xs
xsm
sm
md
lg

จับชีพจรงานสัปดาห์หนังสือฯ ปี ‘51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านพ้นสัปดาห์แรกไปแล้วสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 36 เหล่าบรรดาหนอนหนังสือยังคงพากันไปเลือกเสพซื้ออาหารสมองจนเนืองแน่นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถึงแม้ว่าค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แต่เหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อนักอ่านชาวไทยที่ตั้งตารองานบุ๊กแฟร์ครั้งใหญ่ประจำปี

“ผู้จัดการปริทรรศน์” พาไปสำรวจท่องงานสัปดาห์หนังสือฯ ดูสิว่า หนังสือแนวไหนขายดี แนวไหนกระแสชักแผ่วลงไป และหนังสือเล่มไหนกำลังมาแรง


หนังสือแนวการเมืองยังขายได้

กระแสความสนใจในข่าวสารแวดวงการเมืองไทย ที่ต่อเนื่องมาจากสื่อวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊ก กลายเป็นหนังสือแนวการเมืองโดยเฉพาะขึ้นมา ได้จุดประกายความสนใจให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบการเมืองไทยต้องติดตามหามาอ่าน

นับตั้งแต่ “ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า” จนกระทั่งมาถึง “ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย” หนังสือแนวการเมืองจากค่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และมติชน ต่างสะท้อนปรากฏการณ์ของสังคมไทยนับตั้งแต่ยุคหลังระบอบทักษิณ จนถึงยุคการรัฐประหารของ คมช. ผ่านปลายปากากาของสองคนข่าว คำณูน สิทธิสมาน นักหนังสือพิมพ์- คอลัมนิสต์ฝีปากกาคม และวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร ล้วนสร้างสีสันให้แวดวงหนังสือแนวการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หนังสือแนวอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะทางการเมืองนั้น ในปีนี้กลับมีออกมาน้อยกว่าปีที่แล้ว อาจเป็นเพราะผลพวงจากการปฏิวัติเริ่มแผ่วลง ภายหลังการเดินลงจากอำนาจของ คมช. ทำให้ภาพรวมของหนังสือแนวการเมืองในปีนี้ไม่ค่อยคึกคักเมื่อเทียบกับในช่วงระยะที่มีการรัฐประหารใหม่ๆ

วิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ กล่าวถึงตลาดหนังสือแนวการเมืองภายในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ว่า แม้สถานการณ์การเมืองในตอนนี้จะไม่เหมือนในช่วงที่มีการต่อต้านระบอบทักษิณ ซึ่งตอนนั้นหนังสือแนวการเมืองมาแรงมาก เรียกว่าออกหัวไหนมากี่เรื่องๆ คนซื้อหมด เพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่ประชาชนต้องการทราบข้อมูล แต่ในตอนนี้คนอ่านจะเลือกเสพและบริโภคข้อมูลมากขึ้น

“หนังสือเป็นสื่อสำหรับปัญญาชน คนอ่านหนังสือจะไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆ เขาต้องพยายามเสาะหาข้อมูล จริงๆ วัฒนธรรมคนไทยเรา นักอ่านน้อย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีถามกัน หรือไม่ก็แค่ดูพาดหัว แต่ไม่ได้ใช้การศึกษา ฉะนั้น คนซื้อหนังสือส่วนใหญ่จะต้องการความรู้ ยังไงคนที่ตื่นตัวขึ้นมาทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์สนธิ ผมว่ามีเป็นล้าน แล้วคนพวกนี้เมื่อเขาต้องการแสวงหาความรู้หรือสนใจเรื่องอะไรเขาก็จะใช้การซื้อหนังสืออ่าน”

