เมดอินไทยแลนด์...แบรนด์นี้คงจะสิ้นมนต์ขลังเสียแล้วสำหรับสาวกแฟชั่นที่เฝ้าติดตามเทรนด์ระดับโลก แต่เมื่อเงินในกระเป๋าไม่เอื้ออำนวยให้ซื้อแบรนด์เนมดีไซเนอร์ชื่อดัง ทางออกของสาวๆ (และไม่สาว) สมัยนี้บางคนคือ หันไปซื้อของก๊อปปี้เลียนแบบแบรนด์เนมทดแทน
แต่รู้หรือไม่ว่า...ความภูมิใจที่ได้ถือหรือสวมใส่สินค้าก็อปปี้ที่เหมือนของจริงเหล่านั้น อาจนำมาซึ่งการสูญสิ้นอิสรภาพ การสูญเสียเงินทองมหาศาลเสียยิ่งกว่าการควักกระเป๋าซื้อของจริงมาใช้เสียอีก เมื่อขณะนี้หลายประเทศเริ่มเอาจริงกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ถึงขั้นตรวจค้น จับ ปรับกันกลางสนามบินนับตั้งแต่ยังไม่ก้าวเข้าประเทศกันเลยทีเดียว
ไทยแลนด์แดนแบล็กลิสต์
“กระเป๋าหลุยส์ไหมคะ? ใบนี้เพิ่งมาใหม่เลยนะน้อง งานก๊อปเกรดเอจากฮ่องกงเลยจ้า...”
เสียงแม่ค้าแผงลอยริมถนนโฆษณาชวนซื้อกระเป๋าลายโมโนแกรมยี่ห้อดัง ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ไปมาในตลาดนัดกลางกรุง เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วที่จะมีการวางสินค้าลอกเลียนแบบขายอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยเช่นนี้
ไม่ต้องไปซื้อที่ช็อปเอ็มโพเรียม ศูนย์การค้าเกษรฯ หรือโรงแรมโอเรียนเต็ล ก็มีโอกาสเป็นเจ้าของหลุยส์ วิตตอง กระเป๋าที่เป็นสุดยอดปรารถนาของบรรดาไฮโซฯ หรือแม้กระทั่งคนเดินถนนทั่วไปก็ยังอยากมีไว้ในครอบครอง
ต่างกันตรงที่ว่าของก็อปราคาย่อมเยากว่าหลายเท่า สนนราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพและความเหมือนในการลอกเลียนแบบ มีตั้งแต่เกรดธรรมดา ก็อปเกรด A ไปจนถึง AAA
จากแบรนด์เนมหรูสุดเอื้อม จึงกลายเป็นของก๊อบที่มีให้เห็นกันจนเกร่อในเมืองไทย สาวๆ คนไหนก็ต้องหิ้วหรือสะพายหลุยส์ฯ สักใบไว้ไม่ให้ตกเทรนด์ ส่วนจะเป็นของจริงหรือปลอมนั้นอีกเรื่องหนึ่ง...
ประเทศไทย เคยถูกสำนักงานผู้แทนทางการค้าของสหรัฐฯ (US Trade Representative: USTR) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country - PFC) ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในขณะนั้นเมืองไทยมีปัญหาการปลอมแปลงเลียนแบบสินค้าอย่างรุนแรง ต่อมาทางการไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไข จนในปี 2537 สหรัฐฯ ได้ปรับลดให้ไทยอยู่ในระดับประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List – WL) จนถึงปี 2549 และปรับเป็น PWL หรือประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในปี 2550
สถานะล่าสุดปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศผลการจัดอันดับประเทศคู่ค้าที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ ประจำปี 2551 โดยสหรัฐฯ ยังคงจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้จะเห็นว่าทางการไทยมีการปราบปรามที่ดีขึ้น แต่ก็ยังเห็นว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังอยู่ในระดับสูง เช่น การละเมิดเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ ซีดี หนังสือ เคเบิลทีวี และซอฟต์แวร์ เป็นต้น มีการวางขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดง ได้แก่ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า มาบุญครอง คลองถม พัฒน์พงศ์ และสุขุมวิท
ผลการจัดอันดับในปี 2551 มีประเทศที่ถูกจัดเป็น PWL 9 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย ชิลี อินเดีย อิสราเอล ปากีสถาน เวเนซูเอลา อาร์เจนตินา และไทย โดยย้ำว่าจีนและรัสเซียเป็นประเทศที่จะต้องดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอาเซียนของไทยอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้รับการปรับลดระดับเป็นแค่ประเทศที่ถูกจับตามองเท่านั้น
ก็อบใบละพันแต่โดนปรับเป็นล้าน!
