xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ลงแส้ผู้ซื้อ เสียงจากสองฝั่ง-ใครได้? ใครเสีย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าจะจัดทำประชาพิจารณ์กันในเรื่องของการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ที่จะเอาโทษทางแพ่งกับผู้ซื้อและผู้ครอบครอง และคนให้เช่าอาคารหรือเจ้าของสถานที่เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จะมีโทษความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา นั่นหมายความว่า มีความผิดกันถ้วนหน้า ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ครอบครอง ผู้ให้เช่าพื้นที่ขาย

ถ้ากฎหมายได้รับการแก้ไขและมีผลบังคับใช้เมื่อใด แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบในปริมณฑลที่กว้างขวางดังที่ ‘ปริทรรศน์’ ได้เสนอไปเมื่อวาน

วันนี้ ‘ปริทรรศน์’ จึงไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องแขนงนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนัง คนทำเพลง คนฟังเพลง คนดูหนัง ว่าพวกคิดอย่างไร เมื่อรัฐคิดจะป้องปรามอย่างแข็งกร้าวด้วยกฎหมาย

ต้นตอการละเมิดลิขสิทธิ์

สุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ กรรมการและผู้อำนวยการสายงานกฎหมายและปราบปราม บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด และกรรมการ ผู้อำนวยการสายงานกฎหมายและปราบปราม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ภาคเอกชน) เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเพลงไทย เล่าถึงสาเหตุของการละเมิดลิขสิทธิ์ว่า เหตุผลหลักมาจากคนที่มักง่าย แสวงหาผลประโยชน์โดยไปลอกเลียนแบบของเขามา และพยายามเอาข้อแตกต่างเรื่องราคามาสู้ ทำให้ประชาชนเลือกที่จะไปซื้อของราคาถูกกว่า

“ทุกวันนี้ซีดีเพลงไทยที่ถูกลิขสิทธิ์จะไม่ค่อยมีข้อแตกต่างกับพวกซีดีเถื่อน ซึ่งตอนนี้ราคามีผลน้อยมาก รู้สึกว่าแผ่นเพลงสากลหรือหนังที่เป็นของต่างประเทศ 399 บาท ของปลอมถ้าเป็นซีดีประมาณ 70 บาท วีซีดี 100 บาท ถ้าเป็นดีวีดีก็ 100 บาทต้นๆ ส่วนของไทยแผ่นแท้ก็ราว 100 บาทต้นๆ หรือ 100-149 บาทไม่เกินนี้ พวกคนก๊อบปี้มันก็เอาข้อแตกต่างไม่กี่สิบบาทนี้มาเป็นทางเลือกให้คนซื้อ”

พิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟโนไรท์ จำกัด และผู้จัดการทั่วไปสมาคมผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย บอกว่า ในส่วนของผู้ซื้อน่าจะมาจากเรื่องของราคาสินค้าของจริงที่แพงเกินไป จึงทำให้ประชาชนนิยมใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างเช่นซอฟต์แวร์ซึ่งของจริงมีราคาสูงมาก ส่วนของผู้ขายเองน่าจะมาจากความโลภเป็นหลัก

แก้กฎหมายใหม่เพื่อใคร?...

สุทธิศักดิ์ เล่าว่า การออกกฎหมายมันเป็นสิ่งที่ดี ช่วยในเรื่องของการปรามได้ ในประเทศไทยควรมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่มีกฎหมายมาช่วยกำหนดโทษก็จะกลายเป็นว่า เมืองไทยเราเสรีภาพกันมากเกินไป

“ปัญหาคือว่าบ้านเรามีกฎหมายเยอะแยะมากมาย เอะอะอะไรก็พยายามที่จะหากฎหมายเข้ามาช่วย แต่กลับละเลยเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างไหม เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองเจ้าของสิทธิ์ไหม วันนี้กฎหมายจะครอบคลุม ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ ผู้ให้เช่าพื้นที่ให้มีความผิดหมดแล้ว ถ้าเกิดว่าเราเด็ดขาดเพียงพอกับคนสี่กลุ่มนี้ ผมคิดว่าปัญหามันจะทุเลา แต่การออกกฎหมายก็กลายเป็นเรื่องที่จะมาช่วยโอบอุ้มอุตสาหกรรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้ในระดับหนึ่ง”

