xs
xsm
sm
md
lg

Kelly Newton-Wordsworth ฝรั่งผู้หลงรัก “ในหลวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงหัวค่ำของวันอังคารที่ 3 มิถุนายน 2551 ในการชุมนุมอย่างยืดเยื้อเป็นวันที่ 10 ของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย เคลลี นิวตัน-เวิร์ดสเวิร์ท (Kelly Newton-Wordsworth) กับเพื่อนชาวไทยเดินถือกีตาร์โปร่งตัวใหญ่มุ่งหน้ามายังบริเวณหลังเวที ณ บริเวณมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน แล้วแจ้งความประสงค์กับทีมงานว่าเธอต้องการจะขึ้นเวทีเพื่อขับกล่อมบทเพลงเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้บรรดามวลชนได้รับฟัง แม้ตารางเวลาบนเวทีนั้นแน่นเอี้ยดอยู่แล้ว แต่เคลลีก็นั่งรอคอยเวลาอย่างอดทน จนกระทั่งถึงคิวของเธอในช่วงดึก

ทีแรกเมื่อ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พิธีกรบนเวทีกล่าวแนะนำนักร้องชาวต่างชาติผู้นี้ แม้จะไม่มีใครรู้จักเธอ แต่เมื่อได้ยินว่าเธอต้องการจะขับร้องบทเพลงเพื่อเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ชื่อ Long Live The King of Thailand เสียงปรบมือก็ดังไปทั่วบริเวณ และยิ่งกึกก้องยิ่งไปอีกเมื่อเสียงกีตาร์และบทเพลงของเธอกังวานขึ้น

Ever since I saw the face… of this man.
นับแต่ฉันได้เห็นหน้า... ชายผู้นั้น
The King of Thailand, The King of Siam.
กษัตริย์แห่งประเทศไทย... กษัตริย์แห่งสยาม...
I felt in love with his soul loves this land.
ฉันก็หลงใหลในความรักที่ท่านมีต่อแผ่นดินนี้
It's in his eyes, it's in his heart, it's in his hands.
มันอยู่ในดวงตา อยู่ในหัวใจ และสองมือของท่าน...

บทเพลงสองบท อันประกอบไปด้วย Long Live The King of Thailand และ Rain man ที่เคลลีแต่งขึ้นและขับขานบนเวทีพันธมิตรฯ ในวันนั้นไม่เพียงดังก้องไปทั่วถนนราชดำเนิน แต่ยังแทรกซึมลึกไปในจิตใจของคนไทยทั่วประเทศและทั่วโลก เมื่อวิดีทัศน์และเสียงบันทึกการแสดงในคืนนั้นถูกนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th) และเว็บไซต์อื่นๆ จำนวนหลายหมื่นคน หลายคนบอกว่าเมื่อได้ฟังเพลงของเคลลีแล้วน้ำตาก็ไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว

เหตุใดฝรั่งออสเตรเลียคนหนึ่งที่เพิ่งรู้จักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เพียงปีกว่าๆ จึงหลงรัก “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทยได้? ทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไป วันนี้เรามาทำความรู้จักกับตัวตนของ Kelly Newton-Wordsworth ฝรั่งผู้หลงรัก “ในหลวง” กัน

“ฉันมาจากออสเตรเลีย ฉันมาพำนักอยู่ที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 นับถึงปัจจุบันก็ประมาณ 15 เดือนแล้ว แต่ฉันเดินทางร้องเพลงมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะคอนเสิร์ตไลฟ์เอิร์ธ ที่ลอสแองเจลิส รวมไปถึงคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพ และคอนเสิร์ตเพื่อสิ่งแวดล้อม” เคลลีกล่าวแนะนำตัวเองกับเรา พร้อมกับกล่าวถึงประวัติส่วนตัวด้วยว่า“โดยส่วนตัว ฉันมีสามีและลูกๆ 3 คน เราอยู่กันในไร่ (ฟาร์ม) ในแถบตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ฉันและสามี ยึดถือการทำการเกษตรเชิงชีวภาพในไร่ ซึ่งเราทำกันมายี่สิบปีแล้ว ในไร่ของเราปลูกต้นโอลีฟ เราทำน้ำมันมะกอก เราปลูกถั่วพิสทาชิโอ ปลูกส้ม ทำแยมผิวส้ม เราปลูกผักและผลไม้หลากหลายชนิด เลี้ยงแกะ เลี้ยงวัว เลี้ยงม้า ปลูกข้าวโอ๊ต ฯลฯ”

