อีกไม่นานเกินรอ เงิน 2,000 บาท ก็จะลอยเข้าสู่อุ้งมือประชาชนนับ 10 ล้านคนทั่วประเทศ ตามแนวทางจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้องขึ้น เกิดการใช้จ่ายหนุนส่งวงเงินให้เดินสะพัด หายใจหายคอได้คล่องกว่าเดิม หลังจากจมจ่อมชะงักงันกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอันเป็นผลพวงเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งธุรกิจภาคการส่งออกที่ลดลง ตัวเลขคนว่างงานที่พุ่งสูง รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ปั่นป่วนทรุดหนักทั่วโลก
แนวทางดังกล่าวจะฉุดเศรษฐกิจไทยให้เฟื่องฟูหรือ...แป้ก! กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดังหวังหรือไม่ สำคัญกว่านั้น รัฐจะเตรียมรับมืออย่างไร กับประชาชนคนรากหญ้าอีก 23 ล้านคน ที่ถูกกันออกนอกวงโอบอุ้มครั้งมโหฬารนี้
ปริทรรศน์ ร่วมถ่ายทอดทรรศนะประชาชนคนเดินดิน ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเงิน 2,000 บาทที่กำลังจะได้มา
................
แม้ไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบร้ายแรงเทียบเท่ากับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 แต่เมื่อชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกต่างบาดเจ็บกันถ้วนหน้า กอปรกับปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนับแต่ปีที่ผ่านมา มิพักต้องเอ่ยถึงตัวเลขคนว่างงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ว่า อาจมีสูงถึง 1,400,000 คน หากภายในปีนี้ เศรษฐกิจไทยไม่เติบโต
เพื่อเลี่ยงจากฝันร้ายดังกล่าว แนวทาง“ จ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท” คือไม้เด็ดกันตาย กันเหนียว ที่รัฐบาล “มาร์ค1” งัดมาใช้ จริงอยู่ แนวทาง “อัดฉีด” เงิน เพื่อกระตุ้นภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจเป็นทฤษฎีทางการตลาดที่ถูกวางไว้ว่าควรเลือกนำมาใช้
ทว่า เมื่อก้าวจากโลกทฤษฎีสู่โลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาที่รออยู่ ย่อมไม่อาจแก้ไขได้ด้วยทฤษฎีสวยหรูหรือการหว่านโปรยนโยบายที่หอมหวาน
ใคร...ยาใจคนจน
“อ้าว! เกษตรกรไม่ได้เหรอครับ นี่รัฐเขาไม่ให้เกษตรกรด้วยเหรอ ก็ชาวนาชาวไร่เขาได้เงินแต่ละเดือน ไม่ถึง 14,999 บาทกันทั้งนั้น ทำไมทำอย่างนี้ล่ะครับ แบบนี้เกษตรกรก็ไม่ใช่แค่ ‘ลูกเมียน้อย’ แล้วล่ะ แต่เป็นเหมือน ‘ ทาส’ เป็นทาสอยู่วันยังค่ำ”
พีรยุทธ ราษฎร์หาญ เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านแม่มอกใต้ ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง เอ่ยกับเราอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม น้ำเสียงเปิดเผยให้รู้ว่าตกอกตกใจที่เกษตรกรไม่อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับเงิน 2,000 บาท
สอดคล้องกับความเห็นของ วิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มการเกษตรกลุ่มภาคกลางระดับจังหวัด ที่เคยเรียกร้องและเสนอแนะต่อรัฐบาลนับแต่เมื่อแรก ที่มาตรการหรือแนวทางดังกล่าวยังไม่มีบทสรุปชัดเจนจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ถึงขั้นตอนและวิธีการรับเงิน
