ไม่เพียง โอลิมปิกเกม 2008 เท่านั้นที่ทางการจีนจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการ แม้แต่การคัดเลือกผลไม้ให้กับนักกีฬาโอลิมปิก ทางการจีนก็จัดอย่างยิ่งใหญ่และพิถีพิถัน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการชิงแชมป์ “โอลิมปิกผลไม้” และประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถคว้า 2 เหรียญทอง จากชมพู่ และ ส้ม กลายเป็นเครื่องหมายการันตีคุณค่าของแบรนด์ผลไม้
ศึกโอลิมปิกผลไม้ ครั้งนี้ ผู้จัดการ Lite ได้รับเชิญจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย บินไปร่วมสังเกตการณ์ในงานชิงชัยผลไม้ครั้งนี้
หลายคนคงรู้สึกตรงกันว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ ประเทศเจ้าภาพได้จัดการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ที่สำคัญเขาพิถีพิถันในทุกรายละเอียด อย่างเช่น สนามกีฬารังนก ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน และได้รับคำชมจากแขกต่างชาติให้เป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์เลยทีเดียว ถึงแม้การแข่งขันครั้งนี้จะจบลง แต่สนามกีฬาแห่งนี้คงไม่จบตามไปด้วย จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
แม้แต่เรื่องของอาหารการกินทางการปักกิ่ง ก็จัดประกวดกันข้ามปีเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เพื่อนำไปเลี้ยงรับรองบรรดานักกีฬา สตาฟโค้ช สื่อมวลชน รวมไปถึงแขกผู้มาเยือน โดยทางกรมป่าไม้ปักกิ่งร่วมกับสมาคมผลไม้และอุตสาหกรรมผลไม้ ได้จัดให้มีการประกวด เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขัน มีกฎกติกาการแข่งขัน การคัดเลือก ตลอดจนการตัดสิน เรียกได้ว่าเป็น โอลิมปิกผลไม้ เลยทีเดียว
การแข่งขันโอลิมปิกผลไม้ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ผลไม้ฤดูร้อน กับ ผลไม้ฤดูหนาว เหมือนกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีการจัดประเภทการแข่งขันเป็น 2 ประเภทตามฤดูกาล โดยโอลิมปิกผลไม้เริ่มจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมา รวมประมาณ 3 ครั้ง เพื่อให้ตรงกับฤดูกาลผลิตของผลไม้แต่ละชนิด
ทางประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจะทำการคัดเลือกประเภทผลไม้เพื่อทำการแข่งขัน ซึ่งมีทั้งผลไม้สดและผลไม้แปรรูป ส่วนกรรมการที่ทำการตัดสินมีมากถึง 30-40 คน จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มีทั้งที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านรสชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสีสัน และผู้เชี่ยวชาญด้านคุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้น
ในการแข่งขันแต่ละครั้งก็จะจัดเป็นรอบ ๆ ตามคุณสมบัติที่ใช้ในการตัดสิน เช่น รอบแรกตัดสินกันในเรื่องของรสชาติ ถัดมาตัดสินกันในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการ และต่อไปอีกรอบตัดสินกันในเรื่องของสีสัน คัดเลือกจนกระทั่งได้ผลไม้ที่มีคะแนนรวมสูงสุด นั่นคือเป็นผลไม้ที่ดีที่สุด
สำหรับผลรางวัล แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ อันดับที่ 1 อันดับที่ 2 อันดับที่ 3 และรางวัลชมเชย ทุกรางวัลจะได้รับใบประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นผลไม้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิก 2008 อย่างเป็นทางการ
นายโอวาท อภิบาลภูวนารถ รักษาการณ์ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) แม่งานคนสำคัญจากประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมประกวดในฐานะประเทศที่มีผลไม้เมืองร้อน โดยจัดส่งเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 2 ประเภทคือผลไม้สดและผลไม้แปรรูป โดยทางเราคัดเลือกกันเองภายในประเทศก่อน ประเภทผลไม้ละ 2-3 เจ้า
แต่ที่น่าเสียดายคือผลไม้รสชาติดีอย่างทุเรียนของไทย ที่ถือเป็นตัวเต็งแบบไร้คู่แข่งขัน ไม่มีอยู่ในประเภทที่จัดแข่งขัน เนื่องจากเป็นผลไม้พิเศษ ไม่เหมาะสมที่จะให้นักกีฬารับประทาน ทางประเภทเจ้าภาพจึงตัดออกไป