วิทยา สรุปว่า หนังสือแนวการเมืองตอนนี้ยังคงขายได้เรื่อยๆ 70 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายนั้นมักเป็นผู้ใหญ่ที่ฝากลูกหลานมาซื้อ อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นนักอ่านที่มาเลือกซื้อในงาน ส่วนเล่มที่ขายดีนั้นมักจะเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่า อาทิ “ASTV ขบถสื่อโทรทัศน์ไทย” ซึ่งมีกลุ่มคนอ่านเป็นแฟนรายการสถานี ASTV หรือ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ซึ่งมีกลุ่มคนติดตามจากรายการ “ที่นี่ไม่มีการเมือง” ที่สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเป็นผู้ดำเนินรายการ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นลักษณะการตอบคำถามที่ไม่ใช่แบบวิชาการ หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง หากแต่มีทุกเรื่องตั้งแต่การค้า การลงทุน กฎหมาย การศึกษา หรืออาชีพ

“ชีวิตคนไม่ใช่แค่การเมือง” วิทยากล่าว หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับนักอ่านทั่วไป ไม่จำเพาะแต่ผู้ที่ชื่นชอบหรือสนใจในการเมืองเท่านั้น

“จตุคาม” ตก “สามก๊ก” กลับมาใหม่

จากความนิยมที่พุ่งถึงขีดสุดเมื่อปีก่อน ปีนี้หนังสือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจตุคามรามเทพนั้นปรากฏว่า กลับมียอดขายน้อยลงจนแทบจะเรียกว่านิ่ง ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสความนิยมที่ลดลงของจตุคามฯ ทำให้ตามแผงหนังสือภายในงานปีนี้นั้น มีหนังสือเกี่ยวกับจตุคามเหลือวางจำหน่ายอยู่จำนวนมาก

ซึ่งประเด็นนี้ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ กล่าวว่า ภาวะตลาดจะเป็นตัวกำหนดเองว่าหนังสือแนวไหนมาแรงหรือกระแสตก หนังสือที่เกี่ยวข้องกับจตุคามนั้นก็เคยบูมสุดๆ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนกระแสจะค่อยๆ แผ่วลง เนื่องจากในระยะที่จตุคามโด่งดังนั้น คนที่หวังเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดต่างก็กระโจนลงมา ผลิตหนังสือเกี่ยวกับจตุคามจำนวนมาก ครั้นพอกระแสซาตลาดเริ่มวายก็พากันถอยออกไป แต่ถึงอย่างนั้น วิทยาเชื่อว่าหนังสือแนวคุณไสยนั้นจะยังคงขายได้อยู่เรื่อยๆ เพียงแต่อาจไม่พีคเท่าช่วงระยะก่อนหน้านี้เท่านั้น หนังสือเกี่ยวกับจตุคามจะกลับมาเป็นที่นิยมใหม่อีกหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับกระแสในอนาคต ไม่อาจคาดการณ์ได้

ท่ามกลางช่วงขาลงของหนังสือจตุคาม วรรณกรรมจีนอย่าง “สามก๊ก” นั้นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ด้วยกระแสจากภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ที่ช่อง TPBS นำมาฉายให้ชมในช่วงดึก ทำให้ผู้ชมที่ติดตามดูทีวีเริ่มหันมาหาหนังสืออ่านกันมากขึ้น ทำให้ภายในงานสัปดาห์หนังสือในปีนี้ มีหลายบูธนำหนังสือสามก๊กทั้งฉบับตีพิมพ์เก่าและใหม่ในหลากหลายเวอร์ชั่นออกมาวางจำหน่าย

ด้านสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์เองนั้น ได้จัดพิมพ์หนังสือ “สามก๊ก ฉบับคนขายชาติ” นำเสนอเรื่องราวพิชัยสงคราม กว่าร้อยเหลี่ยมวรยุทธ์ พันเล่ห์เพทุบายและนับหมื่นชีวิตของเหล่าทหารหาญ วีรชนและทรชนในสนามรบแห่งอำนาจและศักดิ์ศรี ผ่านฝีมือการร้อยเรียงเรื่องราวใหม่ของ “เรืองวิทยาคม”

สามก๊กฉบับคนขายชาติ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 จบเป็นตอนสุดท้าย เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 รวมระยะเวลาเผยแพร่กว่า 2 ปี มีทั้งสิ้น 655 ตอน จึงมีเนื้อหาสมบูรณ์กว่าทุกฉบับที่เคยจัดพิมพ์เผยแพร่ในเมืองไทย หนึ่งชุดมี 6 เล่มจบ บรรจุในกล่องไม้สวยงาม