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศในเอเชียมีแหล่งผลิตของปลอม ของก๊อบปี้มากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีนนั้น ถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของบรรดาผู้ที่ชื่นชอบของแบรนด์เนมปลอม
สำหรับแหล่งผลิตสินค้าก๊อบปี้ที่ขึ้นชื่อนั้น มีอยู่หลายแห่งทั้งในจีนและเวียดนาม อาทิ ตลาดด่งซวนที่เวียดนาม, ซิลค์สตรีทมาร์เก็ตที่ปักกิ่ง, ตลาดหลอหวูที่เซินเจิ้น ที่ขึ้นชื่อเรื่องสินค้าก๊อบปี้ทุกชนิด, ตลาดเซียงหยางหรือตลาดรัสเซียที่เซี่ยงไฮ้ แหล่งขายของปลอมของก๊อบที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนขจรไปไกล พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยทั้งหลายต้องบินไปซื้อของแบรนด์เนมก๊อปปี้มาขาย เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ สามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ตั้งแต่แถบจังหวัดชายแดนแถวด่านท่าขี้เหล็ก แม่สาย เข้ามาจนถึงในเมืองกรุง
สิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะสร้างรายได้มากมายให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้า แต่นั้นคือสิ่งผิดกฎหมายร้ายแรง ซึ่งความรุนแรงของกฎหมายบ้านเรานั้น ยังมีความเบาบางมากในการเอาผิด แต่สำหรับประเทศในแถบยุโรปแล้ว การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเปรียบประหนึ่งได้กับการค้ายาเสพติด
โดยในขณะนี้ประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปบางประเทศได้แก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการลงโทษแก่ผู้ถือเข้าไป หรือส่งออก ด้วยอัตราโทษที่สูง เช่น ผู้ใดก็ตามที่ถือหรือสวมใส่เสื้อผ้า กระเป๋า แบนรด์เนมก๊อบปี้เข้าไปจะถูกควบคุมตัวที่สนามบินและดำเนินการตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ทันทีไม่ว่ากรณีใดๆ โดยประเทศของผู้กระทำความผิดจะไม่สามารถช่วยเหลือได้เลย
โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีความรุนแรงด้านกฎหมายสูงที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นเจ้าของแบรนด์เนมชื่อดังมากมาย กฎหมายของฝรั่งเศสมีการปรับและจำสำหรับผู้ที่ถือของปลอมเข้าประเทศเป็นสูงสุด 300,000 ยูโร หรือประมาณ 14 ล้านบาท ไปจนถึงจำคุกสูงสุด 3 ปี ส่วนประเทศอิตาลี มีโทษปรับสูงสุด 10,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทย 470,000 บาท
แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีรายงานว่ามีคนไทยถูกดำเนินคดี แต่มีชาวประเทศเพื่อนบ้านหลายรายที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีมาแล้ว และการที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ จึงทำให้คนไทยที่เดินทางไปประเทศยุโรปถูกจับตามองและสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่ทางสนามบินมากตามไปด้วย
ฐิตินันทนา ตันศรีสกุล นักวิชาการพาณิชย์ระดับชำนาญการพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ เล่าถึงประสบการณ์ที่เพื่อนของเธอเคยหิ้วกระเป๋าก๊อบปี้หลุยส์ วิตตอง เดินทางเข้าไปแล้วถูกเจ้าหน้าที่ทางการของฝรั่งเศสตรวจพบแล้วกรีดทำลายทิ้งที่สนามบินทันที เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมาเกือบ 10 ปีแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลฝรั่งเศสเอาจริงกับปัญหาการก๊อบปี้มานานแล้ว เพียงแต่ในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายลงโทษจับ ปรับผู้ที่นำสินค้าปลอมเข้าประเทศโดยเฉพาะเหมือนอย่างตอนนี้
