xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแทนทั่วประเทศเห็นเอกฉันท์ ค้านแก้ รธน.50-หนุนตั้งพรรค พธม.ควบคู่การเมืองภาค ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวแทนพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ พร้อมองค์กรแนวร่วม เห็นเป็นเอกฉันท์ค้านแก้ รธน.50 ระบุข้อบัญญัติเดิมป้องกันนักการเมืองโกง-ทำเพื่อ ปชช.ส่วนใหญ่อยู่แล้ว ส่วนประเด็นตั้งพรรค ตัวแทนส่วนใหญ่หนุนเต็มร้อย เพื่อสร้างการเมืองใหม่ ควบคู่การเคลื่อนไหวภาค ปชช. ยุติการเมืองน้ำเน่า ขณะที่ตัวแทนภาคใต้ตั้งเงื่อนไขตั้งพรรคต้องไม่ลืมภาคประชาชน ด้านตัวแทนตะวันออก แนะปลดล็อกคำพูดแกนนำที่เคยลั่นวาจาไม่รับตำแหน่ง หลังสถานการณ์เปลี่ยน และพรรคจำเป็นต้องได้ผู้นำคุณภาพ

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เหล่าตัวแทนพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ กล่าวต่อที่ประชุมสภาพันธมิตรฯ

การประชุสมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 24 พ.ค. หลังจาก 5 แกนนำพันธมิตรฯ ได้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ รุ่นแรก ในฐานะประธานสภาพันธมิตรฯ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพันธมิตรฯ จาก 10 อนุภูมิภาค และองค์กรแนวร่วมได้แสดงความเห็นต่อ 2 ประเด็นหลักทางการเมืองในปัจจุบัน ว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.การตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เริ่มจากนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ตัวแทนพันธมิตรฯ จากภาคเหนือตอนบน ได้สรุปว่า มติของพันธมิตรฯ ภาคเหนือตอนบน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเด็ดขาด ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้น พันธมิตรฯ ภาคเหนือตอนบนพร้อมให้การสนับสนุน เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีพรรคการเมืองที่เข้าไปทำหน้าที่รัฐสภาควบคู่กับการต่อสู้ของภาคประชาชน

เช่นเดียวกับ นายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ ตัวแทนพันธมิตรฯ อีสานตอนบน ที่สรุปว่า พันธมิตรฯ ภาคอีสานตอนบนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านการลงประชามติจากคนทั่วประเทศ ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้น พันธมิตรฯ ภาคอีสานตอนบนเห็นด้วย 100% ให้ตั้งพรรค

ด้านนายสุนทร รักษ์รงค์ ตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคใต้ กล่าวว่า คนภาคใต้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ หากพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนภาคใต้ไม่เอาด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน สำหรับการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ นั้นจะตั้งหรือไม่ แกนนำต้องอธิบายและตอบคำถามให้ชัดเจน และให้การรับรับรองว่า หลังตั้งพรรคแล้วภาคประชาชนจะไม่หมดความชอบธรรม หรือลดความอบธรรมลงไป ถ้ารับรองได้ตรงนี้ และตอบสังคมได้กรณีที่แกนนำพันธมิตรฯ เคยลั่นวาจาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง เราก็ไม่มีปัญหาในการสนับสนุนการตั้งพรรค

ต่อมา ตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคตะวันออก ได้ให้ความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พันธมิตรฯ ตะวันออก ยังยืนยันที่จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมติเดิมเมื่อครั้งเข้าร่วมชุมนุมเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้นเราต้องสร้างเกราะป้องกันตัวขึ้นมาก หลังจากเราขับไล่ระบบทักษิณออกไปแล้ว การตั้งพรรคการเมืองจะเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันโดยมีกฎหมายรองรับ

“แกนนำที่เคยประกาศว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงขอให้มีการปลดล็อกคำกล่าวของแกนนำที่เคยประกาศว่าไม่รับตำแหน่ง หรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะถ้าเราตั้งพรรคการเมืองแล้ว ไม่มีผู้นำพรรคที่ดีมันจะไปรอดหรือไม่ ซึ่งภาคตะวันออกเรามีมติว่าให้ปลดล็อกคำพูดของแกนนำ เพื่อให้พรรคมีผู้นำที่เหมาะสมมาทำหน้าที่เพื่อสร้างการเมืองใหม่” ตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคตะวันออกกล่าว

