xs
xsm
sm
md
lg

Sit-Talk: ทำไมเด็ก JR ถึงไม่อยากเป็นพิราบคาบข่าว (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Sit-Talk สบายๆ ยามเย็นในบรรยากาศงานหนังสือ
Sit-Talk เป็นที่นั่งคุยแห่งใหม่ที่ ‘ปริทรรศน์’ เปิดขึ้นเพื่อชักชวนคุณๆ มา ‘นั่ง’ (Sit) คุยกันแบบสบายๆ เกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ (Situation) ชวนคิด ชวนคุย ชวนทะเลาะ (แต่ไม่วิวาท) และเขย่าฝันในยุคสมัยของเรา โดยไม่มีฝั่ง มีข้าง ในบรรยากาศเป็นกันเอง และ ‘ปริทรรศน์’ หวังว่า Sit-Talk ครั้งต่อๆ ไปจะมีคุณมานั่งคุยกับเราด้วยจริงๆ


ยังคงอยู่กับ Sit-Talk ตอนต่อจากเมื่อวาน และคำถามที่ว่า ‘ทำไมเด็ก JR (วารสารฯ) ถึงไม่อยากเป็นพิราบคาบข่าว’

กับผู้มานั่งคุย ชูวัส ฤกษ์ ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขวัญ-ผุสราภรณ์ ทิมวงศ์ และ เกด-เกวลี ดวงเด่นงาม นักศึกษาชั้นปี 4 แขนงวิชาวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ แอน-วลี เถลิงบวรตระกูล (น้องฝึกงานปริทรรศน์) นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วันนี้คือบทสรุปการพูดคุยทั้งหมดที่เราไม่ต้องการชี้นิ้วว่าใครเป็นจำเลยของเรื่องนี้ แต่อาจจะเป็นเหมือนที่ชูวัสกล่าวไว้ที่ว่า ถึงที่สุดแล้วเราต่างก็เป็นองค์ประกอบเล็กๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม หากเราผลักภาระและกล่าวโทษย่อมเท่ากับเรากดทับเด็ก JR แล้วสร้างแรงต่อต้านโดยใช่เหตุ แทนที่จะเป็นการทำความเข้าใจกัน และช่วยประคับประคองไปสู่การเคารพกันและกันในที่สุด...

ปริทรรศน์-งานนิตยสารสนุกมั้ย

วิภว์-ก็สนุกนะ แต่ก็ไม่ได้รื่นเริงทั้งวัน

ปริทรรศน์-เป็นเพราะภาพการทำงานของนิตยสารที่ออกไป นักศึกษาอาจไม่เห็นการทำงานหนักของนิตยสาร

วิภว์-น่าจะเป็นไปได้นะ

ชูวัส-ไม่มีอะไรที่ง่ายหรอก อะไรที่เป็นงานล้วนต้องแบกภาระ คุณจะชิลๆ กับงานมันก็ไม่ใช่งานแล้ว คุณต้องมีภาระรับผิดชอบ

ปริทรรศน์-คิดว่าอะไรที่ทำให้ภาพของนิตยสารที่ออกไปดูสบายแบบนั้น

วิภว์-นิตยสารอาจดูเป็นสิ่งสวยงสวยงาม เปิดหยิบได้ง่าย หรืออย่างคนที่ทำหนังสือแฟชั่นซึ่งมันดูง่ายไปหมด แต่มันมีไม่กี่คนที่ทำได้ ที่ตามแฟชั่นอย่างจริงจัง พูดเรื่องสวยงามหรือเทรนด์ต่างๆ ได้

ปริทรรศน์-อย่าง Happening การประชุมกองบรรณาธิการเป็นยังไงบ้าง

วิภว์-คนที่อยู่ในกองต้องรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ต้องจับประเด็น ต้องคิดต้องติดตามทำยังไงให้น่าสนใจ

ปริทรรศน์-คนทำนิตยสารหรือบรรณาธิการเก่งๆ หลายคนก็โตมาจากงานข่าว เป็นไปได้มั้ยว่านักศึกษาไปดูแต่ส่วนยอดของคนๆ นั้น

ชูวัส-อาจเพราะอยากโตเร็วโดยไม่ต้องลงทุนมาก

วิไลวรรณ-ถามหน่อยว่าทุกวันนี้เข้าไปเขียนบล็อกกันมั้ย

ขวัญ-...แต่ความรู้สึกคือมันไม่เหมือนการเป็นคอลัมนิสต์

วิไลวรรณ-แสดงว่าเขาติดที่ตัวตน

ปริทรรศน์-บล็อกอาจจะจับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนหนังสือที่จับต้องได้

เกด-ใช่ ถ้าได้เขียนออกมาแล้วมันก็เป็นผลงานของเรา

ชูวัส-ผมยืนยันได้เลยว่าหนังสือบางเล่มคนอ่านน้อยว่าประชาไทยอีก แต่ถ้าให้เด็กทำงาน เด็กก็เลือกทำแมกกาซีน

วิไลวรรณ-มีเด็กที่ฝึกจบไปแล้วได้งานอยูที่นิตยสารฉบับหนึ่ง 2 ปี แต่ตอนนี้มีคนที่หนังสือพิมพ์อีกฉบับเรียกไปทำงาน พอเรามาเจออีกทีบ่นว่าเหนื่อยมากกับการต้องปรับ เพราะนิตยสารเป็นรายปักษ์ เสร็จไม่ทันยังเลื่อนกำหนดได้ แต่หนังสือพิมพ์เหนื่อยมากๆ นี่ก็น่าจะเป็นปัญหาเหมือนกัน

ทุกวันนี้ก็มีนักศึกษาอยากเป็นฟรีแลนซ์ด้วย แต่ถ้ากลับมาทำงานองค์กร แล้วยังไม่มีระเบียบใครจะเอางานให้คุณทำ เราก็บอกเขาไปว่าต้องเริ่มทำงานอยู่ในกรอบก่อนแล้วคุณถึงจะมีระเบียบวินัย เขาคิดว่าฟรีแลนซ์อิสระแล้ว เขาบอกด้วยนะว่าเขาไปไกลเกินกว่าจะอยู่ภายใต้องค์กร

ปริทรรศน์-ปรากฏการณ์นี้เป็นปัญหาในภาพกว้างๆ ด้านความคิดของคนรุ่นใหม่ ด้วยหรือเปล่า

วิภว์-คิดว่ามันเป็นปัญหา แต่ว่ามันจะคลี่คลายไประดับหนึ่งในอนาคต ประเด็นคือว่าเด็กต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าอยากเป็นอะไร เพราะอะไร ถ้าไม่เข้มแข็งจริงก็ทำไม่ได้อยู่ดี

ปริทรรศน์-ที่ยากที่สุดก็คือหาตัวเองนี่แหละ

วิภว์-ใช่ คืออยากเป็นอะไรก็ได้ไง แต่จะเป็นได้หรือเปล่า ก็ต้องลองทำดู ต้องมีความพยายามที่จะไปถึงให้ได้

วิไลวรรณ-ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องความคิดอ่าน อย่างที่ได้บอกไปว่าเรื่องนักข่าว ยังไงมันก็มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ว่าท้ายสุดยังไงคงต้องมีคนเข้ามาทำอาชีพนักข่าวนั่นแหละ ที่กลัวคือเรื่องของความคิดอ่านมากกว่า ไม่ได้กลัวว่าจะไม่มีคนเข้ามาทำงานข่าว แต่กลัววิธีการคิดของเด็ก หลังจากที่ได้พูดคุยกับเด็กแล้วรู้ว่าเขาไม่อยากมาเป็นนักข่าว ท้ายสุดมันสะท้อนว่ามันเหนื่อย ลำบาก ใช่ไหม พอคุยไปอีก ปัญหาคือเรื่องของเนื้อหาที่ไม่ชอบอะไรที่ซีเรียส จริงจัง ชอบอะไรที่สนุก

