xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนนานาชาติ... ใต้ธง 3 สี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กนักเรียนเข้าแถวที่โรงเรียนวัดกำพร้า
โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม หรือโรงเรียนวัดกำพร้า ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติ อีกแห่งในประเทศไทย ซึ่งคนในละแวกนี้ต่างพากันคุ้นชินกับภาพขบวนรถสองแถว ที่บรรทุกเด็กนักเรียน ชาย หญิง มาเต็มคันรถ และเลี้ยวเข้าโรงเรียนในทุกเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ เวลา 08.00 น. รถคันดังกล่าว มีเด็กต่างชาติ อายุตั้งแต่ 4 ปี ไปจนถึง 15 ปี พวกเขาสวมเครื่องแบบเหมือนเด็กนักเรียนไทย คือสวมเสื้อสีขาวหนักไปทางสีเหลือง ซึ่งผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน พวกเขาต่างสะพายกระเป๋าที่บรรจุอุปกรณ์การเรียนมาคนละใบ

เด็กต่างชาติ ก็เป็นอนาคตของชาติ

ดวงเดือน เชื้อหงส์ เด็กหญิงอายุ 12 ปี เป็นหนึ่งในจำนวนนักเรียนต่างชาติ ของโรงเรียนวัดกำพร้า เธอพูดภาษาไทยได้ชัดเจนมาก หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเธอเป็นคนมอญ เธอบอกว่าเพิ่งเข้าเรียนได้ 1 ปี ตอนนี้อยู่ชั้นป.1 พ่อและแม่ของเธอทำงานในโรงงานพลาสติกซึ่งห่างไกลจากโรงเรียนหลายกิโลเมตร

เด็กหญิงเล่าชีวิตในโรงเรียนว่า เวลาที่ไปเรียนสนุกมากๆ เธอชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่สุด คุณครูก็สอนดีไม่ใจร้าย ส่วนเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนก็ใจดี แต่ก็มีเพื่อนคนไทยบางคนมาล้อ ว่าเธอเป็นไม่ใช่เด็กไทย

“ก็เสียใจค่ะ น้อยใจด้วย ทำไมต้องมาว่าเรา เวลาเราเล่นอะไรเขาก็แกล้ง บางทีก็มาด่าว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอน” เธอยังบอกว่า ในห้องเรียนมีเพื่อนเยอะมากทั้ง คนพม่า คนมอญ คนไทย เผลอๆ มีอิสลามด้วย เวลามาโรงเรียน จะมีรถมารับที่บ้านทุกวัน ในอนาคตเธอบอกว่า อยากเป็นนักร้อง เพราะเธอชอบร้องเพลง

ขณะที่มิ้นโก้ เด็กชายอายอายุ 12 ปี ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นป.3 แล้ว เป็นคนมอญ เมื่อฟังสำเนียงการพูดภาษาไทยแล้วมิ้นโก้ยังพูดไม่ค่อยชัด แต่ก็พอฟังรู้เรื่อง มิ้นโก้บอกว่า มาอยู่ที่ประเทศไทยตั้งแต่อายุ 2 ปี เริ่มแรกอยู่ที่จังหวัดระนอง แล้วค่อยย้ายมาที่จังหวัดสมุทรสาคร ครอบครัวมีอาชีพค้าขายเสื้อผ้า ซึ่งถือว่ามีชีวิตที่สุขสบายในระดับหนึ่ง

