“หลอดไฟไม่ใช่เด็กพรสวรรค์ด้านการเต้น เป็นเด็กพรแสวง พยายามและฝึกซ้อมหนัก เพราะไม่ได้มีขาที่ดีที่สุด หรือมีเท้าที่สวยที่สุด เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เต้นหลอดไฟจะใช้จุดเด่นที่ไม่ใช่ร่างกายแต่มาจากข้างใน ใช้ความรู้สึกในการเต้น ท่าทาง สีหน้า คือองค์ประกอบ แต่การสื่ออารมณ์นั้น เป็นอะไรมากกว่าแค่ร่ายกายของเรา”
นวินดา วรรธนะโกวินท์ หรือน้องหลอดไฟ สาวน้อยนักเต้นผู้กวาดรางวัลจากการแข่งขัน 11th Asia Pacific Dance Competition, Thailand 2009 มาถึง 8 รางวัล ซึ่งเรียนจบบัลเลต์ขั้นสูงสุดจากสถาบัน The Royal Academy of Dance (RAD) แห่งสหราชอาณาจักร และในปีหน้ากำลังจะไปเรียนต่อที่ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยได้รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นสถาบันสอนเต้นโดยเฉพาะ
น้องหลอดไฟได้ตัดสินใจมาประมาณ 3-4 ปีแล้วว่าจะเอาดีด้านการเต้น จึงพยายามมาโดยตลอด แม้ว่าความจริงเด็กๆ ไม่ได้อยากเรียนบัลเลต์ แต่คุณแม่ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบันบางกอกแดนซ์ ก็พยายามพามาดูการเต้นอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้บังคับ เพราะเรื่องของศิลปะต้องอยากทำเองจะไปบังคับกันไม่ได้ พอนานเข้าก็เริ่มซึมซับ จนตัดสินใจเริ่มเรียนเมื่ออายุ 5-6 ขวบ
ตั้งแต่เด็กจะมีไปเต้นตามงานต่างๆ อย่างงานเปิดตัวสินค้า ไม่ใช่การแข่งเต้นจริงจัง ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นจะเน้นเรียนมากกว่า ซึ่งผลงานหลักๆ ที่เคยไปแสดงคืองานเต้นที่หน้าพระที่นั่ง 5 ครั้ง รวมทั้งการแสดงใหญ่ของสถาบัน หรือเปิดสาขาต่างๆ งานกาชาด และเคยเต้นเป็นพรีเซ็นเตอร์ของบาร์บี้ช่วงที่บาร์บี้มีคอลเลกชันของบัลเลต์ประมาณ 2 ปีที่แล้ว ส่วนช่วง 4-5 ปีหลังนี้จะเน้นไปแข่งทั้งในเมืองไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ถ้วยรางวัลแรกที่ได้รับในปี พ.ศ.2548 เป็นการแข่งขันของ Commonwealth Society of Teacher of Dancing (C.S.T.D.) ประเทศออสเตรเลีย แต่ในปีนั้นน้องหลอดไฟเอ็นฉีกก่อนไป เนื่องจากการซ้อมหนักและไม่รู้ขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง คุณแม่จึงให้พักยาว และต้องทรมานกับการที่ไม่ได้ซ้อมเต้นเลย แต่ก็ไปให้กำลังใจเพื่อน รวมทั้งลงแข่งรำไทย เพราะไม่ต้องใช้แรงหรือกล้ามเนื้อมากซึ่งก็ได้รับรางวัลที่ 3
“ครั้งแรกที่ได้รับรางวัลคือเป็นการรำไทยแบบประยุกต์ที่เมืองนอก เป็นวัฒนธรรมของเรา จึงต้องพยายามให้ดีที่สุด แสดงให้เห็นเสน่ห์ของความเป็นไทยออกมาให้มากที่สุด พอได้รับรางวัลก็รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกดีที่เขาชอบศิลปะของเรา อีกอย่างคือลงแข่งอย่างเดียวแล้วได้รับรางวัลก็ถือว่าทำ 100% ก็ได้กลับมา 100% แล้ว”
น้องหลอดไฟบอกว่า เธอสามารถเต้นได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้เก่งสุดทุกอย่าง โดยหลักๆ ที่มั่นใจคือการเต้นบัลเลต์คลาสสิก บัลเลต์ร่วมสมัย เต้นแจ๊ซบรอดเวย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมองว่าการเต้นแบบคลาสสิกอย่างบัลเลต์นั้นน่าเบื่อ แต่มันคือศิลปะที่ยากและทรหดมาก ทุกคนจะต้องผ่านจุดที่ท้อมากจนอาจจะไปต่อไม่ไหว อย่างหลอดไฟคือช่วงที่บาดเจ็บบ่อยๆ จนคิดว่าทำไมต้องมาทำอะไรที่เจ็บตัวด้วย บางคนอาจจะถึงขั้นเล็บหลุด เลือดออกเวลาขึ้นพอยต์ เวลาคนดูอาจมองแค่ความสวยงาม แต่หากมองให้ลึก หรือลองมาสัมผัส เรียนรู้ด้วยตัวเองก็จะเข้าใจถึงความยากลำบากกว่าจะไปถึงจุดจุดนั้น
