xs
xsm
sm
md
lg

‘เรตหนัง’ เซ็นเซอร์ทั้งที่ไม่เซ็นเซอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


     เวลาไปดูหนัง หลายคนอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเวลาที่ภาพเหล้า บุหรี่ ปรากฏออกมา พร้อมกับภาพเบลอๆ มัวๆ บางคนทนไปไม่ไหวถึงขนาดลุกจากที่โรง หนีกลับบ้านทันทีก็มี

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ต่อไปปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกกฎกระทรวงยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ และหันมาใช้ระบบจัดระดับภาพยนตร์แทน โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสมของช่วงอายุผู้ชม

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีระบบใหม่ แต่คนไทยหลายคนก็ยังอดตั้งคำถามกลับไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้ว 2 ระบบนี้มันจะต่างกันแค่ไหน และในแนวทางการปฏิบัติจะมีเป็นจริงได้เพียงไหน เพราะอย่างที่ทราบว่า จริงๆ ภาพยนตร์ไม่ได้จบแค่ในโรงหนังเท่านั้น


เปลี่ยนระบบได้อะไร

ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการนำระบบการจัดประเภทภาพยนตร์มาใช้ว่า ทุกวันนี้ประเทศทั่วโลกได้หันมาใช้ระบบนี้กันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการทำแบบนี้ก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมของภาพยนตร์ไทยมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ขณะที่ตัวผู้ผลิตเองก็มีอิสระทางความคิดมากขึ้น สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ได้มากขึ้น

“ผู้ผลิตสามารถวางเป้าหมายของตัวเองได้เลยว่า จะทำหนังให้อยู่กรอบไหน ทำให้คนกลุ่มไหนดู ที่สำคัญผู้สร้างเองก็จะมีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องมาพะวงหน้าพะวงหลังว่า ทำแล้วจะผ่านหรือเปล่า หรือกว่าจะถ่ายมาได้แต่ละฉาก พอทำเสร็จก็ต้องโดนตัดทิ้ง และจากการประชุมบรรดาผู้ที่อยู่แวดวงภาพยนตร์ต่างก็เห็นด้วยกับการจัดเรต อย่างล่าสุดผมเจอคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว เขาบอกว่าเขาพอใจมากๆ สามารถสร้างสรรค์อะไรได้อีกเยอะเลย โดยเฉพาะสิ่งที่เขาค้างอยู่ในใจ ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำได้”

สำหรับความเป็นไปได้ทางปฏิบัติ ธีระกล่าวว่า โดยส่วนตัวเขารู้สึกเชื่อมั่นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาก่อนที่ พระราชบัญญัติภาพยนตร์แห่งชาติและกฎกระทรวงจะประกาศใช้ ก็มีการทำประชาพิจารณ์กันนานมาก และก็ยังมีบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์เข้าร่วมจำนวนมาก ที่สำคัญเมื่อประกาศใช้ทางกระทรวงก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่ทำการประเมินเป็นระยะ หากเรื่องไหนทำไม่ได้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะกฎกระทรวงสามารถแก้ไขได้ง่าย

ส่วนเรื่องกรรมการพิจารณา ทางกระทรวงก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประมาณ 6-7 ชุด ชุดละ 7 คน เพื่อพิจารณาภาพยนตร์จำนวน 400 กว่าเรื่องต่อเดือน โดยกรรมการนั้นจะมาจากหลายสายงานต่างๆ ทั้งด้านภาพยนตร์ ศาสนา การศึกษา ฯลฯ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้การกำหนดประเภทภาพยนตร์นั้นออกมาอย่างมีมาตรฐาน
ขณะที่ในส่วนของด้านโรงภาพยนตร์เอง ธีระกล่าวว่าถ้าเป็นประเภทที่ห้ามคนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม โรงภาพยนตร์จะต้องตรวจบัตรประชาชนอย่างเคร่งครัด และหากฝ่าฝืนก็จะมีโทษปรับประมาณ 100,000 บาท แต่ถ้าเป็นภาพยนตร์ที่ประเภทแนะนำ ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของโรงภาพยนตร์เองเป็นหลัก

“จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ก็มีบทลงโทษนะ หากเกิดการฝ่าฝืน แต่ผมมองว่าทางที่ดี เราควรใช้มาตรการทางสังคมเป็นหลักมากกว่า อย่างหนังเรต น. ก็ถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ คือผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนไทยนั้นไม่ไร้คุณภาพ หากเด็กอยากดูหนังเรต น. ก็ต้องบอกให้พ่อแม่พาไป พอพ่อแม่พาไปก็ต้องแนะนำลูกด้วยว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันโรงหนังเองก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง เช่นเห็นเด็กมาดูหนังแนะนำ เขาก็ต้องบอกเลยว่า หนูเรื่องนี้ดูคนเดียวไม่ได้นะ พ่อแม่อยู่ที่ไหน”

นายทุนยกมือเชียร์

วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริษัทจีทีเอช จำกัด หนึ่งในยักษ์ใหญ่การผลิตภาพยนตร์ไทย มองการจัดประเภทภาพยนตร์ว่า ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดยิบย่อยกว่าประเทศอื่นๆ ก็ตาม

“เรต 13 - 15 - 18 ไม่ได้ห้ามเข้าชม มันเป็นเพียงเลขบอกความเหมาะสม แต่เรท 20+ นั้นเป็นข้อห้าม และเท่าที่เข้าไปดูในรายละเอียดแล้วก็จะเห็นว่าต้องเป็นหนังที่รุนแรงจริงๆ ซึ่งตรงนี้ก็เปิดโอกาสให้กับหนังอีกประเภทหนึ่ง อย่างเช่นเรื่อง ‘จัน ดารา’ ซึ่งตอนนั้นมีปัญหามาก เราก็ขอกองเซ็นเซอร์ให้จัดอยู่เรต 20+ เลยได้ไหม ไม่อยากให้เด็กดู แต่ทางกองเซ็นเซอร์บอกว่าไม่ได้ เพราะมันไม่มีกฎหมายมารองรับ ต้องซอยหนังออกอย่างเดียว ซึ่งมันเสียคุณค่า อรรถรส และสิ่งที่ตั้งใจจะนำเสนอตั้งแต่ต้นก็หายไปหมด”

เมื่อถามต่อถึงความเชื่อมั่นต่อระบบการจัดประเภทภาพยนตร์ในอนาคต วิสูตรกล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องขึ้นกับคณะกรรมการที่มาพิจารณาว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันโดยส่วนตัวก็เชื่อว่า ของใหม่ๆ คงต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะสามารถปรับตัวได้

“ที่ผ่านมา เราก็เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว รู้ว่าแบบไหนจะผ่าน แบบไหนไม่ผ่าน มันเป็นบทเรียนที่เรียนรู้กันมา แต่เมื่อมาเป็นระบบแบบนี้แล้ว ถ้าจะให้บอกว่าดีกว่าหรือไม่ ก็ยังพูดไม่ได้ตอนนี้ แต่ผมก็เชื่อว่าถ้ามีอะไรไม่เหมาะไม่ควร ผู้บริโภคเองนี่แหละที่จะออกมาเป็นปากเป็นเสียง”

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของนายทุนหนัง เขาก็มองว่า ถึงระบบนี้จะให้อิสระของคนทำหนัง แต่ในทางการตลาดก็ถือว่าเป็นปัญหาพอสมควร เพราะนี่คือเป็นการจำกัดกลุ่มคนดูดีๆ นั่นเอง

“ถ้าจะต้องมีการทอนหนังออกเพื่อให้ได้เรตที่ต้องการ เราก็คงต้องมีการพิจารณา ส่วนผู้กำกับฯ ที่เป็นเจ้าของหนัง เราก็มั่นใจว่า เขาก็ต้องรับฟังเหตุผล เพราะเราทำงานกันเป็นทีมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คุยภาษาเดียวกันตั้งแต่ต้น ถ้าปัญหามันเกิด มันก็เป็นปัญหาที่เกิดร่วมกัน แต่ถ้าเป็นการทำหนังระดับ 20+ ก็ต้องมีการคุยกันตั้งแต่ต้น ทางค่ายก็จะได้รู้ว่ากลุ่มคนดูหนังเรื่องนี้จะเป็นใครมีแค่ไหน มันโยงไปถึงเรื่องของงบประมาณในการสร้าง”

