xs
xsm
sm
md
lg

ความเรียงว่าด้วยการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัครโดยไม่ผิดกฎหมาย (2)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

(2) เข้าใจว่ารัฐบาลนายสมัครเป็นโมฆะ ขาดความชอบธรรม และผิดกฎหมายมาแต่ยังไม่ตั้ง

พรรคพลังประชาชน และพรรคอื่นๆ ที่แตกออกมาจากพรรคไทยรักไทยไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิส่งบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

เหตุผลหลักก็คือ พรรคพลังประชาชนได้แปลงสภาพมาจากพรรคไทยรักไทยโดยซื้อหัวพรรคมา การซื้อหัวพรรค การจ้างพรรคเล็กพรรคน้อยสมัครเพื่อป้องกันให้พ้นเงื่อนไขต้องได้คะแนนถึง 20 เปอร์เซ็นต์หรือผลประโยชน์อื่นๆ ในการเลือกตั้ง ล้วนเป็นความบัดสีบัดเถลิงของผู้นำการเมืองไทยยุคปัจจุบัน แม้ศาลจะได้ตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 23 เมษายน 2548 เป็นโมฆะไปแล้ว ก็ไม่รู้จักหลาบจำ

เมื่อซื้อพรรคมาแล้ว ก็เคลื่อนย้ายบุคลากร เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการบริหารพรรคที่รอดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ห้ามเล่นการเมือง เข้าไปบริหารและควบคุมพรรคพลังประชาชน โดยโยกย้ายรายชื่อสมาชิกจากทะเบียนเดิม มีนายทะเบียนพรรคคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง ณ ที่ทำการเดิมของพรรคไทยรักไทย

ส่วนอมนุษย์การเมือง 111 คนตามคำสั่งศาลนั้น ที่แยกย้ายไปซุกซ่อนอยู่ตามพรรคอื่นก็มี ที่หยุดบทบาททางการเลือกตั้งไปเลยก็มี ยกเว้นแกนนำสำคัญของพรรคไทยรักไทยอย่าง เนวิน สุดารัตน์ พงษ์ศักดิ์ จาตุรนต์ ซึ่งก่อนคำพิพากษาก็บอกว่าจะเคารพคำสั่งศาล เสร็จแล้วก็กลับคำกลับลำเสียดื้อๆ เข้ามามีบทบาทในการวางตัวผู้สมัคร หาเสียง และชี้นำพรรคพลังประชาชนอย่างไม่กลัวเกรง

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานอื่นๆ เช่น เทปหาเสียงของพ.ต.ท.ทักษิณ คำยอมรับของนายสมัคร หัวหน้าพรรคอุปโลกน์ และสรุปของอนุกรรมการ กกต.ว่าพรรคพลังประชาชนคือพรรคนอมินีของพรรคไทยรักไทย (แต่บทลงโทษพรรคนอมินีไม่มี ฯลฯ)

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าด้วยองค์ประกอบบุคคล โดยการแทรกแซงของอดีตผู้นำและกรรมการบริหารในการแต่งตั้งครม. และกรรมการบอร์ดต่างๆ ตลอดจนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคซึ่งสืบสันดานและการกระทำที่เคยชินมาจากพรรคเดิม ไม่มีใครปฏิเสธว่าแท้ที่จริงพรรคพลังประชาชนก็คือพรรคไทยรักไทยนั่นเอง

เมื่อเป็นดังนี้ การตั้งพรรคพลังประชาชนจึงเป็นโมฆะ มิชอบและผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คัดมาเพียงบางส่วนดังนี้

“พรรคไทยรักไทย มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้า ดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งประสงค์เพียงดำเนินการในทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศนอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนยากที่จะหาอุดมการณ์อันแท้จริงของพรรคให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนโดยรวมว่า เมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินแล้วจะดำเนินการปกครองโดยสุจริต ไม่ประพฤติมิชอบ หรือบริหารราชการแผ่นดินโดยแอบแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

พฤติกรรมของพรรคไทยรักไทยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พรรคไทยรักไทยไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์จรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศไทยโดยรวมได้อีกต่อไป

กรณีจึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย”

