xs
xsm
sm
md
lg

21 ปี 8-8-88 พม่าในความทรงจำแสนเจ็บปวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกไม่กี่วัน ผลการตัดสินคดีของ อองซานซูจี ในข้อหาเกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำสั่งกักบริเวณในบ้านพัก ออกมาสู่สายตาชาวโลก ซึ่งถ้าศาลของพม่าตัดสินว่านางมีความผิดจริง นางอาจจะต้องโทษจำคุกนานถึง 5 ปี

นางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามาอย่างยาวนาน ซึ่งก่อนหน้ายุคสมัยของซูจีนั้น ในพม่าก็มีการเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้งแล้ว

พม่า : 8 สิงหาคม 1988 เนื่องจากความกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต่อเนื่องยาวนานภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารของนายพลเนวิน ทำให้เหล่านักศึกษาประชาชนเริ่มต้นออกมาดำเนินการด้านการเมืองบนท้องถนน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 1988 และถูกล้อมปราบในวันที่ 8 สิงหาคม ของปีนั้น

ถึงแม้ว่าจะเป็นการออกมาทวงถามความถูกต้องเหมือนกัน แต่กระนั้นพวกเขาก็ต่อกรกับความโหดเหี้ยมของรัฐบาลทหารไม่ไหว วันนั้นพวกเขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป...

ปี 1998 ครบรอบ 10 ปี การสังหารหมู่ในพม่า

ปี 2008 ครบรอบ 20 ปี

ปีนี้ ครบรอบ 21 ปี มีเพียงตัวเลขเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ทว่าชัยชนะเหนือเผด็จการทหารยังไม่ปรากฏ และยังไม่มีวี่แววว่าจะประกฏให้เป็นจริงได้

ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้

ประเทศพม่า เป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนอย่างดีในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ แต่เท่าที่ผ่านมา เหตุใดประเทศนี้ จึงเป็นประเทศที่มีประชากรที่ยากจนและมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีอย่างที่มันควรจะเป็น

ย้อนกลับไปในปี 1964 ประเทศพม่าเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น และรัฐบาลพม่าโดยการกำกับของนายพลเนวิน ก็ได้ยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหานั้นด้วยวิธีที่ไม่มีใครกล้าเลียนแบบ ด้วยการยกเลิกธนบัตร ใบละ 100 จั๊ตและ 50 จั๊ต โดยไม่มีการชดใช้มูลค่าใดๆ ให้แก่ประชาชนเลยทั้งสิ้น ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นซ้ำซากได้อย่างไม่อายประชาคมโลก ในปี 1985 และ 1987 ซึ่งในครั้งหลังสุดนั้น รัฐบาลประกาศยกเลิกธนบัตรใบละ 25 35 และ 75 ซึ่งเป็นธนบัตรย่อยที่ประชาชนส่วนมากในพม่าถือครอง นั่นทำให้ เงินในตลาดของพม่าหมดค่าอย่างสิ้นเชิงไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์

เพราะมีการกดขี่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เค้าลางของความรุนแรงเพิ่งเริ่มก่อตัว ในเดือน มีนาคม ปี 1988 เมื่อกระสุนนัดแรกพุ่งทะลุร่างของ หม่อง โพน มอ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งย่างกุ้งจนเสียชีวิต ในเหตุการณ์คลี่คลายกรณีพิพาทของนักศึกษากับชาวบ้านคนหนึ่งในร้านน้ำชา

กระสุนนัดนั้น เป็นกระสุนของเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง

ถึงแม้จะมีจุดเริ่มจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องสักเท่าไร แต่มันก็นำไปสู่การรวมตัวของนักศึกษาและชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้มูลค่าของธนบัตรที่ยกเลิกโดยไม่มีเหตุผลเมื่อปี 1987 ให้แก่ประชาชน ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนโดนจับโดยรัฐบาล และว่ากันว่ามีนักศึกษาถูกฆาตกรรมในขณะถูกคุมขังเป็นจำนวนมาก ส่วนนักศึกษาหญิง ก็มีหลายรายที่โดนข่มขืนในขณะถูกคุมตัว

เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ก็สร้างความไม่พอใจให้แก่นักศึกษาและประชาชนทบเท่าทวีคูณ มีการชุมนุมให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คำตอบที่ได้รับจากรัฐบาลกลับเป็นการนำรถบรรทุกพุ่งเข้าชนผู้ชุมนุมใช้อาวุธปืนกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และรัฐบาลต้องประกาศปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งย่างกุ้ง เพื่อยุติเหตุการณ์เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 1988

