xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสงกรานต์กลายเป็นสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ล่วงเลยสู่ช่วงสงกรานต์แปรเปลี่ยนวันปีใหม่ไทยให้กลายเป็นความวุ่นวายทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เกิดการจลาจล เผารถเมล์ ทุบทำลายธนาคาร จนแทบจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองขนาดย่อมๆ ของคนเสื้อแดงกับประชาชนในหลายชุมชน

สงกรานต์กรุงเทพฯ ปีนี้จึงกร่อยสนิท ยังไม่ต้องนับความย่อยยับทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากการยกเลิกการประชุมอาเซียนซัมมิต +3 +6 ประเทศไทยเลยต้องสาดน้ำตาแทนน้ำเย็นกัน ถนนข้าวสารอันเป็นแหล่งสาดน้ำยอดฮิตก็ต้องยกเลิก เพิ่งจะมาสาดน้ำกันหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

‘ปริทรรศน์’ ออกไปสำรวจความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อสงกรานต์ปีนี้ และถ้าฟังให้ดีในถ้อยคำ พวกเขากำลังถามไถ่ว่าเมื่อไหร่เราจะเลิกทะเลาะกัน

ท่องเที่ยวทรุด นักท่องเที่ยวหาย
ในส่วนของหัวเมืองรอบนอกต่างๆ ที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้มีการชุมนุมและปิดถนนบางจุด อาทิ ถนนที่มุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอำเภอขุนตาล จังหวัดลำปาง ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ต้องเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นแทน

วิไลวรรณ เมฆวงษ์ พนักงานต้อนรับ จีรัง เฮลท์ วิลเลจ จังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีผลกระทบต่อส่วนรวมเล็กน้อย เนื่องจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ และความรุนแรงจะอยู่ในส่วนของกรุงเทพฯ มากกว่า ส่วนผลกระทบที่ในตัวจังหวัดเชียงใหม่เองจะเป็นในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา

“ในส่วนของรีสอร์ตเราเองก็กระทบบ้างในเรื่องของนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามา ซึ่งถือว่ามีนักท่องเที่ยวมาพักน้อยมาก เพราะมีการปิดถนน และเขาอาจจะมีการเปลี่ยนแผนไปเที่ยวที่อื่นแทน แต่ตำรวจก็มีการให้นักท่องเที่ยวเลี่ยงใช้ถนนอื่นแทนก็ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง” วิไลวรรณ กล่าวไว้

สำหรับเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่จะเป็นการชุมนุมตามจุดต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด โรงแรมวโรรส ซึ่งไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในเมืองเชียงใหม่ อย่างแถวถนนคูเมืองที่มีการเล่นสาดน้ำกันทุกปี ปีนี้ก็เล่นได้ตามปกติ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมจะอยู่แค่บริเวณรอบนอกหรือเป็นจุดๆ ไป

นอกจากนี้บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวนกว่า 100 นำแผงเหล็กมาปิดกั้นถนนบริเวณที่จะข้ามประเทศไปลาว ส่งผลให้กลุ่มคนค้าขายบริเวณตลาดท่าเสด็จได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

“พี่มีรายได้ตกไปมากเลยนะ เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ คนขายของร้านแถวนี้ก็เหมือนกันหมด ปกติช่วงสงกรานต์ คนจะมาเที่ยวมาซื้อของเยอะมาก เดินแทบไม่ได้ แต่ปีนี้เงียบ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาจากที่อื่นๆ ที่เห็นเดินๆ กันส่วนใหญ่ก็คนหนองคายเองทั้งนั้น คนจังหวัดอื่นเขาก็ไม่มาเดินเที่ยวซื้อของกัน บางคนก็กลัวว่ามีการชุมนุม เขาก็ไม่กล้าออกจากบ้าน บางคนขับรถมาแล้วเจอกลุ่มคนเสื้อแดงก็ถอยกลับไม่ยอมลงจากรถก็มี ยิ่งมีข่าวว่ามีการปิดถนนที่ขอนแก่น-อุดรธานี ก็ยิ่งแล้วใหญ่ คนไม่มาเลย” วิไลพร คำแพงศิริรัตน์ เจ้าของร้านขายของฝากบริเวณตลาดท่าเสด็จเล่าให้ฟัง

