xs
xsm
sm
md
lg

I Will Survive ย่ะ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



 
 
     หากมีคนตั้งคำถามว่าบ้านเมืองใดในโลกนี้ สร้างหนังเกี่ยวกับเกย์ไว้มากมาย ใครบ้างจะกล้าปฏิเสธ ว่าเมืองไทยของเราจะไม่ถูกจารึกชื่อไว้ในลำดับต้นๆ แม้หนังเกย์บ้านเราจะมอบพื้นที่ให้กับเรื่องราวของ 'ชายแต่งหญิง' หรือ 'กะเทย' ที่ดาหน้ากันมาสร้างเสียงหัวเราะ มากกว่าพื้นที่ของชายมาดแมนรักชายมาดแมน หรือหญิงสาวหลงรักหญิงสาว

 
     แต่เป็นงั้นแล้วไงล่ะ ? ใครจะกล้าเถียง ว่ากองทัพหนังกะเทย ไม่ได้เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนิยามไว้อย่างง่ายที่สุดว่า "เกย์" ได้ปักธงลงบนผืนแผ่นดินไทย อย่างน้อยๆ กะเทยหมู่มากก็สามารถเชิดหน้าอย่างท้าทาย เดินเฉิดฉายอย่างไม่อายใคร ทั้งยังจุดประกายแห่งความหวัง ว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้า หนังเกย์แบบชายชาตรีรักชายชาตรีและผู้หญิงรักผู้หญิง จะเดินตามรอยความรุ่งเรืองของหนังกะเทยบ้าง แม้สักครึ่งของครึ่งก็ยังดี

                    ............

     แลไปให้ไกลจากพรมแดงเมืองลุงแซม เลยพ้นการประกาศศักดาของสองหนุ่มแห่งเทือกเขาโบร๊คแบ็ค จาก 'Brokeback Mountain' ยังมีหนังเกย์ในเวทีหนังนานาชาติอีกไม่น้อยที่มองเกย์อย่าง "ปรกติธรรมดา" ยืนหยัดชัดเจนอยู่ในพื้นที่เฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม

 
     แต่สำหรับสยามเมืองยิ้ม การมาถึงของหนังเกย์อย่าง 'สัตว์ประหลาด' (กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) , 'เพื่อน กูรักมึงว่ะ'(กำกับโดย พจน์ อานนท์) บางแง่มุมของ 'ณ ขณะรัก' (กำกับโดย ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล) และหนังสั้นผลงานของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ที่มองความรักของ 'ชายรักชาย' อย่างลึกซึ้งไม่ต่างจากคู่รักคู่ไหนๆ เพศใดๆ ในโลก อาจยังถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับหนังเกย์ของกลุ่มชายแต่งหญิง หรือที่เรานิยามกันว่า "กะเทย" ซึ่งมีอยู่นับไม่ถ้วน

 
     อย่างไรก็ดี คงยากจะปฏิเสธ ว่า หนังกะเทยทั้งหลายแหล่ที่ช่วยสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชม เสมือนหนึ่งแนวรบแถวหน้า ที่ช่วยกรุยทางและบอกให้ผู้คนในสังคมไทยรับรู้ว่า เราทุกคนดำรงอยู่คู่กับความหลากหลายทางเพศมาเนิ่นนาน 

                

กะเทยไทย ผู้น่ารัก

     "คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ากะเทยเป็นเพศอารมณ์ดี ทำอะไรก็สนุก ตลก สนุกสนาน เพราะฉนั้นคนจำนวนไม่น้อยที่ดูหนังกะเทย เขาก็ดูเพราะอยากหัวเราะ ไม่ค่อยมีใครอยากดูหนังกะเทยแล้วอยากร้องไห้หรอกมั้ง และการที่เขามองว่ากะเทยเป็นเพศอารมณ์ดี นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาเห็นกะเทยเป็นตัวตลก แต่นั่นคือมุมมองที่เขาเห็นว่ากะเทยเป็นเพศที่สร้างสรรค์ เป็นเพศที่สร้างผลงานสนุกๆ คลายเครียด คนเขาไม่ได้มองว่ากะเทยเป็นตัวตลกในสังคม แต่มองว่ากะเทยมีพรสวรรค์ในการสร้างความสุขให้กับผู้คน เพราะเหตุนี้ ภาพลักษณ์กะเทยจึงออกมาสนุกสนาน
 
