xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยพยาบาล ผู้กล้ากลางสมรภูมิ “พวกเราทำดีที่สุดแล้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 คงจะต้องถูกจดจำไปอีกนาน เมื่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งก็ไม่ทราบว่ากรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นแขนขาด ขาขาด และเสียชีวิตนั้นเป็นไปตามหลักสากลด้วยหรือเปล่า

หรือคำอธิบายที่ว่า นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ พกระเบิดมาในกระเป๋าถือแล้วเกิดระเบิดขึ้นจนทำให้เสียชีวิต เป็นไปตามหลักสากลด้วยหรือไม่

นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดกันต่อไป

แต่ในสถานการณ์แสนโกลาหลของวันที่ 7 นั้น ยังมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ควรได้รับคำชมเชยและเรี่ยวแรงใจ เพราะหากไม่มีคนกลุ่มนี้แล้ว ตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียอาจมีจำนวนมากกว่านี้หลายเท่า

พวกเขาคือแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพ และพยาบาลอาสา ที่ร่วมไม้ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวทำหน้าที่เพื่อมนุษยธรรมโดยไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายว่าเป็นฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เป็นการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางอุปสรรค การเสี่ยงภัย เสียงระเบิด เลือด และน้ำตาของผู้ได้รับบาดเจ็บ

1

โดยปกติแล้ว การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณสะพานมัฆวานฯ จนถึงทำเนียบ จะมีเต็นท์ของหน่วยแพทย์กระจายอยู่เป็นจุดๆ รวมทั้งสิ้น 9 จุด โดยแพทย์และพยาบาลที่ประจำตามเต็นท์ต่างๆ ก็เป็นผู้ที่อาสามาทั้งสิ้น จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้ว่า แต่ละจุดจะมีแพทย์และพยาบาลประจำอยู่กี่คน ทำให้บางวันไม่มีแพทย์หรือพยาบาลประจำเต็นท์อยู่เลย เต็นท์พยาบาลจุดนั้นก็ต้องปิดชั่วคราว ถือเป็นความยากลำบากในการดูแลผู้ป่วยประการหนึ่งที่ นายแพทย์วิษณุ ทรัพย์ปรุง ซึ่งประจำอยู่หน่วยพยาบาลกลางข้างทำเนียบเปิดเผยกับเรา

“หน่วยแพทย์ พยาบาลที่มีอยู่ไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขได้เลย เพราะทุกคนเป็นอาสาสมัครทั้งหมด ใครว่างก็มา ไม่มีการบังคับ บางครั้งเราแทบจะต้องปิดงานเลยด้วยซ้ำเพราะไม่มีหมอมา แต่จะเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ส่วนเมื่อวาน พอมีเรื่องแล้วเรียกระดมก็จะมากันเยอะ

“และโดยทั่วๆ ไป ถ้ามีการเคลื่อนขบวน เราก็จะมีทีมแพทย์ พยาบาล 1 ชุดตามหลังไป เราจะไม่อยู่หน้าหรืออยู่กลาง เราจะอยู่ท้ายขบวนเท่านั้น แล้วเราจะไปเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บ เราจะไม่ลุยเอง เรามีหน้าที่ช่วยเหลือคนเจ็บ เพราะถ้าเราลุยเองเมื่อไหร่ ในการช่วยเหลือคนเจ็บเราก็จะทำไม่ได้ ฝ่ายตำรวจเขาก็คงจะเล่นงานเรา ในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราไป เรามีวัตถุประสงค์หลักว่าเราจะไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายโดยเท่าเทียมกันในฐานะแพทย์เท่านั้น”

คุณหมอวิษณุยังบอกอีกว่าทางหน่วยพยาบาลได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อยู่ตลอด โดยเฉพาะหากเกิดการสลายชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา แพทย์ พยาบาลมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่...แต่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมีการใช้วัตถุระเบิดเข้าสลายการชุมนุมด้วย จึงไม่ได้มีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงขนาดนี้

