"เมื่อเราอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร เมื่อนั้นแหละเราจะมีความสุข และรู้จักตัวเองได้ดีที่สุด"
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล
กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงนิเวศ (Ecotourism) กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่บางส่วนที่นิยมไปท่องเที่ยวในแหล่งสถานที่ธรรมชาติ แต่หลายครั้งการเข้าไปของนักท่องเที่ยว กลับนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมและมลพิษที่ถูกปรุงแต่งของคนเมืองที่แปลกปลอมจากป่า
การหันหลับมาพิจารณาแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ ตัวเมือง อย่างพื้นที่ตามแนวถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล สุดเขตตามแนวจังหวัดกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงชายทะเลแถบสถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ แทนการดั้นด้นบุกป่าฝ่าเขา เพื่อไปชมธรรมชาติด้วยการดูนกอพยพริมฝั่งอ่าวไทยแทนนั้น นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนเมืองที่มีหัวใจอนุรักษ์ แต่ไม่อยากรบกวนธรรมชาติมากเกินไป
จากอ่าวไทยถึงดงโรงงาน
การท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นภาคส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเติบโตเร็วที่สุดในระดับโลก ในช่วงทศวรรษ 1990 การท่องเที่ยวธรรมชาติเติบโตร้อยละ 20-30 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตร้อยละ 4 ต่อปีของการท่องเที่ยวทั้งหมด สำหรับการท่องเที่ยวธรรมชาติรูปแบบต่างๆ "การดูนก" นับเป็นส่วนสำคัญที่นำผลประโยชน์มาให้ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน และชุมชนท้องถิ่น
แต่ในขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่ตามมาจากธุรกิจการท่องเที่ยว กลับมีแนวโน้มจะนำมาซึ่งผลกระทบด้านลบที่การท่องเที่ยวจะทำให้เกิดกับนก คน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
พื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครอย่างเช่นจังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นแหล่งดูนกใกล้เมืองที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีนกน้ำหลายพันธุ์ เช่น นกตีนเทียน นกตะขาบทุ่ง นกแว่นตาขาวสีเหลือง นกกะติ๊ดขี้หมู และนกนางนวล ซึ่งเป็นนกที่สร้างชื่อเสียงให้กับบางปูเป็นอย่างมาก
ในช่วงต้นฤดูหนาว พร้อมกับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ชุ่มน้ำบางปูจะเปี่ยมชีวิตชีวาด้วยเหล่าผู้มาเยือน ซึ่งเดินทางมาไกลจากแผ่นดินตอนเหนือที่สร้างชื่อให้กับบางปูก็คือ นกนางนวลธรรมดา จากการสำรวจโดยองค์การพื้นที่ชุมน้ำนานาชาติแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย พบว่าบางปูมีนกนางนวลธรรมดาอาศัยอยู่ตลอดฤดูหนาวไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัว อาจกล่าวได้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มของนกนางนวลธรรมดามากที่สุดที่พบในแถบอ่าวไทยตอนใน
อีกด้านหนึ่ง...พื้นที่เมืองสมุทรปราการที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และรายล้อมด้วยดงโรงงานล้อมรอบ น้ำเสียและมลพิษที่ถูกปล่อยทิ้งลงแหล่งน้ำโดยไม่ได้รับการบำบัดที่ถูกวิธี อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและนกอพยพ
กวิน ชุติมา นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (เบิร์ดไลฟ์ในประเทศไทย) กล่าวว่า แหล่งธรรมชาติสำหรับดูนกในเขตอ่าวไทยตอนในมีความสำคัญมาก และเป็นพื้นที่สำคัญระหว่างประเทศ คือ เป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพในทวีปเอเชียจนถึงออสเตรเลีย ปีหนึ่งจะมีนกอพยพเข้ามาบริเวณอ่าวไทยตอนในประมาณ 500,000 ตัว ซึ่งนอกจากอ่าวไทยแล้ว ก็ยังมีอีกแห่งหนึ่งที่ใหญ่ขนาดนี้ที่เกาหลี แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกถมทะเลไปแล้ว