พร้อมกับการยุบพรรค ศาลมีคำสั่งเรื่องอมนุษย์การเมือง 111 ตน สั้นๆ ดังนี้ “กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ร้องที่ 1 จำนวน 111 คน ฯลฯ มีกำหนดห้าปีนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค”

ทั้งนี้ ศาลได้อธิบายแต่ต้นว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง “ย่อมมีผลใช้บังคับแก่กรรมการบริหารพรรคทุกคนในขณะที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองนั้น” “มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น กล่าวคือ หลังจากที่มีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมายแล้ว กรรมการบริหารพรรคทั้งหลายลาออก เพื่อให้ตนเองมิต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง การบังคับเพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย่อมตกเป็นอันไร้ผล”

การถอนสิทธิดังกล่าว ครอบคลุมถึงสิทธิทางการเมืองทั้งหมด มิใช่เฉพาะสิทธิเลือกตั้ง ศาลได้ระบุในคำพิพากษาว่า “จะขอตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมือง”

“การกระทำต้องห้าม” ศาลยังได้อธิบายว่ารวมถึง “การสนับสนุนให้กรรมการบริหารพรรคกระทำการโดยวิธีการอันฉ้อฉล ย่อมจะส่งผลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ”

การบังคับเพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นั้น ย่อมเป็นการบังคับกว้างๆ “เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง และการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง”

การกระทำความผิดของพรรคไทยรักไทย ซึ่งย่อมต้องมีผลบังคับมิให้อดีตกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคกระทำการฉ้อฉล โดยอาศัยนิติกรรมอำพรางซื้อพรรค “พลังประชาชน” มาเป็นฐานปฏิบัติการใหม่ นับเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่อง ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้

“มาตรา 66 เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

(3) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ

(4) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 หรือมาตรา 53”

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เพียงพอที่จะสรุปว่าพรรคพลังประชาชนกับพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองเดียวกัน เพียงแต่มีการเปลี่ยนชื่อ และอุปโลกน์หัวหน้าพรรคขึ้นใหม่ บรรดากรรมการบริหารเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ต.ท. ทักษิณ ก็ยังเป็นคณะผู้นำตัวจริง (De Facto) ของพรรค

การที่ไม่มีผู้ใดสืบและนำมาเปิดเผยว่า การแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของมหาดไทย นายพลตำรวจ หรือแม้กระทั่งการบริหารท่าอากาศยาน การเขี่ย ร.ต.อ.เฉลิม ออก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ผ่านเนวินมาจากบัญชาของนายใหญ่ มิได้หมายความว่านั่นไม่เป็นความจริง ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความจริงที่ถูกกดมิดอยู่ใต้อำนาจแฝงที่กุมอำนาจรัฐไว้ทั้งสิ้น

การตบตาสังคมไทยโดยอ้างว่าไม่มีบทลงโทษเรื่องการเป็นตัวแทนเชิดหรือพรรคนอมินีนั้น เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นอย่างน่าสะอิดสะเอียนของนักกฎหมาย แท้ที่จริงเรามิได้พูดกันถึงความผิดฐานเป็นตัวแทน

เราพูดกันถึงหลักกฎหมายเบื้องต้นว่าด้วยตัวการกับตัวแทน การใดที่ตัวการถูกห้าม มิให้กระทำ การนั้นตัวแทนจะกระทำมิได้ หลังจากการยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคไทยรักไทยจะไปตั้งพรรคอีกกี่พรรคก็ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำความผิดทั้งสิ้น เพราะโทษฐานกระทำความผิดข้างต้นยังค้ำคออยู่ เมื่อห้ามตัวการแล้ว ตัวแทนใหม่จะตั้งกี่ครั้งๆ จะใช้กี่ชื่อๆ ก็ย่อมจะไม่พ้นผิดและกระทำมิได้