วิไลพรให้ความเห็นอีกว่า การเล่นน้ำสงกรานต์ก็ปกติ แต่ไปกระทบในส่วนของเรื่องการค้าขายมากกว่า เพราะสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นักท่องเที่ยวส่วนมากที่ต้องการมาเดินตรงจุดนี้และจากนั้นก็มาเดินซื้อของที่ท่าเสด็จ แต่พอมีการปิดถนนนักท่องเที่ยวก็ยกเลิกไม่มาเที่ยว ไม่มาเดินซื้อของ

หลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศวันหยุดเพิ่มในวันที่ 16-17 เมษายน ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ท่าเสด็จเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีจำนวนมากเท่าช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา

จงรักษ์ ทิพรส ผู้ประกอบการเกสต์เฮ้าส์ เชียงคาน ริเวอร์ วิว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กล่าวว่า

“สงกรานต์ปีนี้นักท่องเที่ยวหายหมด ทั้งต่างชาติและคนไทย ในส่วนของเราเองก็ยังพอมีลูกค้าที่จองล่วงหน้ากันเป็นเดือนเข้ามาพัก แต่ถ้านักท่องเที่ยวกลุ่มไหนที่ไม่มีแผนออกมาท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็จะยกเลิกไม่ออกจากบ้านกันเลย

“การที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันตามจุดต่างๆ หรือแม้แต่การปิดถนนก็ตาม ส่งผลกระทบไปทั่วนะ คือมันทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในส่วนของจิตวิทยาของคนเอง เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นก็ไม่กล้าออกมานอกบ้าน จริงอยู่ว่าเหตุการณ์หลักๆ เกิดที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ อุดรฯ หนองคาย แต่ผลกระทบมันก็แพร่ไปทั่วนะ ภาพเราเห็นมีผลต่อการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ คนออกนอกบ้านน้อยลง เที่ยวน้อยลง กลัวพวกเสื้อแดงมาป่วนเมือง ซึ่งใครๆ ก็กลัว เขาก็ไม่มาเลย ส่วนคนที่เล่นน้ำสงกรานต์ก็ออกมาเล่นกันตามปกตินะ แต่ก็ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่”

จงรักษ์เสนอแนะว่า การชุมนุมโดยสันติวิธีสามารถทำได้ แต่อย่ามาสร้างความเสียหายให้บ้านเมือง อย่าสร้างความปั่นป่วน ซึ่งที่กลุ่มคนเสื้อแดงทำไปมันเป็นการทำลายชาติ ทำลายความมั่นคง โดยเฉพาะมีการชุมนุมและใช้ความรุนแรงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็กลายเป็นการทำลายประเพณีชาติไปด้วย

“คนกลุ่มใหญ่เลย กลัวกลุ่มคนเสื้อแดงจะมาทำร้าย โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ เอง ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน และจากสื่อที่เราเห็นทั่วไป เรามองว่าคนกรุงเทพฯ เขาเครียดนะ เพราะออกจากบ้านไม่ได้ กลัวอันตราย ซึ่งมันสร้างความวุ่นวายกันไปหมดเลย” จงรักษ์กล่าว

เมื่อสงกรานต์กลายเป็นสงครามปกป้องบ้าน
ในช่วงเวลาของวันขึ้นปีใหม่ไทย ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศกำลังตระเตรียมเฉลิมฉลองวันมหาสงกรานต์ที่มาถึง ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งใจกลางกรุงกลับต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนนอกกฎหมายที่อ้างประชาธิปไตยใช้ความรุนแรงปิดถนน เมื่อไม่อาจพึ่งกฎหมายให้คุ้มครองได้ พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าสุดท้ายเหตุการณ์ดังกล่าวจะบานปลายและจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

13 เมษายน รถเมล์ ขสมก. ถูกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือม็อบเสื้อแดงนำมาปิดขวางถนนที่แยกเทวกรรม ไปจนถึงท้ายสี่แยกถนนเพนียง ชุมชนนางเลิ้งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองแยกนั้น ตกอยู่ในสภาพถูกล้อมทางเข้าออกทั้งสองด้าน ข่าวลือที่มีผู้บอกว่าฝ่ายม็อบเสื้อแดงจะเผาตลาดและบ้านเรือนในบริเวณดังกล่าว ไม่ได้เป็นแค่คำขู่อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อมีมือมืดแอบนำน้ำมันมาราดตลาดตอนกลางคืน ชาวบ้านในชุมชนนางเลิ้งจึงต้องผลัดเปลี่ยนกันจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอดวันตลอดคืน

“เขาจะเผารถตรงแยกถนนเพนียง พวกเราชาวบ้านไม่ยอมก็ออกมาไม่ให้เผา ชาวบ้านก็ช่วยกันดันรถออกไปถึงแยกไฟแดง เป็นรถเมล์ ปอ. สีส้มๆ คือข้างในรถเขาราดน้ำมันไว้เต็มไปหมดเลย พวกเราก็ตั้งด่านตรงแยกนี้ ถ้าใครผ่านก็ดูว่าเป็นพวกไหน ตอนนั้นยังไม่มีอะไรรุนแรง แค่คุมเชิงกันห่างๆ ตะโกนว่ากันไปมาสองฝ่าย

“พอสักทุ่มหนึ่งปุ๊บ ทางเสื้อแดงก็เริ่มเดินฝ่าเข้ามา พอเดินเข้ามาชาวบ้านปิดประตูกันแทบไม่ทัน เพราะปกติชาวบ้านจะยืนกันทั้งสองฝั่ง จากนั้นมีปาระเบิดตู้ม...ทุกคนวิ่งหลบเข้าบ้านกันหมด ตอนหลังได้ยินเสียงปืนตอนทุ่มกว่า ทุกคนก็เตรียมพร้อม แต่พวกเราไม่มีอาวุธเลยมีแต่ไม้กับแท่งเหล็ก” ชาวบ้านนางเลิ้งผู้หนึ่งบอกเล่าย้อนเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เกิดขึ้นในคืนวันมหาสงกรานต์ที่กลายเป็นสงครามกลางเมือง

ล่วงเข้าสองทุ่มก็มีเสียงปืนและระเบิดอีกชุดหนึ่งดังขึ้น

“เราก็ตกใจ สองทุ่มยิงเป็นชุด ถือปืนยาวแล้วก็ยิงๆๆๆ แล้วก็บอกใครออกมายิงเลย พวกเราก็ปิดประตูอยู่ข้างใน พอเสียงปืนเงียบออกมาก็ปรากฏว่าตายสองคน โดนยิงเป็นคนในชุมชน เด็กผู้ชายที่ตายบ้านเขาทำอาหารใส่บาตรพระขาย อีกคนป้าไม่รู้จัก แต่เห็นว่าเป็นคนดี ตอนเช้าๆ แกชอบมากินกาแฟในตลาด คนขายกาแฟพูดถึงแกแล้วยังร้องไห้น้ำตาคลออยู่เลย...”

คุณป้าคนเดิมเล่าว่า ตอนช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้น เพื่อนบ้านของเธอได้แอบดูที่ช่องประตู และเห็นกระสุนนัดหนึ่งพุ่งมาถูกเสาไฟฟ้าหน้าบ้านพอดี จากนั้นก็มีน้ำมันไหลออกมาจากหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดระเบิดขึ้น แต่เมื่อโทร.แจ้งการไฟฟ้าก็ได้รับคำตอบว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำรถเข้ามาในจุดเกิดเหตุได้ ต้องมาแก้ไขในวันรุ่งขึ้น

“ปกติสงกรานต์ที่นี่ทุกปีคึกคัก คนก็จะออกมาเล่นสาดน้ำริมถนน นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสงกรานต์ถนนข้าวสารก็นั่งสามล้อผ่านมาเที่ยว แต่ปีนี้น่ากลัวมาก ตรงนี้ยังกับสนามรบ เกิดมาไม่เคยเจอเลยชาตินี้ คนจะเป็นจะตายไม่ได้นอนกันทั้งนั้น แถวนี้ก็มีแต่คนแก่กับเด็กทั้งนั้น อันตราย...จะให้เขาเผาได้ไง ถ้าเผาแถวนี้เป็นตึกเก่าทั้งนั้น เกิดเผาเสร็จแล้วติดตึกขึ้นมาจะทำยังไง ตอนนี้ก็ต้องตั้งเวรยามกันอยู่ เราไม่รู้ว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่” ชาวบ้านนางเลิ้งกล่าวอย่างวิตกต่อความปลอดภัยในชุมชนที่เป็นบ้านของพวกเขา

