เครือข่ายครอบครัวฯ ยื่น จม.เปิดผนึกค้าน วธ.ล้ม กม.เปิดช่องเด็กเล่นเกมนานเกิน 3 ชม. จวกเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการร้านเน็ต ด้านรองเลขาธิการกฤษฎีกาฯ เตือนไม่ควรเอาเรื่องภาพยนตร์มารวมกับเกม ชี้ขณะที่ “ธีระ” ระบุต้องใช้มาตรการสังคม และพร้อมแก้ กม.หากประเมินไม่ผ่าน
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการสัมมนา “การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551” โดยมีผู้เกี่ยวข้อง ศาล อัยการ ตำรวจ วัฒนธรรมจังหวัด กว่า 400 คนเข้าร่วมที่โรงแรมเอสดี อเวนิว ว่า หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มากว่า 1 ปี วธ.ได้ทำงานอย่างเต็มที่ มีการผลักดันร่างกฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านมาแล้ว 3 ฉบับ ส่วนอีก 2 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 ก.ค. นี้ การสัมมนาในวันนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายไปในทางเดียวกัน อาทิ การเปรียบเทียบปรับ การออกใบอนุญาต การติดตามประเมินผล การจัดประเภทภาพยนตร์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
นายสงขลา วิชัยขัทคะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ เป็นกม.สำคัญมาที่เชื่อมโยงมิติวัฒนธรรม ที่รวมเอาคำว่า วีดิทัศน์ เข้าไปด้วยทั้งเกม คาราโอเกะ ซีดี วีซีดี ซึ่งมีเนื้อหาหลากหลาย ในต่างประเทศอย่างฝรั่งเศสแยกกฎหมายอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับกฎหมายเกมคนละฉบับ จึงเกิดคำถามว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา นักการศึกษาที่มาช่วยดูแลเรื่องเนื้อหาเพียงพอหรือไม่ การเอาทั้งสองเรื่องมารวมกันทำให้การบังคับใช้กฎหมายยุ่งยากหรือไม่ รวมไปถึงการที่หลายฝ่ายมองร้านเกมเป็นผู้ร้าย สอนให้เด็กเป็นอาชญากร แทนที่จะคิดว่า ร้านเกม คือ คนมาเลี้ยงลูกแทนพ่อแม่ที่ไม่มีเวลา แล้วจะทำอย่างไรให้ร้านเกมเป็นสีขาว ปลอดภัย
“นอกจากนี้ ไม่มีการระบุสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศกับภาพยนตร์ไทย ส่วนขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์ หากรัฐเห็นว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องศิลปวัฒนธรรมอันดีสามารถใช้อำนาจยับยั้งได้ ขณะเดียวกัน ควรบริหารกฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่สร้างภาระให้ประชาชนหรือผู้อยู่ภายใต้กฎหมายเกินขอบเขต เช่น มีภาพยนตร์บางประเภทไม่ต้องขออนุญาตก็สามารถถ่ายทำได้ เป็นต้น ส่วนเรื่องเกมยอมรับว่ากฎหมายพัฒนาไม่ทัน เช่น เทคโนโลยีสอนให้เล่นพนัน ฆ่าคน สูบมอฟีนในเว็บไซต์ อย่างนี้ตรวจผ่านได้อย่างไร ละเอียดอ่อนมาก ผมอยากเห็นผู้ประกอบการให้เช่า ขาย ร้านเกม อินเทอร์เน็ต มาร่วมสร้างเกมที่มีประโยชน์ต่อเยาวชน” นายสงขลา กล่าว
ในวันเดียวกัน นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัก ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ พร้อมคณะได้เดินทางมายื่จดหมายเปิดผนึกต่อนายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ทบทวนการตัดเนื้อหาเรื่องการอนุญาตไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมเกินวันละ 3 ชม. ออกจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ โดยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
“พวกเราผิดหวังกับการกระทำของ วธ. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับร้านเกม การอ้างว่าไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมของเด็กไม่ให้เกินวันละ 3 ชม.ได้ เป็นการอ้างที่ไม่มีเหตุผลและปัดความรับผิดชอบ เนื่องจากในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้กำหนดเวลาการให้บริการกับเด็กและเยาวชนไว้ด้วย จึงขอตั้งคำถามถึงนาย ธีระ สลักเพชร รมว.วธ. ว่าหากควบคุมการเล่นไม่ให้เกิน 3 ชม.ไม่ได้ จะควบคุมการเข้าออกของเด็กได้อย่างไร การที่ รมว.วธ.ตัดสินใจเช่นนี้มีเหตุผลอย่างไร หรือเกิดจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากข้าราชการภายในกระทรวงหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของร้านเกมอย่างมหาศาล โดยมีข้าราชการระดับสูงบางคน มีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกับนายกสมาคมผู้ประกอบการร้านเกมอินเทอร์เน็ต” นางอัญญาอร กล่าว
ขณะที่ นายธีระกล่าวว่า การจำกัดเวลาเล่นเกม 3 ชั่วโมงนั้น กฤษฎีกาเห็นว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง โดยส่วนตัวเห็นว่าการจำกัดเวลา 3 ชั่วโมง ควรใช้มาตรการทางสังคมและต้องใช้เวลา ซึ่งต้องรอให้กฎหมายมีผลประกาศใช้เพื่อจัดระเบียบร้านเกม และเพิ่มจำนวนร้านเกมสีขาวให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามจะมีการประเมินการผล หากใช้ไประยะหนึ่งแล้วพบปัญหาจะต้องมีการแก้ไขแน่นอน