โดย วิเชียร มองว่า เกษตรกรเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อยู่ด้วยความยากลำบาก คอยทำงานเลี้ยงประชากรทั้งในและต่างประเทศ ทว่า รัฐไม่เคยให้ความสำคัญ ทั้งที่ทราบปัญหาของคนกลุ่มนี้ดีกว่ากลุ่มอื่น แม้รัฐจะอ้างว่าช่วยเหลือด้านการประกันราคา พยุงราคาพืชผล เพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางกดราคา กระนั้นก็ถือเป็นคนละส่วนกับแนวทางการจ่ายเงิน 2,000 บาท ดังนั้นจึงขอให้
รัฐบาลใส่ใจปัญหาลูกจ้างแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีรายได้ไม่เกินวันละ 180-200 บาท รวมถึงพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนาทั่วประเทศ ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท ให้ได้รับเงิน 2,000 บาท เช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่น
“ผมฟังข่าว ก็เหมือนกับได้ยินเขาบอกว่าจะได้ทุกคนนี่นา แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเกษตรกรไม่ได้ก็แย่นะ เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไม่เคยได้รับสวัสดิการอะไรเลย ไม่เหมือนข้าราชการ ไม่เหมือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ ถ้าคุณจะช่วยจริงๆ ก็ต้องช่วยทุกคนสิ ต้องช่วยเกษตรกรด้วย ช่วยชาวบ้านด้วย ไม่ใช่แค่ช่วยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน”
...ก็เกษตรกรไม่อยู่ในกลุ่มผู้ประกันตนที่จ่ายค่าสวัสดิการประกันสังคมทุกๆ เดือน เราโต้ตอบกับผู้ใหญ่บ้าน ด้วยชุดข้อมูลอีกด้าน
“ที่ไม่จ่ายก็เพราะเขาไม่มีเงินเดือนประจำ แต่ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่เงินเดือนไม่ถึง 14,999 บาทนี่นา พี่น้องเกษตรกรน่าจะอยู่ในกลุ่มนี้นี่ครับ”
...เป้าหมายของรัฐเขาต้องการโอบอุ้มกลุ่มชนชั้นกลาง เพราะมีอำนาจในการใช้จ่าย แล้วเงินที่ได้ก็จะกระจายไปทั่วถึงทั่วประเทศ…
“อำนาจ ในการใช้เงิน มันมีกันทุกกลุ่มนั่นแหละครับ ไม่ใช่เฉพาะแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจการใช้จ่าย”
ถ้าเกษตรกรไม่ได้เงิน 2,000 บาทแน่ๆ ล่ะ ผู้ใหญ่บ้านจะรู้สึกอย่างไร เราถามกลับ
“ถ้าไม่ได้ ก็หมายความว่ารัฐมองข้ามเกษตรกร มองข้ามชาวบ้านตาดำๆ ที่สวัสดิการอะไรก็ไม่มี เงินเดือนก็ไม่มี ไม่ยุติธรรม ไม่น่าแยกชนชั้น ไม่น่าแยกเกษตรกรออกจากกลุ่มที่จะได้เงิน 2,000 บาท เป็นการมองข้าม และไม่ให้โอกาสคนจนที่เป็นฐานของประเทศชาติ”
ไม่ใช่แค่เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานในกลุ่มอื่นๆ ก็มองมาตรการจ่ายเงินด้วยสายตาไม่ต่างกันนัก ดังเสียงแม่ค้า ที่ฝากมากับอาจารย์หนุ่ม
“เมื่อวานคุยกับแม่ค้าส้มตำเรื่องนโยบายแจกเงินสองพันบาท เขาก็รู้สึกว่าเขา ไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ายังคงมีความรู้สึกนี้อยู่นะครับ สำหรับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบเงินเดือนประจำ ยังไงก็อยากฝากถึงรัฐบาลด้วยว่ารัฐต้องไม่ลืมเรื่องการจัดการกับความรู้สึกประชาชน”
สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สะท้อนความเห็นต่อแนวทางจ่ายเงินของรัฐบาล
เงินสองพัน เอาไปทำอะไรดี?