การแข่งขันปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทย น้องหลอดไฟลงแข่ง 8 รายการซึ่งก็ได้รับรางวัลมาจากทุกรายการ คิดว่าเป็นเพราะได้สะสมประสบการณ์มาทุกปี บางปีไปแข่งแล้วผิดหวังกลับมาก็มี ต้องเรียนรู้ทั้งการชนะมา เรียนรู้ที่จะแพ้หรือจุดต่ำสุดหลังจากการทุ่มเทอย่างหนัก ซึ่งในปีนี้มองว่าเหมือนแข่งกับตัวเอง ทำให้กรรมการเห็นตัวตนจริง
“หลอดไฟจะใช้เวลาเรียนและซ้อมประมาณอาทิตย์ละ 5 วัน แล้วก็สอนบัลเลต์เด็กเล็กๆ หนึ่งวัน ถ้าเป็นช่วงก่อนไปแข่งก็จะต้องฝึกหลังจากคิดว่าควรจะผสมท่าเบสิกต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างไร หาธีมเพลง หาชุดที่เหมาะกับการแสดง ก็จะเก็บตัวซ้อมประมาณสัก 2 เดือนกว่า โดยการแข่งแต่ละประเภทก็จะมีครูเฉพาะทางแต่ละด้านมาช่วยคุมฝึก แต่ในปีนี้พิเศษที่หลอดไฟคิดเองทำเองอยู่รายการหนึ่งคือ Semi-character เป็นการเต้นแสดงสื่อเรื่องราว ซึ่งที่หลอดไฟแสดงจะเกี่ยวกับอารมณ์เมื่อคนที่รักตายจากไป ก็รู้สึกภูมิใจมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ตัวเองคิดท่าเองเต้นเองแล้วก็ได้รับรางวัลด้วยค่ะ”
การเต้นเดี่ยวกับกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน เพราะการเต้นเดี่ยวคือเต้นและซ้อมคนเดียวตามความถนัด แต่ถ้าเต้นเป็นกลุ่มต้องซ้อมหนักกว่ามาก เพื่อให้ทุกคนสามารถเต้นได้พร้อมเพรียงกันจึงต้องปรึกษากันตลอด ทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำงานเป็นกลุ่ม เวลาขึ้นเวทีต้องฝึกมองคนอื่น รู้ที่จะรอจังหวะให้ไปพร้อมกันตลอด แต่การเต้นเดี่ยวหากเกิดข้อผิดพลาดขณะแสดงก็สามารถตัดสินใจแก้ไขได้ทันที
ส่วนขั้นตอนการกำหนดธีมที่จะใช้แข่งคือ อันดับแรกต้องเลือกเพลงก่อน ต้องเป็นเพลงที่ชอบ เพราะเมื่อเต้นแล้วความรู้สึกก็จะออกมาจากข้างในจริงๆ จากนั้นก็ปรึกษากับครูว่าจะเลือกใช้ท่าทางแบบใด สุดท้ายคือเรื่องของชุดที่ต้องดูให้เข้ากับท่าและเพลงที่ใช้ ซึ่งชุดที่ใช้ก็จะมีราคาที่ไม่สูงมาก อย่างชุดล่าสุดที่ใช้ในการแข่งก็ราว 3,000-4,000 บาท ต้องเก็บรักษาให้ดี
ในการเต้นนอกจากการสื่ออารมณ์แล้ว สรีระก็มีส่วนสำคัญมาก อย่างบางคนที่ตัวเล็ก ร่างท้วม หรือโครงสร้างกระดูกไม่เหมาะต่อการเต้นบัลเลต์ ซึ่งหลอดไฟเองก็อยู่ในระดับกลางๆ แต่สิ่งที่กลบจุดนี้หรือที่ทำให้ได้รางวัลคือ การสื่อความรู้สึกจากภายในจิตใจ นอกจากนี้ในเรื่องของจังหวะต้องแม่น ทุกรายละเอียดการเต้นต้องใส่ใจ
พร้อมกับบอกว่า ตัวเองยังต้องพัฒนาและมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกเยอะ เพราะไม่ได้เปรียบเทียบแค่คนในประเทศไทย บางคนอาจมองแค่ว่าแข่งกับมืออาชีพมาแล้วชนะหมดก็ถือว่าเก่งที่สุดในประเทศแล้ว แต่หลอดไฟมองไกลกว่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะหลอดไฟมีโอกาสไปดูการแสดงที่เมืองนอกบ่อย ได้รู้จักคนที่เป็นนักเต้นมืออาชีพซึ่งเก่งกว่า ดังนั้นจึงไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นี้ ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากนักเต้นหยุดเต้น หยุดซ้อม จะดิ่งลงเร็วมาก จึงจำเป็นต้องฝึกฝนตลอดเวลา กล้ามเนื้อต้องบริหารอยู่ตลอด
