xs
xsm
sm
md
lg

"มะเฟืองหยี" เมืองชัยนาท อร่อยครบรสเพิ่มค่าผลไม้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะเฟืองหยี จาก กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าข้าวโพด ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าข้าวโพด ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท ได้ต่อยอด “มะเฟือง” จากผลไม้พื้นไทยแปรรูปเป็นลูกหยีรสชาติครบเครื่อง ช่วยให้กินได้ง่ายขึ้นและช่องทางตลาดกว้างกว่าเดิม จนสามารถกลายเป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัด

จินตนา พุ่มหนุน
จินตนา พุ่มหนุน ในฐานะประธานกลุ่ม เล่าว่า เริ่มรวมตัวกันเมื่อพ.ศ.2538 เพื่อหารายได้เสริมหลังฤดูทำนาประจำปี ช่วงแรกมีสมาชิกแค่ 10 กว่าคน นำร่องแปรรูปส้มโอ กับไข่เค็ม เพราะเป็นผลผลิตที่มีอยู่มากในท้องถิ่น ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากตลาด จากนั้น เพิ่มเติมแปรรูปผลไม้ชนิดอื่นๆ

โดยมะเฟืองเป็นหนึ่งในนั้น เพราะในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง เวลานั้นแทบไม่มีใครต้องการ เพราะรสชาติที่เปรี้ยวฝาดลิ้น ลูกค้าจึงไม่นิยม ผลผลิตส่วนใหญ่ต้องทิ้งเปล่าประโยชน์ ดังนั้น ลองนำมาแปรรูปเป็นมะเฟืองหยี เพื่อให้กินง่ายยิ่งขึ้น
ไปออกบูทงานโอทอปมิดเยียร์ ที่ผ่านมา
“ที่ผ่านมา มะเฟืองเป็นเหมือนผลไม้ที่ถูกคนอื่นละเลย ไม่ค่อยมีใครเห็นค่า จะแปรรูปก็ทำได้ยาก เพราะรสมันเปรี้ยวแหลมมาก ในอดีตมีแค่นำไปแช่อิ่ม ซึ่งมีข้อจำกัดเก็บไว้ได้เพียง 4-5 วันเท่านั้น ดังนั้น พวกเราลองนำมากวน และเติมน้ำตาล เกลือ และพริกบ่นเข้าไป ช่วยให้มีรสชาติครบทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม และเผ็ด ที่สำคัญเก็บไว้กินได้นานถึง 50 วัน ซึ่งกว่าจะได้สูตรลงตัวก็ลองผิดลองถูก เป็นเวลานานหลายเดือน” จินตนาอธิบาย
มะเฟืองหยี
เคล็ดลับในการแปรรูปมะเฟืองต้องเริ่มตั้งแต่คัดผลที่ไม่อ่อนหรือสุกจนเกินไป โดยขั้นตอนเริ่มจากล้างน้ำทำความสะอาด นำไปปอกเปลือกลบเหลี่ยมให้เหลือเฉพาะส่วนเนื้อเท่านั้น จากนั้นเข้าเครื่องบดให้ละเอียด ขั้นตอนต่อมา ใส่ลงกระทะเคี่ยวร่วมกับแปะแซ เติมเครื่องปรุงทั้งน้ำตาล เกลือ และพริกบ่น ซึ่งส่วนผสมต่างๆ กำหนดอัตราส่วนไว้แน่นอน ทำให้ได้รสชาติสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ ขั้นตอนการเคี่ยวถือเป็นหัวใจที่จะช่วยให้ส่วนผสมต่างๆ กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และได้รสชาติกลมกล่อม โดยต้องเคี่ยวด้วยความร้อนปานกลางนานถึง 8 ชั่วโมง เสร็จแล้วตักเป็นเม็ดกลมคลุกกับน้ำตาล และบรรจุถุงเป็นอันเสร็จขั้นตอนพร้อมวางขาย

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มฯ
มะเฟืองหยีได้การตอบรับอย่างดียิ่ง ถือเป็นสินค้าแปลกใหม่ในตลาด และยังมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้มะเฟืองจากอดีตที่ให้ฟรียังไม่มีใครเอา ปัจจุบัน ในชุมชนซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 2 บาท