ด้านตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคกลาง กล่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะประเด็นที่จะแก้นั้น ล้วนแต่บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 190 มาตรา 237 ส่วนการตั้งพรรคฯ นั้น พันธมิตรฯ ภาคกลางเห็นด้วย เพื่อให้มีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะที่ตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ (Young PAD) แสดงความเห็นว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ซื้อเสียงแล้ว พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งได้เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะได้ผู้นำที่มีความสง่างามแต่ก็อยู่ในระบบการเมืองที่หมองหม่น น้ำเน่า เป็นการเมืองเก่า จึงสมควรที่พันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมือง แต่ควรจะทำด้วยความใจเย็น ต้องทำให้สังคมเห็นด้วยเสียก่อนว่าการเมืองใหม่ จะเป็นความหวังของสังคมไทยอย่างแท้จริง ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น Young PAD เห็นว่า ไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกฎต้องเป็นกฎ

ต่อมา ตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคตะวันตก ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะถูกกล่าวหาว่ามาจากการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านั้น ก็มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารทั้งสิ้น และเมื่อดูการเข้าถึงกระบวนการยกร่าง มีฉบับไหนที่ให้ประชาชนเข้าถึงเท่ากับฉบับ 2550 หรือไม่ และถ้าจะแก้ไข จะแก้เพื่ออะไร ถ้าจะแก้เพื่อให้ประชาขนอยู่ดีกินดีมากขึ้นเราก็ยอม แต่ถ้าแก้แล้ว ส.ส. รัฐมนตรี นักการเมือง เข้าไปโกงได้ง่ายขึ้นเราไม่ให้แก้

ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้น ตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคกลางกล่าวว่า เราจะกลัวอะไร เราจัดชุมนุมถูกระเบิดตาย เรายังไม่กลัว นับประสาอะไรกับการตั้งพรรคเพื่อเข้าไปสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างการเมืองใหม่ ถึงเวลาที่จะทำการเมืองเพื่อประโยชน์ของลูกหลานเราในอนาคต บนพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่ทุกไม่ว่าจะเป็นลูกตาสีลูกตามา มีโอกาสเข้าไปนั่งในสภา ดังนั้น ถ้าเราจะมีพรรคการเมืองที่ให้อำนาจประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม เราพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านตัวแทนจากพันธมิตรฯ ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า พันธมิตรฯ ภาคเหนือตอนล่างจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างแน่นอน ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้น จริงอยู่ 5 แกนนำเคยพูดไว้ว่าจะไม่ทำ แต่เหตุการณ์ปัจจุบันที่บีบคั้น เราไม่สามารถที่จะต่อสู่ข้างถนนอย่างเดียวอีกต่อไป เราต้องเดินหน้าเข้าสู่สภา และใช้พลังของเราสร้างการเมืองใหม่ เข้าสู่สภาต่อไป วันนี้ประเทศไทยเราไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ นักการเมืองก็มีแต่หน้าเดิมๆ มีแต่ผลงานระยำ ก่อแต่ความเสียหายให้กับประเทศ ถ้าไม่ตั้งพรรคประชาชนประเทศชาติก็ไม่มีที่พึ่งที่หวัง จะมีแต่การเมืองเก่า วงจรอุบาทว์ก็ยังอยู่ต่อไป ทำความเสียหายให้ประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเราต้องมาชุมนุมขับไล่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ต่อมาตัวแทนจากพันธมิตรฯ ภาคอีสานตอนล่าง กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า มาตรา 309 นั้น เป็นบทเฉพาะ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการรับรองการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบการทำผิดของนักการเมือง ซึ่งมี 10 กว่าคดี ถ้ามีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรานี้ ก็เท่ากับการนิรโทษกรรมความผิดเหล่านั้น ส่วนมาตรา 237 เป็นการกำกับการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ความเห็นของพันธมิตรฯ อีสานใต้จึงมีมติว่าไม่ให้แก้และไม่ให้เลิก ส่วนมาตรา 190 เป็นการบังคับว่ารัฐบาลจะไปทำสนธิสัญญาที่อาจทำให้เสียดินแดน หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลต้องถามสภาก่อน เพราะเคยมีตัวอย่างในอดีต ที่นักการเมืองเลวๆ เอาผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับประโยชน์ส่วนตัว ในการทำสัญญากับต่างประเทศ เราจึงเห็นว่ามาตรานี้ต้องไม่เลิกและไม่แก้