กระนั้นกระแสความไม่พอใจการกระทำของรัฐก็ขยายตัวไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วันที่ 18 กรกฎาคม 1988 รัฐบาลต้องยินยอมดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ในเดือนมีนาคม สุดท้ายรัฐบาลก็ออกมายอมรับว่ามีนักศึกษาเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เพราะถูกยัดเข้าไปในรถกักขังถึง 41 คน นั่นทำให้นายพลเนวินต้องลาออก และส่งเส่ง ลวิน ผู้ซึ่งเป็นตัวการในการสั่งยิงนักศึกษาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

การขึ้นมาของเส่ง ลวิน ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจ เส่ง ลวิน ประกาศกฎอัยการศึกหวังให้เหตุการณ์ยุติอย่างรวดเร็ว แต่นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ กลับออกมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และประกาศวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 (8-8-88) เป็นวันชิงชัย ประชาชนทั้งประเทศขานรับ และออกมาร่วมชุมนุมอย่างสงบ

จนเมื่อเวลาเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 8 สิงหาคม 1988 เสียงกระสุนนัดแรกของทหารก็ดังขึ้น และดังระงมไปทั่วยาวนานถึง 4 วัน เป็นเพราะกระสุนไม่มีตา มันจึงไม่เลือกว่าจะพุ่งทะลุร่างใคร ไม่ว่าชายหนุ่ม คนแก่ ผู้หญิง เด็ก หรือพระสงฆ์ล้วนได้รับสิทธิในการถูกสังหารเท่าเทียมกัน

ทางการพม่ารายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 500 คน แต่จากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ กล่าวว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตเหยียบหมื่นคน!!!

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1988 นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 8888 ได้จัดตั้งขบวนการ All Burma Student Democratic Front หรือ ABSDF ขึ้น ทิ้งปากกาและตำรามาจับปืนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

ไม่มีใครคิดว่าการต่อสู้จะยืดยาวมาจนถึง 21 ปี

และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ สถานการณ์ในพม่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง...

นักรบของสงครามที่ไม่มีวันจบ

“ในช่วงปี 1988 ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในมัณฑะเลย์ ขณะนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองก็ได้ดำเนินมาถึงจุดที่ใกล้แตกหักแล้ว วันที่ 8 สิงหาคม ปี 88 ผมไม่ได้อยู่ในย่างกุ้ง แต่หลังจากมีการล้อมปราบของทหาร ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางไปร่วมกับเพื่อนๆ ที่ย่างกุ้งทันที”

อ่อง เนียง อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมรบในกองกำลังของ ABSDF เล่ารำลึกความหลังให้ฟังถึงบรรยากาศการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

“หลังการล้อมปราบวันที่ 8 สิงหา ผมและนักศึกษาที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังประท้วงกันต่อ มีประชาชนเข้ามาร่วมด้วยโดยมีนักศึกษาเป็นแกนนำ ทหารก็ประกาศกฎอัยการศึกและภาวะเคอร์ฟิว สั่งให้คนกลับบ้าน ไม่ให้มีใครอยู่บนท้องถนน ห้ามชุมนุมเกินห้าคน การสื่อสารโดนตัดขาด รถไฟหยุด ธุรกิจทุกอย่างหยุดหมด การประท้วงแผ่กระจายไปทั่วประเทศ เราไม่รู้นะว่ามีทหารเท่าไหร่ที่ออกมา แต่รู้ว่ามีมากทีเดียว”

มีคนเคยพูดว่า ‘สุดท้ายแล้ว’ ธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่ในการต่อสู้ครั้งนั้น นึกศึกษาและประชาชนต้องเป็นฝ่ายเสียเลือดเนื้อ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า ชัยชนะอาจจะไม่ได้ตกเป็นของฝ่ายธรรมะเสมอไป

หรือการต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่ใช่การต่อสู้ ‘ครั้งสุดท้าย’?