คำถามนี้อาจฟังดูน่าขำสำหรับบางคน ค่าที่จำนวนเงินมันเยอะ…เสียเหลือเกิน ในความคิดของคนชั้นกลาง ในยุคสมัยที่ข้าวแกงจานละเกือบ 30 บาท และราคาทองคำพุ่งพรวดไปแตะอยู่ที่บาทละ 16,000 บาทในห้วงยามนี้ เงิน 2,000 เลยดูเป็นจำนวนน้อย ไม่น่าจะมากพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลคาดหวังได้
บัวแก้ว สุขใจ ลูกจ้างชั่วคราวประจำสถานีอนามัยบ้านสำโรงโคกเพชร ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่มีรายได้เดือนละ 6,000 บาท กล่าวว่า สำหรับเธอนโยบายแจกเงินช่วยเหลือของรัฐบาลครั้งนี้ ช่วยให้เธอมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสำหรับใช้จ่ายในครอบครัว
“เงิน 2,000 บาท จะว่ามากมันก็ไม่มาก จะว่าน้อยมันก็ไม่น้อย มันก็พอดี แต่ว่าถ้าเค้าให้มากกว่านี้มันก็ดี ในความคิดสำหรับเราที่จ่ายประกันสังคมไปทุกเดือน ถ้าเราจะได้คืนมั่งก็น่าจะสักประมาณ 5,000 บาท ถึงจะคุ้มพอดี เพราะว่ามันได้แค่เดือนเดียว ที่ผ่านมาเจ็บป่วยประกันสังคมก็ไม่ค่อยได้ใช้ นอกจากตอนคลอดบุตรเท่านั้น”
บัวแก้วบอกต่อว่า เงินที่ได้มาเธอตั้งใจจะเก็บไว้ให้ลูก แต่ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับเป็นเช็คหรือผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งเธอได้ยินมาว่าหากเป็นลูกจ้างของราชการจะโอนเข้าบัญชีให้เลย แต่ถ้าเลือกได้เธออยากให้รัฐบาลช่วยบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเข้าเป็นลูกจ้างประจำดีกว่า ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างชั่วคราวอย่างเธอมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้นกว่าทุกวันนี้
ด้าน นภาลัย ไกรสมสุข พนักงานการเงินและบัญชีของสมาคมผู้ฝากเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 2,000 บาท เป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
“สำหรับการใช้ชีวิตในต่างจังหวัด เงินสองพันถือว่าน้อยไหม..มันก็ไม่น้อยนะ เพราะว่าสองพันตรงนี้มันก็สามารถใช้ได้ช่วยเสริมกับเงินเดือนของเรา ทั้งเดือนเราก็สามารถอยู่ได้แบบไม่ค่อยเดือดร้อน ถ้าได้เงิน 2,000 บาท ตรงนี้มานะ จากที่ว่าเงินเดือนเราไม่ถึงหมื่น เราได้เงินช่วยเหลือตรงนี้มาเราก็ยังพอว่าจะได้มีแผนในการใช้ตังค์เพิ่มขึ้นอีก 2,000 หรืออาจจะเป็นเงินเก็บของเราไปไว้เลย”
ทั้งนี้ ส่วนตัวนภาลัยวางแผนไว้ว่า เธอจะนำเงินจำนวนสองพันบาทที่ได้มาเก็บไว้ก่อน
“เราอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก เพราะว่าทำงานก็อยู่บ้านตัวเอง ไม่ได้เช่าไม่ได้อะไร”
ส่วน จิตติ จุลินรักษ์ พนักงานออกแบบบริษัทคอมพิวเตอร์วัย 24 ปี กล่าวว่าเงินจำนวนสองพันดังกล่าว เขาจะมอบไว้ให้คุณแม่ที่บ้านไว้ใช้จ่าย
“ถ้าได้เดือนเดียว ผมมองว่ามันก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่เดือนเดียว ผมไม่ค่อยซีเรียสเรื่องจำนวนเงิน แต่ถ้าจะกระตุ้นจริงๆ ผมว่าให้ทุกเดือนไปเลยจะดีกว่า เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนก็ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่” พนักงานออฟฟิศหนุ่มกล่าว
2,000 บาท ต่อลมหายใจคนตกงาน