ส่วนการตั้งพรรคนั้น ตัวแทนพันธมิตรฯ ภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า พรรคการเมืองปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม และไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง พันธมิตรฯ เดินมาถึงทาง 2 แพร่ง เราเห็นว่าเรายังคงเดินแนวทางการเมืองภาคประชาชนต่อไป ส่วนการตั้งพรรค เราต้องตั้งเมื่อพร้อม อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองนั้นเป็นที่รวมของคนมีอุดมการณ์เดียวกัน พันธมิตรฯ ทุกคนก็อุดมการณ์เดียวกัน ถ้าอย่างนั้นเราจะรอทำไม เราตั้งได้เลย แต่ขอให้มีการเมืองภาคประชาขนคู่ขนานกันไป คู่กับการตั้งพรรคเพื่อสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพ

ด้านนายอำนาจ พละมี รองเลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะตัวแทน สรส.กล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สรส.ขอยืนยันเจตนารมณ์เดิมที่เข้าร่วมกับพันธมิตร ว่าไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการตั้งพรรคนั้น สรส.เคยศึกษาและมีแนวคิดที่จะรวบรวมผู้คนทุกหมู่เหล่ามาร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อพัฒนาไปสู่การตั้งพรรค เมื่อมวลชนพันธมิตรฯ เห็นว่าถึงเวลาที่เราจะดำเนินการทางการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา เราจึงเห็นด้วยกับแนวทางการตั้งพรรคฯ ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการ วิถีการให้ได้มาซึ่งข้อบังคับพรรค ธรรมนูญพรรค กรรมการบริหาร ตลอดจนสมาชิกพรรคนั้น ให้เป็นไปตามมติของผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ที่จะต้องรับเอาแนวทางของพันธมิตรฯ ที่เราจัดทำไว้แต่เดิมทั้งหมด

ต่อมา ในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 13.15 น. นายสมศักด์ ได้เปิดให้ตัวแทนเครือข่ายพันธมิตรฯ ส่วนต่างๆ แสดงความคิดเห็นต่อ เริ่มจากเครือข่ายเกษตรกร โดยนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เรามีกระทรวงเกษตรฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร แต่นักการเมืองที่เข้าไปบริหารที่ผ่านมามีแต่คนเลว ไม่สนใจแก้ปัญหาให้เกษตรกร จึงเห็นว่าควรจะตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ขึ้นมาเลย และไม่ต้องกังวลว่าเมื่อพรรคการเมืองแล้ว ภาคประชาชนจะทำงานต่อไปไม่ได้ และไม่ต้องกังวลว่าพรรคของพันธมิตรฯ จะเข้าไปทำแบบการเมืองเก่าเสียเอง เพราะวิสัยทัศน์ของพันธมิตรฯ เราสามารถตรวจสอบได้ทุกพรรค แม้แต่พรรคของเราเอง ถ้าไม่ดีเราสามารถตรวจสอบได้

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการแก้ไขเนื่องจากความเดือดร้อนของนักการเมืองเอง แต่เกษตรกรเดือดร้อนกลับไม่สนใจ เป็นความห่วยแตกของนักการเมืองเอง เพราะฉะนั้นเราไม่เอากับนักการเมืองพวกนี้แล้ว

ด้านนางสาวเปมิกา ฉัตรภิญญาคุปต์ ตัวแทนกลุ่มทีจีโอ(Thaksin Get Out) กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของสมาชิกภายในกลุ่ม มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ แต่ส่วนใหญ่จะออกมาใน 2 ลักษณะ คือ 1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรคแต่มีเงื่อนไข และ 2.เห็นด้วยแต่ยังไม่ถึงเวลา รวมทั้งเห็นด้วย แต่ไม่ควรที่จะมีแกนนำพันธมิตรฯ เข้าไปอยู่ในพรรค อย่างไรก็ตามข้อมูลขณะนี้ ยังไม่สามารถได้ว่าควรจะตั้งพรรคการการเมืองหรือไม่ แต่อาจต้องย้อนไปทบทวนอีกครั้งว่า ถึงเวลาที่จะตั้งพรรคหรือไม่