ชูวัส-ที่พูดมาทั้งหมดนี่เป็นทุกคำตอบเลยนะ เห็นด้วยหมดเลย แต่เวลามองเรื่องพวกนี้แบบวิเคราะห์เจาะลึกลงไป อาจจะไม่ถูกต้องนักหากไปโทษที่ตัวเด็ก เพราะสังคมทุกที่เป็นอยู่วันนี้เป็นเพราะคนรุ่นเราสร้างมา แล้วให้เด็กอยู่ เด็กไม่ได้มีอำนาจในการบงการหรือสร้างสังคม ผู้ใหญ่รุ่นก่อนเด็กทั้งนั้นแหละที่ทำให้เด็กพวกนี้อยู่ ฉะนั้น ผมจึงไม่โทษที่ตัวเด็กมากนัก

ปัญหาคือการตั้งปัญหาแบบนี้มันจะไปกดทับเด็กให้เด็กรู้สึกผิด แล้วเมื่อเด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่เขาอยากจะสร้างคุณค่าอะไรบางอย่างกดทับที่ตัวเด็ก เด็กก็ยิ่งต่อต้าน ยิ่งปฏิเสธ มันก็เป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้จะแก้ยังไง มึนกับปัญหาวังวน อยากจะให้เด็กดี พยายามจะบอก พยายามจะตั้งคำถาม พยายามจะชี้แจงให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย เด็กก็ยิ่งรู้สึกว่าคุณกำลังกดทับ มันมีมาตรฐานของคนสองรุ่นที่แตกต่างกัน มันก็ไม่รู้จะจบยังไง เพราะมันก็เป็นมาทุกรุ่น รุ่นพ่อเราก็ด่าเรา คุณภาพต่ำลง แต่คนรุ่นเราก็รวยกว่ารุ่นพ่อ หรือคนรุ่นเราก็มีความสุขมากกว่ารุ่นพ่อ มันเป็นแบบนี้หมด ผมยังเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จะดีกว่าเด็กรุ่นเก่าเสมอ ผมยังเชื่อมั่นอย่างนั้นนะ ปัญหาคือว่าวงการข่าวเองที่ต้องพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าคุณยังมีคุณค่าอยู่หรือเปล่าในสังคมนี้

ปริทรรศน์-ที่ผ่านมามันไม่ได้พิสูจน์เหรอ

ชูวัส-มันไม่ได้พิสูจน์ อย่างน้อยมันไม่ได้ปรากฏชัดให้เด็กเห็น มันไม่ได้เชื่อมโยงกับคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเขา ไม่มีคุณค่าพอที่เด็กจะเลือกเป็นวิถีชีวิตของเขา มันพิสูจน์แล้วสำหรับผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้พิสูจน์สำหรับเด็ก มันก็ต้องหาวิธี อย่างวิธีของ a day แต่มันก็มีผลข้างเคียง แล้ววิธีอย่างไหนล่ะที่จะพิสูจน์สำหรับเด็ก หรือจริงๆ การศึกษา หรือสิ่งที่แวดล้อมเด็กที่ทำให้เด็กเป็นแบบนี้ ภาระหนักจะไปอยู่ที่แวดวงวิชาการ คณะวารสารศาสตร์ที่คุณจะสร้างสรรค์คนยังไงให้เด็กเห็นคุณค่าของความเป็นข่าว

วิไลวรรณ-ไม่ใช่เลย อย่าโยนๆ คือมันก็ต้องเริ่มมาตั้งแต่อนุบาลเลย จริงๆ นะ มาถึงนะเด็กมันยังสะกดคำบางคำไม่เป็น คือมันเริ่มตั้งแต่อนุบาล ประถม หรืออย่างที่น้องบอกว่า เจออาจารย์ดุมากๆ ด่าถึงพ่อถึงแม่ เลยรู้สึกว่าจากที่อยากทำข่าวกลายเป็นเกลียดข่าวไปเลย เราก็เคยเจอนะที่โดนอาจารย์ดุมากๆ เราก็รู้สึกว่าทำไมครูต้องดุ ต้องตีเราด้วย ทำไมถึงพูดดีๆ กับฉันไม่ได้หรือไง ดังนั้น มันก็อยู่ตั้งแต่เด็กว่าจะปลูกฝังยังไงให้รักการอ่าน ดังนั้น ปัญหาที่เราเจอคือเด็กโตมาแล้วไม่อ่านหนังสือ