เหตุที่ใช้ชื่อว่า ฉบับคนขายชาตินั้น เป็นเพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เกิดสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แนวนโยบายของรัฐบาลยุคนั้นเสี่ยงต่อการนำพาทรัพย์สินของชาติเป็นขายแก่ต่างชาติ ซึ่งวิทยาบอกว่าคนขายชาตินั้นมีอยู่ในทุกยุคสมัย การตั้งชื่อสามก๊กฉบับคนขายชาตินี้จึงยังคงใช้ได้แม้แต่ในปัจจุบัน

“พูดง่ายๆ ว่าในเมืองไทยตอนนี้ เวอร์ชั่นนี้ถือว่าสมบูรณ์ที่สุด อ่านสนุก และสื่อกับคนปัจจุบัน เพราะฉบับอื่นจะเป็นภาษาเก่า แต่เล่มนี้ไม่ได้แปล เขาเขียนใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเล่าด้วยสำนวนของผู้เขียนเอง” วิทยากล่าว ด้วยรายละเอียดที่ทีมผู้เรียบเรียงได้รวบรวมเนื้อหาจากสามก๊กฉบับของชาติญี่ปุ่น ผนวกกับโครงเรื่องของฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ทำให้ผู้ที่อ่านสามก๊ก ฉบับคนขายชาติได้รับทราบเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องไปค้นคว้าเพิ่ม

ในทัศนะของคนทำหนังสือเช่นวิทยาแล้ว วรรณกรรมอย่างสามก๊กนั้น คือวรรณกรรมคลาสสิค ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ก็ยังทรงคุณค่าในตัวบทประพันธ์เอง โดยไม่ต้องอาศัยแรงโปรโมทหรือกระแสใดๆ มาช่วยเหมือนหนังสือประเภทอื่นๆ งานหนังสือคราวนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่จะเลือกอ่านวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องนี้ในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย และเหมาะกับผู้ที่อยากได้อรรถรสแตกต่างจากละครโทรทัศน์”

เทรนด์ท่องเที่ยว-กระแสโลกร้อนกำลังมา

จากกระแสปัญหาเรื่องวิกฤตโลกร้อน ทำให้ในปีนี้มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาเป็นจำนวนมาก

“An Inconvenient Truth โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากเผชิญ” ของสำนักพิมพ์มติชนที่เกาะกระแสวิกฤตธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเป็นเล่มแรก ก่อนจะตามมาด้วย “An Inconvenient Truth for the New Generation หรือ “โลกร้อน ฉบับคนรุ่นใหม่” ของ “อัล กอร์” อดีตผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหาโลกร้อนของอัล กอร์ กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก รวมทั้งในเมืองไทย หลังจากนั้นก็มีหนังสือแนวนี้ออกมาเรื่อยๆ และมีทีท่าว่าจะยังเป็นที่นิยมต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า

ด้านหนังสือแนวท่องเที่ยวนั้น ปีนี้มีหนังสือออกใหม่วางขายในงานหลายสิบเรื่อง ทั้งของสำนักพิมพ์เล็กที่เน้นแนวท่องเที่ยวอย่างสำนักพิมพ์วงกลม ไปจนถึงสำนักพิมพ์สุดสัปดาห์ ในเครืออมรินทร์ก็หันมาเน้นตลาดนี้มากขึ้น วิทยาบอกว่า ตลาดหนังสือท่องเที่ยวในเมืองไทยเคยบูมมากเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงนั้นคนก็จะแห่ออกมา แม้แต่หนังสือท่องเที่ยวแบบฉาบฉวยก็มี ทำให้กระแสตกลง เหลือแต่หนังสือท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่จะอยู่ได้ “สุดท้าย คนที่ยังอยู่ในตลาดอย่างเรา ถ้าเรารักษาคุณภาพ เราก็ยังรักษาตลาดไว้ได้โดยตลอด”