     "หากมีใครบอกว่า การทำหนังกะเทยตลก ทำให้มองดูกะเทยเป็นตัวตลกนั้น ไม่ใช่เลย มันคือการสร้างสรรค์ต่างหาก คนในแวดวงบันเทิงก็มีกะเทยอยู่ไม่น้อย และพวกเขาคือกลุ่มคนที่สร้างสรรค์ผลงานมากมาย แม้แต่กะเทยในวงการอื่นๆ ก็เช่นกัน"

     เป็นทรรศนะ จาก พจน์ อานนท์ ผู้กำกับที่ฝากผลงานหนังกะเทยไว้หลายเรื่อง อาทิ 'ว้ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก', 'ปล้นนะยะ', 'หอแต๋วแตก' ก่อนพา 'เพื่อน กูรักมึงว่ะ' หนังชายรักชายประกาศความเป็นเกย์อย่างชัดเจน บินไปคว้ารางวัล "ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม

 
     ประเด็นความน่ารักของกะเทยที่พจน์กล่าวถึง พ้องกันกับความเห็นของ ไกรวุฒิ จุลพงศธร คอลัมนิสต์ ,นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่บอกกล่าวกับเรา

 
     "ผมมองว่า สิ่งที่น่าสนใจมากๆ ในหนังเกย์ไทย ก็คือ ในหนังเกย์ หรือหนังเลสเบี้ยนฝรั่งนั้น มักจะมีมายาคติอยู่ชุดหนึ่ง ว่าเกย์หรือเลสเบี้ยนมักจะเป็นฆาตกร หรือคนกลุ่มนี้จะต้องถูกผูกโยงให้เป็นฆาตกรโรคจิต หรือฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งในหนังฝรั่งจะเจอเยอะมาก แต่ในหนังไทยมีน้อยมากเลย ซึ่งผมมองว่านี่คือข้อดีของหนังเกย์ไทย ที่ไม่มีมายาคติแบบนั้นครอบอยู่"


ส่องกล้องมองเกย์

 
     "หนังเกย์ไทย มาระเบิดหรือดังจริงๆ คือเรื่อง 'สตรีเหล็ก' (กำกับโดย ยงยุทธ ทองกองทุน) แต่ถามว่า ก่อนหน้านั้น หนังไทยมีหนังเกย์ หรือหนังกะเทยไหม ก็มีบ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ผมมองว่าเรื่องสตรีเหล็ก นับเป็นจุดหักเห"

 
     ไกรวุฒิแสดงความเห็น ก่อนขยายความถึง 'จุดหักเห' ของหนังเกย์ไทยว่า ก่อนเรื่องสตรีเหล็ก แม้จะมีการนำเสนอเรื่องราวของเกย์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นการนำเสนอภาพของเกย์ในแง่ลบ เช่น เรื่อง 'คนกินเมีย' กำกับโดย ดอกดิน กัญญามานย์ มี สมบัติ เมทะนี แสดงนำ
 
     ตัวร้ายของหนังเรื่องนี้เป็นเกย์ และประเด็นของหนังก็คือ มีเกย์ที่มาหลงรักพระเอก จึงคิดวางแผนฆ่าผู้หญิงทุกคนที่พระเอกไปหลงรัก

 
     นอกจากนั้นแล้ว ในความเห็นของไกรวุฒิ เขามองว่า ยังมีหนังเกย์ที่นำเสนอภาพชีวิตนางโชว์ หรือเกย์ในกลุ่มที่เป็นผู้ชายแต่งหญิงหรือที่เรานิยามกันว่า กะเทย ซึ่งหนังที่ฉายภาพชีวิตนางโชว์ก็มักนำเสนอให้ผู้ชมเห็นชีวิตบ้านแตกสาแหรกขาดของคนกลุ่มนี้ ว่าเมื่อบ้านแตกแยกก็ต้องออกมาทำงานกลางคืน แล้วก็หลงรักผู้ชาย สุดท้ายชีวิตก็ล้มเหลว ต้องฆ่าตัวตายไปในท้ายที่สุด ก่อนพล็อตเรื่องจำเจเหล่านี้ จะเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อสตรีเหล็กได้รับความนิยม ดังที่ไกรวุฒิ ขยายความ