มิ้นโก้ บอกว่า เขาชอบเรียนภาษามอญที่สุด เวลาเรียนก็ไม่ยากมาก แต่บางทีมันไม่เข้าใจบ้าง ถ้านั่งหลังสุดคนมันเยอะไม่ได้ยินครูสอนหรอก พอมานั่งข้างหน้าเสียงก็ดังอีก เขาจึงแนะนำว่านั่งตรงกลางๆ ดีที่สุด มิ้นโก้บอกว่า คุณครูในโรงเรียนสอนดี เพื่อนต่างชาติในห้องบางคนก็อ่านภาษาไทยได้ และบางคนก็อ่านไม่ได้ เวลาที่เขาไม่มีอุปกรณ์การเรียน ก็ขอยืมจากเพื่อน ยืมยางลบบ้าง ดินสอบ้าง ซึ่งเพื่อนๆ ก็แบ่งกันใช้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ แต่ก็มีโกรธกัน ทะเลาะกันบ้าง แต่เดี๋ยวเดียวก็ดีกัน บางทีก็โดนเพื่อนล้อเรื่องอ่านหนังสือไม่ค่อยได้ พวกเพื่อนๆ ก็หัวเราะ ก็มีน้อยใจบ้าง และเสียใจบ้าง แต่มิ้นโก้ ก็ให้กำลังใจตัวเองว่า ไม่มีใครอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ยังไม่เรียนหรอก ตอนนี้เขามีเพื่อนสนิทเป็นคนไทยด้วย เด็กชายวาดฝันว่าในอนาคตอยากเรียนวิชาชีพหมอ

“ถ้าวันหนึ่งผมเรียนจบแล้ว ผมอยากเป็นหมอ รักษาคนไม่สบาย รักษาคนที่มีโรคประจำตัว รักษาพ่อแม่” เด็กชายกล่าว

ดวงดาว เชื้อมอญ เด็กหญิงอายุ 11 ปี เธอเกิดที่ประเทศไทย จึงพูดภาษาไทยได้ชัดแจ๋ว ก่อนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนวัดกำพร้า เธอเรียนที่ศูนย์เตรียมความพร้อมที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพชีวิตแรงงานหรือ แอลพีเอ็นมาก่อน จากนั้นได้ย้ายไปเรียนที่ โรงเรียนวัดศิริมงคล และย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดกำพร้า ตอนนี้เธอเรียนอยู่ชั้นป. 2 ดวงเดือนบอกว่าชอบวิชาภาษาไทยที่สุด

“เวลาที่ไปโรงเรียน หนูรู้สึกสนุกมีเพื่อนเยอะแยะไปหมด แถมยังได้ความรู้อีกด้วย หนูเป็นลูกคนเดียว พ่อ แม่ทำงานแกะกุ้ง แถวมหาชัยนิเวศน์ พ่อแม่ทำงานเหนื่อย บางทีหนูก็อยากช่วยแต่เขาไม่รับเด็กที่เรียนหนังสือ แต่ถ้าใครที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็ทำงานได้ ที่นั่นตำรวจเยอะ นายจ้างกลัวว่าตำรวจจะจับ” เธอยังเล่าอีกว่า ในอนาคตอยากเป็นหมอ เพราะว่าจะได้รักษาพ่อ กับแม่เวลาที่ไม่สบาย

เส้นทาง ความฝัน บรรจบที่รอยยิ้ม

สมพงศ์ สระแก้ว หรือรู้จักกันในนามพี่ตุ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หนุ่มใหญ่วัย 39 ปี ภายใต้บุคลิกที่เงียบขรึม ไว้ผมยาวมีหนวดเคราดูน่าเกรงขาม ใครจะรู้ว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ใจดี โอบอ้อมอารี เขาจบปริญญาตรี ด้านสังคมสงเคราะห์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโทพัฒนาชุมชนที่มหาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน แล้วมุ่งมั่นมาทำงานเอ็นจีโอ คลุกคลีกับการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติมาเป็นเวลา 10 ปี และบอกตัวเองว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่เขาจะออกมาทำงานเอง พี่ตุ่นมองเห็นว่า คนที่มาทำงาน เรื่องแรงงานในเชิงลึกไปจนถึงรากเหง้ามีน้อย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เขายังบอกว่าการทำงานทุกวั นนี้กลายเป็นชีวิตของเขาไปแล้ว