เงิน 2,000 บาทสำหรับใครบางคนอาจไม่มากมาย มีความหมายแค่ค่าช็อปปิ้ง ดูหนัง หรือค่าอาหารเพียงมื้อหนึ่ง แต่สำหรับอีกหลายคนที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนต้องออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างนั้น เงินจำนวนนี้อาจหมายถึงค่ากับข้าวในแต่ละมื้อ ที่เหลือเจียดเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าชุดนักเรียนใหม่ของลูกในช่วงเปิดเทอมที่ใกล้จะมาถึง
ควริษฐา พงษ์รัมย์ อดีตพนักงานบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ที่ถูกเลิกจ้างมาหมาดๆ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บอกเล่าว่าบริษัทของเธอต้องการลดพนักงานออก มีเธอเป็นหนึ่งในล๊อตแรกที่ถูกเลิกจ้าง โดนบอกล่วงหน้า 1 เดือน หลังรับเงินชดเชย 3 เดือนแล้ว ควริษฐาก็เก็บกระเป๋ากลับมาอยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์ โดยทำงานอาสาสมัครแบบที่เรียกว่า “จิตอาสา” ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนประจำ แต่เป็นลูกจ้างรายวันที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่งใกล้บ้าน
“ถ้าพูดถึงคนตกงาน เงิน 2,000 บาท มันรู้สึกน้อย น่าจะเอางบตรงนี้มาส่งเสริมช่วยกระจายหาอาชีพให้คนที่ตกงานมากกว่า แต่เงิน 2,000 มันมาแป๊บเดียวไง มันแค่ชั่วคราว บางคนอาจจะต่อชีวิตไปแค่เดือนเดียว”
เช่นเดียวกับจิรพรรณ ขวัญทอง อดีตนักเรียนทุนของกระทรวงสาธารณสุข วัย 22 ปี ที่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ ปัจจุบันเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่ง แสดงความเห็นว่า
“ตอนนี้คนตกงานก็เยอะ คนถูกเลิกจ้างก็เยอะ อยู่ในระบบประกันสังคมซะเป็นส่วนใหญ่ ถามว่าเงินตรงนี้มันช่วยคนที่ตกงานได้ไหม มันช่วยอยู่ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คือสามารถที่จะช่วยให้เขาพยุงตัวเองได้สักช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะหางานใหม่ได้ ตอนนี้เรายังไม่ตกงาน เรายังพอมีเงินเดือนอยู่ เงิน 2,000 บาทนี้เราอาจจะเก็บไว้ก่อน ถ้าฉุกเฉินจริงๆ ถึงอาจจะหยิบเอาตรงนี้มาใช้จะดีกว่า เป็นเหมือนการออมน่ะค่ะ”
ทำไมต้องอุ้ม ‘คนมีเงิน (เดือน)’
“ผมมองว่าในมุมของรัฐ เขาอาจวิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางอยู่กับฐานของการจับจ่ายมากกว่าชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เพราะชนชั้นกลางไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องจับจ่ายใช้สอย ซื้อหาในสิ่งที่ตัวเองไม่อาจผลิตได้ เมื่อเงินมาอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้จึงย่อมกระจายหรือสะพัดไปได้มาก ซึ่งจะต่างกับผู้ใช้แรงงาน หรือเกษตรกรที่เขาเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต”
นอกจากเป็นปากเสียงให้แม่ค้าส้มตำแล้ว ในฐานะที่อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับเช็คเงินสด 2,000 บาท สมัชชา นิลปัทม์ ยังแสดงทรรศนะต่อเนื่อง ถึงเหตุผลสำคัญที่รัฐเลือกโอบอุ้มกลุ่มผู้มีเงินเดือนประจำ
เมื่อถามว่า แนวทางดังกล่าว ดีพอหรือยัง สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้กระเตื้องขึ้น มุมมองของสมัชชา คือ