 
     "น่าสนใจว่าสตรีเหล็กเป็นหนังเกย์ที่ผสมผสานหลายๆ อย่างได้เข้ากับสังคมไทย เช่น เกย์ในสตรีเหล็กเป็นเกย์ที่ถูกนำเสนอด้วยภาพความสนุกสนาน ซึ่งเกย์ในเรื่องนี้ก็คือกะเทย หรือผู้ชายแต่งหญิง ที่มีความกระตุ้งกระติ้ง ซึ่งหนังก็เลือกนำเสนอในมุมตลก น่ารัก
 
     "แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดแข็งของสตรีเหล็กก็คือเขาสามารถนำเกย์มาผสมกับความเป็นชาตินิยมได้ เพราะสตรีเหล็กพูดถึงทีมวอลเลย์บอลที่โด่งดังในระดับจังหวัด ก่อนพัฒนาไประดับประเทศ ระดับชาติ

 
     "หนังสามารถนำเกย์ไปผูกโยงเข้ากับความภาคภูมิใจในชาติของคนไทย และความภาคภูมิใจของคนตัวเล็กๆ ที่สู้ไม่ถอย ซึ่งบริบทของสังคมไทยในช่วงนั้นมันก็น่าสนใจ เพราะเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติฟองสบู่แตก แล้วหนังเรื่องนี้เหมือนมาเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้ผู้คน มันก็เลยเกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาว่าหนังสตรีเหล็กทำรายได้ถล่มทลาย ได้รับความนิยมในประเทศไทยสูงมาก"

 
     ส่งผลให้หลังจากนั้น มีหนังที่ตัวเอกเป็นเกย์ประเภทกะเทย หรือผู้ชายแต่งหญิง ถูกสร้างและฉายหลายต่อหลายเรื่อง อย่าง 'พรางชมพู' ที่ใช้เกย์จริงๆ เล่น ตามด้วยหนังอีกหลายๆ เรื่อง ที่มีดารารุ่นใหญ่ๆ หลายๆ คน กล้าที่จะรับบทเป็นกะเทยตลก

 
     แต่ประเด็นที่อาจนับเป็นข้อโต้แย้งต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ ในความเป็นจริงนั้น เกย์ ไม่ได้มีแต่ กะเทย แต่ภาพ หรือ 'พื้นที่' ของเกย์ในหนังไทย ณ ช่วงเวลานั้น มีให้แต่เฉพาะกะเทยเท่านั้น ซึ่งไกรวุฒิมองว่า มันคล้ายจะเป็นความลักลั่น ราวกับว่าถ้าเป็นกะเทยตลกโปกฮา คนดูรับได้ แต่หากนำเสนอว่าเขาเป็นผู้ชายเรียบๆ ปรกติธรรมดา ดูภายนอกไม่รู้เลยว่าเป็นเกย์ ต่อเมื่อมีการเปิดเผยให้เห็นว่าเขาเป็นเกย์ ปุ๊บ! คนดูจะ 'อี๋' จะรับไม่ได้ นี่คือทัศนคติอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในสังคม ก่อนที่หนังเรื่อง 'สัตว์ประหลาด' จะก้าวเข้ามา

 
     "เรื่อง 'สัตว์ประหลาด' ของคุณเจ้ย ถึงแม้จะเป็นหนังอาร์ต จำกัดคนดูอยู่แค่กลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ว่าอย่างไร เนื้อเรื่องหลักของเรื่องนั้นก็คือการนำเสนอภาพของ 'เกย์' ซึ่งเป็นเกย์ที่ไม่มีความตุ้งติ้งอะไรเลย เป็นทหารพรานด้วยซ้ำ เป็นคนปรกติที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เขาเป็นเกย์ แล้วเขาก็รักกัน นี่นับเป็นหนังเกย์ไทยเรื่องแรกๆ เลย ที่ตัวละครเกย์มีชีวิตจิตใจ แล้วหนังก็โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ของเขา"