ปลายปี 2548 เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Rights Promotion Network Foundation (LPN) หรือเรียกสั้นๆ ว่า แอลพีเอ็น ก่อตั้งขึ้น เนื่องจากพี่ตุ่นมองเห็นปัญหาการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้าง มีการละเมิดทางเพศ และไม่มีใครเข้าไปทำงานบำบัดเยียวยาช่วยเหลืออย่างจริงจัง รัฐเองก็มองว่าพวกนี้มาสร้างปัญหา ไม่ได้มาทำอะไรนอกจากมาหางานทำ มาทำงานก็หาเงินกลับประเทศ แต่คนไทยลืมนึกไปว่า เราได้ประโยชน์จากแรงงานของเขามาก ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ทางมูลนิธิฯ มองเห็นว่าถ้ามูลนิธิฯ เป็นหน่วยหนึ่งที่คอยเชื่อมประสานการแก้ปัญหา ระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และแรงงาน ปัญหาที่กล่าวมาก็น่าจะเบาบางลง

24 ธันวาคม ปลายปี 2551 มูลนิธิฯได้ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพแรงงาน และเมื่อโครงการเป็นรูปเป็นร่าง มูลนิธิฯ เริ่มมองเห็นเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชน พวกเขาเดินทางมากับพ่อแม่ หรือบางคนเกิดที่ประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีใครจัดการบริหารให้เขาได้เรียนหนังสือ พอโตหน่อยก็ไปทำงาน ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะ บางคนก็มีไหวพริบเพราะอยู่กับคนไทย ได้เรียนรู้ภาษาไทยตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่สามารถอ่าน ออก เขียนภาษาไทยได้ มูลนิธิฯ เห็นว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถพัฒนาความรู้ และเขาเองก็ไม่ควรลืมภาษาของเขาทั้งภาษาพม่า และมอญ มูลนิธิฯ จึงเริ่มประสานงานกับทางโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ดี ให้เด็กต่างชาติได้เข้าเรียนกับเด็กไทย

“ในช่วงแรกมูลนิธิฯ เอาเด็กมาเรียนที่ศูนย์ แอลพีเอ็น เริ่มแรกมีเด็กประมาณ 150 คน เราใช้ตึกสำนักงานของมูลนิธิฯ ย่านหมู่บ้านมหาชัยเมืองทองเป็นห้องเรียน ซึ่งก็มีความยุ่งยากเรื่องการบริหารจัดการ คือมูลนิธิฯต้องไปรับ ไปส่งเด็กๆ ตามชุมชนในวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ซึ่งมันหนักหนาสาหัสมาก ในเวลา 6-7 เดือน มูลนิธิฯ เตรียมเด็กเพื่อให้เข้าโรงเรียน โดยมีครูสอน 10 กว่าคน มีทั้งคนไทย และต่างชาติ ซึ่งครูของมูลนิธิฯ ก็ทำหน้าที่เป็นคนขับรถเองด้วย” ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าว

เด็กรุ่นแรก มูลนิธิฯ ให้เขาเข้าเรียนที่ โรงเรียนวัดศิริมงคล ย่านบ้านเกาะ เมื่อส่งไปแล้วทางโรงเรียนเขาพึ่งพาตัวเองได้ ทางมูลนิธิฯ ก็ขยับออกมา ต่อมาปี 2550 มูลนิธิฯมีโครงการที่ 2 คือมูลนิธิฯ ไม่ได้เตรียมเด็กไว้ที่ศูนย์แล้ว แต่เอาเด็กเข้าโรงเรียนเลย โดยติดต่อไปที่ โรงเรียนวัดกำพร้า ตอนนั้นมีเด็กเข้าเรียน 70 คน เด็กที่เข้าเรียนมีบางคนรู้ภาษาไทย และบางคนไม่รู้ภาษาไทยเลย จึงต้องแบ่งเด็กที่ไม่รู้ภาษา และรู้ภาษาออกจากกัน โดยใช้ครูต่างชาติสอนเพิ่ม และจะมีการสอบเทียบทุกๆ 3-4 เดือนเพื่อดูความสามารถเด็ก บางคนฉลาดเรียนรู้เร็ว ก็ให้เลื่อนชั้น ไปตามความสามารถ

