xs
xsm
sm
md
lg

คลอดแล้ว! สัญลักษณ์เรตติ้งภาพยนตร์ เร่งสำรวจความเห็นคอหนังหลังติดเรต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรับโฉมสัญลักษณ์เรตติ้งภาพยนตร์รอบสองเสร็จแล้ว เร่งชง “ธีระ” ทำคลอด ชี้ ปรับเลขไทยเป็นอารบิกเพื่อเป็นสากล ขณะที่สำนักพิจารณาภาพยนตร์ฯ เร่งสำรวจความคิดเห็นคอหนังหลังใช้เรตติ้ง

วันนี้(3 ก.ย.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการปรับแก้ตราสัญลักษณ์ใช้ประกอบการจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์ หรือ เรตติ้ง 7 ประเภท ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติที่ให้มีการนำกลับไปปรับแก้สัญลักษณ์ใหม่นั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยมีนายโกเมน ภัทรภิรมย์ เป็นประธานได้ดำเนินการปรับแก้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.จากเดิมใช้ตัวเลขไทย เช่น น ๑๓+, น ๑๕+, น ๑๘+ ได้ปรับเปลี่ยนเป็นตัวเลขอารบิก คือ 13+, น 15+, น 18+ และ ฉ 20 – การปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ดังกล่าวเพื่อความเป็นสากลและเข้าใจง่ายมากขึ้น

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า 2.แก้ไขตราสัญลักษณ์ประเภทที่ 6 (ฉ ๒๐+) เป็น ฉ 20 – รวมทั้งเปลี่ยนเครื่องหมายถูกผิด หน้าตัวอักษร ฉ 20 – เป็นเครื่องกากบาท เพื่อสร้างความแตกต่างและป้องกันประชาชนเกิดความสับสน เนื่องจากสัญลักษณ์ดังกล่าวใกล้เคียงกับประเภทที่ 4 และ 5 อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ตราสัญลักษณ์จะต้องนำเสนอต่อ นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เพื่อพิจารณาว่าสามารถประกาศได้เลยหรือต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้ง

ด้าน นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สภว.) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า หลังจากประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทภาพยนตร์ ซึ่งใช้ในการจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์ (เรตติ้ง) ขณะนี้มีภาพยนตร์ที่ผ่านกระบวนการจัดเรตติ้งแล้วกว่า 10 เรื่อง และยังไม่พบปัญหาหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดเรตติ้งจากผู้สร้างและผู้ประกอบการภาพยนตร์
 
ทั้งนี้ จากลงพื้นที่สำรวจโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว แม้ว่าตราสัญลักษณ์ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ใช้ข้อความแทนไปก่อน อย่างไรก็ตาม สภว. กำลังเร่งทำวิจัยและสำรวจความเห็นของผู้เข้าชมภาพยนตร์และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการจัดเรตติ้ง ว่าหนังแต่ละเรื่องที่ผ่านการจัดเรตติ้งนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพื่อนำข้อเสนอแนะและความเห็นต่างๆ มาปรับปรุงการทำงานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น