นอกจากมะเฟืองหยีแล้ว ยังแปรรูปผลไม้อื่นๆ ตามแต่ฤดูกาลผลไม้ รวมกว่า 16 ชนิด เช่น ส้มโอกวน กล้วยกวน มะกรูดเชื่อม มะตูมเชื่อม ไข่เค็ม เป็นต้น โดยวัตถุดิบทั้งหมดเป็นผลผลิตภายในจังหวัดชัยนาท และทุกตัวผ่านมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึง ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัดชัยนาท การันตีด้วยเครื่องหมายโอทอป 5 ดาว และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
มะเฟืองต้องเริ่มตั้งแต่คัดผลที่ไม่อ่อนหรือสุกจนเกินไป
ด้านช่องทางตลาด อาศัยออกงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยระยะต้นจะขายภายในจังหวัด และค่อยๆ ขยายสู่จังหวัดใกล้เคียง ตามด้วยส่งร้านขายสินค้าของฝากในแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังได้รับโอกาสจากห้างเทสโก้โลตัส ให้นำสินค้าไปวางขายในโซนโอทอปของห้างเทสโก้โลตัสทุกสาขาทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ช่วยเพิ่มช่องทางตลาดได้อย่างดี

สำหรับราคาขายส่ง เฉลี่ยที่ถุงละ 27 บาทส่วนขายปลีกที่ถุงละ 35 บาท สร้างรายได้เข้ากลุ่มเฉลี่ยประมาณ 6 หมื่นถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะที่สมาชิกกลุ่มจากหลักสิบ ปัจจุบันมีสมาชิกประจำและเครือข่ายรวมกว่า 80 คน

ไม่เพียงสินค้าที่โดดเด่นเท่านั้น อีกปัจจัยที่หนุนให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าข้าวโพดประสบความสำเร็จ คือ มีระบบจัดการภายในกลุ่มที่เข้มแข็งและน่าสนใจ กล่าวคือ ตั้งแต่เงินลงทุนเป็นเงินที่ระดมในหมู่สมาชิกด้วยกันเอง โดยให้ซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 100 บาท กำไรจากธุรกิจจะเข้ากองกลางและปันผลอย่างชัดเจนโปร่งใส สมาชิกทุกคนจึงเกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของกิจการ
ผลิตภัณฑ์ส้มโอแปรรูป
นอกจากนั้น ภายในกลุ่มมีการตั้งกองทุนออมทรัพย์ โดยให้สิทธิ์เฉพาะสมาชิกมาฝากเงินได้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี โดยไม่มีหักค่าใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนสมาชิกที่ต้องการกู้ยืมเงิน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ซึ่งกองทุนดังกล่าวช่วยให้กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนคล่องตัว ตั้งแต่เริ่มธุรกิจนี้ ไม่เคยต้องพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินใดๆ ทั้งสิ้น

“ จากที่มีทุนส่วนกลางไว้เป็นหมุนเวียนเอง ทำให้การเสนอโครงการต่างๆ เพื่อรับการสนับสนุนจากภาครัฐ กลุ่มของเราสามารถมุ่งไปที่การพัฒนาธุรกิจได้ เช่น ขออุปกรณ์ เครื่องจักร หรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าระยะยาว ขณะที่กลุ่มชุมชนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ยังต้องขอทุนไปหมุนเวียนจึงยากต่อการพัฒนาสินค้า” ประธานกลุ่ม เผย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาธุรกิจนั้น นางจินตนา ยอมรับว่า ปัจจุบันสินค้าผลไม้แปรรูปจากกลุ่มชุมชนออกมาขายจำนวนมาก บางครั้งเกิดปัญหาแย่งตลาดกันเอง ฉะนั้น การปรับตัวพยายามคงคุณภาพสินค้าให้ดีที่สุด เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมถึง คิดค้นสินค้าใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดใหม่

&&&&&&&&&&&&&&&&&

โทร.(056)477-654 หรือ 08-9269-1191
กำลังโหลดความคิดเห็น