โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ไม่ว่าจะสุขสมหรือเจ็บปวดกับเรื่องอะไรกันมาบ้างตลอดระยะทางครึ่งแรกของขวบปีที่ผ่านพ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็คือประสบการณ์แห่งวันเวลาที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะจัดการกับมันอย่างไร? เก็บเกี่ยวเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หรือปล่อยทิ้งไว้ข้างทาง?
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งผมได้เรียนรู้และอยากแลกเปลี่ยนก็คือ หลายวันที่ผ่านมา ผมคิดถึงวาทะของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่บอกไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า “ชีวิตนั้นสั้น แต่ศิลปะยืนยาว” ซึ่งที่เก็บมาครุ่นคิดก็เนื่องจากผมรู้สึกว่า วาทะดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะใช้ไม่ได้เลยกับการสร้างผลงานของคนทำหนังไทยจำนวนเกือบๆ 90 เปอร์เซ็นต์
เพราะเท่าที่เห็น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนทำหนังคนไหนที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานซึ่งจะเป็น “ประวัติศาสตร์” ให้คนรุ่นหลังๆ ได้จดจำและพูดถึงในทางดีๆ (แต่ชอบทำผลงานที่ให้คนพูดถึงในด้านแย่ๆ เยอะมาก) เพราะแต่ละคนต่างก็ดูจะพากันตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เงินทองจากคำว่า “ภาพยนตร์” ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาหรือยกระดับภาพยนตร์ให้มีคุณภาพและงดงามด้วยศาสตร์และศิลป์ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยมีทัศนคติแบบหนึ่งหนุนหลังอยู่
ทัศนคติแบบที่ว่านั้นก็อย่างเช่น “จะมาซีเรียสอะไรกันนักกันหนา ดูหนังก็เพื่อความบันเทิงสิ” หรือ “ชีวิตก็เครียดอยู่แล้ว จะมาเครียดอะไรกับหนังอีก” หรือไม่ก็... “อยากดูอะไรที่มีสาระ ก็ไปดูสารคดีโน่น”
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะอะไร หนังอย่าง “สาระแนห้าวเป้ง” ถึงทำเงินได้เป็นร้อยล้าน
และด้วยเหตุนี้ ก็จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจอีกเช่นกันว่า ทำไม หนังตลกที่พกพาความหยาบโลนมาเยอะแยะ อย่าง “วงษ์คำเหลา” ถึงฟาดรายได้ไปร่วมๆ ร้อยล้าน
คือจริงๆ ผมไม่ได้เคร่งเครียดหรือคาดคั้นนะครับว่า หนังไทยทุกๆ เรื่องจะต้องลุกขึ้นมา “มีสาระ” หรือล้ำลึกด้วยความเป็นงานอาร์ทกันหมด เพียงแต่ที่ผมมองว่ามันเป็นปัญหาห่วยแตกแก้ไม่ตกของหนังไทยเกือบทั้งระบบ ก็คือ บทภาพยนตร์ครับ แน่นอนล่ะ ผมไม่สนหรอกว่า คุณจะทำหนังผี หนังกะเทย หนังตลก หรือหนังไร้สาระอะไรกัน แต่กรุณาคิดให้มากหน่อยได้ไหมครับกับเรื่องของ “บทหนัง” อย่างน้อยๆ ถึงไม่มีเนื้อหาสูงส่งอะไรจะมาบอกกล่าวกับคนดู แต่ในแง่ความต่อเนื่องของเรื่องราว มันต้องมีครับ ไม่ใช่ว่าข้านึกจะเล่าอะไรยังไงหรือข้ามฉากนี้ไปฉากนู้นตอนไหนก็ได้ ไม่สนใจความต่อเนื่อง อย่างหลายๆ เรื่องนี่ อ่านเรียงความของเด็ก ม.ต้น ยังดูมีความต่อเนื่องดีกว่าเลยครับ