 
     ใช่เพียง 'สัตว์ประหลาด' แต่ ไกรวุฒิ ยังสะท้อนความเห็นถึงหนังเกย์อีกเรื่อง อย่าง 'เพื่อน กูรักมึงว่ะ'

 
     "ความดีในหนังเรื่องนี้ ก็คือเป็นหนังที่พูดถึงตัวละครที่เป็นเกย์จริงๆ ไม่มีความเป็นกะเทยเลย และเป็นหนังที่ฉายในวงกว้าง สำคัญกว่านั้น นี่คือหนังที่สะท้อนความเป็นแฟนตาซีของคนดูที่เป็นเกย์ได้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากพระเอกทั้งสองคนของเรื่องที่ราวกับหลุดออกมาจากหน้านิตยสาร ผู้ชายราวกับผ่านการเล่นฟิตเนสมาอย่างดี แล้วเนื้อเรื่องก็เป็นเรื่องราวความรักของเขาอย่างจริงจังมาก"

 
     อย่างไรก็ดี ไกรวุฒิตั้งข้อสังเกตว่า การที่ 'เพื่อน กูรักมึงว่ะ' ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้มากนักในเมืองไทย ก็ชวนให้เขาเกิดคำถามขึ้นว่า เอาเข้าจริงแล้ว 'พื้นที่' ของเกย์ในหนังไทย มีให้เฉพาะ 'กะเทย' งั้นหรือ? เมื่อเป็นเกย์ที่เป็นผู้ชายแล้ว คนดูจะ 'อี๋' เกิดอาการ 'รับไม่ได้' ใช่ไหม?


I Will Survive


     "ไม่ว่ายังไง หนังเกย์ก็ยังได้รับความนิยมในวงแคบ นอกจากจะได้รางวัลใหญ่ๆ ซึ่งผมยอมรับนะ ว่าถ้าผมไม่ได้รับบารมีจากกระแสของหนังเรื่อง 'Brokeback Mountain' ผมก็คงไม่ได้สร้างหนังเกย์ ผมกล้าพูดได้เลย"

 
     ไม่เพียงไกรวุฒิที่ตั้งข้อสังเกต หากทรรศนะจากผู้กำกับอย่างพจน์ อานนท์ ก็มองไม่ต่างกัน ก่อนเอ่ยอย่างตรงไปตรงมาว่า เพราะนายทุนเมืองไทยและสังคมโดยรวม ยังไม่เปิดใจกว้างพอ

 
     "ถ้ามีนายทุนใจป้ำ ยอมให้ผมสร้างหนังเกย์ ผมจะทำให้สุดฝีมือเลย แต่จะพ้นจากอคติสังคมได้จริงๆ ไหม? ก็ยากนะ เพราะสังคมเรามีคนที่ชอบคิดแทนคนอื่นอยู่เยอะ เราก็เลยต้องทำไปเท่าที่เราทำได้ อย่างคนกลุ่มหนึ่ง ชอบต่อต้านกะเทย ทั้งที่ตัวเองก็เป็นกะเทย ผมยังอดคิดไม่ได้เลยว่าคนพวกนี้โรคจิตหรือเปล่า คนเขาอุตส่าห์พยายามทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นกะเทยเป็นเกย์ ก็ยังจะออกมาประท้วงให้เป็นเรื่องเป็นราว เขาน่าจะเข้าใจบ้างว่าเราสร้างหนังขึ้นมาเพื่อให้คนมองเกย์มองกะเทยในแง่ดี"