‘เศรษฐกิจพอเพียง’ แนวทางที่ก้าวหน้า

เมื่อเราถามเคลลีว่า เธอรู้จักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ เธอตอบอย่างทันทีทันควันว่า “รู้จัก” พร้อมเล่าต่อด้วยว่า “ฉันกับสามีทำการเกษตรชีวพลวัต (Biodynamic Agriculture) ที่ฉันเชื่อว่าเป็นการเกษตรที่ก้าวหน้าและยั่งยืนที่สุดในปัจจุบัน เราทำอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว แต่ฉันทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำสิ่งเดียวกับที่เราทำมา 60 ปีแล้ว ฉันกับสามีทำการเกษตรแบบยั่งยืนอย่างโดดเดี่ยว ในตอนแรกไม่มีใครสนใจทำตามวิถีทางนี้เลย กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ถึงมีคนทำตามวิถีทางของเรา อย่างเช่น แยมผิวส้ม (Orange marmalade) จากไร่ของเราได้ไปวางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในลอนดอนอย่างห้างฮาร์วีย์ นิโคลส์ (Harvey Nichols) รวมไปถึงน้ำมันโอลีฟของเราด้วย”

ขณะเดียวกันเธอยังเล่าต่อถึงประวัติการเล่นดนตรีด้วยว่า “ฉันเล่นกีตาร์มาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ มันอยู่ในสายเลือด ... แต่เพลงที่ฉันแต่งและร้องส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับโลกใบนี้ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฉันเริ่มแต่งเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมานานมากแล้ว กว่า 20 ปีแล้ว ก่อนอัลกอร์ (อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ) นานมาก (หัวเราะ) ถ้าคุณเข้าไปในยูทิวบ์แล้วใส่ชื่อของฉันเข้าไปก็จะพบเพลงหลายๆ เพลงของฉันที่แต่งให้เกี่ยวกับอนาคตของโลกใบนี้”

“ฉันเชื่อว่าเสียงเพลงสามารถปลุกผู้คนได้ และเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ ... ครั้งหนึ่งฉันเคยไปร้องเพลงในคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพโลก (World Peace Concert) ในประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพที่เคยจัดขึ้นในประเทศอินเดีย ทั้งคอนเสิร์ตเต็มไปด้วยทหารถือปืนกล แต่หลังจากที่ฉันร้องเพลง One world, One planet จบ เหล่าทหารก็เข้ามาหาฉันแล้วแตะที่หน้าอกตรงหัวใจของพวกเขา (ยิ้ม)

“ประเด็นที่ฉันอยากจะบอกก็คือ การพูดแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไร แต่ฉันใช้ชีวิตและลงมือทำในสิ่งที่ฉันเชื่อไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตรแบบชีวภาพ รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ณ ตอนนี้หลังจากที่ฉันทำหน้าที่แม่และแม่บ้านมา 19 ปีเต็มๆ ฉันก็อยากทำสิ่งที่ฉันรักคือ การแต่งเพลงและร้องเพลง ฉันเพิ่งมีเวลาที่จะทำสิ่งที่ฉันใฝ่ฝันมาตลอดที่เมืองไทย”

ความประทับใจ และ แรงบันดาลใจจาก ‘ในหลวง’

สำหรับความประทับใจแรกที่มีต่อในหลวง เคลลีเล่าว่า “ครั้งแรกที่ฉันเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของคนไทยนั้นคือบนเครื่องบินของการบินไทย ตอนนั้นฉันร้องไห้ออกมา ที่ร้องไห้ออกมาก็เพราะรู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะท่านคือกษัตริย์ที่หาได้ยากยิ่งในโลกนี้ ฉันหมายความว่าสามีและฉันเป็นนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน และเราก็พบว่าภารกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นภารกิจที่ยากลำบากมากเพราะผู้คนไม่ค่อยสนใจกัน เราทำไร่เชิงชีวภาพที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช่ปุ๋ย ทำตามธรรมชาติมายี่สิบปีแล้ว จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองที่คนหันมาสนใจจากกระแสโลกร้อน (Global Warming) จากกระแสที่มากับอัล กอร์ดังนั้นครั้งแรกที่ฉันเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉันจึงรู้สึกตื่นเต้นมาก