การเล่าเรื่องให้มีความต่อเนื่องนี่สำคัญนะครับ คิดดูง่ายๆ ก็ได้ครับ ขนาดแค่คุณนั่งคุยกับเพื่อนๆ ในวงเหล้าแล้วอยากจะเล่าอะไรสักเรื่อง คุณยังต้องเรียงลำดับสิ่งที่คุณจะเล่าให้เป็นขั้นเป็นตอนเลย แล้วนี่คุณทำหนังมาขายทั้งที คุณไม่อยาก “โชว์” ความเป็น “นักเล่าเรื่องที่ดี” ของคุณบ้างหรือ และอันที่จริง ผมว่า การเล่าเรื่องให้มีความต่อเนื่อง ไม่น่าจะใช่เรื่องยากเย็นเลยนะครับ เพราะคนที่โตๆ กันแล้ว มีการศึกษากันแล้ว และรู้จักคิดอะไรๆ อย่างเป็นระบบแล้ว ก็น่าที่จะรู้ว่าอะไรควรเล่าก่อนเล่าหลัง หรืออะไรสำคัญมากอะไรสำคัญน้อย ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณ “คิดไม่เป็น” หรือไม่สามารถ “จัดระบบความคิด” ของตัวเองให้มีลำดับขั้นตอนหรือเปล่า บทหนังส่วนใหญ่ถึงออกมาสะเปะสะปะไร้ความเชื่อมโยงอย่างที่เห็น
อีกประการหนึ่ง...ผมเข้าใจนะครับว่า ภาพยนตร์นั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่ของเอนเตอร์เทนซึ่งมีโจทย์ในการตอบสนองความสนุกสนานผ่อนคลายของผู้คน อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่ออยู่ว่า ภาพยนตร์นั้นสามารถทำ “หน้าที่ที่งดงาม” ได้มากกว่านั้น เพราะหนังหลายๆ เรื่อง อย่าว่าแต่สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบแห่งศิลปะภาพยนตร์เลยครับ แต่ยังไปไกลถึงขั้นทำให้คนดูเกิด “การหยั่งรู้” (Intuition) ในบางแง่บางมุมของชีวิตได้เลยด้วยซ้ำ นั่นก็คือ หนังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงตะขอไว้กระตุกต่อมขำของคนดูเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีพลังที่สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) ต่อความรู้สึกนึกคิดตลอดจนสติปัญญาของผู้เสพงานได้ด้วย เหมือนเราอ่านวรรณกรรมดีๆ ของ “เช็คสเปียร์ส” ของ “อันตัน เชคอฟ” ของ “ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟกี้” หรือของใครอื่นๆ อีกหลายคน แล้วรู้สึกเหมือนมี “อะไรบางอย่าง” งอกงามขึ้นในใจเรา
ครับ ที่พูดแบบนี้ ผมไม่ได้เรียกร้องให้ใครต่อใครลุกขึ้นมาทำหนังดีๆ ชั้นเชิงเหลือกินแบบ The Crying Game หรือดิ่งลึกสู่ห้วงรักและความเหงาอย่าง Sleepless in Seattle เล่าเรื่องได้เจ๋งๆ เหมือน Stranger than Paradise (จิม จาร์มุช) หรือทำหนังให้ขึ้นหิ้งเป็นตำนานเทียบเท่ากับ 2001 : A Space Odyssey หรือทำหนังที่น่าคารวะอย่างผลงานของผู้กำกับอังเดร ทาคอฟสกี้ หรือหนังตลกเนี้ยบๆ แบบ Some Like it Hot เพียงแต่ที่พูดมาทั้งหมด ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า บางครั้ง หนังไทยก็ดูจะ “มักง่าย” เกินไป
มักง่าย...เพราะไม่ได้ใช้สมองคิดและสร้างสรรค์อะไรกันมาก คือทำแบบลวกๆ พอเอาเข้าฉายเก็บตังค์ในโรงหนังได้
มักง่าย...เพราะคิดกันอยู่แค่ว่า จะทำการโปรโมตยังไงให้ “ขาย” แต่ละเลยไม่ใส่ใจว่าจะเล่าเนื้อหาสาระอะไรแก่คนดู
และอาจจะมักง่าย...เพราะคิดว่า ข้ามันก็แค่คนทำมาหากินคนหนึ่ง เข้ามาสู่วงการหนังชั่วครู่ชั่วคราว ทำหนังเรื่องสองเรื่อง ได้เงินไปก้อนหนึ่ง แล้วก็เปิดตูดหนี ไม่สนใจหรอกว่า ตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งของ “งานขยะ” หรือ “งานศิลปะ”...