 
     ทั้งนี้ พจน์ อานนท์ ยังสะท้อนถึงอุปสรรคบางอย่างของการทำหนังเกย์ ไว้อย่างน่าสนใจ

 
     "หนังเกย์เมืองนอก เขานำเสนอภาพให้ทุกอาชีพเป็นเกย์ได้ แต่หนังไทยทำไม่ได้ เพราะมันจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง มาคอยตัดนู่นตัดนี่ เซ็นเซอร์นู่น เซ็นเซอร์นี่ เอาอะไรเป็นเกย์ดีล่ะ ผมไม่รู้จะให้ใครเป็นเกย์ งั้นก็เลยให้มือปืนมาเป็นเกย์ดีกว่า เพราะเกย์เป็นมือปืนนี่เขาคงไม่เซ็นเซอร์หรอกมั้ง ลองถ้าให้สจ๊วต ให้ครูเป็นเกย์สิ ก็คงออกมาประท้วงกัน ผมขี้เกียจมานั่งแก้ปัญหา เพราะมองอีกมุม บ้านเรามันก็ไม่ได้เปิดกว้างมาก นักการเมืองเป็นเกย์ก็ไม่ได้ เราก็เลย เออ ช่างมันเถอะ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ทำหนังก็ต้องทำใจ"

 
     หลังจากวิพากษ์ความใจแคบ พจน์ก็ตบท้ายด้วยการให้กำลังใจตัวเองและชาวเกย์

 
     "กะเทยหรือเกย์ก็เป็นคนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราเกิดมาในสังคมนี้แล้ว จะอยู่ร่วมกันยังไงให้มีความสุข คิดแบบนี้กันดีกว่า เพราะเราจะมาปราบปรามเกย์ให้หมดไป มันเป็นไปไม่ได้ จะมาปราบกะเทยให้หมดประเทศ ให้สิ้นโลกไปเลย มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉนั้น เมื่อทำอะไรไม่ได้แล้วก็ควรมาอยู่ร่วมกันให้มีความสุขดีกว่า อย่ารังเกียจรังงอนอะไรเขาเลย เพราะกะเทยหรือเกย์ก็เป็นคนเหมือนกัน และสาเหตุที่ผมทำหนังกะเทย หนังเกย์ ก็เพราะว่า ถ้าผมไม่ทำ แล้วใครจะทำให้พวกเขาดู มีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากจะดูหนังเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่าเขามีคุณค่า ผมจึงทำหนังเกี่ยวกับพวกเขาบ่อย และไม่ได้ทำให้เสียหาย ทำจนกลายเป็นผู้กำกับหนังเกย์ หนังกะเทยไปแล้ว"

เกย์แล้วไง?

 
     "บางครั้งคนเรามักจะมองแบบเหมารวม ว่าเกย์เป็นพวกเซ็กส์จัด แน่ล่ะ ในความเป็นจริงก็คงมี แต่ขณะเดียวกันก็มีเกย์ที่เขาไม่พอใจกับการนำเสนอภาพลักษณ์เกย์ในแบบนั้น ซึ่งสำหรับเราแล้ว เราเองก็มีเพื่อนเป็นเกย์เยอะ ก็มีทั้งคนที่เป็นแบบนั้นจริง เราก็เลยคิดว่า อะไรที่มันเป็นจริง ก็นำเสนอไปเถอะ ขณะเดียวกัน ถ้าเรื่องนั้นๆ มันเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าสังคมจะมองยังไง ก็ช่างมันเถอะ เพราะความจริงก็คือความ

จริง อย่าไปคิดว่าเป็นของเสียที่ต้องมาคอยกำจัด
 
     "ถ้าจะสร้างหนัง เราก็สร้างสรรค์งานกันไปเรื่อยๆ ดีไหม อย่ามัวห้าม ว่าอย่ามองในมุมนั้น มุมนี้เลย คือเราว่ามันคงจะเกิดอะไรดีๆ ที่ควรจะเป็น ถ้าเขานำเสนอความจริงออกมาให้ดีได้"

 
     เป็นความเห็นจาก ชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้กำกับสาวเจ้าของผลงานหนังสั้น 'เป็นใคร' ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจาก โครงการประกวดหนังสั้นสีรุ้ง (Thai Queer Shot Film) ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2008