“ตอนนี้เด็กมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีเด็กต่างชาติที่เข้าเรียนประมาณ 150 คนแล้ว เด็กทุกคนที่เข้ามาเรียน จะให้เรียนอนุบาลก่อน ถึงแม้ว่าเด็กจะอายุ 12 ปีก็ตาม คือโตขนาดนั้นน่าจะอยู่ ป.3 ป. 4 แต่เขาจะได้เริ่มเรียนจากชั้น ป.1 เด็กในชุดใหม่ที่เข้าเรียนปีนี้ จะพยายามเอาเข้าเรียนที่วัดกำพร้าให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้เราก็กำลังหาโรงเรียนอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้เข้าไปเรียนได้ แม้ในจังหวัดจะมีโรงเรียนหลายแห่ง แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องห้องเรียนไม่พอ ครูไม่พอ วัสดุอุปกรณ์ ไม่พอ ซึ่งมันก็ช่วยให้เด็กได้เข้าเรียนยากเหมือนกัน ซึ่งถ้าไม่สามารถนำเด็กชุดใหม่ส่งเข้าเรียนได้ มูลนิธิฯอาจจะทำในลักษณะศูนย์เตรียมความพร้อมที่ แอลพีเอ็นก่อนมั้ย แล้วค่อยหาที่เรียนให้เด็ก” พี่ตุ่นเล่าด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

พี่ตุ่น แหงนหน้ามองท้องฟ้า และสาธยายต่อว่า อย่างว่านะ ทำงานกับเด็กต้องใช้กำลังคนเยอะ ใช้งบประมาณเยอะ ต้องบริหารจัดการเรื่อง เดินทาง รับ ส่งเด็กตามชุมชน เพราะเด็กไม่สามารถเดินทางเอง เขามีความเปราะบาง เดินทางไปไหนอาจจะถูกตำรวจจับ หรือเด็กหายได้ เราจึงต้องดูแลทุกอย่าง

ในส่วนของงบประมาณ ในยุคแรกที่เริ่มต้นโครงการ มูลนิธิฯ ของบจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-IPEC) ต่อมาก็ของบจาก องค์การช่วยเหลือเด็กสหราชอาณาจักร Save the Children UK โครงการความร่วมมือสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง UNIAP มูลนิธิฯมองว่าเด็กขาดแคลนอุปกรณ์ ชุดนักเรียนก็มีคนละชุด ซึ่งก็ได้ประสานงานไปที่มูลนิธิ Hussman Foundation เพื่อนำมาใช้จ่ายค่าจ้างครู ค่าอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้าเด็กนักเรียนก็พอช่วยได้

พี่ตุ่น บอกว่าตอนนี้มีความพยายาม ที่จะดึงเอาเด็กที่ไปทำงานเป็นแรงงานเด็ก ซึ่งอยู่ในวัยเรียนรู้ ให้เขาเข้าเรียนให้มากที่สุด สำหรับเด็กโตมูลนิธิฯ มีกิจกรรมพิเศษสอนหนังสือทุกวันอาทิตย์ ซึ่งหาอาสาสมัครคนไทยช่วยสอน ซึ่งก็มีเด็กเล็ก 20 คน เด็กโต 16 คนและแรงงานผู้ใหญ่ 10 กว่าคน

“ความฝันของตัวผม วันนี้ได้เดินมาถึงสิ่งผมที่ตั้งใจไว้แล้ว คือมีองค์กร มีทีมงาน ซึ่งถ้าตายก็คง ตายตาหลับ เราเห็นเขาได้เรียนยิ้มได้ พ่อแม่ภูมิใจ เราก็สุขใจด้วย ถามว่าผมอยากจะก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งมั้ย ก็ต้องจัดวางระดับ คือผมอยากให้มูลนิธิฯ เป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่มาก แต่เราจะค่อยๆ ขยับ เราต้องโตจากฐานที่แกร่งจริงๆ ค่อยๆ โตไม่ฟุ้งเฟ้อ เราน่าอยู่ได้นาน ทำงานได้อย่างจริงจัง และจะต้องเอาเด็กเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาอย่างถูกต้องให้มากที่สุด” พี่ตุ่น กล่าวกับเราพร้อมกับรอยยิ้ม นัยน์ตาบ่งบอกถึงความหวังลึกๆ ว่ามันจะเป็นอย่างที่ฝัน