“หลังจากเหตุการณ์ประท้วงเริ่มแผ่วลง ผมอยู่ที่พม่าต่อจนถึงปี 1989 หลังจากนั้นก็เดินทางไปร่วมกับ ABSDF ที่คะฉิ่น ผ่านทางเส้นชายแดนจีน เพราะที่นั่นมีกองกำลังของ ABSDF อยู่ ทางแนวชายแดนไทย และอินเดียก็มี โดยมีจำนวนรวมๆ กันประมาณ 10,000 คน เป็นกองกำลังรบของเหล่านักศึกษา

“ต่อมาผมก็ย้ายมาเข้าร่วมกับกองกำลัง ABSDF ในแถบชายแดนไทย บริเวณอำเภอแม่สะเรียง แถวๆ ที่เรียกกันว่า ค่ายแมนนอพลอ (ปัจจุบันโดนตีแตกแล้ว) ที่นั่นไม่ใช่มีแต่กองกำลังของ ABSDF อย่างเดียว แต่เป็นที่รวมของกองกำลัง คะฉิ่น คาเรนนี มอญ ฉาน ฯลฯ ซึ่งพวกเรามีจุดหมายเดียวกันคือต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่า”

ทว่าแม้เวลาจะเนิ่นนานผ่านไป การต่อสู้ของเหล่านักรบอิสรภาพกับเผด็จการทหาร กลับมองไม่เห็นแสงสว่างแห่งความหวังเพิ่มขึ้นมาเลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เหล่าบรรดานักปฏิวัติจะต้องหันกลับมามองชีวิตของตนเองบ้าง

ชีวิตที่เคยทุ่มเทให้กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพการเมือง เสรีภาพที่พวกเขาไม่เคยได้ลิ้มรสมาตลอดเวลา 20 ปี

“ตอนนี้ มีหลายคนเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 อย่างออสเตรเลีย อเมริกา หรือประเทศในยุโรป นั่นเพราะเมื่อเวลาผ่านไปมันทำให้เรารู้สึกว่า พวกเราจะอยู่แต่ในป่าต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องการมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มีครอบครัว มีการศึกษา มีชีวิตใหม่

“ตอนนี้ผมออกจากแนวร่วม ABSDF แล้ว แต่ก็ยังมีเพื่อนเก่าบางคนยังคงทำงานอยู่ในแนวร่วม ABSDF นะ”

*********

มองไปในอนาคต

อาจารย์พรพิมล ตรีโชติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองความเปลี่ยนแปลงตลอด 21 ปี หลังเหตุการณ์ 8-8-88 ว่า สิ่งที่เห็นชัดที่สุด ก็คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เห็นได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก มีการพัฒนาด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านคมนาคม การสื่อสารและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทุกวันนี้พบว่า ตามชุมชนต่างๆ มีถนนหนทางมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะรับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น จีน ส่งผลให้ประชาชนสามารถมาไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะที่ด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ถือว่าในช่วงที่เติบโตสุดๆ มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ อย่าง ย่างกรุง และมัณฑาเลย์ นี่ยังไม่รวมอาคารบ้านเรือน อาคารชุด หรือหมู่บ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับเมื่อปี 1988 จะเห็นได้เลยว่ามีความแตกต่างเยอะมาก เนื่องจากอาคารในช่วงนั้นจะดูเก่าๆ ทรุดโทรม

นอกจากนั้น เรื่องพลังงานเองก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดมาก มีการลงทุนสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน อย่างจีน อินเดีย ไทย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ฯลฯ ซึ่งจากจุดนี้เองแสดงให้เห็นเลยว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ได้อยู่ในขั้นตกต่ำเสียทีเดียว ยังคงมีเงินไหลเวียนเข้าสู่ประเทศอย่างสม่ำเสมอ แต่ที่คนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าประชาชนจำนวนมากยังมีฐานะยากจนอยู่ ก็เป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้เอาเงินที่ได้มาใช้เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อย่างที่ควรจะเป็น แต่นำเงินส่วนใหญ่มาให้แก่กลุ่มพวกพ้อง

“ที่ผ่านมา ในพม่ามีความไม่เสมอภาคของชนชั้นสูงมาก โดยเฉพาะชาวรากหญ้ากับชนชั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพรรคพวกของทหาร พวกนี้จะมีวิถีชีวิตที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคมมาก จะบางครั้งก็อาจจะกลายความขัดแย้งได้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะให้เทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนถือว่าแตกต่างมากเลยนะ เพราะตอนนั้นทุกคนจนเสมอภาค แต่ตอนนี้มีการแยกเป็นคนรวย กับคนจน”

ส่วนที่เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น อาจารย์พรพิมลกล่าวว่า กลุ่มที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประชาสังคมเสียมากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดมาก ในช่วงที่พม่าถูกพายุนาร์กีสเล่นงานเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีองค์กรจำนวนมาก เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือประชาชน หรือไม่ก็ลงไปช่วยเหลือด้วยตัวเองเลย