หรือแม้แต่พอเราไปประเมินเด็กฝึกงาน พี่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็จะพูดคำแรกเลยนะว่าน้องไม่มีข้อมูล ดังนั้น เวลาให้ไปทำอะไรก็ไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องนั้นๆ พอไม่รู้เรื่องเขาก็คิดและต่อไม่ได้ พอจะเขียนก็ไม่รู้จะเขียนอะไร พอเขียนส่งมาก็เป็นประเด็นเก่า ดังนั้น ก็ต้องกลับไปที่การศึกษาขั้นต้น เพราะวันนี้ที่เรากลัวอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่แค่เด็กไม่อ่านหนังสือนะ เด็กไม่เขียนหนังสือด้วย เด็ก ป.3 วันนี้พอมีคอมพิวเตอร์ทำรายงานส่งอาจารย์ แล้วเกิดปรากฏการณ์ก็อป เพลต ก็อป เพลต เป็นอย่างนี้เลย

ปริทรรศน์-แล้วปรากฏการณ์การบูมของบล็อกเกอร์จะอธิบายยังไง

วิไลวรรณ-ก็บูมใช่ แต่ถ้าเราไปทำ Content Analysis ลองดูสิว่า เขาเขียนเรื่องอะไร

วิภว์-จะเป็นเรื่องแบบว่าวันนี้ทำอะไรมา

ปริทรรศน์-น้องๆ อยากชี้แจงอะไรมั้ย

ขวัญ-ก็ยอมรับค่ะว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากไม่ได้อ่านข่าว ส่วนใหญ่ที่ทำให้เราไม่มีข้อมูลในตัวเองก็เพราะเราไม่อ่านหนังสือพิมพ์ เรื่องข่าวการเมืองอะไรเราก็ไม่รู้ ถ้าสนใจเรื่องแฟชั่น เราก็รู้แค่แฟชั่นอย่างเดียว ซึ่งในสภาพแวดล้อมจริงๆ แล้วมันจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตจริงๆ ไม่ได้ ดังนั้น เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ แต่ว่ามันก็ยากนะที่จะทำให้เราสนใจ เพราะว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากค่ะ แล้วถ้าเราสนใจเรื่องการเมืองขึ้นมาจริงๆ เราก็ต้องติดตาม ซึ่งอยู่ๆ จะมาอ่านเรื่องการเมืองเรื่องนี้ เราจะไม่เข้าใจเลยว่ามันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอะไร เราก็ต้องกลับไปอ่าน กลับไปถามคนอื่นว่ามันคือเรื่องอะไร ซึ่งเราก็ไม่อยากรู้

เกด-หนูว่ามันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กที่ปลูกฝังมา อย่างบางบ้านที่คุณพ่อชอบดูข่าว เด็กก็อยู่กับพ่อดูข่าวกับพ่อ ก็จะสนใจ แต่บางบ้านพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ปล่อยเด็กไว้ที่บ้าน เด็กก็จะเปิดรับแต่สื่อบันเทิง แล้วก็ซึมซับเอา เจอข่าวก็เปลี่ยนหนี ทำให้คนรุ่นใหม่จะหันไปทางด้านบันเทิงมากกว่า

ปริทรรศน์-จากที่พูดมา ยังไงมันก็ยังคงดำเนินไปได้ใช่ไหม ยังไงก็ยังมีคนทำงานข่าวอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นสรุปเลยได้ไหมว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมาถกกันก็ได้

