xs
xsm
sm
md
lg

เปิดลายแทงสู่สมองผ่าน “เส้นสายลายนิ้วมือ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากมีคำกล่าวที่ว่าดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ อีกหนึ่งคำกล่าวที่ว่า “ลายนิ้วมือเป็นหน้าต่างของสมองมนุษย์” ก็คงกำลังรอการพิสูจน์ว่าจะเป็นจริงหรือไม่อยู่เช่นกัน

ในยุคที่เราพบเห็นการแบมือให้กับหมอดูเพื่อวิเคราะห์เส้นต่าง ๆ ก่อนจะนำไปสู่การทำนายทายทักอนาคตว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่งมงาย ไม่ศรัทธาในศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ปล่อยให้เส้นสายลายมือและคำพูดจากปากหมอดูเป็นสิ่งบ่งชี้อนาคตภายภาคหน้า หลายประเทศที่อยู่รายล้อมประเทศไทยก็มีการแบมือให้เส้นบนฝ่ามือเหล่านั้นถูกบันทึกภาพลงในระบบดิจิตอลเช่นกัน หากแต่สิ่งที่พวกเขาทำลงไปนั้น ก็เพื่อให้เข้าใจศักยภาพของมนุษย์อย่างถ่องแท้ รวมถึงวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของมนุษย์คนนั้น ๆ โดยมีกลไกทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวควบคุม หาใช่การทำนายทายทักอนาคต หรือเนื้อคู่ไม่

เทคโนโลยีการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ (Dermatoglyphic Analysis) เป็นเรื่องที่มีการศึกษามานานทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก หลายผลงานวิจัยที่สรุปออกมาคล้ายคลึงกันว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่บนฝ่ามือนั้นมีความเชื่อมโยงถึงสมอง และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของบิดาแห่งศาสตร์ลายเส้นผิวหนัง Harold Cummins M.D. ที่พบว่า ความสัมพันธ์ของลายเส้นนิ้วมือกับสมองจะมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจากสมองของทารกในครรภ์จะมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับลายเส้นบนฝ่ามือ

ศาสตร์ลายนิ้วมือที่กลายเป็นลายแทงบ่งบอกถึงความสามารถของสมองที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์แต่ละคนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ด้านได้แก่ ด้านของการคิดวิเคราะห์ ด้านของจิตใจ ด้านการรับฟัง ด้านการมองเห็น และด้านของสมรรถภาพทางกาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีความสามารถด้านการมองเห็นต่ำ จะเรียนรู้ได้ไม่ดีนักจากการมอง ซึ่งทางแก้อาจทำได้โดยหาหนังสือที่มีภาพประกอบสวย ๆ ตื่นตาตื่นใจมาใช้ดึงดูดความสนใจ หรือหากเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพทางด้านร่างกายสูง แม้จะไม่ค่อยได้เล่นกีฬา แต่คนกลุ่มนี้ก็จะใช้เวลาในการหัดเล่นกีฬาไม่นานก็จะสามารถเล่นได้ดี เป็นต้น และ ข้อมูลเหล่านี้นี่เองที่ต่อยอดไปสู่ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

พุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินบอร์น อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ผู้ให้บริการเทคโนโลยี DA ในประเทศไทยเปิดเผยว่า “การวิเคราะห์ DA ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ลักษณะของเด็กที่ผู้ปกครองหรือพนักงานในองค์กรที่ผู้บริหารควรทราบ เช่น หากลายนิ้วมือ (นิ้วโป้ง) บ่งบอกว่า คนคน นี้มีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก แต่ปรากฏว่า เขาถูกจับไปทำงานคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เขาก็จะไม่ได้ใช้ความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์ที่เขามี หรือกรณีที่เด็กบางคนตรวจสอบแล้วพบว่า มีการเรียนรู้แบบสวนกระแส คิดจากผลไปเหตุ พ่อแม่-ครูก็จะได้เข้าใจ ไม่มองเขาเป็นเด็กดื้อรั้น แปลกประหลาด และสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับตัวเด็กได้”

ทั้งนี้ พุฒิพงศ์กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบประเทศไทยได้มีการนำศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ลายนิ้วมือไปใช้ร่วมกับการบริหารทรัพยากรบุคคล ทั้งในภาคการศึกษา (กลุ่มเด็ก) และภาคธุรกิจกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศเช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน โซเวียต ฯลฯ

“ไม่แปลกที่ประเทศเหล่านั้นจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศจีน มีการนำเทคโนโลยีวิเคราะห์ลายนิ้วมือไปใช้อย่างจริงจังในด้านการพัฒนากีฬา เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ว่าเด็กคนไหนมีความสามารถทางกีฬาสูง ซึ่งมันยังสามารถลงลึกไปได้อีกว่า กีฬาที่เด็กถนัดนั้นคือกีฬาอะไร เช่น กอล์ฟ ว่ายน้ำ ยิมนาสติก”

“ส่วนในประเทศที่ใช้เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น การวิเคราะห์ลายนิ้วมือก็มีส่วนทำให้ ครูอาจารย์สามารถเข้าใจเด็กได้ดีขึ้น วางแผนการเรียนการสอนได้ดีขึ้น และสามารถจัดกลุ่มเด็กได้ดีขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จะพัฒนาในด้าน IQ เป็นหลัก แต่เทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาด้าน EQ ร่วมด้วยได้”

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงในด้านค่าใช้จ่ายจะพบว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังมีค่าบริการค่อนข้างสูง (ประมาณ 7,500 บาทต่อคน) ซึ่งในจุดนี้ พุฒิพงศ์กล่าวว่า จะมีการขอความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่อไป

“ปัญหาด้านการเรียนของเด็กเกิดขึ้นทั่วโลก แต่จริง ๆ แล้ว ปัญหาเหล่านี้เกิดจากตัวเด็ก หรือว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็กกันแน่ แล้วจะมีวิธีไหนที่จะทำให้เราเข้าใจเด็กได้มากขึ้นว่าเขาชอบอะไร หรือเรียนรู้ได้ดีในแบบใด ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติให้ถูกทาง ให้เขาไปถึงจุดสูงสุดเท่าที่ศักยภาพเขามี ทำอย่างไรจึงจะแก้จุดอ่อนของเขาได้ ซึ่งประโยชน์อีกด้านก็คือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์และลูกศิษย์ ให้เข้าใจกันได้ดีขึ้น รวมไปถึงการช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว นั่นคือคำตอบที่เทคโนโลยี การวิเคราะห์ลายนิ้วมือสามารถช่วยไขความกระจ่างได้” พุฒิพงศ์กล่าวปิดท้าย

Did you know!

ความสัมพันธ์ระหว่างนิ้วแต่ละนิ้วกับสมองแต่ละส่วน

มือซ้าย มือขวา

นิ้วโป้ง ความคิดวิเคราะห์ การคำนวณ
นิ้วโป้ง การบริหารจัดการตนเอง

นิ้วชี้ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์
นิ้วชี้ ความคิดวิเคราะห์ การคำนวณ

นิ้วกลาง แสดงความรู้สึกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย และการชื่นชมในงานศิลปะ
นิ้วกลาง การเคลื่อนไหว และการควบคุมร่างกาย

นิ้วนาง ความรู้สึกจากการฟัง การชื่นชมดนตรี
นิ้วนาง การทำความเข้าใจจากการฟัง และการใช้ภาษา

นิ้วก้อย ความรู้สึกจากการมอง และการชื่นชมในภาพศิลปะ
นิ้วก้อย การสังเกต




กำลังโหลดความคิดเห็น