‘เกสรลำพู’ กับความตั้งใจที่จบสิ้นในหนึ่งวัน
“เราเตรียมงานกันมาอย่างตั้งใจ ตลอด 2 เดือน แต่ก็ต้องล้มเลิก ทุกอย่างจบภายในหนึ่งวัน ตั้งแต่วันแรกของงาน (12 เมษายน) เพราะตำรวจมาบอกเราว่าให้รีบออกจากสวนสันติชัยปราการ ให้เก็บของทุกอย่างให้เรียบร้อยภายในหนึ่งทุ่ม เพราะอาจจะมีคนเอาระเบิดมาวาง ต้องเคลียร์พื้นที่ เขาบอกอย่างนั้น เราก็ตาลีตาเหลือกเก็บของกันใหญ่ แต่กว่าเราจะเก็บเสร็จเรียบร้อยก็ปาเข้าไป 2-3 ทุ่ม”

เป็นความเห็นจาก ต้า-ปานทิพย์ ลิกขะไชย รองประธานชมรม เยาวชนอาสาสมัครเกสรลำพู ซึ่งรวบรวมเยาวชนในย่านบางลำพูและพื้นที่ใกล้เคียง จัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมชาวบางลำพูอย่างต่อเนื่องมานับแต่ปี พ.ศ.2545 โดยงานวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นเป็นประจำร่วมกับประชาคมบางลำพู ณ สวนสันติชัยปราการ นับเป็นงานใหญ่ในแต่ละปีที่ชาวเกสรลำพู ทุกวัยตังแต่เด็กประถมเรื่อยไปถึงนิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัย และเกสรลำพูรุ่นพี่คนอื่นๆ ต่างทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจ รอคอยให้วันงานมาถึง

แต่สำหรับปีนี้ งานประเพณีสงกรานต์บางลำพู สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ ประจำปี 2552 ที่พวกเขาตระเตรียมกันมาเป็นแรมเดือน ก็ต้องถูกพับเก็บไปพร้อมกับงบประมาณเกือบหนึ่งแสนบาท ที่คล้ายถูกนำมาตำละลายแม่น้ำ เมื่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ถูกประกาศใช้ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมอื่นๆ อีก หลังจากหนึ่งทุ่มของวันที่ 12 เมษายน ส่งผลให้การละเล่นบนเวทีและกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอีกนับสิบที่พวกเขาเตรียมไว้ อาทิ การแสดงลิเกลูกบท คณะกาญจนปกรณ์ จากกรมศิลปากร, พิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในชุมชนบางลำพู ณ ลานกิจกรรม, การแสดงวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนจากชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยคีตศิลป์ และการแสดงวงดนตรีของเยาวชนในเครือข่ายดนตรีสร้างสุข…เหล่านี้ต้องกลายเป็นหมัน

“งบประมาณเกือบแสนบาทที่เราใช้สำหรับการจัดงานครั้งนี้ แล้วต้องสูญเปล่าไปเพราะงานถูกล้มเลิก ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สิ่งสำคัญคือความรู้สึกของเด็กๆ ของน้องๆ เยาวชน ที่มาช่วยกันจัดงาน เราจัดอบรมน้องๆ ไปตั้ง 7 ครั้ง เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด มีทั้งการเตรียมตัวของสตาฟฟ์, พิธีกรบนเวที, ฝ่ายเตรียมการละเล่น เตรียมการแสดงบนเวที และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงที่งานต้องล้มเลิก ก็เสียดายมาก อุตส่าห์เตรียมงานกันมาตั้งเท่าไหร่เพื่อวันนี้ แล้วสุดท้ายก็มาล่มภายในวันเดียว อย่างเช่นไฮไลต์ของงาน คือรำกลองยาวปะทะ เต้น B-Boy ที่เราตั้งใจจะโชว์กันเต็มที่ ก็ต้องล้มเลิก ทั้งๆ ที่มีเด็กเป็นร้อยๆ คน เตรียมตัวมาเพื่องานนี้”

แต่ก็นั่นแหละ คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาจะทำอะไรได้ กระนั้นก็ตาม มองเลยไปจากกิจกรรมของชมรมแล้ว ต้าก็ฝากความเห็นถึงผู้คนในสังคมไทย ต่อเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย

“เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งชนะ แต่คนที่แพ้คือประเทศชาติ เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ ประเทศเราคงจบสิ้นจริงๆ ถ้าคุณยังคิดจะเอาชนะกัน เราจะไม่มีวันฟื้นความรู้สึกขึ้นมาได้เลย ถ้าเราคนไทยไม่หันหน้าเข้าหากัน ถ้าไม่มีใครยอมใคร ก็ไม่จบหรอก ไม่มีใครยอมหยุด ประเทศชาติก็ล่มจม