ชูวัส-ใช่ มันก็แสดงว่าฉันเป็นผู้ใหญ่ เธอเป็นเด็ก ฉันเป็นคนดีกว่า เธอเป็นคนที่ไม่ยอมเอาความรู้ ฉันเป็นคนรักการรู้ เธอเป็นคนไม่รักการรู้ ที่สุดมันไม่ได้สร้างสรรค์อะไรมากมายนัก นอกจากใช้อำนาจกดเด็ก คือขวางโลกไปหรือเปล่า ไม่รู้นะ แต่หมายถึงว่าเรารู้สึกว่าที่สุดแล้ว เหมือนมันยิ่งไปกดทับเด็ก ด้านดีมันก็ได้ผลิตเด็กที่มีความรู้ออกมา แต่จะมีเด็กสักกี่คนที่จะได้รับความรู้ตรงนี้ คือถ้ามองที่เป้าที่เด็กนะ

แต่ถ้ามองที่เป้าของสังคมทั่วไป ผมคิดว่าการคุยกันแบบนี้ทำให้ผู้ใหญ่ได้คิดว่า ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่จะต้องสร้างโลกให้เด็ก

แอน-หนูว่ามันไม่ได้อยู่ที่ผู้ใหญ่นะ หนูว่ามันอยู่ที่สังคม เพราะมันก็เกิดจากตัวเด็กเอง แล้วก็เกิดจากที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังให้เด็กมาเป็นแบบนี้

ชูวัส-ใช่ๆ พี่ก็หมายความว่าอย่างนั้นแหละ มันอยู่ที่สังคมโดยรวมที่ผู้ใหญ่กำหนด คือมันจะมีประโยชน์กับผู้ใหญ่ แต่ไม่มีประโยชน์กับเด็ก มันเป็นโทษกับเด็กด้วยซ้ำที่เหมือนถูกกดทับ เหมือนกับสังคมทุกวันนี้ที่ว่าเด็กแว้น เด็กสก๊อย หกโมงเย็นจะให้เด็กกลับบ้านหรอ มันเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เราอยากให้เด็กมันเรียนรู้ หกโมงเย็นให้กลับบ้าน ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้ ดูทีวีก็โดนด่า โดนบังคับ ดูดบุหรี่ก็ไม่ได้ กินเหล้าก็ไม่ได้ หนังไม่มีเงินก็ดู ห้องสมุดห้าโมงเย็นก็ปิด แล้วจะให้เด็กเรียนรู้ คือผู้ใหญ่เอาแต่พูดไงเพื่อให้ตัวเองดีกว่าเด็ก

วิไลวรรณ-พูดในฐานะของครูนะ เราหวังดี เพราะว่าเมื่อเราเห็นปัญหา เราจะปล่อยมันไว้เหรอ โอเค ถ้าบอกว่า แล้วมันก็จะผ่านไป แต่คนเป็นครูเหมือนคนเป็นแม่ เรารู้สึกว่าเราปล่อยไม่ได้ เมื่อเราเห็นว่าอันตรายอยู่ข้างหน้า

ที่สำคัญคือถ้าคนเหล่านี้เรียนวารสารศาสตร์แล้วกำลังจะออกไปสู่สังคม แล้วเป็นคนทำสื่อเพื่อสังคม เรามองว่ามันอันตราย พูดไปเด็กจะเชื่อไม่เชื่อ พูดไปเด็กจะเกลียด ก็อาจจะมีช่วงแวบหนึ่งที่ไปสะกิดเด็กได้ คิดอย่างนั้นนะ

วิภว์-ตอนที่ติดต่อมาแล้วได้ยินคำถาม ก็คิดนะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงเหรอ หนังสือพิมพ์มีคนทำน้อยลงจริงเหรอ ก็คิดว่าได้มาคุยก็ดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ได้สะกิดให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นนะ เป็นจริงหรือเปล่า แต่ว่าทางแก้นี่ผมมองว่ามันอยู่ที่ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ เด็กอาจจะคิดได้ว่าหนังสือพิมพ์นี่มันน่าสนใจดีเหมือนกันนะ หรือว่าผู้ใหญ่อาจจะมองว่า งานข่าวมันไม่เซิร์ฟเด็กจริงหรือเปล่า ถ้ามองภาพรวมทุกฝ่ายอาจจะได้มองบ้าง แต่คงไม่เยอะหรอกครับ แต่โจทย์สำคัญคือการค้นหาตัวเอง แล้วลองทำไปเลยว่าได้ ไม่ได้

