xs
xsm
sm
md
lg

รสนา โตสิตระกูล (ตอนจบ) “นักการเมืองที่คนคาดหวังอยากจะได้คือนักการเมืองที่มีจริยธรรมสูงกว่าคนอื่น รู้ว่าอะไรเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ต้องช่วยกันรักษา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘ปริทรรศน์’ ยังอยู่กับ รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ และบทสนทนาภาคต่อจากเมื่อวานที่ยังคงเผ็ดร้อนไม่เปลี่ยนแปลง ว่าด้วยการเมืองไทย ผลประโยชน์ส่วนรวม การคอร์รัปชัน ค่านิยมอันเกิดจากความสิ้นหวัง และเสี้ยวเล็กๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง ส.ว. ของเธอ

*ในช่วงแค่ 7 เดือนได้พบเห็นหลายอย่าง เจอแรงเสียดทานก็มาก สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกเหมือนที่คนข้างนอกเขาพูดกันมั้ยครับว่าการเมืองไทยนี่มันน้ำเน่ามาก
ไม่รู้ประเทศอื่นการเมืองมันน้ำเน่าเหมือนกันหรือเปล่า คือเราก็คาดหวังนะว่านักการเมืองควรจะต้องเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ มีจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป เพราะเมื่อคุณเป็นนักการเมืองคุณคือคนที่มาใช้อำนาจรัฐแทนประชาชน เขาเลือกคุณมาเพราะเขาคาดหวังคุณว่าจะเป็นตัวแทนในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ประชาชนแต่ละกลุ่มนะ

ในฐานะที่ดิฉันเป็นชาวพุทธ ดิฉันเชื่อว่าผลประโยชน์ของส่วนรวมยิ่งใหญ่กว่าผลประโยชน์ของส่วนตัว เพราะว่าในส่วนรวมมันมีส่วนตัวอยู่ด้วย แต่ถ้าคุณทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวปุ๊บ ผลประโยชน์ส่วนตัวของคุณอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งหมด เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่านักการเมืองที่คนคาดหวังอยากจะได้คือนักการเมืองที่มีจริยธรรมสูงกว่าคนอื่น รู้ว่าอะไรเหมาะ อะไรควร อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ต้องช่วยกันรักษา เพราะย่อมเท่ากับรักษาผลประโยชน์ของตัวเราด้วย

ในแง่ของดิฉันก็ไม่ได้หมดหวังอะไรนะ ดิฉันก็มีความรู้สึกว่าเราก็จะพยายามทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่คนหนึ่งคนจะสามารถทำได้ มี ส.ว. บางคนชอบมาแซวดิฉันว่า เฮ้ย รสนาทำไมแบกโลกเอาไว้หนักขนาดนั้น ผ่อนคลายซะบ้างเหอะ ปล่อยวางซะบ้างเหอะ เราก็บอก พี่ก็มาช่วยทำสิ เราจะได้ปล่อยวางบ้าง มีคนช่วยกันทำหลายๆ คนเราก็จะได้เบาลงไง เขาก็หัวเราะ อะไรกันทำไมเธอพูดในสภาเยอะจังเลย พี่ก็ช่วยพูดบ้างสิ เพราะเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้คน ถ้าไม่มีคนพูดเราก็ต้องพยายามพูดให้มาก แต่พูดให้มากแล้วก็ยังมีคนไม่เห็นด้วยกับเอเจเซ็ปแค่ 30 คน จาก 600 กว่าคน ยิ่งเป็นกรอบเจรจาไทย-กัมพูชา มีคนไม่เห็นด้วยแค่ 7 คน 8 คน น่าใจหายนะ

