xs
xsm
sm
md
lg

“เกมออนไลน์” สื่ออันตรายหรือแพะรับบาป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาเรื่องเกมออนไลน์กับเยาวชนดูเหมือนจะเป็นปัญหาโลกแตกที่ยังแก้ไขไม่ได้อย่างเด็ดขาดเสียที คนส่วนใหญ่มักมองว่าเกมออนไลน์หรือเกมอื่นๆ ที่มีภาพและเนื้อหาที่รุนแรงทำให้เยาวชนซึมซับและสร้างพฤติกรรมก้าวร้าวในโลกความจริง หรือจะเป็นข่าวร้ายที่ได้ยินกันบ่อยครั้งถึงการถูกล่อลวงไปทำสิ่งไม่สมควร ผ่านการพูดคุยชักจูงผ่านสื่อเกมออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมของคนหลากหลายวัย ในวันนี้ Lite มีมุมมองของผู้ที่ทำงานในวงการไอทีและเกม ถึงปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกนี้ว่าเกิดจากอะไรและควรจัดการให้เป็นไปในทิศทางใด

คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค เนชั่นชาแนล แสดงความคิดเห็นว่าปัจจุบันมีคนเล่นเกมมากขึ้น วุ่นวายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวแต่ละครอบครัวปลูกฝังภูมิต้านทานให้แก่บุตรหลานมาไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องเยาวชนกับสื่อเกมออนไลน์ให้เห็นอย่างทุกวันนี้ พอมีข่าวเสียหายกับเยาวชนที สังคมก็จะโยนความผิดให้เกมเป็นแพะทุกครั้งไป เพราะเกมพูดไม่ได้ แล้วเกมที่มีปัญหาเรื่องเนื้อหาไม่เหมาะสมส่วนใหญ่เป็นเกมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่มีบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างถูกต้อง พูดง่ายๆ คือ เป็นเกมเถื่อน ที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเกมเหล่านี้นั้น ในต่างประเทศที่จำหน่ายกันได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะเขามีการกำหนดเรตติ้ง คนที่เล่นต้องมีวุฒิภาวะ และราคาเกมแต่ละเกมค่อนข้างสูง ไม่ใช่เด็กๆก็ซื้อเล่นกันได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีการสกรีนคนเล่นได้ในระดับหนึ่ง

ยกตัวอย่างช่วงหนึ่งที่มีปัญหาเกมโป๊ของญี่ปุ่น เนื้อหาว่าด้วยการสอนวิธีข่มขืนผู้หญิง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเกมเหล่านี้จะจำหน่ายในร้านเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น รวมทั้งการใช้กำแพงราคาอยู่ที่เกมละประมาณ 4,000-5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง คนที่ทำงานแล้วถึงจะมีเงินซื้อได้ หรืออย่างเกมแนวฮาร์ดคอร์อย่างพอยต์แบงก์ ในเกาหลีจะเรตไว้ที่18+ ซึ่งหากกลุ่มผู้เล่นมีอายุน้อยกว่า 18 ปี เลือดในเกมก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวแทน ซึ่งการที่ใช้วิธีเปลี่ยนสีเลือดนั้นก็จะให้ความรุนแรงของเกมนั้นดูลดลงไป

หรืออย่างเกมออดิชันออนไลน์ที่มีข่าวเด็กถูกล่อลวง หากไม่มีเกมนี้ เด็กเหล่านั้นก็อาจถูกล่อลวงโดยทางอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ การพูดคุยผ่านโปรแกรมสื่อสารต่างๆทางอินเทอร์เน็ต หรือผ่านทางเพื่อนๆก็ได้ เพราะจริงๆแล้วเกมออนไลน์ก็คือ “สื่อ” ช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนได้ติดต่อ ทำความรู้จักกันกว้างและง่ายขึ้นเท่านั้น

ต้องเข้าใจก่อนว่า สื่อทุกสื่อไม่ได้ผลิตมาเพื่อคนทุกวัย ผู้ใช้จึงต้องมีวิจารณญาณ และจริยธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง และฝึกฝน ดังนั้น การจัดเรตติ้งเกมตามอายุของผู้เล่น และความรุนแรงของเนื้อหาในเกมอย่างที่ทำกันในต่างประเทศ หรือเช่นเดียวกับการจัดเรตติ้งสื่อภาพยนตร์ที่ไทยได้ทำเรียบร้อยแล้วนั้น สามารถส่งเสริมความเข้าใจขอบเขตการเข้าถึงข้อมูลตามความเหมาะสมของอายุได้ โดย ณ เวลานี้กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่างกฎกระทรวงเรื่องเรตติ้งเกมนี้ขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