ศรีรัตน์ นุชนิยม ผู้อำนวยการบริหาร สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การปรับกฎหมายเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้ครอบคลุมผู้ทำผิดทั้งหมด เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน เพราะบางทีคนทำผิดก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำผิด

“เห็นกันบ่อยๆ จนชินก็คือเด็กหรือเยาวชนและกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ต นิยมการดาวน์โหลดทั้งเพลง ทั้งหนังมาไว้ฟัง ไว้ดู ซึ่งบางครั้งคนที่ทำก็ไม่รู้นะว่ากำลังทำผิดกฎหมายอยู่ จึงเป็นเรื่องดีที่มีการแก้ไขกฎหมาย และเอาจริงเอาจังกับปัญหาตรงนี้จะทำให้เขาตื่นตัวมากขึ้น และส่วนตัวผมก็ดีใจนะที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามและให้ความสำคัญกับเรื่องการเอาผิดกับกลุ่มผู้ละเมิดลิขสิทธิ์


ด้านพิเศษให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้กฎหมายครั้งนี้ว่า การมีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าการบังคับใช้มันยังไม่เข้มข้น กฎหมายบางตัวยังมีช่องโหว่

“ที่ผ่านมาการเขียนกฎหมายจะเป็นลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แต่วัวไม่กลัว เพราะกฎหมายไม่เข้มแข็ง ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการเอาผิดกับผู้ละเมิด อย่างที่จะมีการแก้กฎหมายควรจะมีการระบุโทษของผู้กระทำความผิดไว้ในหลายระดับ กำหนดโทษต้องมีความหนักเบาตามความผิด สมมติว่าถูกจับกุมถ้าแผ่นเถื่อน 10 แผ่น ปรับ 2 พันบาท 100 แผ่น ปรับ 2 หมื่นบาท ส่วนพวกผู้ค้ารายใหญ่ก็ควรจะกำหนดโทษให้หนักไปเลย เช่น จำคุกเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ว่าไป”

พิเศษ ยังบอกอีกว่า หากกฎหมายใหม่มีการเอาผิดกับซื้อ ผู้ครอบครอง และผู้ให้เช่าพื้นที่ เขามีความเห็นด้วยกับการเอาผิดผู้ให้เช่าพื้นที่ เนื่องจากมองว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ขายแผ่นเถื่อน หาที่ขายกันลำบากมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ลดจำนวนลงไปได้ ซึ่งจากการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็พบว่า เจ้าของห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือในการคัดกรองผู้ให้เช่าพื้นที่ขายกันมากขึ้น

“ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาผิดผู้ที่ครอบครองและผู้ซื้อเท่าไหร่นัก เพราะถ้ามีกฎหมายออกมาว่าเอาผิดผู้ที่ครอบครองสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์รับรองเลยว่า คนไทยต้องโดนปรับกันถ้วนหน้าแน่นอน หรือถ้าหากจะเอาผิดจริงๆ ก็ควรนำแผ่นผี ซีดีเถื่อน ทั้งหลายมาเผารวมกัน แล้วเริ่มใช้กฎหมายและนับหนึ่งกันใหม่ ส่วนการเอาผิดกับคนซื้อควรกำหนดโทษที่ไม่รุนแรงมาก”

ละเมิดมากวัฒนธรรมเพลงหาย

สาเหตุจากการละเมิดลิขสิทธิ์กันจนคุ้นชิน ทำให้ในแวดวงของคนทำเพลงเองก็เหนื่อยที่จะพัฒนางานแล้วมาให้คนมักง่ายก๊อบปี้ไปได้อย่างง่ายดาย จึงส่งผลให้สมัยนี้คนทำเพลงลดน้อยลงไป คนฟังเพลงก็เสียผลประโยชน์ แทนที่จะได้ฟังเพลงที่หลากหลายในกระแสที่ตลาดกำลังเติบโต แต่กลับมีเพลงเข้าตลาดกันลดน้อยลง เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นหลัก