*พูดถึงเรื่องส่วนรวม จำได้ว่าครั้งหนึ่งคุณเคยพูดไว้ว่า ‘ไม่มีส่วนไหนยิ่งใหญ่เท่าส่วนรวม’ แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือทุกฝ่ายต่างก็อ้างคำว่า ‘ส่วนรวม’ สังคมจึงไม่รู้ว่าตกลงเรื่องไหนมันส่วนรวมจริงหรือไม่จริง เราจะทำยังไงกันดีในสภาพที่ทุกคนต่างก็อ้างคำว่า ‘ส่วนรวม’
เราก็ต้องตรวจสอบนะ เวลาเราพูดถึงส่วนรวม มันเป็นส่วนรวมจริงหรือเปล่าหรือถูกแอบแฝงด้วยเรื่องของตัวเอง เรื่องนี้มันก็พูดลำบาก ในแง่ที่ว่าแต่ละคนก็มีความคิดที่แตกต่างกันไป

ยกตัวอย่างนะ สมมติเราบอกว่าเราเป็นผู้ประกอบการสักแห่ง เวลาที่มีของเสียจากการผลิตแล้วก็ทิ้งลงไป ทั้งที่ตามกฎหมายกำหนดว่าต้องมีการบำบัดก่อนทิ้ง แต่ถ้าคนกลุ่มนี้เข้าใจว่าการทำเพื่อส่วนรวมคือคุณต้องกำจัดของเสียก่อนจะทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งกฎหมายต้องการคุ้มครองคนอื่นๆ ที่เป็นส่วนรวม เพื่อไม่ให้ของเสียจากการผลิตนั้นๆ ถูกส่งต่อไปยังธรรมชาติและผู้คนอื่นๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่มีส่วนได้รับรายได้หรือกำไรจากการผลิตของคุณแต่กลับต้องได้รับของเสียจากพิษภัยเหล่านั้น

แต่มนุษย์เรา ถ้าเรารู้สึกว่า เฮ้ย เราก็เลี่ยงกฎหมาย เวลาเขามาตรวจก็ค่อยเปิดเครื่องบำบัดน้ำเสีย แต่ถ้ายังไม่มา เราก็ไม่เปิด เพราะมันทำให้ต้นทุนลดลง เราก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น คุณก็ต้องตรวจสอบตรงนี้ว่าการที่คุณทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของส่วนรวมด้วย แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น คุณมีจิตสำนึกด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายก็จะยิ่งดี แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าเราพูดในเชิงการเมือง เวลาคุณตรวจสอบ คนจะแก้ตัวใช่มั้ย

ยกตัวอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ เขาก็บอกว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญเพราะมันมาจากพวก คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เป็นพวกรัฐประหาร มันไม่ถูกต้อง โอเค ถ้าคุณไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแล้วพูดในเรื่องนี้ นั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่คุณเป็นผู้ที่กำลังจะถูกยุบพรรค กำลังจะถูกสอบสวนหรือมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล หรือเป็นคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง การที่คุณอยากจะให้แก้โดยอ้างว่านี่มันเป็นประโยชน์เพราะกฎหมายฉบับนี้มีปัญหา เพราะมาจากเผด็จการ เราต้องกลับไปหาสิ่งที่ดีกว่า คนก็จะไม่เชื่อใช่มั้ย เพราะว่าคุณมีผลประโยชน์ได้-เสียกับสิ่งนั้น ฉะนั้น การที่คนเราจะอ้างว่าเราก็ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่แล้ว ไม่ได้ทำส่วนตัว มันต้องถูกพิสูจน์ว่าการที่คุณมีความคิดในการทำอะไรก็ตาม คุณมีผลประโยชน์ได้เสียมั้ย

ในทางพุทธศาสนาบอกว่าการกระทำอะไรก็ตามที่จะเป็นประโยชน์และเป็นไปในทางสายกลาง ต้องปราศจากอคติ อคติจากความรักซึ่งหมายถึงในเรื่องความโลภด้วยนะ เช่น คุณได้ประโยชน์ที่เป็นเงินทองหรือคุณรักชอบพอให้คนคนนี้ มันจะทำอะไรก็ไม่ผิด เลยต้องช่วยกัน แต่ถ้าหากคุณเกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง อคติจากความเกลียด มันทำอะไรก็ผิดหมดหรือต่อให้ทำถูกก็ต้องหาที่ผิดให้ได้ หรืออคติจากความกลัวอย่างที่เมื่อตะกี้พูด อคติจากความหลงผิด ถ้าเราคิดว่าประโยชน์ที่ได้เฉพาะหน้าโดยทิ้งต้นทุนให้แก่สังคม เราฉลาด อันนี้ถือว่าเป็นความหลงผิดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวตรวจสอบเวลาที่เราอ้างส่วนรวม

*ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม ท่าทีคุกคามจาก ส.ส. ซีกรัฐบาลมีมาก่อนหน้านั้นหรือเปล่า
เราไม่ค่อยได้มีการประชุมสภาร่วมนะ ฉะนั้น การคุกคามมันไม่ชัดเจน แต่มันมาชัดเจนหลังวันที่ 7 การคุกคามที่ชัดเจนมากคือหลังวันที่ 28 ตุลาคม เช่น มี ส.ส. เอาตีนตบมาไล่ นั่งในห้องรับรองนะ เดินผ่านก็ตบ หรือ ส.ส. บางคน เวลาที่ดิฉันออกมาขอน้ำดื่ม เขาก็พูดลอยๆ ให้ได้ยินว่าใส่สลอดให้มันกินเลย แล้วก็มีพูดว่าไอ้หน้าด้าน ใหญ่มาจากไหนวะ ใหญ่คับฟ้านักเหรอ หรือหลายคนก็ได้ยิน ส.ส. ผู้หญิงด่าดิฉันด้วยภาษาหยาบคาย

*การดำรงตำแหน่ง ส.ว. มันพรากอะไรไปจากคุณบ้างหรือเปล่า
อิสรภาพบางอย่างในแง่ของการเคลื่อนที่อย่างอิสระ (หัวเราะ) คือเมื่อก่อนเวลาเราจะทำอะไร เราสามารถทำได้เลย เราคิดอะไรก็สามารถทำได้เลย ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว อย่างเมื่อก่อนเราไปรณรงค์ ไปไฮปาร์กเรื่อง กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตามถนนหนทางเพื่อให้คนมาเข้าชื่อ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่บทบาทของเราอีกแล้ว หรือการทำงานแบบเดิมๆ ที่ทำเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนโดยตรง มันก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้แล้ว งานส่วนใหญ่ในสภามันเป็นงานประชุมซะเยอะ งานกลั่นกรองกฎหมาย หรือการให้ความเห็นต่างๆ มันค่อนข้างเยอะ แต่งานในภาคปฏิบัติจะน้อย สิ่งเหล่านี้จะขาดหายไป

*แล้วบทบาทในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน
ยังทำอยู่ ตอนนี้ในกรรมาธิการตรวจเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลมีคนร้องมา 62 เรื่อง ในขณะที่เราทำไปได้ 2-3 เรื่องเท่านั้นเอง อย่างเรื่องบริษัทกำจัดขยะแห่งหนึ่งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ชาวบ้านมาร้องเรียนว่าได้รับกลิ่นเหม็น สารพิษต่างๆ และทางบริษัทก็ไม่แก้ไข ร้องมา 10 ปีแล้วก็ยังไม่ได้แก้ไขเลย หรือเรื่องที่บางสะพาน เรื่องชาวบ้านที่คลองเตยถูกไล่ที่มีพวกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตีเขาด้วย เรื่องชาวบ้านวัดกัลยาถูกไล่ที่ เรื่องการแบ่งโควตาหวยที่มีการทุจริต เรื่องการเช่ารถและการส่งเงินเข้ารัฐ 45 ล้านของเอ็นบีที มันตั้งแต่เรื่องระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่ ตอนนี้มาจับเรื่องกรณี 7 ตุลาคมก็ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ

แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่าในสภา เวลาเราจะทำงานลงลึกเพื่อศึกษาแต่ละเรื่อง มันไม่มีงบประมาณให้นะ งบประมาณต้องเอาไปจัดสัมมนา เงินสัมมนามีเยอะมาก แต่เงินให้คณะทำงานไม่มี พวกเราต้องเอาเบี้ยประชุมลงขันเพื่อที่จะทำงานน่ะ