“ส่วนตัวผมคิดว่า การแก้ปัญหาเยาวชนกับเกมออนไลน์ ควรเริ่มจากการจัดเรตติ้งอายุของผู้เล่นให้มีความเหมาะสมกับประเภทของเกม รวมทั้งการเชื่อมฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทยกับข้อมูลการลงทะเบียนจากบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ เพื่อจำกัดเวลาเล่นเกมที่เหมาะสม ในปัจจุบัน เวลาลงทะเบียนเล่มเกมแล้วให้ระบุรหัสบัตรประจำตัวประชาชน บริษัทเกมจะสามารถตรวจสอบได้แค่ว่าเลขรหัสนั้นถูกต้องตามหมวดทะเบียนราษฎรหรือไม่ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเลขที่ระบุมาของบุคคลนั้น มีอายุเท่าไร ถึงตามเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเมื่อเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์นั้น โกหกหรือโกงเอาหมายเลขบัตรประชาชนคนอื่นมากรอก เพื่อให้ได้เล่นเกมที่อยากเล่น หรือได้เล่นเกมเลยเวลาที่กำหนดได้"

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อน เกมเถื่อน ให้หมด แม้เป็นเรื่องยากแต่หากทำได้ก็จะลดปัญหาเกมเถื่อนที่รุนแรงได้ เหลือเพียงเกมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการคัดกรองเนื้อหาเรียบร้อยแล้ว เหมือนที่มีจำหน่ายให้เห็นตามตลาดทั่วไป ซึ่งสาเหตุที่เกมเถื่อนได้รับความนิยมคือตัวเกมเหมือนกับต้นฉบับ หาซื้อได้ง่าย ในราคาที่ถูกมาก

สุดท้ายคือส่วนสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหานี้ ได้แก่จุดเล็กๆ อย่างสถาบันครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะออกมาเรียกร้องให้หลายๆ ฝ่ายแก้ไขปัญหานี้ แต่จริงๆ แล้วครอบครัวจำเป็นต้องดูแลกันเองให้ดี ครอบครัวจะต้องออกกฎทองในความเหมาะสมเรื่องระยะเวลาในการเล่นเกม และห้ามที่จะไม่ให้ลูกๆ บอกที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์หรือสิ่งอื่นๆ ที่จะทำให้บุคคลในเกมสามารถตามมาถึงตัวได้

ทุกวันนี้ ปัญหาเกิดจากสถาบันครอบครัวที่ล้มเหลว พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก ทำงานหนักหาเช้ากินค่ำ ซึ่งตนเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนี้กับคุณหมอจิตวิทยาที่จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่าพ่อแม่จะต้องเห็นเรื่องการเล่มเกมให้เป็นปัญหาก่อน ให้ความสนใจและกระตือรือร้น พร้อมกับต้องยอมรับว่าไม่สามารถสกัดกั้นสื่อเหล่านั้นได้ เพราะเป็นกระแสวัฒนธรรมผ่าน Globalization ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามเด็กเล่นเกม แต่สามารถกำหนดระยะเวลาหรือสร้างกฎ กติกา ภายในบ้านได้

อีกด้านหนึ่งในมุมของสื่อเองที่มักจะมุ่งในข่าวร้ายก่อนเพราะคิดว่าข่าวร้ายขายได้เสมอ จึงทำให้เกมถูกมองเป็นภาพลบ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วก็มีด้านที่ดีเช่นกัน มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จหรือได้ดีจากการเล่นเกมแล้วไปแข่งขันต่างประเทศได้รับรางวัลกลับมา สื่อต่างประเทศจะให้ความสนใจสัมภาษณ์มาก แต่กลับกัน สื่อไทยกลับไม่สนใจ ซึ่งการนำเสนอข่าวดีๆ เหล่านี้จะเป็นการสนับสนุนให้คนรู้จักเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ ให้รู้ว่ามีลมหายใจแห่งการสร้างสรรค์อยู่ด้วย

