอบให้กับภาพยนตร์ยอดแย่ จริงอยู่แม้ว่าบางครั้ง ผมดูหนังบางเรื่องแล้วรู้สึกว่า เอ่อ...เป็นหนังที่แย่จริงๆ แต่เมื่อหนังได้รับรางวัลราสเบอร์รี่ ผมกลับรู้สึกว่า มันไม่ใช่การวิจารณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ แต่ทำให้รู้สึกอารมณ์ดีมากกว่า" วิภว์ ทิ้งท้าย 

                  ................

*****ล้อมกรอบ*****

รวมรางวัลขี้ประชด

     โลกนี้ไม่ได้มีรางวัลขี้ประชดแค่ 'อิก โนเบล' อย่างเดียว แต่ยังมีรางวัลแปลกๆ ที่น่ารักน่าชังอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

Golden Raspberry Awards
     เป็นรางวัลที่มอบให้กับคนในวงการบันเทิง เพียงแต่เป็นด้านตรงข้ามกับออสการ์ เพราะถ้าออสการ์คือหนังดี นักแสดงเก่ง ผู้กำกับมีฝีมือ เจ้ารางวัลนี่ก็เป็นการมอบให้กับหนังห่วย นักแสดงห่วย และอะไรที่ห่วยๆ อีกหลายอย่าง แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่ได้รับรางวัลนี้ไม่ค่อยไปปรากฏตัวในงานเพื่อรับเกียรตินี้สักเท่าไหร่
     Golden Raspberry Awards ถูกเรียกอีกชื่อว่า Razzies มันถูกคิดขึ้นโดยนายจอห์น วิลสัน เมื่อปี 2523

Bad Sex in Fiction Award
     เป็นรางวัลที่มีขึ้นตั้งแต่ปี 2536 จัดโดย Literary Review มอบให้แก่บรรดานักเขียนที่บรรยายบทรักในหนังสือของตนได้ห่วยแตกที่สุดของปีนั้น เป็นความคิดของโรดา โคนิก นักวิจารณ์วรรณกรรม และ ออเบรียน โวกห์ บรรณาธิการของ Literary Review

Pie in the Sky Award
     รางวัลชื่อแปลกๆ แจกกันที่ออสเตรเลีย คือรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่สามารถวางแผนการฉัอโกงทางการเงินที่ยอดเยี่ยมและสามารถทำได้จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการให้รางวัลเพื่อบอกกล่าวเฝ้าระวังต่อสาธารณชนว่ามีเล่ห์เหลี่ยมทางการเงินแบบนี้อยู่ในโลก ฉะนั้น จงระวังตัว

Darwin Awards
     รางวัลที่ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก 'ชาร์ลส์ ดาร์วิน' นี้ มอบให้แก่บุคคลที่มีส่วนในการพัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมของมนุษย์...แบบบังเอิญๆ เน้นขำๆ มากกว่าจริงจัง

Pigasus Awards
     จะเรียกแบบไทยๆ ว่ารางวัลหมูมีปีกหรือหมูบินก็น่าจะได้ มันคือรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ เจมส์ แรนดี คนขี้สงสัยชาวออสเตรเลีย ที่มักจะตั้งคำถามต่อเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเมื่อเขาสืบสาวดูดีๆ แล้วมักเป็นเรื่องแหกตาประชาชี รางวัลนี้จะประกาศในวันที่ 1 เมษายน หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า April Fool’s Day

     แถมวิธีการประกาศผลก็สุดเท่ เขาบอกว่าจะประกาศผลทางโทรจิต และอนุญาตให้ผู้ที่มีพลังจิตทั้งหลายทำนายได้ว่าใครจะเป็นผู้ที่ได้รางวัล ที่เจ็บกว่านั้น เขาบอกว่าการมอบรางวัลจะส่งให้โดยใช้พลังจิตในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ ยืนยันว่าส่งไปแน่ แต่ถ้าเจ้าของรางวัลไม่ได้รับ...ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนคนนั้นไม่มีพลังจิตเพียงพอ นี่ถ้าตา 'แรนดี' มาอยู่เมืองไทย รางวัลนี้คงต้องแจกกันเป็นรายเดือน ไม่ใช่รายปี (ยังมีอีกรางวัลที่คล้ายๆ รางวัลหมูบิน มีชื่อว่า The Bent Spoon Award)

Stella Awards
     เป็นรางวัลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกรณีของ Stella Liebeck เมื่อปี 2535 ตอนนั้นเธออายุ 81 ปีแล้ว วันหนึ่งเธอสั่งกาแฟจากร้านแมคโดนัลด์มาดื่ม บังเอิญว่ามือของเธอดันไปปัดถูกถ้วยกาแฟ กาแฟซึ่งร้อนมากๆ จึงหกใส่ตักของเธอจนเกิดแผลพุพองระดับ 3 เธอจึงตัดสินใจฟ้องแมคโดนัลด์ที่ส่งกาแฟที่ร้อนมากถึงเพียงนี้มาให้เธอ

     น่าตลกก็คือ คณะลูกขุนของนิวเม็กซิโกดันตัดสินให้แม็คโดนัลด์จ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้เธอสูงถึง 2.9 ล้านเหรียญ ชื่อของเธอจึงกลายมาเป็นชื่อรางวัลที่มอบให้กับบรรดาคดีประหลาดๆ จำพวกนี้ (คงคล้ายๆ กับคดีเด็ดบ้านเรา) ในทางหนึ่งก็เพื่อเป็นการประชดประชันกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ที่บางครั้งก็ออกจะเว่อร์เกินเหตุ

                  ********
         เรื่องโดย : ทีมข่าว CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น