แรงกาย แรงใจพาเด็กน้อย เข้าโรงเรียน

ด้านสมัคร ทัพธานี หรือพี่โก้ ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ วัย 29 ปี แม้เขาจะรูปร่างใหญ่ผิวคล้ำ แต่ในแววตากลับแฝงไปด้วยความเมตตา จึงทำให้เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่กลัวที่จะเข้าหาเขา ตอนนี้พี่โก้ทำงานกับทางแอลพีเอ็นมากว่า 3 ปี ในทุกๆ ปี เขาต้องประสานงานกับคณะครูที่รับผิดชอบการทำประวัติ ทำหลักฐานใบสมัครเข้าเรียน ทำแบบสอบถาม โดยทางแอลพีเอ็น จะเป็นผู้ดำเนินการสอบประวัติ และพิมพ์ลายนิ้วมือเด็ก แล้วส่งไปให้โรงเรียน เพื่อทำฐานข้อมูล จากนั้นโรงเรียนก็จะส่งไปที่สำนักงานเขตการศึกษา

“ผมจะคอยประสานเกือบทุกเรื่อง ระหว่างผู้ปกครอง เด็กนักเรียน และทางโรงเรียน ทั้งเรื่องรถรับ ส่ง เรื่องภาระค่าใช้จ่าย และถ้าพ่อ แม่ไม่สามารถพาเด็กมาสมัครด้วยตัวเองได้ ผมก็จะมาสมัครให้ และต้องคอยติดตามว่าเด็กอยู่พักอาศัยที่ไหน” ผู้ประสานงานกล่าว

พี่โก้ เล่าว่า ปัญหาที่พบเวลาเอาเด็กเข้าเรียน จะมีเรื่องการสื่อสารระหว่างครู นักเรียนจำเป็นต้องมีล่าม มีความลำบากมากๆ เรื่องระเบียบวินัย การปรับตัวให้เข้ากับคนไทย สถานศึกษาได้วางกฎระเบียนเอาไว้ ทั้งเรื่องการแต่งกาย การเข้าแถว เด็กมอญ พม่า ชอบไว้ผมยาว ชอบทาแป้งทานาคาที่หน้า ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เด็กมอญ พม่า แต่มันทำไม่ได้ เพราะผิดระเบียบของทางโรงเรียน

“ผมรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือเด็ก ให้เขาได้เข้าเรียน ถ้าเด็กไม่ได้เรียน เขาก็จะไม่รู้อะไรเลย ถ้ามาเรียนยังได้ความรู้ ได้พัฒนาการตัวเอง เอาตัวรอดในสังคมได้ เราเห็นเด็กที่มาเรียนมีความสุข เวลาส่งเด็กไปแข่งกีฬา เห็นเขามีส่วนร่วม เราก็ดีใจแล้ว ” เมื่อพูดจบ เขาหันมายิ้มให้ บนใบหน้าฉายให้เห็นถึงความสุข ความอิ่มใจ

ด้านสุรชัย อาจานัวมอญ ครูผู้ช่วยโรงเรียนวัดกำพร้า ครูผู้ใส่ความพยายาม อดทน เขามีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นครู ตอนนี้ทำหน้าที่มากว่า 3 ปีแล้ว ครูสุรชัยเป็นคนมอญ สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ เขาเคยเรียนที่ประเทศพม่า ครอบครัวเป็นนักการเมืองที่ทำการต่อต้านพม่า