"นกเป็นตัวชี้วัดธรรมชาติได้อย่างหนึ่ง ถ้ามีอาหารและมีความปลอดภัยนกก็จะบินมา และหากคนไม่ไปคุกคามมันก็จะมา" ทางสมาคมฯ จึงมีโครงการอนุรักษ์อ่าวไทยตั้งแต่พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพ สมุทรสาคร เพชรบุรี ซึ่งจะมีจุดต่างๆ ที่คอยติดตามการอพยพของนก โดยทำงานร่วมกับปกครองท้องถิ่น 28 ตำบลที่อยู่บริเวณชายฝั่ง และมีการจัดการอบรมให้กับเด็กๆ และเยาวชน เพื่อให้เด็กๆ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการดูนก
ปรัชญาในการดูนก
การท่องเที่ยวธรรมชาติได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางให้เป็นทางออกทางหนึ่ง ต่อแรงกดดันที่ระบบนิเวศตามธรรมชาติต้องเผชิญ อันเป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่มีการกำกับดูแลและจัดการอย่างระมัดระวัง การท่องเที่ยวธรรมชาติอาจจะสร้างแรงกดดันต่อสัตว์ป่า และธรรมชาติได้จากการรบกวนมลภาวะของมนุษย์
ปรัชญาของการท่องเที่ยวดูนกที่เบิร์ดไลฟ์สากลให้นิยามไว้ คือ การท่องเที่ยวธรรมชาติที่เน้นไปที่นก ควรจะได้รับการพัฒนาไปในทางที่ไม่มีผลเชิงลบต่อนกและถิ่นที่อยู่อาศัยของนก แต่น่าที่จะมีส่วนในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นำผลประโยชน์มาสู่ชุมชนท้องถิ่นที่รับนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างประสบการณ์ที่สมบูรณ์ให้แก่ผู้มาเยือน
การยึดมั่นในปรัชญาของการท่องเที่ยวดูนก หมายความว่า จะต้องรอบคอบ ไวต่อปฏิกิริยาของนก และเคารพต่อธรรมชาติและผู้คน หมายถึงการนำชุมชนที่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องในการวางแผนและดำเนินการ เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเป็นไปในลักษณะที่พวกเขามีส่วนร่วมและยังประโยชน์กับพวกเขาอย่างยั่งยืน
ในพื้นที่ด้านตะวันออกของสะพานสุขตาของสถานตากอากาศบางปู นับตั้งแต่แนวป่าแสมริมถนนสุขุมวิท ไล่ลงมาถึงแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเล เรื่อยไปถึงพื้นที่หาดโคลนกว้างใหญ่กินบริเวณไปถึงตัวอาคารสุขใจ สภาพธรรมชาติโดยรวมจะเป็นป่าแสมที่กำลังฟื้นตัว และบึงใหญ่ที่เคยเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปูได้จัดทำเส้นทางเดินเท้า ศึกษาธรรมชาติที่สามารถเดินชมได้ด้วยตัวเอง โดยเส้นทางเดินเท้านี้จะผ่านระบบนิเวศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ ผ่านดงต้นแสมอันเป็นจุดเกาะพักของนกนานาชนิด เส้นทางสายนี้จะเป็นทางเดินวงรอบระยะทางประมาณ 1,400 เมตร ผ่านถิ่นที่อยู่อาศัยของนกหลากชนิดพันธุ์ และจะมีหอชมเรือนยอดแสมที่สามารถจะมองเห็น พื้นที่ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติในมุมสูงได้เช่นกัน
เดิมทีศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปู จะมีหอดูนกขนาดเล็กที่การออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ สำหรับให้เด็กๆ และเยาวชนตลอดจนครอบครัวที่สนใจจะเริ่มต้นดูนกเข้าเยี่ยมชม ในหอนี้จะช่วยให้การสังเกตพฤติกรรมของนกในธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีอุปกรณ์ดูนก ได้แก่ กล้องสองตา กล้องเทเลสโคป และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ออกนำเดินชมธรรมชาติและดูนก
แต่ด้วยความที่มีนักท่องเที่ยวสนใจมาดูนกกันมากขึ้น ทำให้ทางศูนย์ฯ ไม่สามารถรองรับผู้ที่สนใจอยากมาดูนกที่ริมชายทะเลบางปูได้ทั้งหมด จึงนำมาสู่การสร้างหอดูนกแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า "บ้านรักษ์นก" ขึ้น
เปิดบ้านรักษ์นก บางปู
"ปัจจุบันนี้เราทำร้ายธรรมชาติกันมากเลยทีเดียว ทั้งโลกต่างก็ต้องหันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การปลูกฝังจิตสำนึกให้รักสิ่งแวดล้อม และเราก็คิดว่าเยาวชนก็เหมือนต้นกล้าที่เราจะสามารถปลูกฝังให้เขาคิดและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม" สุนิดา สกุลรัตนะ กรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวถึงจุดประสงค์และเป้าหมายสูงสุดในการกิจกรรม "เปิดบ้านรักษ์นก" เพื่อเยาวชนจะได้มาศึกษาธรรมชาติที่นี่ ด้วยงบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1 ล้านบาท