*จำได้ว่าครั้งหนึ่งคุณเคยพูดว่าการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันกับเรื่องสุขภาพคือเรื่องเดียวกัน มันคือสุขภาวะทางสังคม ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งทางการเมืองในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามันได้สร้างค่านิยมที่ว่า ‘เก่งแต่โกงไม่เป็นไร’ และคนรุ่นใหม่ก็ดูจะยอมรับการคอร์รัปชันได้ ตามที่มีโพลล์ต่างๆ สำรวจกันออกมา นี่ถือว่าสุขภาวะทางสังคมของเราอยู่ในขั้นวิกฤตหรือยัง
ถูก วิกฤต มันเหมือนกับสังคมหมดหวัง หมดหวังกับการมีนักการเมืองที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต แต่เขาก็ต้องคาดหวังว่า เอาน่ะ นักการเมืองก็โกงกันทุกคน แต่โกงแล้วไม่ให้อะไรเราเลยหรือโกงแล้วก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น โกงแต่ให้เราบ้างหรือโกงแล้วมีผลงานก็รับได้ คือมันเป็นสภาพของการหมดหวังไง ซึ่งสภาพนี้ดิฉันคิดว่าส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องโครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองประกอบกัน

ดิฉันชอบที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันเคยคิด อาจารย์รังสรรค์ทำให้ความคิดตรงนั้นมันชัดเจนมากขึ้น อาจารย์บอกว่าเราต้องมองการเมืองในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย หมายถึงว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยนกัน นักการเมืองแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงกับประชาชนด้วยนโยบาย เหมือนการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแบบหมูไปไก่มา แต่สินค้าทางการเมือง ประชาชนเสียเปรียบ ประชาชนต้องให้คะแนนเสียงไปก่อน แต่ได้ของทีหลัง ยกเว้นการซื้อเสียงนะ เพราะประชาชนอาจจะรู้ว่าที่มันแลกเปลี่ยนมาไม่ใช่ของจริง สิ่งที่เขาอยากได้คือความยุติธรรม ความสุขที่เกิดจากการบริหารแผ่นดินของนักการเมือง

เหล่านี้คือสิ่งที่เขาคาดหวังจากนักการเมือง แต่ชาวบ้านอาจจะรู้ว่านักการเมืองก็โฆษณาไปอย่างนั้น ไม่เคยส่งมอบจริง เพราะฉะนั้นการได้เงินมามันเป็นของจริงมากกว่า มันคือการหมูไปไก่มาแบบหนึ่ง

ดิฉันก็คิดว่าเวลาที่เราวางโครงสร้างระบบทางการเมือง เราไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคสินค้าการเมืองแบบพวกเรามีอำนาจต่อรองที่มากพอ สินค้าที่มีอันตรายเราฟ้องได้ คืนได้ แต่ไม่ใช่กับนักการเมืองนะ นักการเมืองเป็นสินค้าผูกขาด คือคุณถูกบังคับให้ต้องซื้อโดยที่การส่งมอบนั้นจะส่งมอบหรือไม่ส่งมอบ เราไม่มีสิทธิ์จะไปทวงถาม