ครูสุรชัย เล่าถึงการทำหน้าที่ว่า ทุกเช้าวันจันทร์ ถึงศุกร์ ก่อน 08.00 น. เขาจะต้องไปรับเด็กนักเรียนตามชุมชนต่างๆ พอมาถึงโรงเรียน เขาก็ต้องดูแลทุกอย่างในห้องเรียน ทั้งเรื่องความปลอดภัย การสอนหนังสือ พอตกเย็นก็พาเด็กกลับบ้าน รูปแบบการดำเนินชีวิตเป็นเช่นนี้ทุกๆ วัน

“ผมสอนภาษามอญ แต่ต้องพูดทีเดียว 3 ภาษา คือมอญ พม่า และไทย เพราะเด็กบางคนฟังได้ แต่พูดไม่ได้ ผมต้องพูดประโยคเดียว 3 ภาษา ซึ่งอาจจะเหนื่อยกว่าครูคนอื่น แต่ผมอยากให้เด็กเข้าใจว่าภาษามอญคำนี้ ประโยคนี้ คนไทย คนพม่าเขาพูดยังไง ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่แก้ไม่ได้เลย คือการย้ายออกจากโรงเรียนตามที่ทำงานพ่อ แม่ ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ผมเองกังวลใจมาก เพราะเด็กอาจเสียประโยชน์ ถ้าไปทำงานแล้วบางทีก็อาจจะถูกนายจ้างกดขี่ได้ ”

ครูสุรชัย กล่าวตอนท้ายว่า แม้ว่าบางทีเขาจะเหนื่อยมากแค่ไหน แต่เมื่อแลกกับรอยยิ้มของเด็กๆ เห็นพวกเขามีความสุข เขาก็ภูมิใจที่ได้ช่วยเด็กๆ เขาทำเท่าที่ทำได้ และจะทำจนกว่าวันหนึ่งจะหมดแรง

ครูใหญ่ ของหนู มีทัศนวิสัยที่ใหญ่กว่า

ขณะที่พิศาล นันทะเส ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกำพร้า หรือครูใหญ่ ผู้มีวิสัยทัศน์ กว้างไกล เขาอายุ 48 ปี รับหน้าที่เป็นผู้บริหารมา18 ปีแล้ว เป็นผู้บริหารที่วัดกำพร้าไม่นาน ที่นี่สอนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงชั้น ม.3

ครูใหญ่เปิดใจว่า สาเหตุที่รับเด็กต่างชาติเข้ามาเรียน เนื่องจากต้องการแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่ต้องทำงาน นึกถึงคุณธรรม และยึดตามนโยบายของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 ที่ให้มีความเสมอภาคทางการศึกษา คือให้เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือ แม้ว่าจะไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรก็ตาม แต่ทั้งนี้ทางโรงเรียนจะต้องไปขอเลข 13 หลัก โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกให้ ขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวที่มาอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ใช่บัตรประชาชน และขอได้ทั้งที่เข้าเมืองมาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ในกรณีที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ขอเพียงมีนิ้วมือ เพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือก็สามารถเรียนได้ โดยทางโรงเรียนจะทำการสอบประวัติว่าอยู่ที่ไหน พ่อ แม่มีชื่อหรือไม่ เรียกว่าแบบสำรวจเด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎรแล้วส่งที่กระทรวงมหาดไทยภายในเวลา 4 เดือน กระทรวงมหาดไทยจะออกเลข 13 หลักใช้ได้ตลอดชีวิต เรียนไปจนถึงปริญญาตรีก็ต้องใช้

ผู้อำนวยการกล่าวต่อไปว่า หากไม่มีเลข 13 หลักตามที่กระทรวงมหาดไทยออกให้ แม้ว่าจะเรียนตามชั้นจนจบ ชั้น ป.6 ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่สามารถแจ้งจบให้ได้