ผลการแข่งขันคงไม่ต้องเดาประเทศเจ้าภาพคว้าเจ้าเหรียญทองไปอย่างไม่ผิดความคาดหมาย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ได้อันดับที่ 1 จำนวน 2 ประเภท คือ ชมพู่ และ ส้มเปลือกร่อน อันดับที่ 2 ได้ 3 ประเภท คือ กล้วยไข่ ลำไยอบแห้งสีทอง และสัปปะรดอบกรอบแผ่น
ได้รางวัลอันดับ 3 จำนวน 5 ประเภท คือ สับปะรดอบกรอบ ขนุนอบกรอบแผ่น กล้วยแผ่น และกล้วยอบกรอบ ที่เหลือได้รับรางวัลผลไม้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิกอีกจำนวน 38 รางวัล รวมแล้วประเทศไทยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 48 รางวัล
นายโอวาท บอกว่า การตัดสินให้ชมพู่ ซึ่งเป็นผลไม้จากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ นั่นก็เพราะว่าชมพู่จากประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่เด่นไม่เหมือนใคร ชมพู่จากประเทศไทยมีสีแดง ซึ่งทางจีนถือว่าเป็นสีมงคล มีรูปร่างหน้าตาสวยเรียกว่าแค่เห็นก็ชอบแล้ว ประกอบกับรสชาติที่หวานเย็นชุ่มฉ่ำ ไม่เหมือนใครจึงได้รับรางวัลชนะเลิศไปแบบไม่ต้องสงสัย
ผลพลอยได้จากงานนี้ ไม่ต่างจากนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัล ที่นอกจากเขาจะสร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้กับประเทศชาติแล้ว เหรียญรางวัลยังเป็นเครื่องหมายของแบรนด์ประจำตัว กลายเป็นคนดังที่เหล่าบรรดาสินค้าชั้นนำจับจองตัวเป็นสปอนเซอร์สร้างความร่ำรวยกันชั่วข้ามคืน
ผลไม้ที่ได้รับรางวัลก็เช่นกัน การมีสลากติดบนเปลือกผลไม้ว่าได้รับรางวัลสำหรับการสนับสนุนนักกีฬาโอลิมปิก 2008 ย่อมสร้างมูลค่าของแบรนด์ให้เพิ่มขึ้นอีกมาก เป็นเครื่องหมายรับรองในเรื่องของรสชาติ คุณภาพ ตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการที่สามารถฝ่าด่านจนได้รับรางวัลจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นประโยชน์ระยะยาวในเรื่องของการค้าและธุรกิจ
นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมอบผลไม้ไทยเข้าสู่หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก 2008 กล่าวว่า ประเทศไทยได้นำตัวอย่างผลไม้ที่ผ่านการคัดสรรจำนวน 5 รายการเพื่อมอบให้กับทางการจีน ประกอบด้วย ลำไย มังคุด กล้วยไข่ ส้มโอ และมะม่วง จำนวนรวมทั้งสิ้น 20 ตัน และผลไม้แปรรูปอีกจำนวน 8 รายการ จำนวนรวม 1 ตัน เพื่อนำเข้าสู่หมู่บ้านนักกีฬา ให้นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสรับประทานผลไม้ฤดูร้อนที่มีคุณภาพจากประเทศไทย
“การเข้าร่วมการแข่งขันการประกวดผลไม้และการนำผลไม้มาให้กับนักกีฬาในครั้งนี้ แสดงถึงศักยภาพของผลไม้ไทย ทั้งในด้านของคุณภาพและรสชาติ ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับผู้บริโภคชาวจีน ที่สำคัญนักกีฬาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 204 ชาติ ได้มีโอกาสลิ้มลองผลไม้คุณภาพจากประเทศไทย”
ด้าน นายสมพงษ์ นิ่มเชื้อ อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ประเทศจีนนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทต่อปี โดยทุเรียนหมอนทองเป็นผลไม้ที่มียอดการส่งออกสูงที่สุด เนื่องจากคนจีนนิยมบริโภคกันมาก ซึ่งวัฒนธรรมการกินทุเรียนของคนจีนค่อนข้างต่างจากประเทศไทย เพราะคนจีนชอบทุเรียนที่สุกงอมและก้นแตกแล้วจึงจะนำไปรับประทาน
ที่ผ่านการส่งออกผลไม้จากประเทศไทยไปยังประเทศจีนประสบปัญหาพอสมควรเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากทางการจีน และการคมนาคมขนส่ง ผลไม้จากไทยยังถือว่าเจาะตลาดได้ไม่มาก ผลไม้จากไทยจึงเข้าไปขายได้เฉพาะมณฑลที่อยู่ติดชายทะเลและตามซูเปอร์มาเก็ตที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น การเข้าร่วมประกวดผลไม้จนได้รับรางวัลจึงถือเป็นการการันตีในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน เป็นการลดอุปสรรคในการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องพยายามผลักดันกันต่อไปคือการเพิ่มประเภทผลไม้ให้ทางการจีนรับรองเพื่อทำการส่งออกให้ได้มากขึ้น เพราะประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดผลไม้ที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย