xs
xsm
sm
md
lg

Sit-Talk: ทำไมเด็ก JR ถึงไม่อยากเป็นพิราบคาบข่าว (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Sit-Talk สบายๆ ยามเย็นในบรรยากาศงานหนังสือ
Sit-Talk เป็นที่นั่งคุยแห่งใหม่ที่ ‘ปริทรรศน์’ เปิดขึ้นเพื่อชักชวนคุณๆ มา ‘นั่ง’ (Sit) คุยกันแบบสบายๆ เกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ (Situation) ชวนคิด ชวนคุย ชวนทะเลาะ (แต่ไม่วิวาท) และเขย่าฝันในยุคสมัยของเรา โดยไม่มีฝั่ง มีข้าง ในบรรยากาศเป็นกันเอง และ ‘ปริทรรศน์’ หวังว่า Sit-Talk ครั้งต่อๆ ไปจะมีคุณมานั่งคุยกับเราด้วยจริงๆ

มีคนพูดให้เราฟังว่าเดี๋ยวนี้ ‘เด็ก JR’ (Journalist) นักศึกษาวารสารศาสตร์ส่วนใหญ่ อยากจะทำงานนิตยสารมากกว่างานข่าวหรืองานหนังสือพิมพ์ พอลองไปสอบถามน้องๆ ที่เรียนวารสารฯ ก็พบว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ จึงชวนสงสัยต่อว่าแล้วมันเป็นเพราะอะไร?

ใครล่ะ? จะพอให้คำตอบได้ถ้าไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่ากระนั้นเลย เราจึงชวน ชูวัส ฤกษ์ ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มานั่งคุย (Sit-Talk) กัน แน่นอน คุยเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่มีฝั่งนักศึกษาการสนทนาคงดูกร่อยๆ ขวัญ-ผุสราภรณ์ ทิมวงศ์ และ เกด-เกวลี ดวงเด่นงาม นักศึกษาชั้นปี 4 แขนงวิชาวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ แอน-วลี เถลิงบวรตระกูล (น้องฝึกงานปริทรรศน์) นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาร่วมนั่งคุยด้วย

เป็นการ Sit-Talk ในร้านอาหารในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ท่ามกลางบรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (กะว่าคุยเสร็จก็เดินดูหนังสือต่อ) ภาพก็เลยดูรุงรังไปบ้างตามประสาคนนั่งคุยกันที่ต้องมีเครื่องดื่มกลั้วคอ

แต่ว่าเนื้อหาจะหวานละมุนชุ่มคอเหมือนน้ำแตงโมปั่นก็หาไม่ ตรงข้าม บางช่วงกลับเข้มไม่ผิดเอสเพรสโซ เพราะถ้ามองให้ลึกกว่าปรากฏการณ์เปลือกๆ ผิวๆ เราจะเห็นภูเขาน้ำแข็งซุกอยู่ ที่สะท้อนว่าเราไม่อาจเป็น ‘คนธรรมดาๆ’ บนโลกใบนี้ได้อีกแล้ว แต่จะต้องเป็น ‘ใครสักคน’ เพื่อที่เราจะได้ไม่เป็นอากาศธาตุให้คนอื่นเดินทะลุตัวเราไป บวกด้วยอาการเคว้งคว้างเบาหวิวแบบไม่รู้ว่า ‘ฉันเป็นใคร’ และการอยากลัดวงจรความสำเร็จเข้าไปอีก แต่จริงๆ แล้ว ใครกันที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ถ้าไม่ใช่เราทุกคน

เกริ่นกันพอหอมปากหอมคอ ตอนนี้ก็ได้เวลาแล้วที่ ‘ปริทรรศน์’ จะชวนคุณนั่งคุยกันเสียทีว่าทำไมนักศึกษาวารสารฯ ถึงอยากเป็นพิราบ (น้อย) คาบข่าวน้อยลงทุกทีๆ...