ส่วนเทรนด์หนังสือแนวท่องเที่ยวที่ขายดีนั้น วิทยาบอกว่าเป็นหนังสือท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่าในประเทศ “ปัจจุบันนี้ตลาดหนังสือท่องเที่ยวในบ้านเราตก แต่หนังสือท่องเที่ยวเมืองนอกไม่ตก เนื่องจากว่าทุกคนเข้ามาในตลาดเยอะมาก เมื่อย้อนกลับไปสัก 3-4 ปีที่แล้ว ตลาดหนังสือท่องเที่ยวในประเทศคนทำเยอะมาก ในที่สุด เมื่อตลาดเริ่มแย่จนซบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้น ตัวหนังสือบ้านพระอาทิตย์เองเป็นกลุ่มแรกที่บุกเบิกตลาดหนังสือท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีอาจารย์ธรณ์ (ธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นนักเขียนหัวหอก เราผลิตต่อเนื่องมาตลอด 4-5 ปี ตลาดแนวนี้ไม่เคยตก สำหรับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ตรงนี้เป็นตลาดใหญ่ของเรา”

หนังสือเด็กแนว-วัยรุ่นลูกกวาดยังคงขายดี

ผ่านไปทางแผงหนังสือแนวเรื่องรักหวานใสของวัยรุ่น ไปจนถึงหนังสือของนักเขียนรุ่นใหม่แนวอินดี้ก็ยังเป็นที่ขายดิบขายดี แทบไม่มีที่ให้เบียดแทรกตัวเข้าไปในบูธ จนหลายคนนึกว่าแจกฟรี

ขณะที่หนังสือนิยายแนว “โรมานซ์” กลายเป็นหนังสือหลบใต้แผง เพราะนโยบายการกวาดจับของสันติบาล บางสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานแปลแนวนี้ถูกห้ามไม่ให้มาออกบูธจำหน่ายในงาน บางรายบรรณาธิการถึงกับถูกจับเข้าห้องขัง 3 ชั่วโมง เพราะปรากฏว่ามีฉากเลิฟซีนใน 2 หน้าในหนังสือของสำนักพิมพ์

งานนี้เล่นเอาคอนิยายโรมานซ์ถึงกับเซ็ง เพราะไม่เข้าใจตรรกะของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ไล่จับร้านค้าและสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีเรื่องแปลของนักเขียนเบสท์เซลเลอร์กลับขายได้ ทั้งที่ฉากเลิฟซีนก็ไม่ได้ต่างกันเท่าใดนัก คอนิยายรุ่นใหญ่จึงพากันรวมตัวเรียกร้องในเว็บบอร์ดให้ทางการทบทวนนโยบายดังกล่าวใหม่อีกครั้ง

ทางด้านประวิทย์ สุวณิชย์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์พิมพ์คำและเครือสถาพรบุ๊คส์ ที่ผลิตนิยายหลากหลายทั้งโรแมนติก แฟนตาซี ฯลฯ กล่าวถึงภาพรวมของงานสัปดาห์หนังสือในปีนี้ว่า มีนักอ่านหนังสือเด็กและวัยรุ่นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นโอกาสของนักเขียนหน้าใหม่ที่อายุยังน้อย เนื่องจากการสื่อสารระหว่างผู้เขียนกับนักอ่านที่เป็นเด็กและวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เข้าถึงกันมากขึ้น ทำให้หนังสือที่เขียนโดยนักเขียนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นที่นิยมของนักอ่านวัยรุ่น เชื่อว่าหนังสือแนวนี้จะยังคงเป็นที่นิยมต่อไปอีกใน 3-4 ปีข้างหน้า แต่หลังจากนั้นระบบบรรณาธิการและตลาดจะเป็นสิ่งคัดกรองผลงานของนักเขียนที่มีคุณภาพ