ขณะที่ในภาคการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย ที่ผ่านมายังถือว่าไม่ชัดเจนเท่าใดนัก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายว่าจะไม่มีเลย ซึ่งที่ดูจะโดดเด่นมากๆ ก็คงเป็นสื่อมวลชน โดยทุกวันนี้ประชาชนมีช่องทางการรับข่าวสารมากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้สื่อในระบบจะถูกควบคุมโดยภาครัฐหมด แถมยังมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมสื่อที่อยู่ตรงกันข้ามด้วย

“สื่อนอกระบบเกิดขึ้นเยอะมาก ที่เห็นๆ ก็อย่างหนังสืออิระวดี หรือพวกเว็บไซต์ออนไลน์ แต่พวกนี้เขาไม่ได้ทำกันข้างในนะ ทำกันอยู่ข้างนอก แต่เขาก็จะมีสายของเขาอยู่ข้างใน สื่อพวกนี้ชาวพม่าอ่านกันเยอะนะ ถึงรัฐจะพยายามควบคุม ก็ทำได้ไม่หมด นอกจากนี้เขาฟังพวก Short wave ฟัง BBC กันตั้งนานแล้ว ขณะที่สื่อของรัฐทุกวันนี้ไม่มีคนสนใจแล้ว อยากเป็นกระบอกเสียงก็ทำไปสิ

“และถ้าพูดกันจริงๆ สื่อพวกนี้มีอิทธิพลต่อคนเยอะมากนะ ลองดูสิช่วงที่พระออกมาเดินขบวน ทุกคนเห็นกันหมด ขณะที่สื่อของรัฐไม่รายงานเลย ทุกวันนี้การข่าวสารมันไหลเวียนมากขึ้น แล้วยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีก สมมติว่าคุณมีลูกชายทำงานอยู่ที่เมืองไทย แล้วข่าวสารเรื่องพม่ามันชัดเจนมาก ลูกคุณก็ต้องเล่าให้คุณฟังต่อแน่นอน”

ส่วนเรื่องบทบาทของอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านต่อพม่า อาจารย์พรพิมลวิเคราะห์ก็ถือว่านำความเปลี่ยนแปลงมาสู่พม่าเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ เพราะทุกประเทศต่างหวังผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่เรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในพม่า คงต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถเรียกร้องได้เท่าที่ควร

“วิธีทางทูตของอาเซียนจึงไม่เผชิญหน้า ประนีประนอม ไม่ขึงขัง อย่างมากก็แค่ไปพูดบนเวทีต่างๆ คือต้องเข้าใจว่าประเทศเหล่านี้มีเรื่องที่ต้องพะวงเยอะมาก เพราะหากเกิดอะไรขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือการอพยพ การหนีเข้าเมือง หรือปัญหาอาชญากรรม คือเราไม่สามารถทำแบบประเทศตะวันตกที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรได้ เพราะเขาไม่มีเรื่องอะไรต้องห่วง

“ขณะเดียวกัน ประเทศในแถบนี้ส่วนใหญ่ก็ต้องพึ่งพาพม่าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการดำเนินทางการทูตก็เป็นการรอมชอม จะกดดันก็ทำไม่ได้มาก ถ้าเกี้ยเซียะกันได้ก็อยากทำมากกว่า คือสำหรับเรา การที่รัฐบาลทหารพม่ายังมีที่ยืนอยู่ เพราะเขารู้ว่าตอนนี้เขาถือไพ่เหนือกว่า โดยเฉพาะกับประเทศที่เข้ามาลงทุนในพม่า”

สำหรับเรื่องอนาคตของพม่า อาจารย์พรพิมลกล่าวว่า ตอนนี้คงตอบอะไรไม่ได้ ที่ทำได้ก็ต้องรอ โดยเฉพาะในอนาคตโครงสร้างการเมืองใหม่ ซึ่งเหมือนความหวังเล็กๆ ของประชาชนว่าจะเป็นพื้นที่ให้พวกเขามากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่า ถึงยังไงพม่าก็ต้องมีการเติบโตมากขึ้นแน่นอน แม้ว่าจะที่ละเล็กละน้อยและช้ากว่าที่อื่นไปสัก 10 ปี แต่เราก็ต้องอดทน
 
********
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น