ต่อมา นายสุทิน พลาทิน ตัวแทนเครือข่ายประชาธิปไตยยาตรา กล่าวว่า เครือข่ายฯ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างแน่นอน ส่วนการตั้งพรรคนั้น เห็นว่า พันธมิตรฯ ต้องพัฒนาการการต่อสู้จากที่เคยไล่ล่าระบอบทักษิณมาสู่การร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างการเมืองใหม่ ในภาวะที่ประเทศเรากำลังเดินเข้าสู่วิกฤติ ทำอย่างไรเราจะจัดตั้งมวลชนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เราต้องจัดการแนวรบด้านสื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าเราจะมีพรรคการเมือง ต้องเป็น 1.พรรคของมวลชนอย่างแท้จริง 2.ต้องนำสู่การเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองใหม่ มีอิสระ มีการกำกับดูแลโดยกระบวนการของประชาชนอย่างเข้มแข็ง 3.สมาชิกที่เข้าสู่การเมืองต้องมีจิตอาสา กล้าต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว ทั้งนี้ การตัดสินใจต้องมีฉันทามติร่วมกัน และเคารพเสียงส่วนน้อย หลังจาก 2 วันนี้เราต้องผนึกเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

ด้าน ตัวแทนจากกองทัพธรรม เห็นว่า ไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้ เพราะผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปอยู่ในกระบวนการแก้ไข ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้น ถ้าจะตั้งจริง เราต้องสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของพรรคพันธมิตรฯ ให้สูงกว่าพรรคการเมืองทั่วไป ทั้ง ส.ส. กรรมการบริหาร หัวหน้าพรรค ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่าพรรคอื่น ถ้าทำตรงนี้ไมได้ ก็จะมีแต่เสียกับเสีย

ส่วนประเด็นที่ว่าแกนนำควรจะมาเกี่ยวข้องกับพรรคหรือไม่นั้น ตัวแทนกองทัพธรรมเห็นว่า 5 แกนนำได้ทำหน้าที่มาอย่างดีที่สุดแล้ว ในการให้ความจริง ให้สัจจะธรรมแก่สังคม ถ้าให้มาเกลือกกลั้วกับการเมืองที่มีลาภยศ อำนาจอยู่ในมือ ความบริสุทธิ์เหล่านั้นก็จะด่างพร้อย สังคมเราไม่มีแค้พันธมิตรฯ ยังมีกัลยาณชนจำนวนมากที่ยังไม้กล้าเปิดเผยตัวตนว่าอยู่กับเรา เพราะยังไม่มั่นใจว่า การต่อสู้ของพวกเราบริสุทธิ์ใจหรือไม่ การบอกว่าต้องปลดล็อกคำพูดของแกนนำเพราะสถานการณ์เปลี่ยนนั้น เป็นคำพูดแบบนักการเมืองเก่า มีหรือว่าแกนนำจะไม่ทราบว่าการเมืองเป็นอนิจจัง และ 5 แกนนำเข้ามาทำงานโดยไม่หวังอำนาจหรือเพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์ใดๆ

ตัวแทนกองทัพธรรม ได้ฝากข้อคิดว่า สมัยโบราณ มีคนเชื่อว่าการเข้าป่าสามารถบรรลุธรรมได้ มีพราหมณ์ไปถามพระพุทธเจ้าเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ถ้าได้ผู้ยังไม่มีสมาธิเข้าไปในป่า ป่านั้นก็จะเอาท่านไปเสีย ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้คนที่มีจริยธรรมอย่างแท้จริงเข้าไปอยู่ในพรรคการเมือง สิ่งที่พันธมิตรทำมาทั้งหมดอาจจะล้มเหลวและสุญเสีย

ต่อมาตัวแทนพันธมิตร คนขับแท็กซี่ แสดงความเห็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะ ม.190 ที่เรามีบทเรียนว่าเราเสียปราสาทพระวิหารเพราะนักการเมืองไม่เล่นตามกติกา ม.237 เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง ถ้าปล่อยกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตเข้าไป คนที่ทุจริตเหล่านี้ก็จะเข้าไปมีอำนาจบริหารประเทศ

