xs
xsm
sm
md
lg

เสถียร จันทิมาธร องครักษ์พิทักษ์ “ระบอบทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บนเวทีปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน “สนธิ ลิ้มทองกุล” หนึ่งในแกนนำได้กล่าวถึงนักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่เขารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน

แม้ว่า นามของ “เสถียร จันทิมาธร” ถือเป็นนามอุโฆษในวงการหนังสือก็ตาม แต่ยังไม่มีใครเคยพูดถึงเขาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน

“ผู้จัดการปริทรรศน์” จึงขอถอดความจากการปราศรัยของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” บนเวทีมานำเสนออย่างเป็นระบบอีกครั้งหนึ่ง

***************

เสถียร จันทิมาธร เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2486 ในครอบครัวของครูชนบทชาวจังหวัดสุรินทร์ ได้มาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา และไปจบการศึกษาสูงสุดที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร

เสถียร จันทิมาธร เริ่มต้นการทำงานครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” เมื่อปี 2506 เคยทำงานหนังสือพิมพ์สยามนิกร, พิมพ์ไทย, สยามรัฐ เคยร่วมทำนิตยสารวิทยาสาร และหนังสือพิมพ์อื่นๆ อีกหลายฉบับ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เสถียร จันทิมาธร หลบหนีเข้าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเขตงานภาคใต้ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนย้ายไปอยู่ในภาคเหนือ สังกัดกองร้อย 54 ที่สำนัก 61 ดอยผาช้าง เขตน่านเหนือ

ที่สำนักเดียวกัน สหายดวง (ชื่อจัดตั้งของเสถียร) ได้พบและทำงานร่วมกับ สหายแพ้ว หรือ แพง (จรัล ดิษฐาอภิชัย) และ สหายสุภาพ (จาตุรนต์ ฉายแสง) โดยทำงานด้านวิชาการ ผลิตสิ่งพิมพ์ นิตยสาร ทำประชาสัมพันธ์ และโฆษณาชวนเชื่อ

นี่คือสายสัมพันธ์ของ เสถียร จันทิมาธร ที่โยงใยมาถึงหัวขบวน “คนเสื้อแดง” ในทุกวันนี้ เพราะจรัลเป็นแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปก. ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก และดึงจาตุรนต์ ฉายแสง ออกหน้าใส่เสื้อแดง โดยมีเดิมพันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างที่คุณสนธิเคยเล่าไว้แล้วในตอน “ปิศาจ”

จากนั้นเสถียรและคณะได้ย้ายไปอยู่ที่ดอยผาจิ จังหวัดพะเยา ก่อนคืนกลับสู่เมือง มาทำงานที่หนังสือพิมพ์มติชน

ปัจจุบัน เสถียร จันทิมาธร เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือมติชนสุดสัปดาห์, บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวสด และเป็นคอลัมนิสต์หน้า 3 ของมติชนรายวัน

เสถียร จันทิมาธรเขียนบทความชนิดไม่ลงชื่อในหน้า 3 มติชนรายวัน เป็นบทความเชิงชี้นำ กว่า 80 % สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร แก้ต่าง แก้ตัวให้ทักษิณ ชินวัตร และวิพากษ์เชิงลบต่อศัตรูของทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ นี้เสมือน “คำชี้นำ” ที่มีไปถึงมวลชนของระบอบทักษิณ

แม้ปัจจุบันคอลัมน์หน้า 3 ซึ่งหลายครั้งสวนทางกับจุดยืนของบทนำหนังสือพิมพ์มติชนรายวันที่หน้า 2 จะไม่ระบุ ชื่อหรือนามปากกาของผู้เขียน แต่เป็นที่รับรู้กันว่า คนเขียนก็คือ เสถียร จันทิมาธร นั่นเอง

หลายครั้งต้องยอมรับว่า “บทนำ” ของมติชนรายวัน มีจุดยืนเพื่อความถูกต้อง ทั้งนี้ เพราะคนทำงานในมติชนหลายคนเป็นคนที่ยึดมั่นในความถูกต้อง เช่น คุณประสงศ์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คุณสมหมาย ปาริจฉัตจ์ คุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ฯลฯ แต่ถ้าสังเกตทิศทางของมติชนในปัจจุบันโดยรวมจะเห็นว่า คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย ส่วนใหญ่ในนั้นยืนอยู่ข้างระบอบทักษิณแทบทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเสถียร เขาเขียนคอลัมน์หลายคอลัมน์ ในหลายนามปากกาในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในเครือมติชน ไม่ว่าจะเป็นมติชนรายวัน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และมติชนสุดสัปดาห์ ทำให้คนอ่านเข้าใจว่า ความคิดที่ได้อ่านนั้นมาจากคนเขียนหลายๆ คน แต่มีมุมมองไปในทางเดียวกัน และหลงเชื่อในความคิดนั้น