“เรามียาและเวชภัณฑ์เพียงพอ ในกรณีที่ไม่ใช่ระเบิด เราสามารถดูแลกันเองได้ แต่ถ้าระเบิดนี่เราสุดปัญญาจริงๆ เรามีพร้อมทุกอย่าง มียา น้ำเกลือ มีแม้กระทั่งเครื่องกระตุ้นหัวใจ ทุกอย่างที่ได้มาได้จากการบริจาคทั้งสิ้น มาจากน้ำใจของคนไทยทั้งประเทศ”

คุณหมอวิษณุบอกว่าถ้าวันที่ 7 ไม่มีหน่วยพยาบาลจากโรงพยาบาลและมูลนิธิต่างๆ คอยให้ความช่วยเหลือและส่งต่อผู้ได้รับบาดเจ็บ

“เราไม่ได้เตรียมการเผื่อไว้ขนาดว่าตำรวจจะใช้ระเบิด สิ่งที่ทำตอนนั้น เนื่องจากเราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงพยาบาลหลายๆ แห่งที่มีรถพยาบาลไปประจำตำแหน่งให้หลายคัน สิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือการส่งต่อ เราไม่มีทำอะไรอย่างอื่นได้เลย เพราะฝูงชนก็กำลังแตกตื่นหนี แม้กระทั่งแก๊สน้ำตาที่กระจายฟุ้งอยู่ เจ้าหน้าที่เราเองก็ย่ำแย่ แต่ทุกคนก็ต้องกัดฟันทำ ทุกคนเจ็บเล็กเจ็บน้อยกลับมาทั้งนั้นแหละครับ”

นายแพทย์วัชระ ก้อนแก้ว แพทย์อาสา คุณหมออีกคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ เล่าการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 7 ว่า

“ทีมแพทย์ที่อยู่ในที่เกิดเหตุมีหน้าที่ช่วยดูแลผู้บาดเจ็บเบื้องต้น ณ ที่เกิดเหตุ โดยพวกเราทุกคนจะทำตามหน้าที่โดยปราศจากความกลัวแก๊สน้ำตาหรือระเบิดที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเมื่อพบผู้บาดเจ็บแพทย์ก็จะต้องประเมินสถานการณ์และอาการ โดยจะมีแนวทางในการรักษาอยู่แล้ว เราต้องประเมินในเบื้องต้นว่าอาการมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และต้องจัดการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลยังไง ถ้าปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปเราก็จะทำไปก่อนเพื่อจะให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บาดเจ็บมากที่สุด ส่วนใหญ่ผู้บาดเจ็บที่เจอจะมีบาดแผลจากแรงอัดระเบิดตา ขา และลำตัว”

จากการรวบรวมของทีมแพทย์ พยาบาล เฉพาะที่เข้ามารับการรักษาที่เต็นท์ที่คุณหมอวิษณุประจำอยู่ คาดว่าน่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 600 คน โดยประมาณ 200 คนเป็นผู้ที่มีอการค่อนข้างหนัก ส่วนที่เหลือมีอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

2

ไม่เฉพาะหน่วยพยาบาลของพันธมิตรฯ ที่ต้องเตรียมรับสถานการณ์ตลอดเวลา หน่วยพยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย

นันท์นภัส เรืองสำราญ พยาบาล 6 งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลชลประทาน เล่าว่าทีมแพทย์ พยาบาลเองก็ต้องใส่เครื่องป้องกันเสมอเพื่อเข้าไปลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บ และประเมินอาการเพื่อเตรียมอุปกรณ์และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

“กรณีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยจากแก๊สน้ำตา ในเบื้องต้นก็ต้องรีบล้างออกให้เร็วที่สุด ขณะที่ช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ เราก็โดนแก๊สน้ำตาเหมือนกัน เพราะลักษณะแก๊สมันเป็นสารเคมี ถ้าจะให้แก๊สหายไปจากร่างกายจริงๆ ต้องทำการชำระล้างหมดทั้งตัวและสระผมด้วย แต่ในที่เกิดเหตุเราสามารถล้างออกได้เฉพาะบริเวณ อย่างเช่น ตา ใบหน้า ผิวหนังบางส่วน แต่ก็ต้องล้างให้ได้มากที่สุด ซึ่งพอผู้ป่วยขึ้นมาในรถพยาบาลแก๊สที่ยังเหลือติดตัวอยู่ก็จะฟุ้งไปหมด ขนาดใส่แว่นและผ้าปิดจมูกแล้วก็เอาไม่อยู่

“กรณีการปะทะดังกล่าวถือว่าเป็นอุบัติภัยหมู่ ซึ่งมีระดับความรุนแรงของผู้บาดเจ็บแตกต่างกันออกไปแบ่งออกเป็น 5 ระดับด้วยกัน เริ่มจากบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไม่มีอะไรมากแค่ฟกช้ำ ต่อมาอาจจะเป็นแผลถลอกนิดหน่อย ปวดช้ำบริเวณข้อมีเลือดออก มีการแตกหักของกระดูก ระดับที่รุนแรงสุดอาจจะต้องช่วยปั๊มหัวใจ”

จากการสอบถามนันท์นภัส เธอบอกว่าผู้ได้รับบาดเจ็บที่ถูกลำเลียงมามีลักษณะอาการหลายรูปแบบ บ้างคนก็แค่แสบตา แต่บ้างก็หนักถึงขั้นช็อกต้องทำการปั๊มหัวใจ บ้างก็มีอาการหูดับจากเสียงระเบิด ซึ่งต้องส่งแพทย์เพียงอย่างเดียวเพื่อเช็กอาการและอาจต้องถึงขั้นผ่าตัดหากแก้วหูแตก

“การชุมนุมที่ผ่านๆ มาผู้ชุมนุมก็มีเพียงปวดหัวตัวร้อนนิดหน่อย หรือฟกช้ำจากการวิ่งหกล้มเท่านั้น ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ความรุนแรงเหมือนครั้งนี้ จะว่าเหนื่อยก็ไม่เหนื่อย แต่เครียดตอนสถานการณ์รุนแรง เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ก็ได้แต่บอกทุกคนว่าให้ระวังตัวและอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะถ้าเกิดการสูญเสียในส่วนของแพทย์หรือพยาบาลคนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก็จะมีจำนวนน้อยลง”

3

ใช่ว่าการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจะดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะไม่เพียงแต่จะอยู่ในสถานการณ์ชุลมุนเท่านั้น แต่หน่วยแพทย์และพยาบาลยังไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย

...ซึ่งก็ไม่รู้ว่านี้เป็นหลักการสากลด้วยหรือไม่ คุณหมอวิษณุเล่าว่าแม้แต่ในสงคราม ทหารของทั้งสองฝ่ายก็ตระหนักดีว่าจะต้องไม่ทำร้ายแพทย์และพยาบาล

สุทธิรักส์ คุ้มสม เจ้าหน้าที่กู้ชีพ หน่วยกู้ชีพร่วมกตัญญู เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในสถานการณ์ เล่าให้ฟังว่า

“เหตุการณ์การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 7 ตุลาทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่เจ้าหน้าที่กู้ชีพด้วย โดยไม่ดูเลยว่าใครเป็นใคร ขณะที่พวกเรากำลังเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ตำรวจก็ยิงแก๊สน้ำตาตกลงหน้ารถกู้ชีพของเราพอดี พอเราจอดเพื่อจะลงไปช่วยเหลือคนเจ็บขึ้นมาปฐมพยาบาล ก็ยังยิงแก๊สน้ำมาเข้าใส่พวกเราอีกลูกหนึ่ง โดนเจ้าหน้าที่กู้ชีพทั้งหมดเลย 7-8 คน พวกเราก็ต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ทั้งๆ ที่คนป่วยก็ยังนอนเจ็บอยู่