“ตอนนี้แนวหนังสือเริ่มซ้ำๆ กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแฟนตาซี นิยายรักฟองสบู่ ซึ่งหากมองในเชิงสำนักพิมพ์ ผมสนใจที่จะหาต้นฉบับเรื่องในแนวสืบสวน-ฆาตกรรมที่เขียนโดยคนไทย แต่ยังหาต้นฉบับที่ดีๆ ไม่ได้ ยังไม่มีงานนักเขียนไทยที่จะบุกเบิกแนวนี้อย่างจริงจัง” ประวิทย์กล่าว

เชื่องานมหกรรมหนังสือปลายปียิ่งคึกคัก

บก.ประวิทย์ กล่าวถึงงานสัปดาห์หนังสือที่มีสำนักพิมพ์เพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่พื้นที่รองรับนั้นเท่าเดิมว่า เขามีความรู้สึกว่าสำนักพิมพ์ที่เคยออกบูธแล้ว ไม่ควรเรียกร้องขอบูธจากทางผู้จัดงานเพิ่ม แต่ควรให้โอกาสสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ได้มาวางขายบ้าง
ส่วนที่มีผู้เป็นห่วงว่างานสัปดาห์หนังสือจะมาทำลายตลาดหนังสือนั้น เขามองว่า อาจเกิดภาพลวงตา เพราะผู้ที่ซื้อหนังสือทั่วประเทศมีจำนวนมาก จึงไม่น่าเป็นกังวล แต่เขาห่วงเรื่องการเร่งผลิตหนังสือออกมาให้ทันวางจำหน่ายในงานหนังสือมากกว่า เพราะจะทำให้หนังสือที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพ รวมทั้งสำนักพิมพ์เองก็ไม่ค่อยกระจายหนังสือใหม่เหล่านั้นออกไปวางขายตามร้านหนังสือทั่วไปด้วย

แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้าและน้ำมันกลับพุ่งขึ้น แต่บรรณาธิการพิมพ์คำสำนักพิมพ์คิดว่า ตลาดหนังสือไทยไม่ค่อยอิงกับสภาพเศรษฐกิจมากนัก เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่สำนักพิมพ์แห่งนี้กลับเติบโตหากดูจากผลประกอบการ “การซื้อหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือบันเทิงที่ให้ความเพลิดเพลินนั้น คนไทยยินดีที่จะจ่าย เพื่อหาความบันเทิงและความรู้อีกหน่อย เพราะมันเป็นราคาที่ไม่แพงนัก เมื่อเทียบกับการที่คุณออกไปดูหนังสักเรื่อง ใช้เงินค่ารถแล้วซื้อโค้กกับป๊อบคอร์น และค่าดูหนังอีกก็เกือบห้าร้อย เทียบกับการนั่งอ่านหนังสืออยู่บ้านซึ่งเสียเงินน้อยกว่า” ประวิทย์กล่าว

ทางด้านบรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ คาดการณ์ถึงงานมหกรรมหนังสือที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีว่า น่าจะคึกคักยิ่งกว่างานนี้

“เมื่อปีที่แล้วเดือนตุลาต้องบอกว่าคนเดินงานหนังสือน้อยมาก คนอาจจะยังงงๆ ว่าจะจัดการตัวเองยังไง เพราะเศรษฐกิจหรืออะไรต่างๆ คราวนี้คนปรับตัวได้ พอคนเริ่มเดินงานหนังสือปีนี้ มันจะเป็นแรงจูงใจให้คนทำหนังสือเริ่มเห็นว่าตลาดกลับมาใหม่ เขาก็จะเกิดกำลังใจในการผลิต มันก็จะเกิดการแข่งขันสร้างงาน ดังนั้น ผมเชื่อว่าปลายปีนี้จะมีหนังสือใหม่ๆ เพราะปีนี้พูดจริงๆ ว่าทุกคนอาจจะเกรงว่าตลาดจะแย่เหมือนตุลา ทุกคนเลยออกหนังสือมาน้อย ทุกสำนักพิมพ์ก็จะมีดาราของตัวเองสักเล่มสองเล่มพอแล้ว แต่งวดตุลานี้น่าจะแข่งขันกันแรงขึ้น” วิทยาทิ้งท้าย





กำลังโหลดความคิดเห็น