“ก่อนหน้าที่จะเห็นท่านในวิดีทัศน์บนเครื่องบินฉันเพียงรู้ว่าประเทศไทยมีกษัตริย์ แต่สำหรับฉันแล้วชาวตะวันตกโตมากับการสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่า เมื่อฉันเห็นท่านก็รู้สึกว่าท่านเป็นความน่าประหลาดใจที่งดงามยิ่ง เมื่อได้ทราบว่ามีบุรุษผู้หนึ่งบนโลกนี้ที่ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การเกษตร และประชาชน มานาน 60 ปีแล้ว สำหรับฉันแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกอุ่นใจ”

ด้วยแรงบันดาลใจดังกล่าว เพลง Long Live the King of Thailand จึงถูกเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550

“แรงบันดาลใจหนึ่งในการเขียนเพลงนี้ก็เพราะเมื่อฉันมาถึงประเทศไทย ฉันเที่ยวถามผู้คนมากมายว่า พวกเขารู้สึกอย่างไรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งบางครั้งผู้คนก็ร้องไห้ออกมา เหมือนกับเมื่อครั้งที่ฉันเห็นท่านเป็นครั้งแรก สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันประทับใจมาก แต่ฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมฉันต้องร้องไห้ออกมาและทำไมฉันถึงอ่อนไหวเหลือเกิน เมื่อมาพิจารณาดูฉันก็พบว่า คำตอบอยู่ในพระเนตร (ดวงตา) พระหทัย (หัวใจ) และ พระหัตถ์ (มือ) ของพระองค์ ซึ่งกลายมาเป็นท่อนหนึ่งของเพลง Long Live the King of Thailand”

กษัตริย์ผู้ชนะใจปวงชนด้วย “ความรัก”

“ฉันรู้สึกได้อย่างนั้นจริงๆ ในประเทศอื่นๆ ผู้คนมักจะมีการแสดงออกที่ไม่ดีนักต่อผู้นำของตน ซึ่งฉันคิดว่าสาเหตุก็เพราะประชาชนนั้นจะรักและเคารพต่อผู้ที่จริงใจเท่านั้น ฉันรู้ว่าความเสียสละขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชนะใจปวงชนชาวไทย และฉันพบเห็นเรื่องราวเหล่านี้ทุกวัน พบเห็นผู้คนพูดถึงความรักอันสุดซึ้งต่อพระองค์ ทั้งๆ ที่ฉันเป็นชาวต่างชาติและไม่รู้จักพวกเขามาก่อน

“การที่ผู้คนเอ่ยถึงพระองค์อย่างจริงใจด้วย ‘ความรัก’ ...’ความรัก’ นะมิใช่ ‘ความกลัว’ (เสียงเน้น) ทำให้ฉันประทับใจมาก เพราะโดยส่วนตัวฉันเองก็เชื่อใน ความรัก และ พลังของความรัก สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉันเขียนเพลงนี้ออกมา” ศิลปินเพื่อชีวิตชาวออสเตรเลียกล่าว

พร้อมเสริมว่า “ฉันเขียนเพลงสำหรับพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยไม่มีเหตุผลทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ฉันเขียนเพลงนี้ขึ้นก็เพราะว่าความรักล้วนๆ ฉันรู้ว่าฉันรักท่าน แม้ว่าฉันจะไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเลยก็ตาม แต่ฉันได้ยินได้ฟัง พระราชกรณียกิจอันยอดเยี่ยมของท่านมากมาย สิ่งที่ท่านทำไม่เพียงมีคุณค่าสำหรับคนไทย แต่ควรถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ...ตอนที่ฉันนั่งลงเขียนเพลงนี้พร้อมกับกีตาร์ ฉันรู้สึกถึงอารมณ์ ความรู้สึกดังกล่าว แล้วฉันก็เริ่มเขียนเพลง”

เคลลีกล่าวด้วยว่า “ในประเทศของฉัน และจากประสบการณ์ของตัวเอง ฉันไม่เคยพบเห็นมาก่อนว่าประชาชนจะรักผู้นำของตัวเอง นักการเมืองทุกหนทุกแห่งมักจะทำเพื่อตัวเอง อยู่ในอำนาจให้ได้ถึงการเลือกตั้งในสมัยหน้า นักการเมืองมักจะให้คำมั่นสัญญา แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจได้ก็ไม่เคยปฏิบัติตาม ผู้คนทั่วโลกรู้เรื่องนี้และเข้าใจข้อเท็จจริงเรื่องนี้ดี”

เมื่อเราถามว่าแม้แต่ในโลกตะวันตกที่มีพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน นักการเมืองก็เป็นเช่นนี้ด้วยหรือ? เคลลีหัวเราะเสียงดังก่อนตอบว่า “(นักการเมืองในโลกตะวันตก) ถือเป็นฝันร้ายเลยล่ะ!”

