xs
xsm
sm
md
lg

กอล์ฟ กีฬาไร้อาณาเขต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กีฬาประเภทบอลเพียงไม่กี่ชนิด ที่ไม่มีอาณาเขตการเล่นแน่นอน สนามกีฬาแต่ละแห่งก็ยังมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไปอีก หนึ่งในนั้นคือ “กอล์ฟ”
กอล์ฟ เป็นกีฬาหรือเกมประเภทบอลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นใช้ไม้หลายชนิดตีลูกบอลให้ลงหลุม จากกฎของกอล์ฟ ระบุว่า
“กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกใดลูกหนึ่งด้วยไม้กอล์ฟ จากแท่นตั้งตีไปลงหลุมโดยการสโตรกหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามข้อบังคับ”

ประวัติศาสตร์กีฬาประเภทนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่างว่าใคร? เป็นต้นกำเนิดกีฬากอล์ฟ ระหว่างเนเธอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และจีน ซึ่งกีฬากอล์ฟนั้นได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ ที่เมือง Loene ann de Vech เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1840 ชาวดัตช์เล่นเกมด้วยไม้และลูกบอลหนัง โดยผู้ที่ตีลูกบอลลงหลุม ด้วยจำนวนครั้งการตีที่น้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

ส่วนชาวสกอตแลนด์ถือว่าการคิดค้นกีฬากอล์ฟเป็นของตน เนื่องจากกฎหมายสองฉบับในพุทธศตวรรษที่ 20 มีการห้ามเล่นกีฬา “gowf” และที่มาของการเล่นกอล์ฟสิบแปดหลุมก็มาจากสกอตแลนด์ แต่นักวิชาการกลับเชื่อว่าเป็นการกล่าวถึงกีฬา “ฮอกกี้” มากกว่า เพราะกีฬาที่ใช้ไม้กอล์ฟตีลูกบอลให้ลงหลุมนั้นมีการเล่นในเนเธอร์แลนด์มากกว่าสกอตแลนด์

ขณะที่หลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดกอล์ฟค้นพบโดยศาสตราจารย์ Ling Hongling มหาวิทยาลัยหลานโจ่ว ประเทศจีน กล่าวว่า บันทึกจากสมัยราชวงศ์ซ่ง มีการกล่าวถึงเกมฉุยหวาน และมีภาพวาดด้วย ว่าเกมชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ “กอล์ฟ” ในปัจจุบันมาก เพราะเกมฉุยหวานมีการใช้ไม้สิบชนิด รวมทั้งไม้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับไดร์เวอร์ หัวไม้สอง และหัวไม้สามด้วย ไม้ต่างๆ มีการประดับด้วยหยกและทอง ทำให้เชื่อว่าเป็นกีฬาสำหรับคนรวยเท่านั้น !

สนามกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการเล่นกอล์ฟเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2215 คือ สนาม Musselburgh ในสกอตแลนด์ ขณะที่ในประเทศไทยสนามกอล์ฟแห่งแรกคือ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน หรือสนามรถไฟหัวหิน ที่ได้ชื่อว่าเป็นสนามภูเขาที่สุดคลาสสิก ถูกสร้างขึ้นโดยผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว( รัชการที่ 7) ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกอล์ฟเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2467

ในตอนแรกสร้างขึ้นเพียง 9 หลุมตรงข้ามกับสถานีรถไฟหัวหิน ต่อมาทางการรถไฟฯ ได้ปรับปรุงสนามกอล์ฟหลวงหัวหินขึ้นมาใหม่ให้ได้ระดับมาตรฐาน โดยเพิ่มจำนวนหลุมเป็น 18 หลุม มีความยาว 6,654 หลา พาร์ 72 และสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยได้รับรองแล้ว โปรกอล์ฟขวัญใจคนไทยหลายคนถือกำเนิดจากสนามนี้ เช่น โปรประหยัด มากแสง โปรพรหม มีสวัสดิ์ เป็นต้น

