xs
xsm
sm
md
lg

Surveillance / Timecrimes : มิติมืด

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี

เป็นเรื่องยากเอาการที่จะเขียนถึงหนังระทึกขวัญ/สยองขวัญทั้ง 2 เรื่องนี้โดยไม่เปิดเผยจุดหักเหของมัน แม้ผมจะไม่คิดว่ามันเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง แต่สำหรับผู้อ่านที่หมายใจไว้ว่าจะต้องหา Surveillance ของเจนนิเฟอร์ แชมเบอร์ส ลินช์ และหนังสเปนเรื่อง Timecrimes ของผู้กำกับ นาโช วิกาลอนโด มาชมในอนาคตอันใกล้ ก็ขอให้เชื่อคำแนะนำว่าควรอ่านบทความชิ้นนี้อย่างระมัดระวัง

ความคล้ายคลึงกันของทั้ง Surveillance และ Timecrimes อยู่ตรงที่มันตั้งหน้าตั้งตาสร้างความคาดหวังให้คนดูอีกอย่างหนึ่ง แล้วไม่รอช้าที่จะระเบิดความคาดหวังนั้นให้ราพนาสูรไป - เจือด้วยอารมณ์ขันที่แสนร้ายกาจ

เจนนิเฟอร์ แชมเบอร์ส ลินช์ เป็นลูกสาวของ เดวิด ลินช์ ที่ตอกย้ำคำพังเพยที่ว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น ลินช์ผู้พ่อเป็นเจ้าแห่งโลกพิศวง ทำหนังที่ไม่คำนึงถึงตรรกะความเป็นจริง ไม่ยอมอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาอย่างง่ายๆ การรับชมภาพยนตร์ของเดวิด ลินช์ – อย่างที่หลายคนทราบกันดี – มันเหมือนกับตกอยู่ในฝันร้ายที่ไม่รู้จบ และหาทางออกไม่พบ

ลินช์ ผู้เป็นลูกสาวดำเนินตามรอยเท้าของพ่ออย่างระมัดระวัง เธอเคยทำหนังที่อื้อฉาวมากเหลือเกินคือ Boxing Helena (1993) หนังป่วยๆ ที่โด่งดังจากคดีฟ้องร้อง (คิม บาซิงเจอร์ ถอนตัวจากบทนำกะทันหันจนถูกฟ้องเป็นเลขหลักล้าน) และถูกนักวิจารณ์ พร้อมทั้งคนดูสับเละไม่มีชิ้นดี

ความสาหัสของ Boxing Helena นอกเหนือจากเนื้อหาที่เข้าขั้น “โรคจิต” อย่างเต็มรูปแบบแล้ว (พล็อตว่าด้วยศัลยแพทย์หนุ่มหล่อที่คลั่งไคล้หญิงสาวผู้หนึ่ง จนต้องตัดแทนตัดขาเธอทิ้ง และปฏิบัติต่อเธอราวกับตุ๊กตา) การนำเสนอฉากเซ็กซ์ก็มีดีกรีสูงเกินปกติ นั่นจึงทำให้หนังก้ำกึ่งระหว่างการเป็นหนังโป๊เกรดบี และหนังอาร์ตที่ไม่ต้องการตอบสนองความพึงพอใจของผู้ชม

ผ่านไป 15 ปี เจนนิเฟอร์ แชมเบอร์ส ลินช์ กลับมาทำหนังอย่างเอาจริงเอาจังเป็นครั้งที่สอง Surveillance ยังคงแสดงให้เห็นว่า เธอยังเป็นคนๆ เดิมกับที่ทำ Boxing Helena นั่นก็คือ ไม่เกรงกลัวต่อความเสี่ยงหรือคำสบประมาทใดๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

เรื่องราวใน 1 ชั่วโมงแรกของ Surveillance ค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยากพอสมควร คนดูได้รับการบอกกล่าวถึงเหตุการณ์สยองขวัญในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิต 2 คนที่คลุมไอ้โม่งแล้วออกสังหารคนบริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมทารุณ จากนั้นไม่นานเอฟบีไอชายหนึ่งหญิงหนึ่ง (บิล พูลแมน และ จูเลีย ออร์มอนด์) ก็ได้รับมอบหมายให้มาสอบสวนพยานปากสำคัญ 3 คน อันประกอบไปด้วย ตำรวจเลว (เคนต์ ฮาร์เปอร์), หญิงติดยา (เพลล์ เจมส์) และสาวน้อยวัย 10 ขวบ (ไรอัน ซิมพ์กินส์) ซึ่งรอดชีวิตจากเงื้อมมือของฆาตกรมาได้

กรรมวิธีการสอบปากคำออกจะพิลึกพิลั่นอยู่เหมือนกัน พยานทั้งสามถูกแยกไปนั่งคนละห้อง โดยแต่ละห้องจะมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ และเอฟบีไอจะเป็นคนนั่งสังเกตการณ์จากจอภาพ พร้อมๆ กับที่หนังจะตัดสลับแฟลชแบ็กเหตุการณ์ที่พยานเล่ามาเป็นระยะๆ ปัญหาก็คือ คำพูดของพยานที่นอกจากจะไม่ตรงกัน มันยังไม่ตรงกับภาพที่หนังเผยให้คนดูได้เห็นสักเท่าไหร่ บางช่วงบางตอนมันแตกต่างราวกับเป็นหนังคนละม้วน ยิ่งตอกย้ำถึงการโป้ปดมดเท็จของตัวละคร