ปริทรรศน์-ถ้าเราจะไม่ผลักภาระไปให้คนอีกรุ่นหนึ่ง ก็เลยอยากจะถามอาจารย์ในฐานะที่เป็นครู คุณวิภว์ในฐานะของคนทำนิตยสาร และคุณชูวัสในฐานะคนทำข่าวว่า แล้วคน 3 กลุ่มนี้ควรทำอะไร

ชูวัส-จุดประสงค์มันคืออะไรล่ะ เพื่อให้เด็กสนใจทำข่าวใช่ไหม มันต่างกันนะ

ปริทรรศน์-ไม่ใช่เพื่อให้เด็กสนใจทำข่าว ถ้าคุณชูวัสบอกว่าปรากฏการณ์นี้มันเป็นเครื่องสะท้อนภาพของโลกโดยรวมของเด็กที่เปลี่ยนไป ในฐานะที่เป็นครู เป็นคนทำข่าว เป็นคนทำนิตยสารก็เท่ากับเป็นคนที่ทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้ คน 3 กลุ่มนี้จะทำอะไรได้บ้าง อาจจะไม่ใช่ว่าต้องทำให้นักศึกษาหันมาทำข่าวแล้ว แต่ถามว่าเราจะประคับประคองโลกทัศน์ของเด็กรุ่นต่อไปกันยังไง

ชูวัส-แน่นอน เราก็แก่ตัวขึ้นด้วยนะ โลกที่อยากให้เป็น ผมอยากให้เป็นโลกที่เคารพซึ่งกันและกันนะ อาจจะอยากเรียกร้องความเท่าเทียมกัน แต่ที่สุดแล้วคือโลกที่เคารพกันมากกว่า เอาล่ะ เด็กมันอยากใฝ่ดี แต่มันใฝ่ดีไม่ได้เพราะอะไร แต่ความอยากน่ะมี เคารพว่ามันอยากเป็นคนดีเท่าๆ กับเรา เคารพว่ารักในความดีเท่าๆ กับเรา นั่นหมายความว่า ผมอยากให้โลกนี้ไม่ใช่โลกที่ประกาศตัวว่าฉันเป็นผู้ใหญ่แล้วฉันจะดีกว่าเด็ก ฉันเป็นนักการเมืองเหมือนกัน แต่ฉันเป็นนักการเมืองฝ่ายดี มันควรจะเคารพกันและกัน

ปริทรรศน์-แล้วในฐานะที่คุณเป็นคนทำข่าว คุณจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ชูวัส-คุณก็ต้องตั้งคำถาม ต้องมีประเด็น ต้องมีข่าวที่สื่อสะท้อนนัยทางสังคมแบบนี้ สะท้อนนัยความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแบบนี้ เช่น คนในเมืองจะไปบอกให้คนจะนะเสียสละที่ดินตัวเองเพื่อสร้างท่อก๊าซได้อย่างไร ในเมื่อคนในเมืองอยากมีไฟฟ้าใช้ อยากมีชีวิตที่สะดวกสบาย คนจะนะก็อยากมีชีวิตที่สะดวกสบายในแบบของเขา นัยข่าวแบบนี้ก็สะท้อนถึงความไม่เคารพกัน คือเราไม่ได้มาพูดว่า ต้องเคารพกัน เพราะจะเกิดแรงกดดันเปล่าๆ แต่เราเอาข่าว เอาเหตุการณ์แบบนี้มาเสนอให้เห็นเพื่อสะท้อน

สำคัญที่ว่าคุณต้องการอะไร เช่นต้องการให้คนเคารพกัน ก็ต้องเสนอข่าวที่สะท้อนการเคารพกันให้เห็น

วิภว์-มันเป็นปัญหาสังคม แก้ปัญหาได้ตรงที่ทุกๆ ฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถ้าทุกฝ่ายนึกถึงสังคมมากกว่านี้ ก่อนที่จะทำอะไรลงไป การเลือกตัวคอนเทนต์ การเลือกภาพ หรือเรื่องที่นำเสนอ มันก็จะช่วยปัญหาตรงนี้ในทางอ้อม