ตรงจุดนี้ ดิฉันจึงคิดว่าเมื่อประชาชนมีอำนาจต่อรองน้อย มันก็ทำให้เกิดความหมดหวัง ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เขาก็อาจคิดว่าการได้ของแน่ๆ มาห้าร้อย เจ็ดร้อย พันหนึ่ง มันแน่นอนกว่า เพราะถึงยังไงพอคุณเข้าไปข้างในเราก็คาดหวังอะไรไม่ได้ จึงกลายเป็นว่านักการเมืองได้สร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนหมดหวังด้วย พอมาถึงยุคปี 2540 ที่ทำให้ธนกิจทางการเมืองเฟื่องฟู คนสามารถลงทุนเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐแล้วสามารถจัดการระบบต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง การคอร์รัปชันทางนโยบายที่เกิดขึ้นถือเป็นการคอร์รัปชันยุคใหม่ จะลงทุนสักสองสามหมื่นล้านถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาถือว่าสามารถเอาคืนได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ดังนั้น ทัศนคติของคนที่ถือว่าถ้าการเมืองมีแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว แล้วเรื่องอื่นๆ เรื่องธรรมาภิบาล การตรวจสอบได้ของประชาชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีเลย ดิฉันว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมากนะ เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยมันต้องประกอบด้วยสิ่งเหล่านั้น ประกอบด้วยความมีธรรมาภิบาลในการบริหาร คุณต้องไม่บริหารโดยมีผลประโยชน์ขัดกัน กฎหมายก็บัญญัติไว้ แต่พวกนี้ก็จะมีทางลอดช่องออกไปได้เรื่อยๆ

เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ มันก็สร้างวัฒนธรรมให้กับผู้คนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก หมดหวัง น้ำเน่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ พอหมดหวังคนก็รู้สึกว่าถ้ามันจะคอร์รัปชัน แต่ว่าทำงานบ้าง มีผลงานบ้างก็ยังพอยอมรับได้ เพราะในอดีตบางทีคอร์รัปชันแล้วยังไม่มีผลงานด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้มันคือความหมดหวังของสังคมซึ่งต้องแก้ไข และดิฉันเชื่อว่าตอนนี้สังคมของประชาชนที่ไม่ใช่ผู้แทนในสภาเริ่มตื่นตัวมากขึ้น มันจะเป็นการเริ่มสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาได้

*แต่ความเป็นจริงทางการเมืองก็สะท้อนภาพของสังคมได้พอสมควร เพราะเสียงส่วนใหญ่ดูจะยอมรับค่านิยมดังกล่าวได้ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ก็ยอมรับ
เสียงส่วนใหญ่ต้องเป็นเสียงที่เป็นพลเมือง เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยไปพูดถึงเสียงส่วนใหญ่อย่างเดียว เพราะเวลาเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่มันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้เราเลือก แต่ถ้าเป็นพลเมืองหมายความว่าเขาต้องรู้ว่าเขามีอำนาจต่อรองมากด้วยนะ เฮ้ย ถ้าคุณเป็นสินค้าไม่ดี ฉันมีวิธีการที่สามารถจัดการกับคุณได้ กลไกเหล่านี้ถ้าถูกสร้างขึ้น ดิฉันคิดว่ามันจะเปลี่ยนนะ แต่เวลานี้กลไกทางการเมืองมันไม่มีทางเลือกให้คน ดังนั้น การดูเพียงแค่เสียงส่วนใหญ่มันไม่พอ เพราะเวลาเงินเข้ามามันเหมือนสึนามิอย่างหนึ่ง มันทลายระบบได้

ดิฉันว่ากลไกการตรวจสอบของเรามันอ่อนแอ ดูอย่างเรื่องกฎหมายพรรคการเมืองที่ระบุว่าพรรคไหนที่ถูกยุบไปแล้ว ผู้บริหารพรรคนั้นจะไม่สามารถมาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ภายในระยะเวลากี่ปีก็ว่าไป อย่างอดีต ส.ส. หลายคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองแต่เข้ามาชักใยเต็มไปหมด แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังบอกว่าทำอะไรไม่ได้ อย่างสมัยก่อน เสธ.หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) พอแกถูกตัดสินทางการเมือง แกเงียบหายไปเลยนะ