ปริทรรศน์–ถามอาจารย์ก่อนเลยว่าสมมติฐานที่ว่านักศึกษาวารสารฯ เดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่ชอบที่จะหันไปทำนิตยสารมากกว่าการทำข่าว เรื่องนี้จริงมั้ย

วิไลวรรณ–จริง 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่อยากเป็นนักข่าวจะนับคนได้เลย ส่วนใหญ่ไม่รู้คิดหรือเรียนรู้มาจากมุมไหน อยู่ๆ ก็อยากเป็นคอลัมนิสต์ มีนามปากกา มีพื้นที่เป็นของตนเอง หรืออยากเป็นนักเขียน ในขณะที่เป็นนักข่าวมันไม่มีตัวตนหรือยังไงไม่แน่ใจ สอนมา 8 ปีก็เจอทั้ง 8 ปี

ช่วงหลังก็จะทะเลาะกับนักศึกษามากเลยว่าเวลาฝึกงานเด็กอยากจะไปนิตยสารเราก็จะไม่ให้ไป เพราะความถี่ในการทำเล่มหนึ่งป็นรายเดือนหรือรายปักษ์ ดังนั้น ฝึกงาน3 เดือน เราคิดจากความถี่ในการออก พวกนี้คือทักษะ ถ้าเกิดความถี่น้อยก็ไม่มีอะไรให้ทำเพราะส่วนใหญ่เป็น Out Source เป็นคอลัมนิสต์อยู่แล้ว มีแต่กองบรรณาธิการที่รวบรวมบทความเข้ามาหรือไม่ก็ไปทำข่าวอีเว้นท์ ที่เคยพบรุ่นแรกๆ แล้วปล่อยให้ไปพบว่าให้ไปแกะเทปเป็นงานหลัก

แต่ถ้าเกิดเป็นนักข่าวทำหนังสือพิมพ์มีโอกาสทำงานมากกว่า เขาปล่อยให้นักศึกษาออกไปทำงาน ดังนั้น ก็เลยคัดค้านกับนักศึกษาตลอด นักศึกษาก็หาว่าอาจารย์มาจากคนหนังสือพิมพ์ก็เลยอยากให้พวกเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ บางคนเถียงว่าที่ผมเรียนวารสารผมต้องการเป็นนักเขียนนะ ไม่ใช่เป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่เราก็จะให้เหตุผลว่าการจะเป็นนักเขียนคุณก็ต้องไต่ระดับจากการเป็นนักข่าวก่อนในการเก็บข้อมูล เรียนรู้การสัมภาษณ์ต่างๆ ทักษะก็จะเกิด

ปริทรรศน์–ลองฟังเสียงน้องนักศึกษาบ้าง ในกลุ่มเพื่อนๆ เป็นอย่างนี้มั้ย

ขวัญ–โดยส่วนตัวก็สนใจอยากไปทำนิตยสารเหมือนกัน เพราะคิดว่างานหนังสือพิมพ์เป็นงานที่อยู่ในภาวะเร่งรีบ ถ้าเกิดทำอะไรพลาดไปก็อาจจะโดนฟ้อง ถ้าเป็นนิตยสารจะดูชิลๆ แล้วแต่เรา อยากใช้ภาษาแบบไหนก็เลือกใช้ของเราได้ แต่ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์เราต้องดูที่นโยบายของหนังสือพิมพ์ด้วย ความอิสระจะไม่เท่ากัน

เกด–ถ้าพูดถึงตอนแรกที่มาเรียนคิดว่าอยากจะทำข่าว อยากจะทำหนังสือพิมพ์ แต่พอเรียนไปเรียนมาแล้วดูเครียด ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ที่เรียน ถ้าถามรายคน น้อยมากที่อยากทำข่าว ส่วนใหญ่อยากทำนิตยสารมากกว่า บางคนอยากจะทำนิตยสารทำเอง อย่างพวกแนว a day แต่บางคนอาจชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบบันเทิง บางคนชอบนิตยสารทางเลือกอย่าง a day ด้วยภาษาที่อาจจะดูฉลาด คือต้องบอกก่อนว่าวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบเหมือนเมื่อก่อน เขาจะมีความเป็นอิสระมากขึ้น เวลาเข้าใจอะไรก็จะพยายามสื่อสารออกมา

ปริทรรศน์-แล้วเราอยากทำนิตยสารมั้ย

เกด-ตอนนี้อยาก แต่จะออกแนวบันเทิงมากกว่า

วิไลวรรณ-ที่ไม่ได้อยากเป็นนักข่าว เพราะ Content มากกว่าไม่ใช่แพกเกจ เพราะดูจากที่คุยนักศึกษาส่วนใหญ่คิดว่าข่าวเครียด