“ฉันเคยสู้เพื่อปกป้องป่าไม้ในออสเตรเลีย (ถอนหายใจ) แต่มันเป็นงานที่หนักหนาสาหัสมาก ... ฉันเคยเขียนเพลงชื่อว่า What’s happening to our forest? เพื่อต่อต้านการขายไม้ซุงของรัฐบาลออสเตรเลียให้แก่ต่างชาติ โดยในขณะนั้นรัฐบาลออสเตรเลียตะวันตกขายไม้ซุงชั้นดีให้แก่ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เพื่อไปทำกระดาษชำระ ตอนแรกเราเริ่มต้นกันด้วยกลุ่มคนเพียงเล็กๆ ซึ่งมีพลังไม่มากนัก บางครั้งฉันกลับมาที่ไร่และนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ฉันเลยเขียนเพลง What is happening to our forest? ขึ้นมา และทำวิดีโอคลิปของเพลงนี้ไปใส่ไว้ใน Youtube หลังจากวิดีโอเพลงดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป พรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลก็นำวิดีโอคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ในวงกว้าง และก็ได้ผล รัฐบาลออสเตรเลียตะวันตกเชิญฉันไปพูดคุยด้วย ซึ่งฉันบอกกับพวกเขาว่า “ถ้าพวกคุณไม่หยุดการตัดไม้ คุณจะแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้า" ...พวกเขาหัวเราะใส่หน้าฉัน และท้ายที่สุดพวกเขาก็แพ้จริงๆ (หัวเราะ) และด้วยสิ่งที่เราทำ สามารถรักษาพื้นที่ป่าในออสเตรเลียไว้ได้มากถึง 1.5 ล้านเฮกเตอร์”

หลงเสน่ห์ประเทศไทย

สำหรับเพลง Rain man ซึ่งเป็นหนึ่งในสองเพลงที่ถูกบรรเลงบนเวที โดยเนื้อหากล่าวถึงพระอัจฉริยภาพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เคลลีเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า เธอเพิ่งแต่งเพลงนี้ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2550 นี้เอง โดยเพลง Long Live the King of Thailand และ Rainman นั้นเป็นเพียงสองเพลงในบทเพลงประมาณ 10 ชิ้น ที่เธอเขียนขึ้นเกี่ยวกับประเทศไทย และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเพลงอื่นๆ ก็อย่างเช่น There must be peace in Thailand, Sukhumvit Road เป็นต้น

“ฉันเขียนเพลงเหล่านี้ขึ้นเพราะว่าฉันรักเมืองไทย ฉันรักคนไทย ฉันรักกรุงเทพฯ สำหรับฉันแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกและหัวใจของฉัน ฉันพบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าตื่นเต้นและมีเสน่ห์ที่สุดในโลกเหนือกว่าเมืองใดๆ ที่ฉันเคยรู้จัก สำหรับเสน่ห์นั้นฉันคิดว่าเกิดจากความหลากหลาย และอิสรเสรีของผู้คนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองเพิร์ทที่ฉันอยู่

“ฉันคิดว่าเมืองไทยมีเรื่องราวที่จะเขียนเพลงได้เยอะ โดยส่วนตัวแล้วฉันถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านทางวัฒนธรรมของฉัน เป็นบ้านที่อยู่ในหัวใจของฉัน เมื่อมาถึงที่นี่ฉันรู้สึกว่าข้างในลึกๆ ฉันเป็นคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบาย ฉันเดินทางไปหลายๆ ที่ในประเทศไทยไม่ว่าเป็น จังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ฉันก็เพิ่งไปบางคล้า (อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) มา ฉันชอบชีวิตและทิวทัศน์ในชนบท”

บทเพลงและความฝันถึงโลกแห่งความเท่าเทียม

เมื่อเราถามเธอว่า รู้ได้อย่างไรว่ามีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ณ บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน เธอตอบว่า “ฉันทำงานกับโปรดิวเซอร์ชาวไทยที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง เขาชื่อเชิดชัย เขารู้ว่าฉันรักในหลวงมากแค่ไหน และฉันก็เขียนเพลงเกี่ยวกับประเทศไทยหลายเพลง เขาบอกกับฉันว่ามีเหล่าประชาชนที่จงรักภักดีในหลวงอย่างมากมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ เขาเลยถามว่าฉันอยากจะมาร่วมงานนี้ไหม ถ่ายทอดเพลงที่ฉันแต่งให้ทุกคนที่อยู่ที่นี่ได้ฟัง