เรื่องเวลาก็ค่อนข้างสำคัญมากๆ โดยปกติจะเรียนเต้นวันเสาร์ตลอด ซึ่งจะเป็นวันที่เพื่อนๆ ไปเที่ยวกัน และบางครั้งก็อยากไปเที่ยวบ้าง แต่ในเมื่อตัดสินใจเลือกเดินทางนี้แล้วก็ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่ แม้จะต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นสองเท่า
“ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยมีเวลาให้เพื่อนเยอะ แต่ก็มีกลุ่มเพื่อนที่สนิท เป็นเพื่อนที่เขาเข้าใจเรา ซึ่งก็ถือว่าหลอดไฟโชคดี ถึงจะไม่ใช่กลุ่มใหญ่แต่มีความเข้าใจ ทำให้เราสามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง อยู่ด้วยกันแบบสบายใจ”
เมื่อถามถึงอนาคตก็ได้คำตอบว่า แม้จะเป็นคนชอบเต้นแต่ก็รู้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นร่างการทรุดลงก็อาจจะเต้นไม่ได้แล้ว แต่ด้วยใจที่รักก็คิดว่าถ้าเรียนจบก็จะหาประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อกลับมาเมืองไทยและพัฒนาวงการเต้นที่นี่ เพราะมองว่าทุกวันนี้โอกาสสำหรับคนเก่งได้แสดงออกยังไม่ค่อยมี หรือไม่ได้รับแรงสนับสนุนเท่าที่ควร จึงอยากเสริมให้มันดีขึ้น ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกมากขึ้น
เรื่องการใช้ชีวิต น้องหลอดไฟจะนับถือคุณแม่เสมอ คุณแม่เป็นนักบัลเลต์รุ่นแรกๆ ของเมืองไทย เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปซึ่งก็อยากเป็นแบบนั้น อยากประสบความสำเร็จ ส่วนในแง่การเต้นหลอดไฟจะไม่ยึดเป็นบุคคล แต่จะยึดเอาจุดเด่นของนักเต้นจากทั่วโลกแต่ละคนมาเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงตัวเอง
นอกจากการเต้นจะเป็นแค่ศิลปะอย่างหนึ่ง แต่สำหรับน้องหลอดไฟแล้วมันคือการค้นพบตัวตน และอยากบอกถึงคนที่คิดจะเริ่มทำว่าไม่มีอะไรช้าเกินไป เพียงต้องใช้ความพยายาม ความตั้งใจ แค่มาลองดูก็จะรู้ว่าศิลปะไม่ใช่แค่เปลือกนอก แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ และใช้เวลาให้มีค่า
“สิ่งที่หลอดไฟเชื่อและทำมาโดยตลอดคือต้องคิดให้ไกลไว้ แล้วต้องพยายามจะไปให้ถึงด้วย”
ประวัติ
ชื่อ-นามสกุล : นวินดา วรรธนะโกวินท์ (น้องหลอดไฟ)
อายุ : 19 ปี
การศึกษา : เกรด 4-7 จากโรงเรียน St. Andrews International School
เกรด 8-12 จากโรงเรียน Shrewsbury International School
บัลเลต์ระดับ Advance 2 จากสถาบัน The Royal Academy of Dance (RAD) ประเทศอังกฤษ
กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ Victorian College of the Arts (VCA), Melbourne University ประเทศออสเตรเลีย
รางวัลที่ได้รับจากการแข่งขัน 11th Asia Pacific Dance Competition, Thailand 2009
- ถ้วยคะแนนรวมสูงสุดของการแข่งขัน (Aggregate Cup) 444.5 คะแนน
- Solo Classical Open รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
- Solo Neo Classical Open รางวัลชนะเลิศอันดับ 1
- Solo Demi-Character Open รางวัลชนะเลิศอันดับ 1
- Solo Modern Open เหรียญรางวัลชมเชย
- Solo National Open รางวัลชนะเลิศอันดับ 1
- C.S.T.D. Belle Championship เหรียญรางวัลชมเชย
- Duo/Trio Neo Classical Under 18/Open รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
- Ensemble Modern Open รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1