“ประชาชนทั่วไปต้องให้การสนับสนุนของที่ดี ที่ถูกกฎหมาย เพราะการแต่งเพลงมันสะท้อนถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่นของท่านซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลง ทำให้ชุมชนภาคใต้ อีสาน เหนือ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกันผ่านบทเพลง ถ้าขาดตรงนี้ไปก็กลายเป็นว่าท่านขาดวัฒนธรรมไปช่วงหนึ่ง เพราะวัฒนธรรมมันจะเป็นอะไรที่ต่อเนื่องและทันสมัย ฉะนั้น ยุคนี้ถ้าเพลงออกน้อย จะทำให้เพลงสะท้อนสังคมชุมชนในยุคนี้ ซึ่งแตกต่างจากยุค 80-90 ซึ่งสังคมไทยมีการพัฒนาเพลงเป็นอย่างมาก มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมให้สังคมได้รับรู้และช่วงนั้นเพลงมันมีความเป็นอมตะค่อนข้างจะสูง” สุทธิศักดิ์ เล่า

สอดคล้องกับความเห็นของ ศรีรัตน์ ที่บอกว่า หากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของคนทำหนัง เนื่องจากจะผลิตหนังเรื่องไหนออกมาแล้วก็ถูกกลุ่มผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ทำการลอกเลียนและปั๊มแผ่นผีออกมาขาย ทำให้ได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากคนทำหนังไม่มีกำลังใจและกำลังเงินที่จะผลิตหนังออกมาก็จะทำให้วัฒนธรรมของการผลิตหนังในช่วงนั้นๆ ขาดหายไป

“ลองคิดดูนะ ถ้าคนทำหนังเขาไม่ผลิตหนังดีๆ ออกมา เพราะหมดกำลังใจ ขาดทุน การลงทุนไม่งอกเงย ก็จะทำให้วงการการทำหนังนี้ล่มสลาย สมมติอีก 5 ปีข้างหน้า คนทำหนังมีน้อยมาก วัฒนธรรมการทำหนังของแต่ละช่วงก็จะขาดหายไป ซึ่งสาเหตุมันมากจากการถูกกัดกร่อนจากเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เหมือนบางทีเขามองว่า ถ้าทำแล้วไม่ดีก็ไม่รู้จะทำทำไม มันเป็นเรื่องที่จะทำให้นวัตกรรมการสร้างสรรค์ทุกๆ อย่างมันสะดุด แค่เพียงความเห็นแก่ตัวของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง”

เสียงจากผู้บริโภค

สมโภชน์ บุญรัตน์ นักธุรกิจวัย 50 ปี กล่าวถึง แนวทางที่รัฐบาลเตรียมที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ว่า มันเป็นผลประโยชน์ของใคร ถ้าฝรั่งบีบให้รัฐบาลทำให้ถูกต้อง ฝรั่งจะให้ตังค์ รัฐบาลไทยก้อนใหญ่

สมโภชน์ ยกตัวอย่างที่ประเทศจีนว่าทั้งประเทศก็อบปี้หมดเลย ถ้าจะไปจับ คงต้องจับทั้งประเทศ เพราะเขาทำผิดหมดเลย ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงจีนเดินทางไปเยอรมนี เธอโดนจับเพราะกระเป๋ายี่ห้อหนึ่งที่เธอคิดว่าของของเธอถูกต้องแล้วในประเทศจีน แต่ว่ามันกลับผิดกฎหมายเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ

“ถ้าให้ผมฟันธงว่า กฎหมายดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ ต้องไปถามคนจนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ผมขอย้อนถามว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อใคร หากจะแก้ก็ต้องยุติรรมทุกเรื่อง ทั้งกับประชาชนคือต้องมองทุกเม็ด เพราะคนที่ทำอาชีพนี้ เขาทำมาชั่วนาตาปี รัฐบาลจึงต้องค่อยๆ ผ่อนสั้นผ่อนยาว หาอาชีพใหม่รองรับเขาด้วย ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังอ่อนแอด้านสินค้า ซึ่งถ้าหากมีต่างชาติทำผิดกฎหมายประเทศไทย เช่น ลาว เขมร เอาข้าวที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาไทยไป เราคงไม่มีปัญญาไปฟ้องว่ามีใครละเมิดไปบ้าง” นักธุรกิจ กล่าว