กีฬากอล์ฟ เล่นในพื้นที่สนามกอล์ฟ ซึ่งประกอบไปด้วยหลุมหลายหลุม โดยในทางกอล์ฟ “หลุม” หมายถึง ทั้งหลุมที่เจาะลงไปในพื้นดิน และอาณาเขตตั้งแต่แท่นที่ตั้งไปจนถึงกรีน ส่วนใหญ่สนามกอล์ฟมาตรฐานทั่วไปจะประกอบไปด้วยหลุมสิบแปดหลุม สนามกอล์ฟ ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
แท่นทีออฟ
การตีครั้งแรกแต่ละหลุม เริ่มตีจากเขต “แท่นตั้งที” (teeing Ground) ผู้เล่นสามารถใช้แท่งหมุดขนาดเล็ก เรียกว่า “ที่ตั้งลูก” (tee) ช่วยในการตี ทีช็อต ให้ง่ายขึ้น

แฟร์เวย์และรันเวย์ หลังจากตีลูกออกห่างจากแท่นตั้งที ผู้เล่นจะตีลูกกอล์ฟจากจุดที่ลูกมาหยุดอยู่ ซึ่งอาจจะเป็น แฟร์เวย์(fairway) หรือรัฟ (rough) บนแฟร์เวย์นั้น หญ้าจะถูกตัดสั้นและเรียบ ทำให้การตีลูกนั้นง่ายกว่าการตีจากรัฟ ซึ่งมักจะใช้หญ้ายาวกว่า

อุปสรรค หลุมหลายหลุมในสนามกอล์ฟอาจมีเขต อุปสรรค (hazard) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เขตอุปสรรคน้ำ (Water hazard) และเขตบังเกอร์(bunker) หรือที่เรียกว่าหลุมทราย โดยการเล่นในเขตอุปสรรคจะมีกฎบังคับเพิ่มเติม ทำให้การเล่นลำบากมากขึ้น เช่น ในเขตอุปสรรค ผู้เล่นไม่สามารถใช้ไม้กอล์ฟสัมผัสพื้นก่อนการเล่นลูกได้ ลูกที่อยู่ในเขตอุปสรรคสามารถเล่นจากจุดที่ลูกหยุดอยู่ได้โดยไม่ถูกปรับแต้ม หากไม่สามารถเล่นในจุดนั้นได้ ผู้เล่นอาจจะเลือกเล่นจากจุดอื่น โดยจะปรับโทษหนึ่งสโตรก

กรีน เมื่อลูกอยู่บนกรีน (putting green) แล้ว ผู้เล่นจะพัตลูกไปยังหลุม จนกว่าจะลงหลุม การพัต (putt) คือการตีลูกครั้งหนึ่ง มักจะทำบนกรีน แต่ไม่เสมอไป โดยการใช้ไม้กอล์ฟ ที่มีหน้าแบนเรียบ ทำให้ลูกกลิ้งไปบนพื้นโดยไม่ลอยจากพื้นดิน หญ้าบนกรีนนั้นจะสั้นมาก ทำให้ลูกกลิ้งไปได้ง่าย ทิศทางของใบหญ้าและความลาดเอียงของพื้นมีผลต่อทิศทางการกลิ้งของลูก หลุมกอล์ฟจะอยู่บนกรีนเสมอ ขนาด 108 มิลลิเมตร และลึกอย่างน้อย 100 มิลลิเมตร ตำแหน่งของหลุมอาจเปลี่ยนได้ในแต่ละวัน มักมีธงปักเพื่อให้เห็นได้ในระยะไกล