“ฉันไม่รู้เรื่องราวทางการเมืองอะไรมากนัก ฉันรู้ชื่อสมัคร (สุนทรเวช) และ ทักษิณ (ชินวัตร) แต่ฉันไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพิมพ์มากนัก และ ฉันไม่ดูโทรทัศน์ ฉันต้องใช้สมาธิกับการแต่งเพลง และทำงานของฉันพอสมควร แม้แต่การเมืองในออสเตรเลียฉันก็ไม่ได้ติดตามมากนัก

“ตัวฉันเองเป็นศิลปินที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองนัก แต่ฉันใส่ใจในอิสรภาพของผู้คน ฉันคิดว่าทรัพยากรในโลกนี้ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน เพราะ บางคนขูดรีดทรัพยากรใส่ตัวมากเกินไป และเรื่องราวความไม่เท่าเทียมกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลก"

“บางทีฉันอาจจะเป็นคนช่างฝันเกินไป เมื่อวานตอนเช้าฉันยังตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เลยว่า เราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมีกลุ่มคนจำนวนน้อยนิดที่ควบคุมทุกอย่าง บัญชาการชีวิตของคนส่วนใหญ่ ...ฉันรู้ว่ามันมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และฉันก็รังเกียจเผด็จการ แต่ฉันก็คิดว่าเรายังหาวิธีการอยู่ร่วมกันที่เหมาะสมที่สุดไม่เจอ แต่ฉันเชื่อว่ามีหนทางที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ดีกว่านี้”

คนไทยควรเคารพและหวงแหนวัฒนธรรมไทย

เมื่อถามว่านอกจากเสียงเพลงอันล้ำค่าแล้ว เธออยากจะบอกอะไรกับคนไทยอีก เคลลีตอบว่า สิ่งแรกที่เธออยากบอกกับคนไทยก็คือ กรุณารักษาวัฒนธรรมไทยเอาไว้ “ฉันเคยเขียนเพลงๆ หนึ่งชื่อว่า Peace in Thailand เนื้อหาของเพลงนี้อธิบายถึงความล้ำค่าของวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมของพวกคุณ ทุกที่ในโลกที่ฉันเคยไป ฉันไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อนเลย แต่อนาคตของผู้คนและประเทศแห่งนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะ ในระยะเวลาเพียงแค่ 15 เดือนที่ฉันได้สัมผัสกับประเทศไทย ฉันก็พบเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายแล้ว

“ฉันคิดว่าเป็นเรื่องดีที่คนไทยจะเรียนภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลของโลก แต่การส่งเด็กๆ ไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างเช่นไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เมื่อพวกเขากลับมาเขากลับกลายเป็นคนอเมริกันมากกว่าคนอเมริกันที่เรียนภาษาไทยเสียอีก ซึ่งวิธีคิดแบบอเมริกันได้แผ่กระจายอิทธิพลไปทั่วโลกแล้วผ่านสื่อต่างๆ แม้แต่ในออสเตรเลียเอง

“ฉันคิดว่าแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ สนับสนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นมากกว่าที่จะสนับสนุนชาวต่างชาตินั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก โอ้! ฉันเกือบลืมไปว่ารวมถึงโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย ฉันมีกระเป๋าที่ฉันรักมากใบหนึ่งที่ซื้อมาจากโครงการของท่าน ทั้งหลายแหล่ที่สนับสนุนวัฒนธรรมไทย การเกษตรของไทย ศิลปินของไทย และสนับสนุนเอกลักษณ์ของพวกคุณ สำหรับฉันแล้ว ฉันคิดว่าคุณควรจะคัดสรรสิ่งที่ดีจากตะวันตก รักษาเอกลักษณ์ของพวกคุณเอาไว้ และเคารพวัฒนธรรมของตัวเอง"

“วัฒนธรรมที่คุณมีเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และแข็งแกร่งมาก ส่วนคำแนะนำจากคนต่างชาติอย่างฉันถึงคนไทยก็คือ ให้ฟังในหลวงให้มากเข้าไว้ เพราะ ท่านตรัสในสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก ท่านไม่เป็นเพียงแสงสว่างของคนไทยแต่ถือว่าเป็นแสงสว่างของโลก”

หมายเหตุ :
- ชมวิดีโอคลิป การแสดงของ เคลลี นิวตัน-เวิร์ดสเวิร์ท ได้ที่ www.manager.co.th/Video
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ เคลลี นิวตัน-เวิร์ดสเวิร์ทที่ www.kellynewtonwordsworth.com.au

กำลังโหลดความคิดเห็น