อย่างเรื่องไมโครซอฟท์ บิลล์ เกตส์ คิดซอต์ฟแวร์มาให้เราใช้ฟรี เราก็ติดตั้งลงเครื่อง เขาต้องการโปรโมทสินค้าให้ใช้ก่อน แล้วพอมันติดไปทั่วโลก ตอนหลังก็ใส่ยาพิษ ดึงดาบกลับ ก็เริ่มปรับ ถ้าใครไม่ได้ซื้อก็เป็นโปรแกรมเถื่อน ถามว่าผิดมั้ย ไม่ผิด แต่บอกหน่อยสิว่าให้ใช้แล้ว อีก 10 ปี ฉันจะเก็บตังค์นะ จะได้ไม่ต้องใช้ไง

“คนเสียเปรียบ คือคนจน ไม่ใช่คนโง่ แต่คือคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม หมายถึงคนทั้งโลกนะ ประเทศจีน คนพันสามร้อยล้านคนก็ถูกจับหมดสิ ประชาชนจะลำบาก แล้วศักดิ์ศรีมันอยู่ตรงไหน ความถูกต้องอยู่ที่คนมีเงินมากกว่าหรือ สินค้าบางตัวควรมีเวลาเป็นตัวกำกับว่า เมื่อไหร่จะทำการออกกฎหมายจับ ให้ย้อนหลังกี่ปี ตามประเพณี จะได้ทำได้ถูกต้อง แต่ถ้ามีวาระซ่อนเร้น เหมือนซอฟต์แวร์ให้ลองใช้ก่อน แล้วเริ่มเก็บตังค์

“จริงๆ แล้วใครขี่ใคร วางกฏให้ทั่ว ตอนนี้รัฐบาลไทย พูดเสมือนว่าคนไทยเราเอาเปรียบ ขี้โกง สิ้นคิด ไปเอาเขามา แหม มันสาหัสเกินไปนะ อยู่ๆ คุณมาบอกว่าประชาชนคุณนี่โง่ ขี้โกง แล้วญี่ปุ่นล่ะ ที่ก๊อบปี้ฝรั่ง และจีนหละ ไม่โง่ ไม่เซ่อหรอ ทุกคนมองว่าใครพูด เพื่ออะไร พวกเขารวยใช่มั้ย รัฐบาลไทยมันตื่นเต้น อยากทำแต่การไล่เบี้ย สั่งจับ พอจับแล้วรองรับคนที่เขาทำงานพวกนี้มั้ย”

สมโภชน์ตั้งคำถามแรงๆ กลับว่ารัฐบาลไทย เอาหน้าใคร ได้เท่าไหร่ ถ้าทำแล้วยุติธรรมจริงหรือ จะทำจริงหรือไม่ คุณต้องมีความซื่อสัตย์ มีวินัย ทุกเรื่อง ไม่รับเงินฝรั่ง ถ้าจะทำ เอาเลย! แต่ให้มาตรฐานเดียวกัน ถ้าใครละเมิดสินค้าโดนหมดคือจับฝรั่งได้ด้วย ฟ้องร้องฝรั่งบ้าง

บางทีตำรวจอยากลุกขึ้นมาจับ คนที่มีซีดีไว้ครอบครอง เราก็กลายเป็นโจรกันหมดเลยประเทศไทย เด็กๆ ก็โดนด้วย ยกตัวอย่างหากประชาชนบาดเจ็บ รัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ยาทาที่แผลไม่ได้ตัดขา ให้ยามาที ก็ทาทีหนึ่ง ใช้ของหลุยส์ วิตตองก็จับทีหนึ่ง มันไม่ใช่การรักษานะ มันเป็นการทำเพื่อเอาตังค์ ถ้าทำแล้วมีคุณธรรมมีจุดยืน ก็ต้องยึดหลักที่ถูกต้องเด็ดขาด

ขณะที่ แนน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกราฟิกในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่ใช่บริการโหลดเพลงในอินเตอร์เน็ต