โอบี คือเขตที่อยู่นอกสนามที่กำหนดไว้ ผู้เล่นจะตีลูกไม่ได้ หากลูกของผู้เล่นตกไปยังเขตโอบี ผู้เล่นจะต้องเล่นลูกจากจุดเดิมที่ตีมา และปรับแต้มเพิ่มหนึ่งสโตรค
เขตอื่น ในสนามบางส่วนอาจมี พื้นที่ซ่อม (ground under repair หรือ G.U.R) ซึ่งหากลูกกอล์ฟของผู้เล่นเข้าไปตกในเขตนี้แล้ว ผู้เล่นสามารถหยิบออกมาเล่นนอกเขตได้โดยไม่ถูกปรับแต้ม นอกจากนี้ยังมี สิ่งกีดขวาง (obstruction) เช่น หมุดบอกระยะทาง รั้ว ฯลฯ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น


พาร์ แต่ละหลุมในสนามกอล์ฟจะมี พาร์(par) เป็นจำนวนครั้งการตีที่ผู้เล่นควรจะตีจบหลุม ในสนามกอล์ฟสิบแปดหลุมส่วนใหญ่ จะมีหลุมพาร์สามและพาร์ห้าอย่างละสี่หลุม และหลุมพาร์สี่อีกสิบหลุม รวมทั้งสิบแปดหลุมพาร์ 72 แม้ว่าจะมีการผสมแบบอื่น การแข่งขันหลายรายการที่เล่นบนสนามพาร์ 71 หรือ 70
ไม้กอล์ฟ เป็นส่วนหนึ่งในอุปกรณ์กอล์ฟ ส่วนใหญ่ผู้เล่นแต่ละคนจะมีไม้กอล์ฟหลายอันแต่ไม่เกิน 14 อัน ซึ่งไม้กอล์ฟแต่ละอันจะมีขนาดและองศาหน้าไม้ที่แตกต่างกัน และมีผลต่อเส้นโคจรของลูกกอล์ฟ โดยที่องศาของหน้าไม้นั้น จะจากแนวตั้งฉาก

หัวไม้ (wood) เป็นไม้ที่ยาวที่สุดและมักจะใช้กับช็อตที่ต้องการระยะไกล หัวไม้ที่ยาวที่สุดเรียกว่า “ไดร์เวอร์” หัวไม้แต่เดิมทำจากไม้เมเปิลหรือไม้พลับ หัวไม้สมัยใหม่ทำจากเหล็กไทเนียม มีลักษณะกลวง

หัวเหล็ก (iron) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เหล็ก” ใช้ในการตีระยะสั้นกว่าหัวไม้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เหล็กมีเลขตั้งแต่ 1-9 เลขที่ต่ำ องศาหน้าไม้ก็จะยิ่งต่ำตาและก้านยาว เหล็กที่สั้นที่สุดเรียกว่าเวดจ์ ชุดเหล็กทั่วไป ประกอบด้วยเหล็กตั้งแต่เบอร์ 3 ถึงพิตชิงเวดจ์ นักกอล์ฟอาชีพใช้เหล็กยาง (เบอร์ต่ำ) ลดลง เพราะการพัฒนาไม้ไฮบริด ซึ่งให้เส้นโคจรที่ดี และตีง่ายกว่า

เวดจ์ (wedge) คือเหล็กที่มีองศาหน้าไม้มากกว่า 44 องศา “พิตชิงเวดจ์” (pitching wedge) มีองศาหน้าไม้ 44 ถึง 50 องศา และมีการออกแบบให้ใกล้เคียงกับเหล็กทั่วไป “ลอบเวดจ์”(lob wedge) คือเวดจ์ที่มีองศาหน้าไม้สูงมาก ใช้ในการตีขึ้นกรีนจากทราย หรือในช็อตแก้ไขที่ต้องใช้ช็อตลูกโด่งมากและระยะทางสั้น ผู้ผลิตไม้กอล์ฟส่วนใหญ่ผลิตเวดจ์ตั้งแต่ 48 ถึง 60 องศา
พัตเตอร์ (putter) มีหัวหลายรูปแบบ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีองศาหน้าไม้ที่ต่ำมาก และก้านที่สั้น เพื่ออผลักลูกกอล์ฟให้กลิ้งไปบนพื้นมากกว่าที่จะลอยสู่อากาศ โดยทั่วไปพัตเตอร์จะใช้บนกรีน