“การประท้วงเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่ต้องมีขอบเขต แต่สำหรับการชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้ เหมือนคุณไม่คิดถึงคนรอบข้าง อย่างเหตุการณ์นำรถแก๊สไปจอดไว้ที่แฟลตดินแดง ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น รถระเบิด คนในชุมชนนั้นจะเป็นอย่างไร”

นอกจากแสดงความเห็นต่อกรณีการชุมนุมของ นปช. แล้ว ต้ายังฝากถึงประเด็นเรื่องความรุนแรงที่เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนงด้วยว่า ความขัดแย้งของคนในสังคม อันนำไปสู่ภาพความรุนแรงนั้น นอกจากสร้างความบอบช้ำให้กับประเทศชาติแล้ว คนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงก็คือเยาวชน

“อนาคตของเด็กๆ เยาวชนจะเป็นอย่างไร หากสิ่งที่เขาเห็นผ่านสื่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือภาพความรุนแรง ถ้าเป็นอย่างนี้ เด็กเขาจะเติบโตเป็นคนดีได้อย่างไร หากเขาเห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกัน ตอบโต้กันด้วยความรุนแรง เขาก็ต้องคิดว่าเมื่อผู้ใหญ่ยังทำได้ เด็กก็ต้องทำได้”

เมื่อเขาชินกับภาพเหล่านั้น แล้วคิดแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลัง แล้วจะโทษใคร? ต้าทิ้งคำถาม ก่อนย้ำว่าไม่มีใครชนะ มีเพียงประเทศชาติ…ที่พ่ายแพ้

เสียงหนุ่ม-สาว
ใช่เพียงความเห็นจากรองประธานเกสรลำพูที่สะท้อนถึงสังคมไทย หากความรู้สึกของเยาวชนในชมรมก็เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะรับฟังไว้บ้าง

ขณะที่ โบ-สรีรักษ์ ประดับศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล-สุวรรณภูมิ วิทยาเขตนนทบุรี บอกกล่าวความรู้สึกแก่เราว่า

“ทั้งๆ ที่วันนี้เป็นวันดีของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น คนไทยไม่รักกันแล้ว ทำร้ายกันเพราะต้นเหตุจากคนเพียงแค่ไม่กี่คน ภาพลักษณ์ประเทศก็เสียหายไปด้วย”

ส่วน เบสท์-ภัทรนิษฐ์ บุณยเลิศโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ สะท้อนความเห็นไม่ไกลจากโบ มากนัก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า …คนไทยไยไม่รักกัน

“ประเทศเดียวกัน รักกันหน่อยเถิด ดูอย่างแถวนี้สิ (ชุมชนวัดสังเวช-บางลำพู) คนในชุมชนนับถือศาสนาต่างกัน ก็ยังอยู่กันมาได้ ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่ง”

นอกจากความเห็นของสาวๆ แล้ว 2 หนุ่ม อย่าง ปรินซ์-สิทธิชล ต่ายเทศ และ เบ-ชาคริต วงศ์ดานี หนึ่งในสมาชิกของชมรมอาสาสมัครเกสรลำพู บอกเราสั้นๆ ตรงไปตรงมา โดยปรินซ์เลือกที่จะมองในแง่ดี แต่แฝงอารมณ์ปลดปลงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า

“มองอีกมุมก็ดีเหมือนกันนะ งานล้มเลิก ผมก็เลยได้กลับบ้าน ปกติต้องอยู่จัดงาน เหนื่อยมาหลายปีแล้ว เอาเป็นว่าปีนี้ก็ได้พัก”

ต่างจากเบซึ่งทิ้งความเห็นว่า

“ผมมีคำถามครับวันนี้ ผู้ใหญ่ที่ใส่เสื้อแดง เสื้อเหลืองเขาทะเลาะกัน วันข้างหน้าจะยังมีเสื้อสีอะไรให้ผมใส่ไหมครับ”

เบสท์สะท้อนเสียงของเธอบ้าง

“ใช่ๆ เสื้อสีขาวก็ยังใส่ไม่ได้เลย ใส่แล้วก็หาว่า เราเป็นกลาง ไม่เลือกข้างอีก แล้วจะให้เราทำยังไง”

แล้วใคร ? จะให้คำตอบพวกเขา

...ก็เหมือนกับที่ใครๆ พูดนั่นแหละ สงกรานต์ที่กลายเป็นสงครามปีนี้จึงเป็นสงครามที่ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ มีแต่ประเทศชาติเท่านั้นที่พ่ายแพ้

************
เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์






กำลังโหลดความคิดเห็น