ส่วนการตั้งพรรคพันธมิตรฯ ตัวแทนพันธมิตรฯ คนขับแท็กซี่ กล่าวว่า เราต้องการพัฒนากลุ่มองค์กรของเราก่อน เพื่อให้การบริการรถสาธารณะของเราโปร่งใส มีคุณธรรมจริยธรรมก่อน เมื่อเราทำตรงนี้แล้ว จะเข้าไปเป็นองค์กรหนึ่งในพรรคพันธมิตรฯ เพื่อให้พรรคมีความโปร่งใส เราจะไม่เป็นทาสพรรคใดพรรคหนึ่ง แม้พรรคพันธมิตรก่อกำเนิดขึ้นแล้ว ทุกคนจะมีหน้าที่ตรวจสอบพรรคนี้อย่างเข้มข้นกว่าพรรคอื่น ถ้าเราไม่ตรวจสอบเข้มข้นเราจะถูกข้อหาว่าเล่นพรรคเล่นพวก นอกจากนี้ การที่แท็กซี่มีภาพลบเพราะมีสีแดงมาก เราจะทำให้แท็กซี่สีแดงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองให้ได้

ด้านตัวแทนอาสาพยาบาล กลุ่มพยาบาลมัฆวาน ได้แสดงความเห็นต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะนักการเมืองรู้อยู่แล้วว่ากติกาเป็นอย่างไร พอแพ้แล้วจะมาแก้กติกา จะนิรโทษกรรมให้ตัวเอง เราจึงไม่เห็นด้วย ส่วนการตั้งพรรคการเมือง อยากให้รอภาคประชาชนเข้มแข็งกว่านี้ก่อน พันธมิตรฯ มีจิตใจที่บริสุทธิ์จริง แต่ห่วงว่าจะมีคนมาฉวยโอกาส และเข้าไปสู่การเมืองน้ำเน่าโดยใช้พวกเราเป็นบันไดเหยียบขึ้นไป นอกจากนี้การใช้สื่อเอเอสทีวี ถ้าชี้นำมากไปอาจเป็นผลเสียต่อแนวร่วมในระยะยาว จึงอยากให้คำนึงถึงกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึง และไม่เข้าใจการทำงานของเรา โดยไม่ให้ภาพออกมาว่าพันธมิตรฯ คือเอเอสทีวี แม้ว่าเราเป็นพวกเดียวกันก็ตาม อย่างไรก็ตามเสียงส่วนมากในกลุ่มของเราเห็นด้วยที่จะตั้งพรรคการเมือง

ต่อมาตัวแทนศิลปิน โดยนายสมศักดิ์ อิสมันยี จากวงคีตาญชลี ให้ความเห็นว่า ความคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมือฝนกลุ่มศิลปินยังไม่เอกฉันท์ บางคนว่าควร บางคนว่าไม่ควรตั้ง แต่การต่อสู้ของภาคประชาชนนั้นจุดสุดท้ายแล้วต้องมีพรรคการเมืองของประชาชน ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่ามันจะช้าหรือไวนั้นไม่เป็นปัญหา แต่คิดว่าตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร ต่างหาก เมื่อมีพรรคของตัวเองแล้วจะเป็นอย่างไร บางคนห่วงว่าจะมีคนมาฉวยโอกาส ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นกับว่าเราได้ตั้งวินัยให้เข้มแข็งหรือไม่ ถ้าเราตั้งวินัยว่าทำผิดต้องรับโทษจริงจัง คนก็ฉวยโอกาสไมได้ นี่เป็นรูปแบบการเมืองใหม่

ศิลปินคีตาญชลี กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปเราเห็นควรตั้งพรรคการเมือง ส่วนเรื่องที่วิตกว่า ตั้งแล้วจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่ได้ เราจะอายไหม ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าถามประชาชนที่ไปลงคะแนนแม้แต่คนที่รับเงินไป เขาอยากเห็นพรรคการเมืองที่ดีกว่าทั้งสิ้น ดังนั้นพรรคการเมืองที่เราตั้งขึ้นจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่บรรทัดฐานที่เราเป็นตัวอย่างให้สังคมต่างหากที่สำคัญ เราอาจต้องรอ 10-20 ปีไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวล แต่บรรทัดฐานใหม่ และกฎวินัยที่เราจะเอาจริงเอาจังกับคนของเราต่างหาก ที่เราต้องกังวล

ด้านนักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อจับผู้ร้าย จากบริบทที่นักการเมืองฉ้อฉล ซื้อเสียง เราจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจับโจร และในโลกนี้ไม่มีที่ไหนที่แก้ไขกฎหมายย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ที่ทำผิดแล้วไม่มีความผิดเพื่อให้นักโทษการเมืองกลับมาใหม่