“รถพยาบาลที่นำมาใช้ก็โดนสะเก็ดระเบิดเป็นรู และนั่นไม่ใช่ผลของการยิงแก๊สน้ำตา มันเป็นระเบิดที่มีอานุภาพทำให้รถเป็นรูได้ คล้ายๆ กระสุน โดยยิงออกมาจากวงตำรวจเลย ผมอยู่บริเวณที่มีรถระเบิด แล้วตำรวจอยู่ฝั่งตรงข้าม เขายิงเข้ามาใส่ข้างรถพอดี หูทั้งสองข้างของผมไม่ได้ยินอะไรเลยเวลานั้น ในส่วนผู้บาดเจ็บที่เราสามารถช่วยได้เวลานั้นเป็นผู้ชายที่โดนสะเก็ดระเบิดเต็มหลังเลย”


เขาเล่าว่าสภาพผู้ได้รับบาดเจ็บจะได้รับความทุกข์ทรมานจากแก๊สน้ำตา รองลงมาเป็นบาดแผลจากสะเก็ดระเบิด อาการทั่วไปคือแผลฉีก ผิวหนังเป็นรอยไหม้ ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บปวดแสบปวดร้อน

เช่นเดียวกับ ชลินทร์ ไพรเจริญ และ ศตวรรษ พอใจ พยาบาลวิชาชีพ จากโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี

“วันนั้นตำรวจไม่สนใจเลยว่าเรากำลังจะไปช่วยเหลือคนเจ็บ ยิงทั้งแก๊สน้ำตาและระเบิดใส่พวกเราด้วย ทหารเสนารักษ์ที่เป็นพวกแพทย์ก็โดนแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมาก รถพยาบาลก็เกิดความเสียหาย ผมก็ถามตำรวจไปด้วยว่าจะหยุดยิงหรือยัง เพราะพวกผมจะเข้าไปรับคนเจ็บ เขาก็ยังยิงต่อ และรถพยาบาลในที่เกิดเหตุเขาก็ยังยิงเข้ามา

“พวกเรามีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายตำรวจ เราก็ช่วยโดยไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในวันนั้นไม่สมควรกระทำกับรถพยาบาลและรถกู้ชีพ เท่าที่รู้รถพยาบาลของโรงพยาบาลรามาฯ โดนไปเต็มๆ เลย บางคันก็โดนยิงเข้าทั้งคัน คือไม่เลือกเลยว่าใครเป็นใครยิงใส่อย่างเดียว”


นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังทำการตรวจค้นรถพยาบาลและไม่ให้เข้าไปรับผู้บาดเจ็บ ทำให้การส่งต่อผู้บาดเจ็บเป็นไปด้วยความยากลำบาก

“ปัญหาของการเข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์วันนั้นคือ พวกเราอาสาไม่สามารถใช้เส้นทางปกติได้ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เพราะเส้นทางถูกปิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โรงพยาบาลที่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่สุดคือโรงพยาบาลวชิระ เราก็ไม่สามารถไปได้ ขนาดเรามีคนเจ็บอยู่ในรถแล้วขอผ่านทางเพื่อไปยังโรงพยาบาลยังไม่ให้ไป เพราะเขาเห็นว่าเราไม่ใช่หน่วยงานหลักที่ทำงานทางด้านนี้” ภาณุรัตน์ สุวรรณโน พยาบาลอาสาจากกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บอกกับเราและระบายความอึดอัดอีกว่า