ที่ผ่านๆ มา มีหลายๆ คนพยายามถามผมอยู่เรื่อยๆ ว่า เพราะอะไร หนังอย่างสาระแนห้าวเป้ง หรือวงษ์คำเหลา จึงทำเงินได้มากมายขนาดนั้น ซึ่งถ้าจะมองว่าเป็นความสำเร็จของการตลาดพีอาร์โปรโมตโฆษณา ก็ถูกต้อง แต่ผมอยากมองอย่างนี้ครับว่า ตราบใดก็ตามที่คนทำหนังยังเชื่ออยู่ว่า หนังคือการทำมาหากิน ไม่เกี่ยวกับศิลปะ และตราบใดก็ตามที่คนดูเองยังเชื่ออยู่ว่า การดูหนัง ไม่ใช่การเสพงานศิลป์ แต่เป็นการดื่มกินความบันเทิง ผมคิดว่า ตราบนั้น มันก็จะยังมีหนังประเภท “ตีหัวเข้าบ้าน” ทำแบบลวกๆ ออกมาฉายไม่มีวันหมด และหนังห่วยๆ ก็จะเป็นผู้ชนะอยู่ร่ำไปในแง่ของรายรับ
แต่เอาเถอะ ไม่ว่าจะยังไง หนังไทยในช่วงเวลาครึ่งแรกของปี 2552 ก็ไม่ได้เลวร้ายไปซะทั้งหมด เพราะท่ามกลางกองทัพหนังห่วยๆ ที่แย่งกันเข้าฉายแทบทุกอาทิตย์นั้น ก็ยังมีหนังที่คนทำ “ละเมียด” กับการสร้าง แทรกอยู่ประปราย แม้ว่าครึ่งปีที่ผ่านมา จะยังไม่มีหนังไทยที่พอจะใช้คำว่า “ยอดเยี่ยม” ได้ แต่ก็มี “หนังดีๆ” อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งน่าชมเชย
และไม่มากไม่มาย สำหรับใครที่ได้ติดตามเคเบิ้ลทีวีช่อง Super บันเทิงบ้าง อาจจะเคยเห็นผมปรากฏตัวแว้บๆ ทุกหัวค่ำวันพฤหัสบดี ในช่วง “ลงดาบภาพยนตร์” ต่อจาก “เขย่าจอ” ของคุณต่อพงษ์ เศวตามร์ (ออกอากาศ 20.30 น.) และที่บอกเช่นนี้ก็เพราะผมจะขอยืมคอนเซ็ปต์ของรายการมาใช้ดูสักครั้งครับ นั่นก็คือการ “ลงดาบ” ภาพยนตร์ไทยที่ผมได้ดูในโรงหนังตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้ว่า เรื่องไหนดี หรือเรื่องไหนห่วย รวมถึงเรื่องไหนที่จัดว่า “พอดูได้ ไม่ห่วย แต่ก็ไม่ถึงกับดี”
ที่สำคัญ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม เพราะนี่เป็นเพียงทัศนะของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งติดตามดูหนังไทยมาเกือบครึ่งชีวิต...ก็เท่านั้นเอง...