วิไลวรรณ-การที่เด็กคิดต่างจากเรา เราไม่ได้ไปตัดสินว่าเด็กด้อยกว่าเรานะ แต่สิ่งที่ต้องพูดเพราะความเข้าใจคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เรามีความรู้สึกว่าบางครั้งเด็กยังเข้าใจผิดในประเด็นหลายๆ อย่าง เช่น นักศึกษาอยากทำแมกกาซีนเพราะว่าดูเบากว่า สบายกว่า ง่ายกว่า ในขณะที่ทำข่าวดูมีรูปแบบตายตัว ดังนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อนคือเราต้องถามว่าข่าวคืออะไร บทความคืออะไร เพื่อให้เด็กรู้ว่าตัวเองกำลังสวมหัวโขนทำอะไรอยู่ เราไม่ได้สอนแค่การเขียน แต่เราสอนการมองโลก วิธีการคิดให้ถูกต้องด้วย

ปริทรรศน์-อยากพูดอะไรกันอีกมั้ย

ชูวัส-ที่พูดก็เป็นประโยชน์กับคนวงกว้าง แต่มันก็มีผลข้างเคียงที่ไปตัดสินเด็กไง เราก็พยายามจะนำเสนอว่าอย่าไปตัดสินเด็กนะ มันไม่ได้ คือคุณคิดว่าเด็กจบการศึกษาจากห้องเรียนแล้วเก่งเลย มันไม่ใช่ มันแค่ใช้ชีวิตในห้องเรียนช่วงหนึ่ง คุณชะลอเขาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้นเอง หลังจากนั้นเด็กเพิ่งเริ่มเรียนหลังจากที่เปิดแมกกาซีนเล่มแรกแล้วเจ๊ง แล้วก็พบว่าการเขียนคอลัมน์ตัวเองมันไม่หมู เริ่มตัน แล้วมันก็ลองผิดลองถูกแล้วพบว่าควรมาเป็นนักข่าวดีกว่าเพื่อเสริมต้นทุน

วิไลวรรณ-แต่ก็มีอะไรในห้องเรียนนะ ยืนยันว่ายังมี แต่ว่าก็มียาพิษอยู่ ถ้าครูสอนอะไรผิดๆ เราก็ไม่ได้บอกว่าทุกอย่างที่ครูสอนถูกหมดทั้งสิ้น บางอย่างที่ครูสอนเราก็ยังไม่เชื่อ เราก็ต้องรู้จักหยิบว่าเราจะเอาอันไหน

ชูวัส-ห้องเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตนั่นล่ะ เหมือนกับการอ่านแมกกาซีน การดูทีวี การเดิน การคบเพื่อนก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมีค่าเท่าๆ กัน เด็กรุ่นใหม่หากว่าได้ปลดปล่อยอะไรได้มากขึ้นหรือสังคมปลดปล่อยอะไรได้มากขึ้น การศึกษาในห้องเรียนจะลดความสำคัญลง

ขวัญ-ต้องปลูกฝังให้รักการอ่าน ต้องมีวิธีที่ไม่ใช่การบังคับ ทำให้รักเอง

เกด-อยู่ที่ตัวสภาพแวดล้อมด้วย

วิภว์-ผมเชื่อว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าอยากเป็นอะไร

************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์
วิไลวรรณ จงวิไลเกษม (ผู้หญิงสวมแว่น) กำลังเปิดประเด็น
วิภว์ บูรพาเดชะ ร่วมถกเถียง
น้องนักศึกษาสาวทั้ง 3 คน ขวัญ-ผุสราภรณ์ ทิมวงศ์ (คนขวา) เกด-เกวลี ดวงเด่นงาม (คนกลาง) และ แอน-วลี เถลิงบวรตระกูล (คนซ้ายที่กำลังนั่งจดอยู่ปลายโต๊ะ)
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อธิบายปรากฏการณ์ Somebody
จิบเครื่องดื่มแก้ฝืดคอ

กำลังโหลดความคิดเห็น