“มีเพื่อนอยู่ที่ฝรั่งเศสก็จะเข้าออกประจำ แต่เวลาเดินทางจะเห็นคนที่มาจากประเทศไทยจะโดนศุลกากรตรวจมากกว่าปกติ บางคนถือของเยอะๆ เขาจะรื้อกระเป๋าเลย ตอนนั้นไปกับเพื่อนที่แอร์พอร์ทเมืองบาร์เซล แอร์พอร์ทนี้จะออกได้สามประเทศ ออกไปสวิสฯ ออกไปฝรั่งเศส แล้วก็เยอรมัน เพื่อนเขาก็ใส่เสื้อลาคอสท์ เจ้าหน้าที่เขาก็ถามว่าเสื้อลาคอสท์นี่ของปลอมรึเปล่า มาจากเมืองไทยถือของผิดกฎหมายบ้างหรือเปล่า เขาถามอย่างนี้เลย โชคดีที่เพื่อนคนนี้ไม่นิยมใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์
“เท่าที่เดินทางมาก็จะเห็นอย่างนี้มาตลอด แล้วถ้าใครที่ถือของเยอะหน่อยเขาก็จะตรวจเข้ม ยิ่งคนเอเชียเขาจะเข้มเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเวลาที่เห็นคนถือพาสปอร์ตไทย เขาอาจจะรู้ว่ามันมีสินค้าเสี่ยงเรื่องละเมิดเยอะ ก็อาจจะตรวจกลุ่มนี้เข้มหน่อย เคยมีหนหนึ่งไปหาเพื่อนนี่แหละ เขาก็จะรื้อหมดเลย มีผ้าไหมมีอะไรมาหรือเปล่าเพราะเป็นสินค้าที่ค่อนข้างเซนซิทีฟกับประเทศกลุ่มยุโรปและอเมริกา”
ฐิตินันทนาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยได้ยินว่ามีนักการเมืองชาวฝรั่งเศสถูกจับเพราะนำนาฬิกาปลอมที่ซื้อจากจีนเข้าประเทศที่สนามบิน นั่นแสดงว่า ทางการฝรั่งเศสเข้มงวดกับผู้ที่นำสินค้าปลอมเข้าประเทศทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนฝรั่งเศสเองหรือนักท่องเที่ยวก็ตาม
ทางด้านแหล่งข่าวอีกผู้หนึ่งเล่าว่า ในประเทศยุโรปหลายประเทศ ตามท่าอากาศยานใหญ่ๆ เช่น ปารีส โรม มิลาน แฟรงค์เฟิร์ต จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจผู้ที่ใช้สินค้าแบรนด์เนมก๊อบปี้ หากถูกจับได้จะโดนปรับตั้งแต่ 2 เท่าไปจนถึง 10 เท่าของราคาสินค้าจริง
บางคนลงทุนซื้อกระเป๋าแอร์เมสเบอร์กิ้นปลอมเกรด AAA ใบละสองหมื่นห้า แต่หากถูกจับได้และโดนปรับต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 2 ล้านบาท! เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียกับความพอใจที่ได้หิ้วกระเป๋าของปลอมเพื่อแลกกับค่าปรับมหาศาล
รักไทยใช้ของแท้
วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงที่มาการจัดทำ โครงการรักไทย ใช้ของแท้ รณรงค์แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวและประชาชนชาวไทยในการนำสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าเข้าไปในสหภาพยุโรป เพราะอาจจะถูกดำเนินคดีอาญาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ที่ผ่านมาได้ติดป้ายเตือนไว้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นมาตรการด้านการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และลดแรงกดดันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าได้
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเสนอสหรัฐฯ รวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งข้อกล่าวหาคำฟ้องร้องของเอกชนสหรัฐฯ ต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย แต่ในหลายคดียังไม่มีการสืบสวนขยายผลไปถึงผู้กระทำผิดที่แท้จริง อีกทั้งบทลงโทษยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ผู้กระทำผิดหลาบจำ เกิดปัญหาการกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเห็นว่าไทยยังขาดมาตรการที่เข้มแข็งในการป้องกันการผลิตซีดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการขนส่งสินค้าละเมิดผ่านบริเวณพรมแดน