ปริทรรศน์-ขอถามคนทำข่าวบ้าง

ชูวัส-อยากฟังคนทำแมกกาซีนก่อน

วิภว์-ผมเข้าใจว่าภาพพจน์แม็กกาซีนอาจดูสบาย เป็นสิ่งสวยงามมีไลฟ์สไตล์ ในมุมผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่งานที่ง่ายซะทีเดียว มันมีความยากอยู่เหมือนกัน คนที่ทำได้ดีจริงๆ ต้องเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง ไม่ว่างานอะไรไม่ใช่งานที่จะมีแง่มุมสวยงามเสมอไป ต้องมีทักษะ ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ มีความสนใจใฝ่รู้ในสิ่งที่ทำอยู่ แล้วการเขียนหรือการเป็นคอลัมนิสต์มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าโดยระบบแล้วถ้ามีคนต้องการเป็นเยอะ มันจะมีการคัดออกเอง มันไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้วที่จะเป็นได้

วิไลวรรณ-ใช่ คิดว่าที่พวกเขาชอบแม็กกาซีน เรามองว่าที่ตัวคอนเทนท์มากกว่า เพราะเด็กไม่อ่านข่าว ไม่ชอบอะไรที่มันหนักๆ

วิภว์-ผมเสนออีกมุมหนึ่งด้วยว่าผมเป็นคนทำหนังสือบันเทิงก็จริง แต่การอ่านข่าวเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด ยังไงก็ต้องอ่าน ต้องรู่ว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันส่งผลต่อกันหมด

วิไลวรรณ-ใช่ อย่างคุณทำHappening มันไม่แปลก คุณยังต้องดูกระแสเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ว่าเดือนนี้คุณทำเรื่องประเด็นไหน แต่ถ้าไม่รู้ข่าวสารบ้านเมืองเลย เขากำลังฮิตอะไร อินเทรนด์อะไรก็ไม่ได้

ปริทรรศน์-จากที่ฟังดู จริงมั้ยที่เราไม่ชอบอะไรหนักๆ ของเนื้อหา เรียนวารสารเราอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันหรือเปล่า

แอน-ไม่อ่าน แต่ก็มีที่ฟังข่าวจากทีวี เพราะมาฝึกงานที่นี้ต้องมอนิเตอร์ข่าวต้องรู้ข่างการเมือง ข่าวบันเทิงต้องรู้ว่ามันเป็นยังไงบ้าง เพราะต้องเอาประเด็นที่สามารถมาทำเป็นสกู๊ปได้ เพื่อนหนูก็เป็นนะ คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว อย่างการเมืองไม่ดีมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย แต่คนก็จะมองแค่การเมืองไม่ดี การเลือกตั้งเรามีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ทำไมเราต้องรู้จักผู้ลงเลือกตั้ง หรือเวลาหาเสียงก็แค่เดินมาแนะนำตัว พอวันหนึ่งที่เราเลือกเขาได้แล้ว เขาทำอย่างที่พูดหรือเปล่าอันนี้ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว

วิภว์-มันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวนะ แต่ผมมองว่าข่าวการเมืองไทยเป็นละครที่มันที่สุดแล้วเรามีส่วนร่วมได้ด้วยอย่างการเลือกตั้ง มันเป็นสิ่งที่เราควรรู้

ปริทรรศน์-ทีนี้อยากฟังคนทำข่าวบ้าง

ชูวัส-ผมว่ามันมีมาจากเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเราต้องเข้าใจโลกที่มันเป็นไป เราก็จะเข้าใจได้ว่าเด็กมันก็เป็นอย่างนี้แหละ เพียงแต่ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยน คุณค่ามันเปลี่ยน ชีวิตมันเปลี่ยนไปตามโลก คือมันไม่มีการตั้งคำถามประเภทว่าคุณฝันว่าคุณอยากจะมีโลกแบบไหน สังคมแบบไหน มันเป็นเรื่องซึ่งเชยไปแล้วในยุคนี้ เพราะว่าสิ่งที่คุณต้องทำคือต้องทำกำไรให้เยอะ