 
     หนังของเธอมีความยาว 20 นาที ว่าด้วยความสับสนของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความขัดแย้งในสถานะของตนเอง ที่เป็นทั้งม้าทรง เป็นครู และเป็นเลสเบี้ยน

 
     "หนังเรามันเป็นปมขัดแย้งที่ตัวละครมีต่อสังคม มากกว่าจะเป็นปมขัดแย้งในเรื่องความรัก เพราะในมุมมองของเรา อคติที่คนในสังคมมีต่อเลสเบี้ยน ก็เป็นสิ่งที่ครอบงำเลสเบี้ยนมากกว่าประเด็นอื่นๆ มันเหมือนมีกำแพงอะไรบางอย่างที่ทำให้คนกลุ่มนี้เขารู้สึกว่า ทำไมเขาถึงเป็นคนธรรมดาไม่ได้"

 
     ชลบอกว่า หนังของเธอไม่ได้มีบทสรุปที่นำไปสู่ความคลี่คลาย ดูแล้วออกจะน่าเบื่อ ไม่มีความโรแมนติก แต่มันคือมุมมองที่เธออยากนำเสนอ ทั้งนี้ชลออกตัวว่า แม้จะทำหนังเกี่ยวกับเลสเบี้ยน แต่เธอไม่ได้สนใจหรือมุ่งมั่นกับการวิเคราะห์ประเด็นเรื่องเพศสภาวะอย่างจริงจังนัก
 
     อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่า การที่หนังเกย์ หรือหนังกะเทยไทย ได้รับความนิยมนั้น สะท้อนภาพสังคมเช่นไรบ้าง ชลก็ยินดีให้คำตอบในมุมมองของเธอ

 
     "เรามองว่าการที่มีหนังเกี่ยวกับกะเทยเยอะขึ้นในเมืองไทย มันสะท้อนภาพว่าคนไทยค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่ซีเรียส ไม่เหมือนฝรั่งที่ในหนังมีฉากติดเรท ฆ่าเกย์ ฆ่ากะเทย ฆ่ากันตายอยู่ในเรื่อง แต่หนังกะเทยของไทย เห็นแล้วก็ขำ ตลก พอมีหนังอย่างนี้มากๆ เข้า ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา ในชีวิตจริงเราก็มักจะเจอกะเทยที่ตลก อารมณ์ดี อาจไม่ใช่ส่วนใหญ่ แต่กะเทยที่ตลก เขาก็มีอยู่จริง ถ้าถามว่าการสร้างกะเทยให้ตลก เป็นการดูถูกกะเทยไหม เราว่าไม่ใช่การดูถูกนะ"

 
     นอกจากหนังกะเทยแล้ว การที่สังคมไทยเริ่มมีหนังที่นำเสนอเรื่องราวของผู้ชายรักผู้ชาย อย่างเปิดเผย ชลมองว่าอาจเป็นเพราะคนทำหนังเมืองไทยมีความกล้ามากขึ้น ซึ่งเมื่อฉายแล้ว ฟีดแบ็กที่ได้รับก็ไม่น่าเกลียด คนไม่ได้ต่อต้านรุนแรง เหล่านี้สะท้อนได้ว่า จริงๆ แล้ว สังคมไทยไม่ใช่สังคมเคร่งเครียดอะไรมากนัก หากเนื้อหาของหนังไม่ได้อนาจาร สังคมก็ยืดหยุ่น

     ว่าแต่ ทำไม หนังเลสเบี้ยนของไทยจึงน้อยนัก? นอกจากหนังสั้นของชลแล้ว ก็แทบไม่มีเลย

     "นั่นสิ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่มีหนังไทยที่นำเสนอเรื่องราวของเลสเบี้ยน หรือว่าผู้หญิงไทยขี้อายกว่า เราก็วิเคราะห์ไม่ได้เหมือนกัน" ชลยอมรับอย่างไม่อ้อมค้อม