“คือบางทีเราอยากเล่นเกมที่ไม่มีขายแล้ว เราก็ใช้วิธีหาในเน็ตว่ามีเกมนี้ขายมั้ย ซึ่งมันมี แล้วเราก็สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต อย่างการ์ตูนคุนิโอะ แนนก็โหลดเอา อย่างเพลงต่างๆ ก็มี MP3 ให้เราโหลด คือบางทีเราก็แชร์กันกับคนที่เอาหนัง เอาเพลงที่เขามีมาลงในเน็ต คนที่จะโหลดแบบนี้ได้ต้องมีคอมพ์ส่วนตัวที่บ้าน เพราะไปนั่งเล่นในร้านไม่ได้ เพราะเวลาโหลดทีมันก็จะกินเวลา มีเหมือนกันที่มีคนไปโหลดในร้านแล้วเครื่องคอมพ์พังเลย พวกร้านเน็ตจึงไม่ให้โหลดหนัง เพลงทางเน็ต”

เธอยังบอกอีกว่าราคาหนังและเพลงที่โหลด มีตั้งแต่ราคา 20 บาท 40 บาท 200 บาท และโหลดได้ทีละหลายๆ เพลง เวลาโหลดจะโหลดในเน็ตแล้วจ่ายเงินก็ได้ ถ้าเรามีเงินในบัญชี ก็ส่งเงินไปทางนั้นได้เลย แล้วของก็จะมาส่งที่บ้าน วันเดียวก็ได้แล้ว ถ้าที่นั่นอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าบางทีในเน็ตไม่มี เธอก็บอกว่าไปหาซื้อตามแหล่งที่มีขายก็ได้

ถ้าวันหนึ่งมีตำรวจมาจับ เพราะเธอมีของละเมิดลิขสิทธิ์ในครอบครอง เธอบอกว่าก็ต้องยอมรับ เพราะเราผิด แต่ก็จะแอบเซ็งเหมือนกัน เพราะทำมาตั้งนานทำไมไม่เห็นโดน แต่อย่างว่าแหละ แม้จะออกมาบังคับใช้จริงก็ไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะเธอเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจที่เป็นต้นทางยังไงเขาก็ต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการเอาของผิดกฎหมายออกมาขายอยู่ดีแหละ ก็เหมือนกฎหมายที่ให้เราใส่หมวกกันน็อก คือเรารู้นะว่าถ้าไม่ใส่ก็ผิดกฎหมายและต้องโดนปรับ แต่ก็ยังมีคนแอบทำ

ขณะที่ ต๋อม พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดใจว่า การออกกฎหมายนี้มา เป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิด เพราะว่าการแก้ไขปัญหาควรออกกฎหมายที่ลงโทษผู้ผลิตให้มีโทษหนักเหมือนต่างประเทศ ส่วนผู้ที่ซื้อหรือเช่าก็ควรจะได้รับโทษที่ลดหลั่นลงมา อาทิ การปรับ เพราะต้องคำนึงถึงผู้ที่มีรายได้น้อย แต่อยากครอบครองหรืออยากดูหนัง อยากฟังเพลง ปัญหานี้ต้องแก้ไขที่ต้นตอ ต้นเหตุ ไม่ใช่มาแก้ไขที่ปลายเหตุ และก็ต้องแก้ที่ระบบอินเตอร์เน็ตด้วย

เขาบอกว่าคนที่อยู่มีในครอบครองจะนำมาจากการโหลดตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป ในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งสาเหตุที่เรามักโหลดในอินเตอร์เน็ตเนื่องมาจาก CD VCD DVD ของแท้ มีราคาที่แพงเกินไป เขาเองก็เคยซื้อ และโหลดเพลงมาฟังอยู่บ่อยๆ แต่หากจะพูดถึงคุณภาพ ยังไงของเถื่อนก็สู้ของแท้ไม่ได้ แต่คนไทยเราขอให้ถูกไว้ก่อน ออกกฎหมายนี้มา คนที่มีรายได้น้อยจะแย่

ขณะที่ผู้ใช้บริการโหลดเพลงและหนังในอินเตอร์เน็ตอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลอะไรนัก คิดว่าคงไม่ต่างกับกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ เพราะปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาที่กฎหมาย แต่มีปัญหาที่ผู้ปฏิบัติที่ไม่จริงจัง

โหลดเพลงทุกวัน ซีดีก๊อบปี้ไม่ซื้อ เพราะถ้าเรามีอินเตอร์เน็ตและรู้จักเว็บที่เขามีให้โหลดเราก็โหลด ดังนั้น จึงไม่เสียเงินซื้อ เพราะ MP3 ที่เขาปั๊มขายกันก็เอามาลงในเว็บทั้งหมด แต่ถ้าเป็นคนที่โหลดไม่เป็นก็จะต้องเสียเงินซื้อ ซึ่งเมื่อก่อนแผ่นละร้อย ตอนนี้ราคาเหลือแค่แผ่นละ 25 ถึงสามแผ่นร้อย

“ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจริง ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าตำรวจมาค้นตัวแล้วผมถูกจับ ผมจะบอกว่าให้ตำรวจไปตรวจในรถยนต์ทุกคันได้เลยที่วิ่งบนถนน ร้อยละ 90 เจอแน่นอน แผ่นผี และจะบอกว่าขอให้ตำรวจไปค้นบ้านตำรวจบ้าง หรือไปตรวจค้นใน สน. บ้าง เพราะใครๆ ก็รู้ว่าตำรวจหรือผู้มีอำนาจเองก็มีแผ่นผีฟังเหมือนกัน”

เขาย้ำว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลใดๆ มากนัก เพราะกฎหมายเดิมก็มีปัญหาอยู่แล้วคือบังคับใช้ไม่ได้ เพราะฝ่ายปฏิบัติมีเอี่ยว

“ส่วนผลกระทบของผู้เช่าและคนขาย คิดว่าผู้เช่าควรไม่ให้เช่าตั้งแต่แรก เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่คนขาย มันเป็นอีกประเด็นที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาการว่างงานด้วย ถ้าพวกนี้ไม่มีงาน หรือไม่มีอะไรขายก็ต้องไปทำอย่างอื่นหรืออาจว่างงานและเป็นปัญหาสังคมต่อไป”

สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งผิดกฎหมายแน่นอน การใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดอาจเป็นวิธีการหนึ่ง แต่ไม่ใช่วิธีการเดียว เพราะในเมื่อ ‘ราคา’ สินค้าถูกลิขสิทธิ์ยังมีราคาสูงจนทำให้คนที่มีรายได้น้อยเข้าไม่สามารถซื้อหาได้ ไม่พูดถึงสินค้าเลียนแบบแบรนด์เนมซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ความบันเทิงอย่างหนัง-เพลง หรือซอต์ฟแวร์พื้นๆ หากระดับราคายังสูงเกินกว่ารายได้คนหาเช้ากินค่ำ แม้พวกเขาไม่อยากเป็น แต่ก็จำใจต้องเป็นอาชญากร ที่น่าเป็นห่วงคือรัฐจะต้องไม่ปล่อยให้เป็นช่องทำมาหากินของเจ้าหน้าที่

ปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จึงจำเป็นต้องแก้พร้อมกันไปทั้งระบบ และสิ่งสำคัญ...เสียงสะท้อนจากฝั่งผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องรับฟัง

*************

เอ็งมา ข้ามุด
กลยุทธ์ค้าขายย่านพัฒนพงษ์


บรรดาพ่อค้าแม่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉพาะซีดีเถื่อนในย่านพัฒนพงษ์ อาจไม่เคยศึกษาวิธีทำสงครามของเหมาเจ๋อตุง แต่การที่ต้องเอาตัวรอดและเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เป็นระยะๆ จึงต้องหาวิธีปรับตัวและกลวิธีในการค้าขาย

ยิ่งผ่านเหตุการณ์จลาจลเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อลงกรณ์ พลบุตร เล่นบทกร้าวเอาจริงเอาจังด้วยแล้ว ผู้ค้าขายในย่านนั้นจากที่เคยเอาของมาตั้งวางแผงกันแบบเย้ยกฎหมาย ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีทำสมุดแค็ตตาล็อกไว้ให้ลูกค้าเลือก แล้วจึงค่อยไปหยิบตัวสินค้ามาให้จากแหล่งอันลับหูลับตา ประมาณว่าเพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายหลบหลีกเจ้าหน้าที่ และไม่มีของกลางให้เห็นตำตา ซึ่งก็ไม่ได้เพิ่งมาเป็น เป็นมานานแล้ว เพียงแต่ปรับไปตามความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เท่านั้น

แก้กฎหมายหนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะแก้เรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้แค่ไหน

*************

เรื่อง-มาลิลี พรภัทรเมธา, ออรีสา อนันทะวัน



กำลังโหลดความคิดเห็น