ผมมองในแง่ดีนะ กำไรของคุณสามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้สังคมได้ ฉะนั้น คุณจะรวยได้ยังไง มันก็มีคำตอบทางการตลาดว่าคุณจะรวยได้คุณต้องเป็น Somebody ระบบกลไกทางสังคมทั้งหมดมันพยายามผลักให้คนทั้งหมดเป็น Somebody ไมใช่ Nobody อีกแล้ว นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมคนถึงอยากเป็นคอลัมนิสต์ ทั้งที่ไม่มีอะไรในหัวกะบาลเลยก็ตาม แต่คุณอยากแสดงว่าคุณเป็นใครสักคนหนึ่งที่ให้คนมองเห็น นี่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติมาก มันมาจากโครงสร้างทางสังคม และเรื่องเหล่านี้มีที่มาจากการเมือง ใช่มั้ย การที่น้องอยากทำนิตยสารเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ เพราะการเมืองมันบีบให้คุณแสดงอัตลักษณ์ของคุณให้ได้ ไม่อย่างคุณจะไม่มีความมั่งคั่ง ไม่มีคุณค่าในสังคม

นึกออกใช่มั้ยว่าปัญหาพวกนี้มันเป็นเรื่องการเมือง ความที่มันเกิดกับรุ่นใหม่เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ว่าเขาอยู่ในเรื่องการเมืองด้วย ความเครียดเกิดจากการไม่มีคำตอบของปัญหาต่างๆ ที่ปะทะเข้ามาในชีวิตประจำวันของเขา การไม่มีคำตอบของปัญหาขึ้นมาก็ทำให้เกิดความเครียด คือยิ่งรู้น้อยยิ่งเครียด พูดง่ายๆ ยิ่งคุณหนีไปหาสิ่งที่บันเทิงและพยายามตัดโลกว่าคุณอยู่แค่ดารา อยู่แค่ในทีวีจอแคบๆ มันยิ่งเครียดโดยไม่รู้ตัว การพยายามเดินหน้าหาคำตอบให้รู้แจ้งเห็นจริง นั่นคือการลดความเครียดในระยะยาวและจะเข้าใจมัน ถ้าคุณเข้าใจโลกคุณจะเครียดน้อยลง แต่จะมีเด็กคนไหนที่ก้าวย่างเข้าไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริง มีเด็กคนไหนในยุคนี้ที่จะหยิบเรื่องการแสวงหามาเป็นสรณะของชีวิต

วิไลวรรณ-เหมือนจะบอกว่าอันนี้เป็นผลผลิตของโครงสร้างสังคม

ชูวัส-ใช่ คราวนี้เมื่อทุกคนเป็น Somebody กันหมด ข่าวมันไม่ได้ตอบสนอง ข่าวบ้านเรามันไม่ได้ตอบสนองให้คุณเป็น Somebody ข่าวมันไม่สามารถให้คุณมีทัศนะได้ Tradition ของข่าวต้องตัดตัวบุคคล ตัดทัศนคติออกไป ต้องปิดทองหลังพระให้มากที่สุด ต้องเป็นกลางให้มากที่สุด มันไม่ได้ตอบสนองคุณค่าทางจิตใจ ไม่ได้ตอบสนองคุณค่าทางสังคม เพราะฉะนั้นตลาดแรงงานของข่าวมันต้องน้อยลงอยู่แล้วและตัวข่าวของหนังสือพิมพ์ต่างๆ จำนวนก็น้อยลงด้วย

แล้วการคิดไปเองว่าเด็กต้องวิ่งเข้าหาสื่อ มันจะหน่อมแน้มมากไปสำหรับสังคม รวมทั้งแวดวงวารสารบ้านเราด้วย เด็กมันเกิดมาจะให้ใฝ่รู้ตั้งแต่เกิดได้ไง สังคมมันต้องทำให้มันใฝ่รู้สิ ทีวีต่างหากที่วิ่งเข้าหาเด็ก ใช่มั้ย คุณดูละครกี่เรื่อง ละครหลายเรื่องในรอบปีสองปีที่ผ่านมา ผมจำได้ซัก 4 เรื่องมั้งที่มีนักข่าวเป็นตัวประกอบของเรื่อง บางเรื่องนักข่าวเป็นนางเอก ส่วนใหญ่ก็เป็นนักข่าวบันเทิง ใช่มั้ย คุณไม่สามารถเขียนบทที่ลงดีเทลได้ว่านักข่าวการเมืองมีคุณค่าอย่างไร ท้าทายอย่างไร ไม่มีแล้วละครอย่างครูบ้านนอกที่รู้จักวิ่งแสวงหาคุณค่าแก่ชีวิต