ผู้กำกับภาพ ปีเตอร์ วุนสทอร์ฟ จงใจให้ภาพหยาบและแห้งแล้ง สีดูจัดๆ แต่ไม่ได้สบายสายตา โลเกชั่นทั้งหมดปักหลักถ่ายทำกันที่รัฐซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดา ภูมิประเทศดูเวิ้งว้างจนชวนขนหัวลุก บ่อยครั้งที่กล้องแพนออกไปเห็นขอบฟ้าไกลลิบลับ โดยไม่ปรากฏสิ่งมีชีวิตแม้แต่ชนิดเดียว

บทพูด อากัปกิริยาของตัวละคร เป็นเดวิด ลินช์ทั้งหมด กล่าวคือ มันเต็มไปด้วยความโสโครก กักขฬะ และแรงกระเพื่อมบางอย่างภายใต้พื้นผิวที่ดูงดงาม - กำลังรอวันปะทุออกมา แต่เจนนิเฟอร์ แชมเบอร์ส ลินช์ ไม่เหมือนพ่ออยู่อย่างเดียวตรงที่ เธอไม่ได้พยายามทำหนังที่ดี เพราะฉะนั้น Surveillance จึงคล้ายเป็นหนังสยองขวัญที่ไร้รสนิยม หักมุมอย่างหน้าด้านๆ ไร้เหตุผลที่มาที่ไป แต่ถึงอย่างนั้น มันเป็นหนังที่ดูสนุก อบอวลด้วยบรรยากาศแปลกๆ แบบที่ใครก็ทำออกมาไม่ได้

Timecrimes ของผู้กำกับหนุ่ม นาโช วิกาลอนโด คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังสยองขวัญมาหลายที่เหลือเกิน และกลายเป็นขวัญใจผู้ชมไปในทันที ดูเหมือนวิกาลอนโดจะรับทราบเงื่อนไขของผู้ชมเป็นอย่างดี เขาจึงทำหนังที่มีความยาวแค่ 80 กว่านาที เดินเรื่องไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และมีจุดหักเหเกิดขึ้นอย่างน้อยๆ 3-4 ครั้ง แน่นอน สำหรับผู้ชมที่แสวงหาความตื่นเต้น นี่คือ รถไฟเหาะตีลังกาที่ยอดเยี่ยมที่สุด

เรื่องราวเกิดขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง เฮกเตอร์ (การ์รา เอเลฮานเด) หนุ่มใหญ่วัย 40 กำลังช่วยภรรยาย้ายข้าวของมาอยู่ในบ้านหลังใหม่แถบชานเมืองที่ทิวทัศน์ล้อมรอบด้วยป่าเขา ระหว่างที่กำลังนั่งพักผ่อนหย่อนใจอยู่บนสนามหญ้า และใช้กล้องส่องทางไกลมองดูวิวรอบๆ บ้าน เขาเห็นหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่งยืนนิ่งอยู่ในป่า เธอค่อยๆ ถอดเสื้อผ้าออก จากนั้นก็หายวับไปต่อหน้าต่อตา

อย่างที่เขาว่ากันว่า ‘แมวมักจะตายเพราะความขี้สงสัย’ เฮกเตอร์เดินออกจากบ้านไปยังจุดเกิดเหตุ และพบหญิงสาวนอนเปลือยกายแน่นิ่งอยู่ แต่ก่อนที่จะได้ทำอะไร บุรุษลึกลับก็ปรากฏตัวขึ้น มันเป็นชายร่างใหญ่ที่สวมเสื้อโค้ทสีทึบตัวโคร่งดูถมึงทึง ทั้งใบหน้าและศีรษะถูกพันด้วยผ้าสีชมพู ชวนให้ขนลุกขนพองเหลือเกิน

บุรุษลึกลับเอากรรไกรแทงเฮกเตอร์ จนฝ่ายหลังต้องหนีตายไปยังคฤหาสน์ใกล้เคียง และไปเจอกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่คะยั้นคะยอให้เขาลงไปซ่อนตัวให้อ่างน้ำใบใหญ่สัณฐานแปลกประหลาด ไม่นานนัก ทั้งเฮกเตอร์และคนดูก็ได้ถึงบางอ้อว่า อ่างน้ำใบนี้คือไทม์แมชชีนที่พาเฮกเตอร์ย้อนเวลากลับไปในอดีตไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้

สิ่งที่เฮกเตอร์จำเป็นต้องทำก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองได้กลับไปอยู่ในช่วงเวลาเดิม แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น อันที่จริง มันกลับยุ่งเหยิงมากกว่าเดิม เมื่อเฮกเตอร์ทราบว่า ก่อนหน้าเขา ก็มีเฮกเตอร์อีกหลายคนที่นั่งไทม์แมชชีนกลับไปกลับมา จนงุนงงไปหมด

Timecrimes เป็นอีกหนึ่งความพยายามของคนทำหนังชาวสเปนที่นอกเหนือจากการพัดวีอุตสาหกรรมภายในประเทศให้คึกคักด้วยหนังสยองขวัญแล้ว ยังมีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น คือการขายในระดับนานาชาติ หนังเหล่านี้ (อาจจะรวมหนังอย่าง [REC] หรือ The Orphanage เข้าไปด้วย) ไม่ได้ใช้ทุนรอนมากนัก แต่ใช้กำลังสมองอย่างสูงมาทดแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น