***หากต้องการอ่านบทวิจารณ์แต่ละเรื่องอย่างละเอียด ก็คลิกลิงค์ตรงชื่อเรื่องได้เลยครับ
หนังดีๆ
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว
นี่คือหนังไทยที่ดูแล้วรู้สึก “อิ่มใจ” มากที่สุดในรอบครึ่งปี และมันสะท้อนเอกลักษณ์สไตล์จีทีเอชอย่างคงเส้นคงวา นั่นคือ การเป็นหนัง Feel Good ที่มาพร้อมกับพล็อตดีๆ และการดำเนินเรื่องซึ่งนำพาคนดูไปสู่ความรู้สึกซาบซึ้งได้ในตอนจบ
A Moment in June
มีไม่มีกี่คนหรอกครับที่จะกล้าลุกขึ้นมาวาดลีลาศิลปะโดยไม่กลัวว่าตัวเองจะ “บาดเจ็บ” ในแง่กระแสตอบรับและรายได้ แต่ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล ก็ฝ่าวงล้อมหนังขยะรกตลาด ด้วยหนังที่มีเหลี่ยมมุมทางศิลปะเรื่องนี้ของเขา แม้สไตล์ภาพจะดูเหมือนงาน “ลอกครู” (หว่องการ์ไว) อยู่บ้าง แต่โดยรวม นี่เป็นหนังที่น่าให้กำลังใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ก้านกล้วย 2
ไม่ว่าซีจีจะดีหรือไม่ดียังไง แต่ที่ผมชอบมากๆ ในหนังเรื่องนี้ก็คือเนื้อหาที่ละเมียดละไมซึ่งพูดถึงความรักในหลากมิติ ทั้งรักแบบคู่รัก รักครอบครัว ไปจนถึงรักประเทศชาติบ้านเมือง นั่นก็คือ แม้จะเป็นหนังการ์ตูน แต่ก็เป็นการ์ตูนที่เพียบพูนด้วยแก่นสารสาระ และที่สำคัญคือ ดูสนุกอีกด้วย
นางไม้
เป็นเอก รัตนเรือง ทำหนังผีเรื่องนี้แบบฉีกกฎความคุ้นเคยของหนังผีบ้านเราออกไปโดยสิ้นเชิง และถ้าหนังดีๆ ชี้วัดกันด้วยเนื้อหาสาระ นางไม้ก็คงเป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนว่า สิ่งที่หนังอย่าง “นางไม้” พูด อาจเหมือนการเดินซ้ำรอยที่ “พลอย” เคยเดินผ่านมาแล้ว แต่ผมก็รู้สึกดีอยู่ดีที่โลกนี้มีหนังอย่าง “นางไม้”
ความสุขของกะทิ
ความโดดเด่นอยู่ที่โปรดักชั่นงานภาพที่ดูสวยงามละมุนตา นี่เป็นหนังซึ่ง “พยายาม” ฉีกขนบการเล่าเรื่องแบบหนังตลาดทั่วๆ ไปที่ชอบเดินเรื่องเร็วๆ หรือเอาความเอะอะโครมครามเข้าว่า แต่ความสุขของกะทิเป็น “หนังช้าๆ” ที่ค่อยๆ พาคนดูไปรู้สึกสัมผัสกับความสุขของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอย่างช้าๆ
อนุบาลเด็กโข่ง
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซอร์ไพรซ์พอสมควรสำหรับหนังเรื่องนี้ เพราะก่อนดู ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร คิดว่าคงเป็นหนังเด็กๆ พื้นๆ ธรรมดา แต่เมื่อได้ดูจริงๆ ผมกลับพบว่า เด็กโข่งมีพล็อตเรื่องที่แข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่การเล่าเรื่องก็ทำได้ดี
โหดหน้าเหี่ยว 966
หนังแต่ละแนวต่างมี “เป้าหมาย” ในตัวเอง และโหดหน้าเหี่ยวที่แสดงตัวว่าเป็นหนังตลก ก็ทำให้คนตลกได้สำเร็จ แน่นอนว่า โดยวิธีการเข้าถึงความฮา อาจจะไม่แตกต่างจากที่ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร ทำไว้ในแสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า หรือพยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า แต่มันก็เป็นหนังที่ตบมุกให้เราหัวเราะตามได้สำเร็จ
หนังห่วยๆ
2022 สึนามิ วันโลกสังหาร