เมื่อทีวีมันเข้าหาเด็ก มันก็แปลงเด็กไปสู่สิ่งที่ทีวีมันนิยม สิ่งที่ทีวีมันให้คุณค่า ยกตัวอย่างอย่างละคร ทำไมเด็กอยากไปเป็นดารา เป็นไม่ได้ก็อยากไปเป็นนักข่าวดารามันมีหลายมิติมากในการมอง จะมองแบบไหน จะมองสื่อเป็นผู้กระทำกับเด็กหรือมองจากโครงสร้างทางสังคม หรือมองจากการตอบสนองทางจิตวิทยา ผมว่าไม่แปลก

ปริทรรศน์-ที่ประชาไทยมีนักศึกษาขอไปฝึกงานเยอะมั้ย

ชูวัส-มีเยอะ แต่ว่าเราไม่ค่อยอยากจะรับ คือเด็กฝึกงานที่เลือกมางานข่าว แล้วเลือกมาทางข่าวอินเตอร์เนตด้วย มันต้องโดนบังคับมาหรือไม่ก็ต้องประหลาด ยกเว้นเด็กที่เดินมาเองหรือไม่ก็เดินเข้าไปขออาจารย์เองก็มักจะเป็นเด็กที่ทำกิจกรรม เด็กที่ผูกตัวเองเข้ากับสังคมอยู่เล้วไม่ทางไดก็ทางหนึ่งมักจะมีแนวโน้มการทำข่าวได้ดี สนใจ หรือเอาชีวิตจิตใจมาทำข่าว มาฝึกงาน

ส่วนเด็กที่โดนอาจารย์ทางคณะบังคบมาว่า คุณจะต้องฝึกงานข่าว แล้วต้องฝึกงานข่าวที่มันเฉพาะทาง เราก็พบว่า 5 โมงเย็นกลับ มาแต่เช้าเลยขยันมาก แต่ข่าวมาตอน 5 โมงเย็น มันพิสูจน์ตัวมันเองอยู่แล้วว่าข่าวไม่ได้มาแค่ 5 โมงเย็นแล้วคุณจะตามมันต่อมั้ย ถ้าคุณตามมันต่อคุณต้องเปลี่ยนชีวิตคุณนะ คุณค่าของชีวิตไม่ได้อยู่ที่สไตล์ชีวิตเขาแล้ว แต่คุณค่าชีวิตมันอยู่ที่การได้ทำงาน เพราะฉะนั้นคนทำข่าวจึงไม่ใช้แค่หน้าที่หรือว่าเงินเดือน แต่ต้องเอาชีวิตไปแลกด้วย รายจ่ายมันสูงมาก สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ที่เขาอยากมีอิสระภาพของตัวเอง ต้องให้เขาเปลี่ยนชีวิตด้วยถึงทำข่าวการเมืองได้ ทำข่าวเชิงวิเคราะห์ได้ คุณต้องลงทุนไป 10 ปีวิ่งหาข่าว วิ่งตามนักการเมืองเป็น 10 ปีถึงจะเขียนคอลัมน์ได้ กว่าจะเป็น Somebody มันเหนื่อยยากแสนเข็ญ

ปริทรรศน์-การเกิดขึ้นมาของ a day หรือนิตยสารทำนองนี้มันทำให้เรื่องที่เคยหนักสามารถเบาลงได้ นักศึกษาจะคิดอย่างนี้มั้ยว่าการทำอะไรเพื่อสังคม มันไม่ต้องเคร่งเครียดแบบข่าวแล้ว นำเสนอในแง่มุมใหม่ๆ ก็ได้ เอาเรื่องหนักๆ หรือข่าวมาทำให้เท่ วัยรุ่นอาจจะคิดอย่างนั้น อาจจะไม่ใช่เลิกล้มอุดมคติไป เพียงแต่มีวิธีสร้างโลกแบบใหม่

