xs
xsm
sm
md
lg

ศาลกับความยุติธรรมกรณีตากใบ

เผยแพร่:   โดย: คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

ตามที่ญาติผู้เสียชีวิตในกรณี “คดีตากใบ” จ.นราธิวาส ทนายความ และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ต่ออธิบดีศาลอาญา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากมีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 หมายเลขแดงที่ ช.8/2552 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมานั้น

ด้วยความเคารพต่อดุลพินิจของศาล แต่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เห็นว่า ศาลทำคำสั่งไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักการไต่สวนการตาย เนื่องจากศาลไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ตาย และไม่กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำหรือทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะกล่าวได้ อาจทำให้ญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งสาธารณชนเห็นว่าคดียังไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันของกระบวนการยุติธรรม ที่มีเพียงตุลาการที่เป็นความหวังสุดท้ายของการแสวงหาความเป็นธรรมสำหรับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มีแต่ความขัดแย้งทางความคิดและการใช้ความรุนแรงประหัตประหารติดต่อต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา

เราขอสนับสนุนการยื่นคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว และเห็นว่า ศาลน่าจะพิจารณาเพิกถอนกรณีการไต่สวนการตายใหม่ได้เพื่อความเป็นธรรมของประชาชน เนื่องเพราะเหตุการณ์ตากใบ นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ และเป็นตัวบ่งชี้ถึงกระบวนการสร้างความเป็นธรรม การสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยต่อนโยบายการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ของรัฐได้ว่า รัฐจะไม่เลือกปฏิบัติต่อการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า และไม่ละเลยให้ผู้กระทำความผิดต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม

แต่การที่ศาลวินิจฉัยถึงเหตุที่ตายแต่เพียงว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจนั้น ขัดกับความเข้าใจของสาธารณชนที่ข้อเท็จจริงที่มีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุพยานเป็นแผ่นบันทึกภาพและเสียงของเหตุการณ์ ว่ามีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างอย่างไร โดยคำสั่งศาลไม่กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจจนถึงแก่ความตาย ทั้งๆ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนอย่างชัดเจนว่าเหตุที่ผู้ตายขาดอากาศหายใจนั้นเกิดจากการที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่บังคับมัดมือไพล่หลังนำตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกซึ่งมีผ้าใบปิดคลุม โดยให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นกระบะรถยนต์บรรทุกทับซ้อนกันหลายชั้น ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้เพราะถูกมัดมือไพล่หลังในขณะทำการขนย้ายเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ใช้เวลาระหว่าง 15.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 จนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยสภาพอากาศภายในรถไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจำนวนมากถึง 78 คน

แม้ว่าคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 หมายเลขแดงที่ ช.8/2552 กรณีตากใบนี้จะไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายในการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นคดีอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนทำให้ผู้ตายเสียชีวิต แต่การที่ศาลไม่ทำคำสั่งระบุว่าใครเป็นผู้ทำร้ายผู้ตาย ทั้งๆ ที่ความจริงปรากฏพยานหลักฐานจากการไต่สวนชัดเจนว่า พฤติการณ์การตายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการขนย้ายผู้ชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งในภาวะเช่นนั้นเจ้าพนักงานย่อมเล็งเห็นผลได้อย่างแน่นอนว่าผู้ที่ถูกนำตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกและขนย้ายในลักษณะดังกล่าวย่อมเกิดการกดทับกันถึงขั้นเสียชีวิตได้

การกระทำของเจ้าพนักงานเช่นนั้นอาจถือได้ว่าถึงขั้นมีเจตนากระทำร้ายผู้ชุมนุมอย่างทรมานและทารุณโหดร้ายจนถึงแก่ความตาย หรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าคำสั่งศาลไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม (3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มาตรา 197 วรรคแรก การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และวรรคสอง ระบุว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จึงขอให้ฝ่ายตุลาการ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่ออำนวยความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ และเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เพื่อบรรทัดฐานทางสังคมและนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ทนายความและญาติผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าว มีความเห็นร่วมกันว่า เราไม่เห็นด้วยและไม่ยินยอมไม่ว่ากรณีใดๆ ที่จะมีกลุ่มหรือบุคคลใดๆ นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการกดดันศาล หรือการข่มขู่คุกคามศาลสถิตยุติธรรม ตามที่เป็นข่าวในท้องที่ภาคใต้ ซึ่งถือเป็นการสร้างสถานการณ์และไม่เคารพในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

และช่วยกันจดจำไว้และรณรงค์ร่วมกันว่า There is no the way to peace; Pease is the way.
กำลังโหลดความคิดเห็น