ครูใหญ่ยังบอกว่า ทางโรงเรียนวัดกำพร้ารับเด็กต่างชาติเข้าเรียนตั้งแต่ปี 2546 เรื่อยมา ก่อนที่มติคณะรัฐมนตรีจะออก คือรับแบบเห็นแก่มนุษยธรรม คือไม่ถูกกฎหมาย ถามว่าโรงเรียนผิดหรือไม่ ผิดนะที่ให้สถานพักพิงกับคนเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยผิดกฎหมาย คือในบางครั้งความมั่นคงของประเทศก็ต้องถือ แต่เมื่อมองโดยรวมแล้วเด็กพวกนี้เกิดในประเทศไทย มีทั้งเด็กมอญ พม่า เด็กชนเผ่า ทาคา ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง คือมีเด็กต่างชาติเยอะมากที่เราต้องให้การศึกษา

“การเข้าเรียนของเด็กต่างชาติ พบปัญหามากที่สุด คือการอพยพตามผู้ปกครองย้ายถิ่นฐาน ทำให้เด็กคนนั้นขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ส่วนในระหว่างผู้ปกครองด้วยกันเอง ก็มีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจที่ว่าเรารับเด็กต่างชาติเข้ามาเรียนปนกับเด็กไทย ผมก็ต้องพยายามชี้แจงว่า พวกเขาก็เป็นเด็กเหมือนกันเขาตามพ่อ แม่มาทำงานเลี้ยงปากท้องที่ประเทศไทย บางคนเลือกที่อยู่ เลือกเกิดไม่ได้ และหลังจากชี้แจงไปพ่อ แม่เด็กไทยก็เข้าใจ ในเรื่องของการเรียนการสอน ยอมรับว่าเด็กมอญ พม่า เขาสามารถพูดไทยได้ แต่เขายังมีปัญหาในเรื่องของการเขียน การสะกดคำ ซึ่งต้องใช้พลังในการสอนมาก และ ตึกเรียนไม่พอ เราต้องใช้โรงอาหารเป็นที่เรียนให้แก่เด็กต่างชาติ”

ครูใหญ่ ยังบอกอีกว่า การให้เด็กเข้ามาเรียนหนังสือ ต้องแยกออกจากเรื่องความมั่นคงของประเทศ เพราะเด็กมันไร้เดียงสา เลือกสถานะความเป็นอยู่ในสังคมไม่ได้ อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังไปเรียนต่างประเทศ ถ้าหากเด็กต่างชาติพวกนี้เขากลับไปบ้านเขา ไม่แน่นะ เด็กที่จบจากวัดกำพร้า อาจจะไปเป็นรัฐมนตรีที่ประเทศพม่าก็ได้ หากประชาธิปไตยมันเปลี่ยน เชื่อว่าเขามีโอกาสดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน มีเด็กหลายหมื่นคนที่เข้ามาประเทศไทย มันต้องมีสักคนที่เป็นเพชรเม็ดงาม

“การให้โอกาสเด็กต่างชาติไม่ใช่เรื่องของโรงเรียน แต่เป็นเรื่องของทุกหน่วยงาน อย่างกระทรวงมหาดไทยก็ต้องมาช่วยดูแล กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ ลองคิดดูถ้าหากประเทศเราไม่มีแรงงานต่างชาติ การผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ ก็คงไม่ได้ตามเป้า เราได้รับอานิสงส์จากเขาที่มาทำงานในโรงงาน มาทำงานที่คนไทยไม่ทำกัน แล้วมันเป็นหน้าที่ใคร หากไม่ใช่หน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกัน” ครูใหญ่กล่าวตอนท้ายก่อนที่การสนทนาจะจบลง

****

เรื่อง- ออรีสา อนันทะวัน

รถสองแถวไปรับเด็กๆ ตามชุมชนต่างๆ
เด็กๆ เข้าแถวหน้าห้องเรียนตอนเช้า
ดวงเดือน เชื้อหงส์
มิ้นโก้
สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
พิศาล นันทะเส ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกำพร้า
กำลังโหลดความคิดเห็น