เมื่อพูดถึงความห่วยของหนังไทย สิ่งแรกๆ ที่นึกถึงก็คือ บทภาพยนตร์ และหนังเรื่องนี้ก็มีปัญหานั้นอย่างเห็นได้ชัด หนังเดินเรื่องสะเปะสะปะ กระโดดไปนู่นข้ามไปนี่แบบไร้ความเชื่อมโยงต่อเนื่องทางด้านอารมณ์ของเรื่องราว สุดท้าย ก็ส่งผลให้พลังของเนื้อหาที่หนังอยากจะสื่อลดลงตามไปด้วย
กระสือฟัดปอบ
ต้นทุนดี แต่ทำได้แย่ เพราะมีผีไทยดั้งเดิมถึงสองประเภทอยู่ในเรื่องเดียวกัน แต่บทหนังก็เหมือนเอาผีทั้งสองชนิดมาสังหารให้ดับดิ้นในงานชิ้นเดียว และที่สำคัญ มุกตลกที่เป็นเสาหลักของหนังก็แสนจะฝืดอีกต่างหาก
แต๋วเตะตีนระเบิด
เหมือนสองเรื่องข้างบน คือบทภาพยนตร์ที่อ่อนปวกเปียก มันเหมือนการเอารายละเอียดหลายๆ อย่างมายำๆ ใส่กันโดยไม่รู้ว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ ทั้งเรื่องกีฬา ครอบครัว และรักร่วมเพศ นี่คือหนังที่ผมดูแล้วรู้สึกปวด Head มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
วงษ์คำเหลา
บทหนังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มุกตลกที่หนังประกาศเป็นจุดขาย ก็ฝืดแสนฝืด เพราะเข้าไปอ่านมุกขำๆ ที่มีคนเอาไปแขวนไว้ในเว็บต่างๆ ยังฮามากกว่าอีก และที่สำคัญก็คือความหยาบโลนที่ล้นเกิน เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีเป็นอย่างยิ่งในหนังตลกซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่คาดหวังจะอุ้มลูกจูงหลานไปดูด้วย
สาระแนห้าวเป้ง
ไม่เถียงว่าหนังทำให้ฮาได้ แต่ถ้าใช้หลักสุนทรียศาสตร์เข้าไปจับ นี่ยังนับว่าห่างไกลอยู่หลายกิโลเมตรจากคำว่าหนังดี เพราะมันเหมือนกับการจับเอาก้อนรายการ (ทีวี) หลายๆ ก้อนมาวางเรียงซ้อนกัน แล้วสุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับการดู “สาระแนจัง” ทางทีวี เพียงแต่ได้ดูการอำหลายๆ คนในช่วงเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง
บุปผาราตรี 3.1
ต่ำกว่ามาตรฐานของซีรี่ส์ผีบุปผาทุกๆ ภาค และอาจเป็นเพราะหนังตั้งใจลากให้มีภาคต่อ (3.2) ภาคนี้ที่ออกมาก็เลยดูยืดยาด ซ้ำซากในบางฉากบางมุกที่หนังขยี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่สนใจว่าคนดูจะ “เอือม”
Roommate
ปัญหาของหนังอย่างหนึ่งก็คือ รายละเอียดบางอย่างที่โอเว่อร์เกินเหตุ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังไม่ตอบโจทย์ตัวเองในความเป็นดราม่า เพราะอารมณ์ของทั้งเรื่องดำเนินไปคล้ายเส้นตรง ครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีจุดพีค แถมหนังยังลากเรื่องไปสู่บทสรุปแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งอย่างยากจะเชื่อถือได้
ม.3 ปี 4 เรารักนาย
ด้วยพล็อตเรื่องเพ้อๆ ฝันๆ คล้ายๆ อ่านนิยายหวานแหววของวัยรุ่น หนังขาดความเป็นไปได้และความสมจริงในรายละเอียดหลายๆ อย่าง คือต้องการบิวท์ความซาบซึ้ง แต่ไม่สามารถทำให้คนดู “เชื่อ” ได้ ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็เลยดูเป็นหนังรักวัยรุ่นธรรมดาๆ ที่ขาดความลึกซึ้งด้านอารมณ์ความรู้สึก
อะดรีนาลิน คนเดือดสาดด...