“เราก็มีรถพยาบาลอย่างเป็นทางการนำไป แต่พอนำไปก็ต้องวนรถกลับ เนื่องจากตำรวจไม่ให้ผ่านเลยสักเส้นทาง เลยหยุดต่อรองกันสักประมาณ 10 นาทีกับนายตำรวจยศพันตำรวจตรี สุดท้ายก็ยังไม่ให้ผ่านอยู่ดี โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นคำสั่งจึงไม่สามารถเปิดให้ได้ พวกเราก็กลับรถเพื่อไปส่งคนเจ็บที่โรงพยาบาลศิริราชซึ่งไกลและเสียเวลาเข้าไปอีก ถ้าเกณฑ์มาตรฐานในการนำผู้ป่วยทางโรงพยาบาลถือว่าใช้ไม่ได้เลย เพราะในการช่วยเหลือผู้ป่วยมาตรฐานเวลาจะกำหนดชัดเจนว่าควรมาถึงโรงพยาบาลในระยะเวลาเท่าไหร่ มาตรฐานตรงนั้นเราอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากความไร้สาระของตำรวจที่อ้างอำนาจหน้าที่”

4

เรียกได้ว่าสถานการณ์วันนั้นหน่วยแพทย์ พยาบาลทุกคนทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นต้องทำงานกันอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ที่ทั้งตึงเครียดและสุ่มเสี่ยง

“เหตุการณ์วันนั้น พวกเราต้องวิ่งทำงานกันหลายรอบมาก ช่วงที่ผมลงไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บพบว่า มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากนอนกันระเนนระนาดเลย จนทำให้ไม่รู้จะช่วยคนไหนก่อนคนไหนหลัง เพราะผู้บาดเจ็บเกิดขึ้นทุกวินาที การระเบิดหนึ่งลูกทำให้มีคนเจ็บประมาณ 13-30 ราย แล้วระเบิดไม่ได้มีเพียงลูกเดียว มีเสียงดังอย่างต่อเนื่องจนนับไม่ได้เลยว่ากี่ลูก ซึ่งการนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ก็ทำได้ลำบากมาก เพราะถ้าเป็นผู้ป่วยอาการสาหัสรถพยาบาลก็สามารถนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ได้เพียง 2 คน เท่านั้น แต่ถ้าเป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ ก็นำออกมาได้ 5-6 คน พยายามเบียดกันเข้าไป ดีกว่าให้นั่งรอในที่เกิดเหตุ เพราะอาจจะเกิดอันตรายขึ้นอีก

“ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อาการหนักๆ ก็มีให้เห็น เช่น แขนขาด ขาขาด ก็ได้พวกที่เป็นอาสาปฐมพยาบาลของพันธมิตรฯ เข้ามาช่วยนำส่งต่อโรงพยาบาลด้วย มีบางสถานที่ที่เราก็ไม่สามารถเข้าถึง เนื่องจากมีจำนวนผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก และประกอบกับบางพื้นที่โดนตำรวจสั่งห้าม”
สุทธิรักส์บอกอีกว่าเมื่อวันที่ 7 ต่อกับวันที่ 8 เขาต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยยังไม่ได้พักผ่อนเลย

“ครั้งนี้ถือเป็นการทำงานที่หนักที่สุดในชีวิตของผมเลย การช่วยคนในเหตุการณ์สึนามึยังไม่ถึงขนาดนี้ นี่เหมือนเรามาอยู่กลางดงอะไรก็ไม่รู้ ในนามของหน่วยกู้ชีพคนหนึ่ง ผมอยากบอกว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มันแรงเกินไป”

เช่นเดียวกับชลินทร์และศตวรรษที่พูดคล้ายกับสุทธิรักส์โดยมิได้นัดหมาย

“เหตุการณ์วันนั้นถือเป็นการปฏิบัติงานอยู่บนภาวะความเสี่ยงสูง การไปช่วยเหลือคนจากเหตุสึนามึนับเป็นความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แต่เวลานี้เรากำลังเสี่ยงอยู่กับลูกกระสุนและระเบิด”

พวกเขาฝากคำถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่า

“อยากฝากไปถึงตำรวจว่าสิ่งที่ตำรวจทำกับรถกู้ชีพหรือทหารเสนารักษ์ในครั้งนี้ถือว่าเกินไป ช่วยกลับไปนอนคิดกันหน่อย เอามือก่ายหน้าผากคิดก็ได้ ถ้าเอามือก่ายหน้าผากคิดไม่ได้ก็เอาเท้าก่ายเลยก็ได้ว่า พวกคุณกำลังทำอะไรกันอยู่ พอเห็นรถพยาบาลก็แสดงว่าต้องมีคนเจ็บแล้วทำไมถึงไม่หยุดยิง”

5

เมื่อการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกินความคาดหมายของทุกฝ่าย แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเหตุการณ์แบบวันที่ 7 จะไม่เกิดขึ้นอีก ถามคุณหมอวิษณุว่าจะมีการเตรียมตัวเพื่อรับมืออย่างไรต่อไป คุณหมอวิษณุตอบว่า

“การรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้า เราก็คงทำได้เท่าที่ทำ เราคิดว่าเราทำได้มากที่สุดแล้ว ถ้าถึงขนาดใช้ระเบิด เราคงทำได้แค่ห้ามเลือด ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วก็ส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลได้อย่างเดียว เราเป็นหมอก็จริง แต่ความจำกัดเรื่องพื้นที่ เราไม่มีห้องผ่าตัด ไม่มีอุปกรณ์พอที่จะทำได้ ก็คงทำได้แค่นี้”

นอกจากนั้น เรื่องความไม่พร้อมด้านพื้นที่และอุปกรณ์แล้ว ความไม่พร้อมด้านจำนวนบุคลากรสาธารณสุขก็เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่ง เป็นผลให้การบริหารจัดการมีอุปสรรค เพราะนอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว แพทย์และพยาบาลที่ประจำเต็นท์ยังต้องดูแลเรื่องเอกสารอีกด้วย

“งานจัดการ เราต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นด้วย อย่างพอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราก็ต้องรับภาระด้านเอกสารทางการแพทย์ การถ่ายภาพ การติดต่อผู้บาดเจ็บเพื่อให้ทนายนำไปฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นงานของเรา ทางโรงพยาบาลเราก็ต้องประสานด้วย การประสานงานจึงค่อนข้างลำบากและสับสน เรื่องนี้เรายอมรับ ตอนแรกเราก็ค่อนข้างไม่พอใจกับสิ่งที่เราทำมากพอสมควร แต่มันก็ได้แค่นี้ มันไม่ดีเท่าที่เราต้องการ อย่างในแง่ของการประสานมันควรจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เราก็ไม่มีวิทยุสำหรับติดต่อ และถึงจะมีเบอร์โทรศัพท์ โทรไปเขาก็อยู่บ้าน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ การติดต่อค่อนข้างจะมีปัญหามาก แต่มันก็ทำได้อย่างนี้ เพราะทุกคนเป็นอาสาสมัคร จะไปบังคับกะเกณฑ์ใครก็ไม่ได้ ทุกคนมาด้วยใจ”

พวกเขา-แพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพ อาสาสมัคร ต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้จะอยู่ท่ามกลางอุปสรรคและข้อจำกัด แต่พวกเขาก็ทำอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้

เราขอยกย่องและเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละทุกท่าน

คุณหมอวิษณุฝากทิ้งท้ายไปยังเพื่อนๆ บุคลากรที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคน

“ทุกคนได้รับคำเตือนว่าอย่ามา แต่ทุกคนก็มา เมื่อมาแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด ผมขอขอบคุณเพื่อนแพทย์พยาบาลและอาสาสมัครทุกคนที่มาร่วมกันต่อสู้ ขอให้เรามาร่วมมือกันต่อไปและสู้ให้ถึงที่สุด ผลแพ้-ชนะในอนาคตเราไม่อาจรู้ได้ แต่เราพูดได้เพียงว่าพวกเราทำดีที่สุดแล้ว”

***************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์











กำลังโหลดความคิดเห็น