ด้านผู้ให้บริการเกมยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เองก็มีมาตรการในการคัดกรองเนื้อหาเกมออนไลน์ก่อนจะนำมาเปิดให้บริการในประเทศไทย โดยคุณศิริรัตน์ ไวศรายุทธ รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ ชี้แจงว่าในขั้นแรกจะยึดหลักการจัดเรตติ้งอายุผู้เล่นตามประเทศเจ้าของเกมอย่างเกาหลี ซึ่งจะแบ่งเป็น ALL 12+ 15+ และ 18+ ซึ่งขึ้นอยู่กับภาพและเนื้อหาของเกมว่าเกมใดที่เป็นเกมเพื่อความบันเทิงไม่มีฉากรุนแรงก็จะให้เป็นประเภท ALL ในขณะที่เกมซึ่งมีฉากต่อสู้แต่ไม่ได้ใช้อาวุธรุนแรงหรือเห็นเลือดก็จะให้เป็นช่วงเรตติ้ง15+ และหากรุนแรงกว่านั้นก็จะจัดให้อยู่ในเรตติ้ง 18+ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบลงทะเบียนเล่นเกมที่ต้องใช้รหัสบัตรประชาชนและระบุวันเดือนปีเกิด ซึ่งยังไม่สามารถตรวจสอบครอบคลุมได้ 100% ว่าถูกต้องในเรื่องเกณฑ์อายุหรือไม่ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการเกม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

ในกรณีการจัดเรตติ้งนั้น นอกจากจะระบุไว้ในเว็บไซต์เกมแล้ว ยังบอกไว้ชัดเจนในส่วนของคำเตือนก่อนที่จะเข้าเล่นเกมว่าเกมนั้นเรตติ้งไว้ที่เท่าใด นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ทางผู้ให้บริการเกมออนไลน์ได้ดำเนินการมาโดยตลอด อย่างการขึ้นคำเตือนไว้ที่หน้าแรกก่อนเข้าเกม หรือเป็นระบบ Broad cast ภายในเกมที่นอกจากจะนำเสนอข่าวสารกิจกรรมดีๆ แล้วก็ยังมีคำเตือนแก่ผู้เล่นที่กำลังใช้บริการเกมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ เช่น อย่าให้เบอร์โทรศัพท์หรือนัดเจอกับคนในเกมหากไม่รู้จักกัน หรือแม้แต่เรื่องของเวลาการเล่นเกม จะมีระบบเตือนเด้งขึ้นมาว่าขณะนั้นคุณเล่นเกมมานานเท่าใดแล้ว ควรพักสายตาหรือหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง

นอกจากนี้ ยังมีการสอดส่องดูแลความเรียบร้อยภายในเกมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้เล่นว่าเล่นเกมอย่างไรให้สนุกและมีความสุข แต่หากพบผู้กระทำผิดหรือใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย สื่อไปในทางลามกอนาจารก็จะมีการตักเตือนหรือถึงขั้นระงับไอดีให้ไม่สามารถใช้บริการต่อได้ รวมทั้งการปราบปรามเซิร์ฟเวอร์เกมเถื่อนที่ทางบริษัทมีทีมงานคอยตรวจสอบเอง และจากการแจ้งเบาะแส ได้มีการประสานงานกับตำรวจ ซึ่งพยายามแก้ปัญหาตรงนี้อย่างเอาจริงด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่านอกจากการดูแลความเรียบร้อยในเกมออนไลน์ให้ลูกค้าที่ใช้บริการมีความสุขและปลอดภัยแล้ว ก็มีการให้ความร่วมมือกับโครงการเพื่อสังคมต่างๆ อย่างการร่วมมือกับ ป.ป.ส. ในการต่อต้านยาเสพติดหรือสนับสนุนให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การประกวดออกแบบเกมสนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ และโครงการเพื่อสังคม

“ในสังคม...ทุกที่ไม่ได้ปลอดภัย 100% เช่นเดียวกับเกมออนไลน์ซึ่งเป็นสังคมหนึ่ง มีความบันเทิงที่มีขอบเขต ซึ่งในความปลอดภัยนั้นจะขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งผู้ปกครอง ทั้งเจ้าของร้านเกม”





10 เกมอันตรายที่ควรหลีกเลี่ยง พ.ศ.2550
1. แกรนด์ เทฟต์ ออโต้ (GTA-Grand Theft Auto)
2. แมนฮันต์ (Manhunt)
3. สการ์เฟซ (Scarface)
4. ห้าสิบเซ็นต์ : บุลเลตพรูฟ (50 Cent : Bulletproof)
5. สามร้อย : เดอะวิดีโอ เกม (300 : The Video Game)
6. เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (The Godfather)
7. คิลเลอร์ 7 (Killer 7)
8. เรสซิเดนต์ อีวิล 4 (Resident Evil 4)
9. ก็อด ออฟ วอร์ (God of War)
10. ฮิตแมน : บลัด มันนี่ (Hitman : Blood Money)

หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
ศิริรัตน์ ไวศรายุทธ




กำลังโหลดความคิดเห็น