เดิมทีหอดูนกจะติดอยู่กับฝั่งทะเล เอาไว้ใช้สำหรับดูนกในช่วงที่น้ำลง เพราะเวลาน้ำลงนกจะออกมาหากินจำนวนมากหลายพันตัว ในส่วนของหอดูนกตรงจุดนี้จะอยู่ในป่าชายเลนที่กำลังจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หอแห่งนี้นอกจากสร้างเพื่อประโยชน์ในการดูนกแล้ว ยังใช้ประกอบกิจกรรมอนุรักษ์ในกลุ่มของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ที่สนใจทั่วไปด้วยจะเห็นได้ว่าภายในหอดูนกจะประกอบไปด้วยนิทรรศการที่ให้ความรู้โดยเฉพาะแผนที่นกอพยพในซีกโลกตะวันออก ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาได้เป็นวันเพื่อความเข้าใจในการอพยพของนก และมีความรู้ในเรื่องของป่าชายเลน, เรื่องนกนางนวลในหอดูนกด้วย
ตั้งแต่ปีใหม่ ทางศูนย์ฯ จะเปิดบ้านรักษ์นกให้เข้าชมได้ทุกวัน ซึ่งจะมีวิทยากรนำเข้าไปเนื่องจากพื้นที่ป่านั้น ทางเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเองหากไม่มีความรู้ โดยจะจัดเป็นรอบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 6 คนขึ้นไปไม่เกิน 15 คน และจะมีอุปกรณ์ดูนกอยู่ที่หอดูนกจัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยว
"การมีหอดูนกมีข้อดีคือเรามีที่กำบัง แต่ถ้าเป็นที่แจ้งเรายืนอยู่มันก็อาจจะบินหายไป ซึ่งหอดูนกเราเข้าไปดูเงียบๆนกเขาก็รู้สึกปลอดภัยด้วยแล้วช่วงที่เวลาน้ำลงนกก็จะมาเกาะ มาหาอาหารและนกมันก็จะเดินเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าเขาคุ้นชินและปลอดภัยมันก็ยิ่งจะเดินเข้ามา หอดูนกจะสร้างไว้ข้างนอกแนวป่าชายเลน ที่อ่าวไทยมี 500,000 ตัว ที่บางปูก็มี 10,000 ตัว เพราะเขารู้สึกว่าปลอดภัย" กวินอธิบาย
นอกจากจะพบนกนางนวลที่นี้บางปูที่มากที่สุดในประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดูนก สมาคมดูนกกำลังศึกษาข้อมูลอยู่ว่าน่าจะพบมากที่สุดในเอเชีย คือศูนย์ศึกษาธรรมชาติร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกจะทำการลงมือนับจำนวนนกอพยพทุกปีในช่วงที่ผ่านมา เท่าที่ปรากฏนกนางนวลอพยพจะพบ 8,000-10,000 ตัว ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
"ถ้าเรารักษาถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเอาไว้ เขาจะมาเรื่อยๆ แต่ในอ่าวไทยตอนในปัจจุบันนี้ มีนกที่ถูกคุกคามจนใกล้จะสูญพันธุ์อย่างนกชายเลนปากช้อน พบที่จังหวัดเพชรบุรี มีคนยอมบินมาจากทั่วโลกเพื่อมาดูนกชนิดนี้ ซึ่งเป็นนกที่หายากในโลกมีไม่ถึงหนึ่งพันตัว" กวินบอกเล่าถึงการทำงานอนุรักษ์และรักษาเส้นทางในพื้นที่อพยพของนกน้ำในเมืองไทย
ตั้งแต่พื้นที่ตามแนวถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล สุดเขตตามแนวจังหวัดกรุงเทพมหานคร, นาเกลือโคกขามไปทางด้านตะวันออกจนสุดเขตจังหวัดสมุทรสาคร, สถานีวิจัยป่าชายเลนอ่าวมหาชัย และพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบ, บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปูด้านตะวันออกและตก และพื้นที่ริมฝั่งชายทะเลอ่าวไทยอีกหลายแห่ง คือเส้นทางสำรวจโครงการนับนกน้ำช่วงฤดูหนาวของเอเชียในปีที่ผ่านมา โดยทางสมาคมจะเปิดรับอาสาสมัครที่ประสงค์จะเข้าร่วมกิจกรรมนับนกน้ำอพยพในพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนใน เพื่อร่วมสำรวจประชากรนกน้ำหนีหนาวมาพักยังประเทศไทย
ทำไมต้องนับนกน้ำ
การนับนกน้ำในช่วงกลางฤดูหนาว หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "Midwinter census" เป็นช่วงเวลาที่กำหนดให้มีการนับนกน้ำมาแล้วกว่า 35 ปี และจนถึงปัจจุบันการนับนกน้ำในช่วงสัปดาห์ที่สอง และสามของเดือนมกราคม ยังคงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของกิจกรรมการนับนกน้ำทั่วโลก