ส่วนการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ นั้น นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วน 80-90 % ให้มีพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพรรคกรีนในยุโรป ที่มาจากคนหนุ่มสาวที่ไม่พอใจการเมืองแบบเดิมๆ และขอให้พี่น้องภาคใต้สบายใจได้ว่า เมื่อมีพรรคของพันธมิตรฯ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะยังอยู่ เพียงแต่มีเสียงน้อยลงเท่านั้น ขออย่าได้กลัว ถ้าพรรคการเมืองดีจริง มันต้องยู่วันยังค่ำ ถ้าไม่อยู่ก็แสดงว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่ตัวแทนพวกเราอย่างแท้จริง ที่กลัวว่า เราจะตกเข้าไปอยู่ในวังวนการเมืองน้ำเน่านั้น ขอเรียนว่า ถ้าพันธมิตร มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิด เหมือนรัฐมนตรีหญิงคนหนึ่งของพรรคกรีน ที่ไปพูดสนับสนุนอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ต้องลาออกจากตำแหน่งทันที เพียงแค่พูดเท่านั้น เพราฉะนั้นพวกเราอย่ากลัว ขอให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มสาธิตมัฆวาน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ เราเห็นชัดเจนว่า จะแก้เพื่อคืนชีพ 111 ซากศพทางการเมือง เราจึงไม่เห็นด้วย ถ้าจะแก้ต้องแก้เพื่อปฏิรูปการเมืองเท่านั้น ส่วนการตั้งพรรคนั้น เราเห็นว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไม่ยอมทำการเมืองใหม่ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำรัฐบาลขณะนี้ก็ไม่สนใจข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ แต่ต้องมีแนวทางใหม่ ในการคัดคนลงสมัคร ต้องให้ประชาชนเป็นคนเลือก ไม่ใช่ให้นายทุนมาเลือก แล้ว ส.ส.ก็เข้าไปรับใช้นายทุน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพรรคการเมือง ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำเพ่อความถูกต้อง ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ เราก็จะเอาชนะอุปสรรคนั้นๆ ไปได้

ด้านตัวแทนพันธมิตรฯ แรงงานไทยในฮ่องกง กล่าวว่า จากกสนสำรวจความเห็นพี่น้องพันธมิตรแรงงานที่ฮ่องกงแล้ว ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเรายินดีให้แก้ แต่ถ้าแก้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในรัฐสภาที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เราไม่ยอม

ส่วนการตั้งพรรคการเมืองนั้น เราเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเรามั่นใจว่า พี่น้องพันธมิตรฯ ทั่วประเทศและทั่วโลกมีความรู้เรื่องการเมืองการปกครองโดยละเอียดและมีข้อมูลเพียบพร้อมแล้ว เราคงเดินข้างถนนถือมือตบเรียกร้องอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมีอำนาจในสภา เพื่อแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน เราจะได้มีทั้งเสียงภาคประชาชนและเสียงในสภาด้วย

“โอบามา ได้ประกาศแล้วว่า เขาจะ change จะเปลี่ยนแปลงการเมืองในอเมริกา เพราะฉะนั้น เราจะไม่น้อยหน้า เราจะเปลี่ยนการเมืองที่สกปรก ให้เป็นการเมืองใหม่ให้ได้ แต่เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร เราก็พร้อมที่ยอมรับ”พันธมิตรฯ แรงงานในฮ่องกงกล่าว

ในตอนท้าย นายปราโมทย์ หอยมุข แนวร่วมวิทยากรได้ขึ้นกล่าวเป็นบทกวี มีเนื้อหาสรุปว่า จะต้องมีการปักธงพันธมิตรฯ กลางสภาให้ได้ วันที่ 25 พ.ค.นี้ พันธมิตรฯ จะมีการเมืองใหม่ ขับไล่การเมืองเก่าที่จัญไร กาลี ที่มัวแต่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองร่ำรวย มีแต่สร้างความวุ่นวายกัดกันกลางสภา วันที่ 25 พ.ค.นี้ พันธมิตรจะเริ่มต้นลงเสาเอก ลงเลขยันต์กันผีกระสือไม่ให้เข้ามาโกงกินประเทศชาติอีกต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น