อนาคตหนังไทย

ด้านผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง วิทยา ทองอยู่ยง จากเรื่อง ‘แฟนฉัน’ และ ‘เก๋าเก๋า’ ก็กล่าวเห็นด้วยกับการจัดประเภทภาพยนตร์

“ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ดีแน่ๆ แต่กับการปฏิบัติจริงก็คงจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อการควบคุมมีมาตรฐาน มันก็จะส่งผลดีต่อสังคมไทยโดยรวม”

เมื่อถามถึงฐานะของคนทำหนัง เขาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่ วิทยาตอบว่า ก็คงมีบ้าง แต่น่าจะเป็นในทางที่ดีขึ้น เพราะเราสามารถขยายขอบเขตและมีโจทย์ในการทำงานได้หลากหลายมากขึ้น เมื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้เขาดูนั้นเป็นใคร ก็จะได้เลือกใช้ภาษาของการเล่าเรื่องที่เหมาะสม

ส่วนโอกาสที่เมืองไทยจะมีภาพยนตร์รุนแรงมากขึ้นหรือไม่ วิทยากล่าวว่า ทีผ่านมาสมาคมผู้กำกับฯ ก็เคยมีการประชุมเรื่องนี้ ซึ่งก็มีผู้กำกับหลายคนอยากลองทำ แต่ก็ไม่รู้ว่าค่ายหนัง เขาจะเอาหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า คนที่ไปดูหนังตามโรงนั้น เป็นวัยรุ่น เป็นนักศึกษา ดังนั้นคนดูจะไม่ได้หายไปแค่ครึ่งเดียว เมื่อเงื่อนไขแบบนี้เกิดขึ้นทำให้เห็นว่ารายได้ที่รับกลับมาก็จะน้อยลง ส่งผลให้ทุนในการสร้างต้องน้อยลงไปด้วย

ดูแลกันเองดีกว่า

หลังจากพูดคุยกับผู้กำหนดนโยบาย และผู้ผลิตภาพยนตร์ ก็คงต้องหันมาดูที่ตัวโรงภาพยนตร์ในฐานะของผู้ที่ได้รับผลรับกระทบกับเรื่องนี้เต็มๆ

พงศ์นรินทร์ อุลิศ ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House RCA กล่าวถึงมาตรการในการจัดประเภทภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรมว่า โดยส่วนตัวมองว่าคงไม่แตกต่างจากการเซ็นเซอร์เท่าใดนัก เพราะการเซ็นเซอร์หนังก็คือการตัดทอนเนื้อหาหรือภาพบางส่วน ขณะที่การจัดประเภทก็คือการเซ็นเซอร์ที่ตัวบุคคลแทน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวนั้น ก็เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ แต่คนจะมาเซ็นเซอร์ควรจะอยู่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์เอง ไม่ใช่คนของหน่วยงานรัฐ

“ผมมองว่า คนในสังคมนั้นยังคงมีความรู้ไม่เท่ากัน หนังบางเรื่องที่มาจากต่างประเทศก็รุนแรงเกินไป เพราะฉะนั้นการเซ็นเซอร์ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ดี แต่การที่จะเอาไปให้คนที่ไม่เข้าใจมาเซ็นเซอร์สู้เอาคนในทำมาทำไม่ดีกว่าเหรอ

“ทุกวันนี้สื่อแบบโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์เอง เขาก็มีเซ็นเซอร์นะ แต่ว่าเขาเซ็นเซอร์ตัวเอง เขารวมตัวและกำหนดมาตรฐานของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นภาพยนตร์ก็ทำได้เหมือนกัน แล้วบางคนก็อาจจะกลัวว่า ถ้ามันรวมตัวแล้วจะมีการฮั้วแล้ว เรื่องพวกนี้ผมมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องวิตกเลย เพราะเรื่องนี้มีกฎหมายอื่นๆ รองรับอยู่แล้ว ผู้บริโภคอาจจะเอากฎหมายอนาจารมาเล่นงานก็ได้”