วิไลวรรณ-ยอมรับนะว่าจริงๆ ตัว a day ก็เป็นตัวจุดประกายให้กับเด็กรุ่นใหม่ รู้สึกว่าบางทีอยากทำเรื่องที่จริงจังแต่ให้ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าดูจริงๆ เด็กที่สามารถจะทำแบบนั้นได้ก็น้อยนะ เพราะต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ผิวๆ กว่าจะตกผลึกขนาดนั้นต้องลึกซึ้ง มันยากยิ่งกว่าทำข่าวอีกนะ อย่าง happening จะเขียนหนังคุณก็ต้องดูหนังมาพอสมควร ต้องรู้หลักในการวิเคราะห์

วิภว์-เด็กที่ทำได้จริงน้อยมาก ส่วนใหญ่ปัญหาคือเขามองประเด็นไม่ได้ จะคิดตามในสิ่งที่สื่อบอกอยู่แล้ว อย่างอัลบั้มที่ออกมา เขาไม่ได้มองว่าจะมีไอเดียอะไรใหม่ออกมามั้ย

ชูวัส-การเสนอข่าวแบบ a day ดีมั้ย ดี คือสร้างแรงจูงใจให้คนสนใจปัญหาบ้านเมือง ทำให้เด็ก โดยเฉพาะเยาวชนได้ริเริ่ม เริ่มต้นหันมาสนใจปัญหาบ้านเมืองได้มั้ย ก็ไม่รู้เหมือนกัน ในแง่หนึ่งมันก็ได้ แล้วสิ่งที่เด็กได้ก็ต้องตั้งคำถามว่าเด็กได้รูปแบบหรือเนื้อหา เพราะส่วนใหญ่คืออยากได้รูปแบบที่ดูเท่ซึ่งก็พิสูจน์อีกว่ามันไปตอบเรื่อง Somebody มากกว่าเรื่องเนื้อหา คือเนื้อหามันเพื่อคนอื่น แต่ Somebody มันเพื่อตนเอง แต่เพื่อตัวเองมันเป็นของจริงนะ เพื่อคนอื่นเป็นอุดมการณ์ มันเป็นไอเดียเป็นเรื่องปรุงแต่งชนิดหนึ่ง แต่ปรุงแต่งในด้านที่ดี

ปริทรรศน์-น้องนักศึกษาอยากจะพูดอะไรมั้ย

เกด-มันก็ขึ้นอยู่กับสื่อปัจจุบันด้วยว่ามีความบันเทิงมากกว่า คนทั่วไปก็จะซึมซับ

ชูวัส-ผมยุให้เขาว่าสายงานการศึกษาดีกว่าว่าสอนดีมั้ย

ขวัญ-อย่างเวลาเรียนวารสาร อาจารย์ก็จะเชียร์ให้ทำหนังสือพิมพ์ ไม่มีคนไหนที่ให้ทำนิตยสาร หนังสือพิมพ์ทักษะยากกว่า ถ้าใครที่ได้ทำหนังสือพิมพ์แล้วพอมาทำนิตยสารก็จะสบายๆ เลย แต่พอโดนนอาจารย์เขี่ยวเข็ญมากๆ ก็จะเบื่อไม่อยากทำ

วิไลวรรณ-แต่ถ้าคุณเขียนข่าวไม่ได้ทั้งที่มันมีรูปแบบตายตัว ก็จบ เขียนแม็กกาซีนมันยากกว่าเยอะและกว่าจะตกผลึกจนเขียนได้อีก

ชูวัส-ใช่ ข่าวนี่หมูมาก สัมภาษณ์มา ถอดเทป มีหัว เกิดอะไรขึ้น ที่ไหน อย่างไรจบ มันหมู แต่น่าเบื่อ

(ติดตาม Sit-Talk ต่อวันพรุ่งนี้)

****************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์
วิไลวรรณ จงวิไลเกษม (ผู้หญิงสวมแว่น) กำลังเปิดประเด็น
วิภว์ บูรพาเดชะ ร่วมถกเถียง
น้องนักศึกษาสาวทั้ง 3 คน ขวัญ-ผุสราภรณ์ ทิมวงศ์ (คนขวา) เกด-เกวลี ดวงเด่นงาม (คนกลาง) และ แอน-วลี เถลิงบวรตระกูล (คนซ้ายที่กำลังนั่งจดอยู่ปลายโต๊ะ)
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อธิบายปรากฏการณ์ Somebody
จิบเครื่องดื่มแก้ฝืดคอ
กำลังโหลดความคิดเห็น