“ถ้าให้คาดเดา มันก็อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะช่วงเวลาที่จะได้รับเงิน 2,000 บาท มันสอดคล้องกับช่วงเวลาวันหยุดเทศกาล อย่างกรณีนี้ก็เป็นช่วงสงกรานต์ ซึ่งผู้คนย่อมต้องใช้จ่าย”
แล้วคุณเลือกที่จะจ่าย หรือออม? ถ้าจ่าย จ่ายอย่างไร อาจารย์หนุ่มจากปักษ์ใต้ ตอบเราว่า
“ผมก็คงเอาไปใช้จ่ายทั่วๆ ไป ถึงมันไม่ได้เป็นเงินจำนวนมากมายอะไรนัก แต่ก็เอาไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวันได้ ส่วนเรื่องการออมคือเลือกที่จะไม่นำเงินส่วนนี้ไปใช้ ผมว่าก็คงมีคนที่คิดจะออมอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะว่าจะออมได้หรือเปล่า”
เงิน 2,000 จะออมไว้ได้ไหม ในท่ามกลางสภาพสังคมที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงลิ่ว ทั้งปัจจัยแวดล้อมอาจผลักให้เราต้อง “จ่าย” อย่างยากจะทัดทาน และหากเป็นเช่นนั้น สมัชชา มองว่าเงินย่อมสะพัดอย่างที่รัฐหวัง
“ หากมองเป็นรายบุคคล เราอาจจะเห็นภาพไม่ชัดว่า เงิน 2,000 บาท จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไหม แต่ถ้ามองในภาพรวม ผมคิดว่าโดยหลักการแล้ว เงินมันก็คงสามารถสะพัดไปได้ถึงทุกส่วน”
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเงินสะพัดมากน้อยแค่ไหน สมัชชาก็ย้ำว่า
“สำหรับผม มาตรการดังกล่าวก็เป็นแค่กลไกหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ เท่านั้นเอง”
เสียงสะท้อนต่างมุมมอง
ปฏิมาพร ศรีบูรณ์ พนักงานห้องแล็บบริษัทนำเข้าสารเคมีสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งหนึ่ง แสดงความเห็นต่างต่อนโยบายนี้ของรัฐบาลว่า ไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผล เป็นแค่การช่วยเหลือคนระดับกลางถึงระดับบนเท่านั้น
“เงิน 2,000 บาท สำหรับคนมีเงินเดือน มันไม่สมเหตุสมผลใช่ไหม มันก็แค่ครอบคลุมคนที่ทำประกันสังคมเท่านั้น ระดับล่างๆ จริงๆ ชาวนาไม่มีประกันสังคมหรอก เงินแค่นี้สำหรับเรามันอาจจะไม่มีค่า แต่คนที่ไม่ได้ เงินจำนวนนี้ก็อาจจะมีค่าสำหรับเขา จะโทษว่าเขาไม่ได้มาจ่ายประกันสังคมเองก็ไม่ได้หรอก เดือนหนึ่ง 3-400 บาท แค่เงินจะกินเขาก็ยังไม่มีเลย จะเอาที่ไหนไปจ่ายประกันสังคม
"บอกว่าจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แค่ไปเที่ยวต่างจังหวัด เงิน 2,000 บาท เป็นค่ารถยังไม่ได้เลย ถ้ารัฐบาลอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ให้หยุดงานสักอาทิตย์หนึ่ง แล้วคนก็จะออกมาใช้เงินเอง ไม่ต้องเอาเงิน 2,000 บาท มาให้หรอก แถมรัฐบาลก็ไม่มีตังค์ ต้องกู้เขามาอีก มากระเบียดกระเสียรเงินประกันสังคมของเราอีก”
พรทิพย์ อินทจักร เป็นอีกคนหนึ่งที่มีรายได้ต่ำดังเกณฑ์ที่กำหนด แต่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทจากรัฐบาล เนื่องด้วยหน่วยงานของเธออยู่ในรูปแบบองค์กรอิสระ ไม่เข้าข่ายจัดตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลตามหลักของประกันสังคม
แต่แม้จะไม่ได้เงินสองพันบาท แต่พรทิพย์ก็ไม่ได้รู้สึกเสียดาย เพราะเธอมองว่ายังมีคนอื่นที่น่าจะจำเป็นมากกว่า
“ส่วนตัวแล้วเฉยๆ กับนโยบายนี้ เงิน 2,000 บาท..ถามตัวเองว่าจะเอาไปใช้อะไร มันก็คงไม่ได้ถึงขนาดเดือดร้อนจนกระทั่งกระตือรือร้นอยากจะได้ ถ้าเกิดได้จริงๆ ก็คงเอาไปซื้ออะไรที่ไม่จริงจัง หรือซื้อของกินมากกว่า”