กิจกรรมการนับนกน้ำในเอเชียนั้น เป็นความพยายามที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1987 ด้วยการเล็งเห็นถึงความสำคัญว่านกน้ำเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะความหลากชนิดและความชุกชุมของนกน้ำเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของพืชน้ำและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นๆ ได้ สิ่งที่แตกต่างจากโครงการสำรวจสัตว์ป่าโครงการอื่นๆ ก็คือเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาที่สนใจในเรื่องของธรรมชาติ และมีทักษะในเรื่องของการจำแนกชนิดนกเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้กิจกรรมที่ทำในประเทศไทยนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการประเมินประชากรนกน้ำนานาชาติ (International Waterbird Census - IWC) จึงทำให้ข้อมูลที่เรารวบรวมนั้นได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในระดับโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษานกน้ำย้ายถิ่นระหว่างภูมิภาคต่างๆ โครงการ IWC เป็นการสำรวจระยะยาวโดยใช้ข้อมูลจากนักวิจัยและนักดูนกจาก 4 ทวีป ที่ผ่านมาข้อมูลจากโครงการดังกล่าวได้กลายเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก
สุรินทร์ วราชุน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและวิชาการ สมาคมอนุรักษ์นกฯ ชี้แจงว่า จุดประสงค์หลักจริงๆ ของการติดตามประชากรนกน้ำคือ การสร้างระบบเตือนภัยให้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้วงการอนุรักษ์ได้ทราบว่า อะไรคือภัยคุกคาม หรือปัญหาสำคัญในการอนุรักษ์นกน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ และปัญหานั้น มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด จะมีวิธีการป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาที่ค่อยๆ กัดกร่อนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอาจกลายเป็นหายนะที่คุกคามความอยู่รอดของระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด
"ดังที่ทราบกันดีว่านกเป็นตัวแทนที่สำคัญของระบบนิเวศ เราจึงสามารถใช้นกเพื่อเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี การบันทึกข้อมูลการพบเห็นนกและการนับจำนวนอย่างเป็นระบบ จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการทำงานดูแลและปกป้องธรรมชาติ"
อุปกรณ์ที่ใช้ในการนับนกน้ำนั้นไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าอุปกรณ์พื้นฐานในการดูนกตามปกติ ได้แก่ อุปกรณ์ขยายภาพเพื่อช่วยให้ผู้สำรวจสามารถมองเห็นนกได้อย่างชัดเจนและนับจำนวนได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ผู้นับนกน้ำควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่ต้องการทำการนับนกน้ำพอสมควร เพื่อช่วยให้การเดินทาง และการเตรียมพร้อมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการนับนกน้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจำแนกชนิดนกชายเลน เพราะข้อมูลพื้นฐานจากดูนกทุกคน เช่น เป็นนกกลุ่มอะไรมีจำนวนเท่าไร ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูล สมาคมอนุรักษ์นกฯ จะทำการประสานงานกับสมาชิกและอาสาสมัครเพื่อจัดแบ่งทีมสำรวจ และทำการนับนกน้ำทั่วอ่าวไทยตอนในเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2552 นี้ จะมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนับนกน้ำขึ้น ระหว่างวันที่ 11-25 ม.ค.นี้ โดยจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจำแนกชนิดนกชายเลนและนกน้ำกลุ่มหลักๆ เทคนิคการนับนกน้ำ และการวางแผนและแบ่งพื้นที่ในการนับนกน้ำบริเวณอ่าวไทยตอนใน
กิจกรรมการนับนกน้ำเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักดูนกทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้โดยตรง ผ่านการติดตามความเปลี่ยนแปลงของจำนวนนก และสภาพธรรมชาติอันเป็นที่อยู่อาศัยของนก ข้อมูลที่ได้รับการบันทึก จะถูกรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอสู่องค์กรระดับนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการอนุรักษ์พื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ที่สำคัญ คือ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจยังสามารถนำมาใช้ในการเผยแพร่ สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และที่รวมของความอุดมสมบูรณ์อันยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิตทั้งมวล
- ข้อมูลจาก www.bcst.or.th สอบถามเพิ่มเติมที่สมาคมอนุรักษ์นกฯ โทร 02-691-4816, 02-691-5976