สำหรับในส่วนของการปฏิบัติตัว เพื่อรองรับระเบียบใหม่ พงศ์นรินทร์กล่าวว่า ก็คงต้องทำตามระเบียบที่ออกมา เพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่หากถามว่าต้องปรับตัวแค่ไหน ก็ไม่มากเท่าใดนัก เพราะที่ผ่านมาโรงภาพยนตร์ House เองก็มีกำหนดของผู้ชมในบางเรื่องอยู่แล้ว

เสียงสะท้อนจากคนดู

เมื่อพูดถึงบุคลากรในวงการหนังแล้ว จะไม่พูดถึงผู้ชมก็คงดูแปลกพิลึก นนทัช พรหมศรี นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาคการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้ง เพราะถึงการทำแบบนี้จะเป็นการจำกัดคนดู แต่ก็ยังดีกว่าการเซ็นเซอร์ที่ทำให้ภาพยนตร์เสียอรรถรส

“ผมคิดว่าจริงๆ เรื่องนี้ควรจะทำมาตั้งนานแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดีมากเลย แต่ผมก็มีข้อติติงอยู่นิดหนึ่งว่า จริงๆ เขาน่าจะทำช่องว่างให้คนที่ต้องดูหนังแต่ดูไม่ได้ อย่างนักเรียนฟิล์มที่อายุไม่ถึง 20 ปีไว้บ้าง อาจจะมีใบอนุญาตจากคณะว่าให้ดู ก็คงจะดีกว่า แต่ถึงไม่มีผมว่าอย่างน้อยๆ เด็กพวกนี้เขาก็มีวิธีหามาดูได้เองนั่นแหละ อาจจะยืมรุ่นพี่ ยืมเพื่อนมาดูตอนที่มันเป็นดีวีดีแล้ว”

ปลายอุโมงค์ภาพยนตร์

แต่อย่างที่ทราบ จุดสิ้นสุดของภาพยนตร์ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเท่านั้น แต่มีโทรทัศน์ แผ่นวีซีดี ดีวีดี หรือแม้แต่อินเตอร์เน็ตอีกด้วย

ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว โดยก่อนที่ภาพยนตร์จะขายหรือฉายในโทรทัศน์ก็จะมีกำหนดเรตไว้เลยว่าเป็นเรตไหน เช่นหากเป็นเรต ฉ. คนขายจะต้องให้ผู้ซื้อแสดงบัตรประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นซื้อไม่ได้

ส่วนในอินเตอร์เน็ตเอง ก็จะมีคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีทุกกระทรวงร่วมเป็นกรรมการ เข้ามาควบคุมดูแลในเรื่องนี้ หากมีการนำภาพยนตร์ระดับ ฉ. ขึ้น คณะกรรมการฯ สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทันทีฐานความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ขณะเดียวกัน ในแต่ละจังหวัด ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสำหรับสื่อประเภทต่างๆ อย่างจริงจัง โดยกรรมการก็มาจากทุกภาคในสังคม ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายพัฒนาสังคม

อย่างไรก็ตาม ธีระก็มองว่าสิ่งที่จะช่วยทำให้เรื่องนี้ได้ผลมากที่สุด คงหนีไม่พ้นมาตรการทางสังคม ที่ต้องเอาใจใส่บุตรหลานของตัวเอง ไม่ปล่อยให้สิ่งไม่ดีมารุมเร้าพวกเขา หากพ่อแม่สนใจบุตรหลาน ให้คำแนะนำอย่างจริงใจ เช่นเวลาดูภาพยนตร์หรือแม้แต่สิ่งอื่นๆ ก็เชื่อได้ว่าอย่างน้อยๆ เด็กจะเสพสื่อได้อย่างปลอดภัยและคุณภาพแน่นอน
*************

ระบบการจัดประเภทภาพยนตร์

1.ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู จะใช้สัญลักษณ์ ‘ส’
2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป ใช้ ‘ท’
3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ใช้ ‘น 13+’
4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ใช้ ‘น 15+’
5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใช้ ‘น 18+’
6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู ยกเว้นผู้บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ใช้ ‘ฉ 20+’
7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย จะใช้สัญลักษณ์ ‘ห’

***********
เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพ Click




กำลังโหลดความคิดเห็น