ถ้าไม่มีทีมพากย์พันธมิตรช่วยไว้ หนังเรื่องนี้จะ “ตายสนิท” อย่างแน่นอน เพราะพล็อตเรื่องก็อ่อน แก่นแกนหรือประเด็นหลักก็ไม่แข็งแรง ขณะที่แอ็กชั่นของเหล่านักแสดงสตันท์แมนก็ดูพื้นๆ เกินไปเหมือนนั่งดูหนังแอ็กชั่นเกรดบีของไทยยุคสัก 20 ปีที่แล้ว
หนังที่พอดูได้
อนึ่ง คิดถึงเป็นอย่างยิ่ง
อาจจะติดๆ ขัดๆ อยู่บ้างกับวิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้เราอินได้อย่างเต็มที่ แต่รวมๆ แล้ว นี่เป็นหนังซึ่ง “มีเนื้อหา” มีสิ่งที่อยากจะบอกอยากจะเล่า เพียงแต่วิธีการเล่าอาจจะดู “เก่า” ไปหน่อย ซึ่งถ้าหนังเรื่องนี้เกิดเร็วกว่านี้ซักสิบปี ไม่แน่ว่ามันอาจจะได้รับเสียงชมเชยมากกว่าที่เห็นก็เป็นได้
ฟ้าใสใจชื่นบาน
โดยโครงสร้าง ตลอดจนวิธีการดำเนินเรื่องอาจยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่ผมชอบไอเดียที่หนังเรื่องนี้หยิบมาทำ คือการมองหามุมขำในสถานการณ์ที่ไม่ขำ แล้วตอกย้ำลงไปอีกด้วยเรื่องรักระหว่างนักรบคอมมิวนิสต์ ฟ้าใสใจชื่นบาน เป็นหนังที่ถือว่า “ดูได้เรื่อยๆ” ไม่ถึงกับดีหรือด้อยขั้วใดขั้วหนึ่ง
ตอกตราผี & เชือดก่อนชิม
\ที่พูดถึงเรื่องนี้พร้อมกัน เพราะเป็นหนังของผู้กำกับคนเดียวกัน (ทิวา เมยไธสง) และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทั้งสองเรื่องมี “ทิศทาง” คล้ายๆ กัน โดยเน้นการเล่าเรื่องให้ดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนรวมทั้งมีการหยิบเอาแง่มุมทางจิตวิทยามาเล่นกับตัวละคร เป็นหนังที่ผมเห็นความพยายามของคนทำและคิดว่าน่าเอาใจช่วย และ “ระยะทาง” ที่เพิ่มขึ้น คงทำให้ทิวา เมยไธสง ทำหนังที่เนี้ยบๆ ได้ไม่ยาก หากต้องการพัฒนาตัวเองอย่างจริงๆ
ท้า/ชน
เนื้อเรื่องนั้นไม่เท่าไหร่ แต่โปรดักชั่นงานสร้างโดดเด่นมาก โดยเฉพาะการดีไซน์ฉากและจังหวะของช็อตแอ็กชั่น หนังทำได้ “ดุ” และ “เร้าความระทึก” ได้ค่อนข้างดี พูดง่ายๆ นี่คือหนังฟาดปากที่ดูได้แบบไม่รู้สึกเสียดายเวลาอีกเรื่องหนึ่ง
หลวงพี่กับผีขนุน
หนังผีบวกตลกที่มีชื่อแบบบ้านๆ เกือบทำให้ผมมองผ่านงานชิ้นนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ ชื่อนั้นไม่สำคัญเลย เพราะหลวงพี่กับผีขนุนมีพล็อตที่ดีซึ่งพูดถึงการเติบใหญ่ทางความคิดของผู้ชายไม่เอาถ่านคนหนึ่ง และผมเชื่อว่า ถ้าสามารถทำให้บทหนัง “แน่น” กว่านี้อีกนิด แล้วลดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ฉากผีหลอกพร่ำเพรื่ออะไรพวกนั้น หลวงพี่ฯ น่าจะเป็นหนังที่พูดได้ว่า “ดี” อย่างเต็มปากอีกเรื่องหนึ่ง
Before Valentine
หนังรักมีคอนเซ็ปต์ และพายตัวเองไปจนถึงฝั่งแห่งสาระที่อยากจะสื่อสารได้ และถ้าหนังพลิกจากวิธีการนำเสนอแบบทีเล่นทีจริงแล้วเปลี่ยนมาจริงจังกว่านี้ ผมว่านี่จะเป็นหนังรักดราม่าลึกๆ เรื่องหนึ่งได้เลย