 
     ในประเด็นต่อเนื่องกัน อันว่าด้วย 'พื้นที่'ของหนังเกย์หรือชาวรักร่วมเพศกลุ่มอื่นๆ ที่คล้ายจะได้รับการยอมรับไม่มากมายเท่ากะเทย นั้น ไกรวุฒิ สะท้อนความเห็นไว้ และทิ้งคำถามที่ไม่อาจมองข้าม

 
     "ประเด็นที่ผมอยากจะฝากไว้ให้ถกคิดต่อปรากฏการณ์หนังเกย์ ก็คือ สังคมมีพื้นที่ให้หนังเกย์ แต่ไม่มีพื้นที่ให้เลสเบี้ยน ซึ่งมันเป็นปัญหาเดียวกันของวงการหนังทั่วโลก ที่มักจะมีพื้นที่ให้หนังเกย์มากกว่าหนังเลสเบี้ยน ผมคิดว่าน่าเสียดายมาก คือมันเหมือนกับว่า หนังเกย์เป็นหนังฮิตได้ ดังได้ แต่เมื่อมีการทำหนังเลสเบี้ยนออกมา มันก็กลายเป็นหนังที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อสะท้อนแฟนตาซีของผู้ชายเสียมากกว่า เหมือนกับผู้ชายนั่งดูหนังโป๊แล้วดูผู้หญิงสองคนจูบกัน"

 
     ทว่า ประเด็นที่น่าใส่ใจยิ่งกว่า ก็คือภาพของเกย์ในหนังส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะหนีไม่พ้นภาพที่นำเสนอให้เห็นว่า เกย์เป็น 'คนอื่น' หรือไม่ก็ถูกนำเสนอโดยเน้นความเป็นเกย์ของเขาเสียเหลือเกิน

     "วันหนึ่งข้างหน้า หนังมันควรจะเดินไปถึงขั้นที่นำเสนอภาพว่าถึงแม้เขาจะเป็นเกย์ แต่เขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง หนังต้องเดินไปให้ถึงจุดนั้น ถึงจุดที่ว่าการเป็นเกย์ไม่ได้เป็นปัญหาโลกแตก มันเป็นแค่เรื่องธรรมดา"

 
     ซึ่งในประเด็นนี้ ไกรวุฒิมองว่า หนังเรื่อง 'สัตว์ประหลาด' เดินไปถึงแล้ว เพราะความเป็นเกย์ในหนังไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนัก ขณะที่หนังเกย์เรื่องอื่นๆ อาจชูประเด็นนี้เป็นจุดขาย

     หนังเกย์ในอุดมคติของไกรวุฒิ จึงไม่ใช่หนังเกย์ที่เมื่อมีใครเป็นเกย์แล้วก็ถูกด่าว่า คนแตกตื่น ทะเลาะกันบ้านแตก ความเป็นเกย์จะไม่ถูกนำมาใช้เป็นจุดหักเหหรือเป็นเงื่อนงำของเรื่อง ไม่ว่าเขาจะเป็นเกย์ที่เป็นผู้ชายรักผู้ชาย หรือผู้หญิงรักผู้หญิง พร้อมยกตัวอย่าง

 
     "กรณีหนังเรื่อง 'รักแห่งสยาม' ความเป็นเกย์ในเรื่องก็ยังดูเป็นสิ่งแปลกประหลาดอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าหนังสะท้อนภาพสังคมที่ผู้คนยังคงมองเกย์เป็นสิ่งแปลกประหลาดอยู่นั่นเอง
 
     "ต่อเมื่อวันหนึ่งเราเดินไปสู่สังคมยูโทเปีย หรือสังคมอุดมคติที่คนทุกคนเท่าเทียมกันจริงๆ ผมก็เชื่อว่าหนังเกย์จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ แต่ถึงแม้สังคมจะยังเดินไปไม่ถึงยุคยูโทเปีย แต่หากมีหนังเกย์หลายๆ เรื่องชี้ให้สังคมเดินไปบนหนทางนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ดี"

                 นั่นสิ เกย์แล้วไง?
      I Will Survive กันต่อไป...อย่ายอมแพ้

                       ...........

     เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล


















กำลังโหลดความคิดเห็น