xs
xsm
sm
md
lg

สช.เตรียมทวงเงินรัฐค้างจ่าย 900 ล.อุดกองทุนฯครูเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มติบอร์ด กช.หารือแนวทางจัดตั้งกองทุนเงินสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน พร้อมจัดทำข้อมูลเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบฯ 2552 สช.เตรียมทวงเงินรัฐค้างจ่าย 900 ล.อุดกองทุนฯครูเอกชน ไม่ให้อัตคัดเกินไป

นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (บอร์ด กช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กช.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการยกร่างระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนเงินสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน เรื่องการบริหารกิจการกองทุนสงเคราะห์ โรงเรียนเอกชน ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลทำหน้าที่ในการดูแลและบริหารจัดการเงินดอกผลร้อยละ 3 ของกองทุนฯ โดยกฎหมายบังคับให้ดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน มีผลบังคับใช้ ดังนั้น บอร์ด กช.จึงได้หารือกันถึงแนวทางในการจัดตั้ง รวมทั้งคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ฯ มีสถานะเทียบเท่าอธิบดี และคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ที่กฎหมายกำหนดให้มีจำนวนไม่เกิน 18 คน
ดังนั้น จึงต้องมีการออกแบบคุณสมบัติเจ้าหน้าที่ รูปแบบของสำนักงานใหม่ทั้งหมด โดยที่ประชุมบอร์ด กช.ได้กำหนดโครงสร้างเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอำนวยการ 2.กลุ่มการเงินและการบัญชี และ 3.กลุ่มการจัดสวัสดิการและสงเคราะห์ นอกจากนั้น ได้มีการกำหนดเนื้องานของกองทุนสงเคราะห์ฯ โดยที่ประชุมบอร์ด เน้นย้ำในเรื่องการให้บริการลูกค้าที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเก่า ได้แก่ กลุ่มครูใหญ่และครูโรงเรียนในระบบ และ กลุ่มใหม่ ได้แก่ ครูใหญ่และครูโรงเรียนนอกระบบ และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนทั้งในและนอกระบบ โดยเน้นว่าในการบริหารจะต้องเน้นในเรื่องความรวมเร็ว

“อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กองทุนอยู่ระหว่างดำเนินการ จะได้ประสานไปยังกองทุนประกันสังคม ขอให้ครูในกลุ่มใหม่นี้ไปใช้กองทุนประกันสังคมไปก่อนจนถึงวันที่ 1 ต.ค. หรือเริ่มต้นปีงบประมาณ 2552 จึงจะสามารถเข้าสู่กองทุนสงเคราะห์ฯ ทั้งนี้สิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งคือ การดำเนินการกองทุนสงเคราะห์ฯ จะต้องได้รับเงินสบทบจากรัฐบาล ซึ่งสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดทำข้อมูลเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบ 2552 รวมทั้งจะได้ทำหนังสือติดตามทวงถามถึงเงินสมทบกองทุนฯ ที่รัฐค้างจ่ายอยู่ถึง 900 ล้านบาทด้วย เพราะหากได้รับงบในส่วนนี้ก็จะทำให้กองทุนสงเคราะห์ฯ มีงบเพียงพอที่จะจัดบริการต่างๆ ให้กับครูเอกชน ไม่อัตคัดจนเกินไป” นางจรวยพร กล่าว

นางจรวยพร กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ ทุกเขตจะต้องมีผู้แทนจากเอกชนเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ 2 คน จากเดิมที่มีอยู่ 15 คน โดยที่ประชุมบอร์ด กช.ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้แทนจากโรงเรียนเอกชน และจะได้เร่งดำเนินการคัดเลือกผู้แทนภาคเอกชนเข้าไปเป็น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น