ลูกกอล์ฟ ต้องมีลักษณะเป็นทรงสมมาตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 42.67 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักไม่เกิน 45.93 กรัม พื้นผิวของลูกกอล์ฟ มีรอยบุ๋มประมาณ 300-500 รอย วิธีการและวัสดุที่ใช้ในการผลิตลูกกอล์ฟ มีผลต่อคุณสมบัติต่างๆ ในการเล่น เช่น ระยะทาง เส้นโคจร เป็นต้น วัสดุที่มีความแข็ง อย่างเช่น เซอร์ลีน ส่งผลให้ลูกกอล์ฟเคลื่อนที่ได้ไกลขึ้น แต่วัสดุที่นุ่มกว่าอย่าง บาลาตา มักจะให้การหมุนของลูก(สปิน) ได้ดีกว่า ซึ่งในอดีตลูกกอล์ฟเคยทำจากไม้ ขนนก และยางไม้ ลูกกอล์ฟมีหลายสี แต่ที่นิยมมากที่สุด คือสีขาว

การนับคะแนน มีทั้งเบอร์ดี (BIRDIE) อีเกิล(EAGLE) โบกี (BOGEY) และอีกมากมาย ดูชื่อแล้วอาจจะงงว่าทำไมต้องตั้งเป็น BIRDIE หรือ BIRD ที่แปลว่านก เรื่องนี้ต้องขยายความให้ฟังว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่า BIRD เป็นคำสแลงที่มีความหมายทำนองว่า เจ๋งสุดยอด และเมื่อมีคนเริ่มให้คะแนนกันด้วยนก จึงมีการตั้งชื่อคะแนนลำดับต่อๆ มาเป็น EAGLE (เหยี่ยว) ALBATROSS (ชื่อนกทะเลตัวใหญ่) และ CONDOR (นกแร้งขนาดใหญ่) ซึ่งเจ๋งกว่ากันขึ้นมาตามลำดับ

พูดถึงคะแนนติดลบไปแล้ว คราวนี้มาดูคะแนนบวก (ซึ่งแปลว่าไม่ดี) กันบ้าง คะแนนโอเวอร์พาร์ถูกเรียกอีกชื่อว่าโบกี (BOGEY) โบกี คือ การตีเกินพาร์หนึ่งครั้ง ส่วนการตีเกินสองครั้งและสามครั้ง เรียกว่า ดับเบิลโบกี (DOUBLE BOGEY) และทริปเปิลโบกี (TRIPLE BOGEY) ตามลำดับ

คำว่าโบกีนี้มีที่มาจากเพลงยอดฮิตของเกาะอังกฤษในช่วงต้นทศวรรษ 1890 ชื่อ "THE BOGEY MAN" หรือที่รู้จักกันภายหลังในชื่อ "THE COLONEL BOGEY MARCH" ซึ่งพูดถึงปิศาจโบกีที่ชอบหลบหนีและซ่อนตัวอยู่ในความมืด ดังเนื้อเพลง "I'M THE BOGEY MAN, CATCH ME IF YOU CAN" คำว่าโบกี้ในกีฬากอล์ฟสมัยก่อน จึงหมายถึงการตามหาสิ่งที่พบได้ยากมาก หรือคะแนนที่ดีที่สุดนั่นเอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปและการกำหนดคะแนนด้วยพาร์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คำว่าโบกีกลับถูกเปลี่ยนความหมาย กลายเป็นการให้คะแนนโอเวอร์พาร์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กอล์ฟก็เป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดโรคภัยไข้เจ็บ เล่นได้ทั้งชาย หญิง ทั้งยังได้รับความสนุกสนานกลับบ้านไปอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย ,
วิชาการ.คอม และคุณเก่ง อ้อมน้อย







กำลังโหลดความคิดเห็น