นอกจากอมนุษย์การเมืองในบัญชี 111 ที่ออกมา กระทำการโดยวิธีการอันฉ้อฉล จนส่งผลเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง การไม่บังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องทั่วถึงโดย กกต. ก็ดี รัฐบาลก็ดี และกระบวนการยุติธรรมก็ดี เป็นเหตุให้ (1) ผู้กระทำผิดจนพรรคต้องถูกยุบ เช่น พลเอกธรรมรักษ์กับพวก ยังลอยนวลอยู่ไม่ถูกลงโทษตามกฎหมายแต่ประการใด และ (2) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 97 ที่มีความตอนหนึ่งว่า “ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป จะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้” ถูกละเลยไม่นำมาใช้บังคับ ถ้าหากนำมาบังคับก็จะเกิดอมนุษย์การเมืองขึ้นอีกหลายตน เช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสุวิทย์ คุณกิตติ พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร นายเสนาะ เทียนทอง บุคคลเหล่านี้ล้วนเคยเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทยมาทั้งสิ้น

นอกจากนั้น พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคยังกระทำความผิดและมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายประกอบฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เรื่องการรับสมาชิก กรรมการบริหารและการส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2550 จากเอกสารทางการของกกต.สมาชิกพรรคพลังประชาชนมีอยู่ 7,840 คน กรรมการบริหาร 37 คน และ 4 สาขาพรรค พรรคมัชฌิมาฯ สมาชิก 20 คน กรรมการฯ 8 สาขาพรรค 0 พรรคเพื่อแผ่นดิน สมาชิก 18 กรรมการฯ 18 สาขาพรรค 0 พรรครวมใจไทย-ชาติพัฒนา สมาชิก 29 กรรมการฯ 19 สาขาพรรค 0

ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย แต่ก็เห็นว่าตราบใดที่ยังมีกฎหมายอยู่ก็ต้องเคารพ ถ้า กกต.รักษากฎหมายเคร่งครัด พรรคเหล่านี้ไม่มีทางที่จะส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเลย เพราะการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องสมัครด้วยตนเอง ณ ที่ทำการพรรคและต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการบริหาร หากการรับสมาชิก 1 คน กินเวลาเพียง 10 นาที พรรคเหล่านี้ก็ไม่มีเวลาพอที่จะรับสมาชิกให้ครบตามกฎเกณฑ์ได้ อย่าว่าแต่การส่งผู้สมัครเลย

นอกจาก กกต.จะเงียบกรณีพรรคพลังประชาชนปลอมหรือขี้ตู่ใบสมัครของพรรคชาติไทยแล้ว การเคลื่อนย้ายสมาชิกดั้งเดิมออกจากพรรคพลังประชาชน และเคลื่อนย้ายสมาชิกพรรคไทยรักไทยมาเข้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งผิดขั้นตอนและผิดกฎหมายก็มิได้รับการเหลียวแลจาก กกต.

สรุปว่า การจัดตั้ง ดำเนินการ และสมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน ขัดคำสั่งศาล ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง

เพื่อจะให้ความเป็นธรรมต่อพรรคพลังประชาชน ผมเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน อย่าเลือกวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เพื่อให้พรรคทุกพรรคจัดพรรคให้ถูกระเบียบและสอดคล้องกับกฎหมายเสียก่อน

ผมได้ทักท้วงเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีทั้งโดยวาจาและหนังสือ ได้ทักท้วงไปยังกกต. สื่อ นักกฎหมาย และนักวิชาการ รวมทั้งพิมพ์หนังสือแจก 10,000 เล่มเรื่อง “เลือกตั้งน้ำเน่าเราจะพากันไปตาย” แต่ก็ไร้ผล

บัดนี้ได้ปรากฎชัดแล้วว่าการเลือกตั้งปล่อยผีดิบพรรคไทยรักไทยกลับเข้ามาจะนำประเทศไปสู่วิกฤตอย่างหาที่สุดมิได้

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เฝ้าเตือนให้เห็นภยันตรายครั้งนี้ และให้หาทองออกด้วยกฎหมายให้ได้ แต่ดร.อมร เห็นว่า สภาวะและสถานะด้านความรู้ทางกฎหมายของประเทศไทย ทั้งผู้ออก ผู้ใช้ และผู้ตีความ ล้วนแต่ต่ำต้อยไร้มาตรฐาน

ประเทศไทยจึงจำต้องตกอยู่ใต้ภาวะจำยอม

พรรคที่ผิดกฎหมายและไร้ความชอบธรรมมาแต่ต้น จะปกครองได้นานเพียงใดย่อมขึ้นกับความเกรงกลัว เคารพบูชา และเชื่อฟังของประชาชน ทหารและข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กำลังโหลดความคิดเห็น