จากประสบการณ์ในการเดินทางไปดูงานด้านการคุ้มครองตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐอเมริกา วิบูลย์ลักษณ์เล่าว่าที่ท่าอากาศยานขนาดใหญ่อย่างนิวยอร์กจะมีระบบตรวจสอบโดยคอมพิวเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญคอยสุ่มตรวจอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง
“มีแบบที่ปลอมกันเหมือนมาก เป็นของทิมเบอร์แลนด์ แกะยี่ห้อโนเนมออกมาข้างในเป็นทิมเบอร์แลนด์ แต่เขาจะมีพวกนักสืบที่มีความชำนาญโดยเฉพาะจะดูรู้ หรือแม้กระทั่งเขาบอกว่าของบริษัทนี้ไม่ต้องมีสารที่ดูดความชื้น แต่ว่าคอนเทนเนอร์นี้สารที่ดูดความชื้นอยู่ในนี้ก็แสดงว่าไม่ใช่ของแท้ หมายความว่าเขาทำได้เพราะได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสิทธิอย่างใกล้ชิด เจ้าของสิทธิจะบอกหมดเลยวิธีการดูเป็นยังไงๆ เขาจะมีทีมดู
“ส่วนศุลกากรไทย ไฟลท์ที่มาจากเมืองจีน คนที่ถือของมามากๆ โดนสุ่มตรวจเข้าเครื่องเอกซ์เรย์หมดเลย เรียกว่าเรามีมาตรการที่เข้มงวดพอสมควร หากนำเข้าเกินปริมาณ นำเข้ามาขายสินค้าก็จะถูกยึดทั้งหมด”
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายอมรับว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่มีบทลงโทษจับผู้ใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา มีเพียงกฎหมายจับผู้ผลิตและผู้ขายเท่านั้น แต่ก็มีเสียงเรียกร้องให้ปรับแก้กฎหมายเพื่อตัดวงจรตลาดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
“ในต่างประเทศจับทั้งคนขายและคนซื้อ และคนที่ถือนำเข้า ไม่รู้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อแต่ถ้ามีของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเขาจับแล้ว ป้ายรณรงค์ที่เราจัดทำขึ้นก็เตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยได้พอสมควรในระดับหนึ่ง คนที่ไม่แน่ใจก็จะเก็บใส่กระเป๋าไว้ ปลอดภัยไว้ดีกว่า คือ อย่าซื้อ อย่าใช้” วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวเตือนคนไทยที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศและมีสินค้าละเมิดฯ ไว้ในครอบครอง ว่าไม่ควรนำติดตัวไป
แต่แม้จะรณรงค์อย่างไร สิ่งสำคัญมากกว่าการควรระวังในแง่กฎหมาย ก็คือจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักหรือรู้สึกผิดที่ใช้สินค้าปลอม
“ถามว่าท่านจ่ายเงินหนึ่งพันบาท ท่านได้อะไรจากการซื้อกระเป๋าปลอมยี่ห้อนี้ ท่านซื้อกระเป๋าเพราะท่านอยากได้สิ่งมาใส่สัมภาระของท่านหรือท่านอยากได้แบรนด์นั้น ถ้าท่านอยากได้แบรนด์นั้น ถามว่าทำไมคนถึงต้องซื้อแบรนด์นั้น เพราะว่ามันมีความคงทน มันมีคุณภาพที่ดี ถ้าท่านซื้อของปลอมลงทุนหนึ่งพันบาท ใช้ได้สามเดือน มันก็ฉีกขาดแล้ว แล้วท่านได้อะไร?
แล้วถามว่าของพวกนี้ใครได้ ผลิตที่ไหน คนเย็บ คนขายเป็นคนต่างประเทศทั้งนั้นเลย เงินออกนอกประเทศเข้าระบบหรือเปล่าไม่รู้ ภาษีก็ไม่ได้เพราะต้องลักลอบนำเข้า ถ้าท่านอยากได้กระเป๋าที่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนกว่าแบรนด์นั้น แต่เป็นแบรนด์ไทย ถือแล้วไม่อายใคร ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับได้เพราะเป็นของแท้ เป็นแบรนด์ของเราเอง แล้วท่านภูมิใจไหม?” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งคำถามทิ้งท้ายให้ขบคิด
………………
นอกเหนือจากการใช้สินค้าไทย ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่จะแสดงถึงความรักประเทศชาติได้ นั้นก็คือการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ใด โดยเฉพาะของชาวต่างชาติ ให้เป็นที่ขายหน้าฝรั่งมังค่า