ครอบครัวของพรทิพย์นั้นเปิดบริษัทมีกิจการเป็นของตนเอง เธอจึงมีความเห็นในมุมมองของฝ่ายนายจ้างด้วยว่า
“ที่บ้านทำธุรกิจ ในฐานะที่เราเป็นนายจ้าง เราก็ต้องจัดการให้ลูกน้องของเรา ต้องไปดำเนินการเอง ซึ่งมีขั้นตอนตรวจเช็คเอกสารหลายขั้นตอน ไปถึงเราต้องรับบัตรคิวและคนเยอะมาก แล้วคนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือคนที่อยู่ที่อื่น เค้าก็ต้องเสียเวลามา ค่ารถค่าอะไรมันก็อาจจะเกิน 2,000 แล้วมั้ง กว่าที่จะมาถึงประกันสังคมจังหวัด อย่างที่เชียงใหม่เห็นว่าคนเยอะมาก ถึงขั้นต้องตั้งเต๊นท์ มีคนประกาศเรียก คิวยาวเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วถ้าเอกสารผิดก็ต้องกลับไปแก้ใหม่ ที่บ้านก็บอกว่า ถ้ามันยุ่งยากนักก็ไม่ทำ เรายอมที่จะให้เงินลูกน้องเราโดยไม่ต้องไปเอาเงินจากรัฐบาล แต่เราคิดว่าลูกน้องเราคงอยากได้ เพราะอย่างน้อย เงิน 2,000 เขาก็อาจจะเอาไปใช้อะไรได้มากกว่าเรา"
ในฐานะที่ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง พรทิพย์ยืนยันว่าเงิน 2,000 บาท จากแนวทางจ่ายเงินของรัฐบาล ไม่จำเป็นสำหรับเธอ
............
***ล้อมกรอบ***
หลักเกณฑ์ผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือของรัฐบาลจำนวน 2,000 บาท
กลุ่มที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ “จ่ายเงิน” ช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ประชาชนในระบบประกันสังคม ประมาณ 8 ล้านคน ,บุคลากรภาครัฐที่เข้า
เกณฑ์ ประมาณ 1 .2 ล้านคน และกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์เพื่อความถูกต้อง อีกประมาณ 1.3 แสนคน
สำหรับกลุ่มที่ 1 กลุ่มประชาชนในระบบประกันสังคม หมายถึง กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมปกติ หรือออกจากงานแล้วแต่ยังจ่ายสมทบต่อเนื่องด้วยตัวเอง ตามมาตรา 39 นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มคนว่างงาน และยังอยู่ระหว่างรับเงินชดเชยประกันการว่างงาน ซึ่งทั้งหมดต้องมีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือน
กลุ่มที่ 2 บุคลากรภาครัฐที่เข้าเกณฑ์ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือนเช่นกัน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา, ข้าราชการพลเรือน, ข้าราชการตำรวจ, ลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว, ข้าราชการทหาร, ข้าราชการบำนาญ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, แพทย์ประจำตำบล, สารวัตรกำนัน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ,ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ, อาสาสมัครทหารพราน, สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ ประกอบด้วย ครูโรงเรียนเอกชนที่อยู่ในระบบกองทุนสงเคราะห์ กลุ่มที่ต้องตรวจสอบสิทธิที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน ซึ่งหมายถึงกลุ่มครูที่ไม่อยู่ทั้งในระบบกองทุนสงเคราะห์ และระบบประกันสังคม และสุดท้าย คือ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนเอกชนที่ไม่อยู่ในประกันสังคม
อนึ่ง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานประกันสังคม 02-956-2539-40
...............
เรื่องโดย : ทีมข่าวปริทรรศน์