หลักเกณฑ์ของเรามันเหมือนขี่เกวียน ขณะที่คอร์รัปชันมันขี่จรวดแล้ว มันไม่สามารถจัดการได้ ดิฉันถึงบอกว่าการตีความกฎหมายของเรามันล้าหลัง เราไม่ได้ใช้กฎหมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง ที่เราห้ามแบบนี้ เจตนารมณ์คืออะไร เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถไล่จับอะไรได้เลยนะ แล้วปัญหาเวลานี้พอธุรกิจทางการเมืองเข้ามาหนักมาก ก็ซื้อได้หมด โดยเฉพาะกลไกในแนวดิ่ง เพราะหากถ้าคิดจะใช้องค์กรเปาบุ้นจิ้นทั้งหลายมาตรวจสอบอย่างเดียว มันทำไม่ได้ มันถูกซื้อได้ แต่ดิฉันเชื่อว่าถ้าหากเราทำให้ประชาชนที่เป็นแนวราบตื่นตัวขึ้นมามันก็จะคานกันได้ ประชาธิปไตยจึงต้องเป็นการตื่นขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ แล้วเวลาเขาเลือกตั้งโดยมีกลไกการต่อรองที่ชัดเจน ประชาชนต้องตรวจสอบตลอดเวลาว่าสิ่งที่คุณทำมันเป็นไปตามเจตนารมณ์มั้ย ถ้าคุณเป็นสินค้าที่หมดคุณภาพคุณก็ต้องถูกเอาออกไปได้

*มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบนี้ การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพอย่างที่เคยทำยังได้ทำอยู่หรือเปล่า
น้อยมาก ไม่มีเวลาเลย อยู่ที่สภานี่อาทิตย์ละ 5 วัน ประชุมทั้ง 5 วัน เสาร์-อาทิตย์บางทีต้องมานั่งทำงาน อย่างการศึกษากรณี 7 ตุลาคมก็เร่งกันทำ 7 วันต่ออาทิตย์ อย่างการนวดเด็กที่เคยทำเดี๋ยวนี้ไม่มีเวลาเลย การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพก็ต้องหยุดไปเลย

*เวลาเจอแรงเสียดทานในทางการเมืองเยอะๆ พุทธศาสนายังเป็นสิ่งหนึ่งที่คอยโอบอุ้มคุณอยู่
ใช่ ช่วงที่ผ่านมาก็โดนเข้าไปเยอะมาก แรงเสียดทานมันเยอะ ทั้งความรู้สึกของคนในวุฒิสภาก็ตาม ก็ทำให้เราสะเทือนใจอยู่เหมือนกัน แต่พยายามนึกว่ามันก็เป็นโจทย์เลขอันหนึ่งที่เราต้องประคับประคองจิตใจเรา อย่าให้ใจมันฟู มันแฟบ ไม่เป็นไร หรือแม้แต่ความเข้าใจผิดของคนเราก็แก้เท่าที่แก้ได้ ที่แก้ไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป เพราะถึงยังไงมนุษย์เราคงไม่สามารถทำให้คนรักทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่ให้คนชังทั้งหมดเหมือนกัน

*โดยภาพรวมแล้วชีวิตการเป็น ส.ว. ของคุณก็ถือว่ามีความสุขดี
แต่บางครั้งเวลาเห็นความทุกข์ของคนเยอะๆ โดยที่เราทำอะไรไม่ได้ เราก็มีความทุกข์เหมือนกันนะ แต่เราก็คงทำได้เท่าที่ทำได้

ทำไมคนถึงมีความทุกข์เยอะขนาดนี้นะ เรามีองค์กร มีหน่วยงานของรัฐมหาศาลเลยนะ แต่ทำไมไม่สามารถแก้ความทุกข์ชาวบ้านได้เลย มันเกิดอะไรขึ้น ช่วงต้นๆ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราท้อแท้เหมือนกันนะ เรื่องร้องเรียนเต็มไปหมดเลย จริงๆ เรื่องพวกนี้น่าจะจัดการไปได้ด้วยระบบการบริหาร แต่ทำไมปล่อยให้ชาวบ้านมีปัญหากันขนาดนี้ เรารู้ว่าชาวบ้านเขาหมดหนทาง เขาร้องเรียนไปเรื่อยทุกแห่ง จนมาจบท้ายที่เรา แต่ในบางเรื่องเราก็ทำอะไรไม่ได้

****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล


กำลังโหลดความคิดเห็น