****************

ช่วงต้นปี 2533 ระหว่างที่เสถียร จันทิมาธร เป็นบรรณาธิการบทความของมติชนรายวัน นอกเหนือจากบทความแล้ว เสถียร ยังมีหน้าที่รับผิดชอบคัดเลือกจดหมายจากผู้อ่านมาลงตีพิมพ์ด้วย ได้มีการตีพิมพ์จดหมายฉบับหนึ่ง ก้าวล่วงพระราชอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช อย่างรุนแรง สร้างความไม่พอใจให้กับกระแสสังคมในตอนนั้นอย่างมาก จนในที่สุด มติชนรายวัน ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการปิดตัวเอง เป็นเวลา 3 วัน

มติชนมีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบภายใน แต่กลายเป็นว่าเสถียร จันทิมาธรไม่มีความผิดอะไร แต่ความผิดนั้นตกอยู่กับคุณสมหมาย ปาริจฉัตจ์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหาร เพียงคนเดียว

ทักษิณ ชินวัตร เคยแสดงความชื่นชมข้อเขียนของเสถียร จันทิมาธรเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2548 มาแล้วอย่างออกนอกหน้า

"ผมอยากเสนอให้นักคิดที่มีใจเป็นธรรมไปอ่านมติชนหน้า 3 คอลัมน์ที่เขียนหัวข้อว่า ‘สงครามการเมือง สงครามข้อมูล ความจริง สงครามชิงพื้นที่’ ซึ่งไม่ทราบว่าใครเขียน เขียนมีหลักการมาก เป็นปรัชญา และเป็นนักคิดจริงๆ –ผมอยากให้พวกปราชญ์กำมะลอไปอ่าน แล้วจะเข้าใจทั้งหมด ผู้เขียนเขียนตรงจุดเรื่องของการเมืองดีมาก อยากให้พวกปราชญ์ที่ไม่จริงไปศึกษา อ่านให้รอบคอบ อ่านสัก 5 รอบก็ได้ แล้วจะเข้าใจ”

เนื้อหาในบทความเรื่อง ‘สงครามการเมือง สงครามข้อมูล ความจริง สงครามชิงพื้นที่’ ของ เสถียร จันทิมาธร ที่ทักษิณถึงกับยกให้เป็นปราชญ์ และบอกให้ทุกคนในอ่านนั้น กล่าวถึงเรื่อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และกรณี CTX 9000 ซึ่งเป็นเรื่องที่บั่นทอนรัฐบาลทักษิณในขณะนั้น

เสถียร อ้างว่า กรณีที่วุฒิสภามีมติให้คุณหญิงพ้นจากตำแหน่งถูกต้องแล้ว

ส่วนกรณีการจัดซื้อ CTX 9000 รัฐบาลก็ไม่มีความผิด

พร้อมกับสรุปว่า ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงจึงขึ้นอยู่กับว่า ข้อมูลของฝ่ายใดจะเข้าไปแย่งชิง "พื้นที่" ความเชื่อถือของสาธารณะหรือของประชาชนได้มากกว่ากัน การเสนอข้อมูลเพื่อไปยึดครอง "พื้นที่" ในความเชื่อถือของสาธารณะหรือของประชาชนจึงทรงความหมาย

สาธารณะหรือประชาชนเลือกเชื่อฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็จะได้ "พื้นที่" และเป็นผู้ชนะ

แต่ข้อเท็จจริงในขณะนั้นคืออะไร รัฐบาลทักษิณในขณะนั้นพยายามจะปลดคุณหญิงให้ได้ เพราะคุณหญิงต้านกระแสคนโกงแบบไม่หวั่น

จนมีการนำชื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ลงมา

ทำให้ในที่สุดคุณหญิงจารุวรรณก็ได้ทำหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป

ส่วนเรื่อง CTX 9000 ถูกตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น ดังนี้ 1.บริษัทท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ จำกัด (มหาชน) (บทม.) ว่าจ้าง บริษัท ไอทีโอ และต่อมาบริษัทไอทีโอไปว่าจ้าง บริษัท แพททริออทจัดหาเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดโดยซื้อจาก บริษัท อินวิชั่น ซึ่งมีการจ่ายเงินสินบนจากส่วนต่างของราคา

การทุจริตเริ่มต้นจากการที่ บทม. ไปว่าจ้าง บริษัท เอ็มเจทีเอ ไปศึกษาและออกแบบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด แต่ต่อมามีการยกเลิกแล้วให้ บริษัท ไอทีโอ ซึ่งเป็นผู้ขายเป็นผู้เสนอราคามาทั้งหมด

การจัดซื้อเครื่องตรวจจับเครื่องวัตถุระเบิดครั้งนี้เป็นการทุจริตที่พิสดารที่สุด โดยมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การจัดซื้อครั้งนี้มีการจ่ายเงินไม่ถูกต้อง โดยที่ผ่านมา บทม. ได้จ่ายเงินไปแล้ว 1,500 ล้านบาท โดยจ่ายไปให้ บริษัท ไอทีโอ 900 ล้านบาท และ บริษัท ไอทีโอ จ่ายเงินให้กับ บริษัท แพททริออท 644 ล่านบาท โดยที่ยังไม่ได้รับเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 แม้แต่เครื่องเดียว

หลักฐานกรณี CTX 9000 ที่ฝ่ายค้านและสื่อมวลชนนำมาเสนอในขณะนั้นมีความชัดเจนอย่างมาก

แต่กลายเป็นว่า ในทัศนะของเสถียร จันทิมาธร ทั้งสองกรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณหญิงจารุวรรณ หรือเรื่อง CTX 9000 รัฐบาลไม่ผิด แต่คนเชื่อว่า "ผิด" เพราะได้ข้อมูลผิดๆ

ถ้าย้อนกลับไปดูมติชนสุดสัปดาห์ที่เสถียร จันทิมาธรคุมเนื้อหา พาดปกมาอย่างน้อยๆ ก็ 2 ฉบับแล้วที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของทักษิณ ชินวัตร
* มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2549 พาดปก Case study กรณีเนปาล
* มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2549 พาดปกทักษิณกับเกรียงกมลและพวกไปเที่ยวฟินแลนด์เมื่อปี 2540 ข้างในเป็นการสัมภาษณ์เกรียงกมล พยายามบอกว่าการไปฟินแลนด์ก็แค่ไปเที่ยว ไปเล่นหิมะ ไม่คุยเรื่องการเมือง การกล่าวหาว่ามีปฏิญญาฟินแลนด์เป็นเรื่องบ้าๆ น่าขบขัน

ขณะที่ทักษิณ ชินวัตรเปิดประเด็นการสู้รอบใหม่ จู่ๆ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 บทสัมภาษณ์พิเศษจาตุรนต์ ฉายแสงที่อยู่ในก๊วนเกรียงกมลก็ออกมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

พูดจบปุ๊บ–มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ก็นำบทสัมภาษณ์มาตีพิมพ์ วางแผง รองรับ และอธิบายความทันที เหมือนได้เตรียมกับนัดหมายกันไว้แล้ว

ตอนนั้นพวกฝ่ายซ้ายเก่าในพรรคไทยรักไทย และกระทั่งพรรคพลังประชาชนตอนนี้พวกเขาก็ยังคิดอยู่ว่า ทักษิณมีพลังต่อสู้กับอำนาจเก่าในสังคมไทยได้

สังคมไทยปัจจุบัน ยังมีผู้ที่เชื่อในทฤษฎีทางสังคมของลัทธิมาร์กซ์-วัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectic Materialism) และ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) อยู่พอสมควร

ทฤษฎีนี้เป็นเครื่องมือการทำความเข้าใจพัฒนาการของระบบสังคม เป็นขั้นตอนจากสังคมทาส สู่สังคมศักดินา แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมทุนนิยม และสุดท้ายจะนำไปสู่สังคมอุดมการณ์ คือสังคมนิยมที่มีความเท่าเทียมกันในสังคม

คนที่ศึกษามาร์กซิสม์มา และคนที่เคยเข้าป่ามาจะเข้าใจเรื่องนี้

ปรากฏว่าได้มีขบวนการให้การศึกษาและปลุกระดมกลุ่มสหายเก่า ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายระบอบทักษิณว่างานนี้เดินถูกต้องแล้ว

บอกว่าถูกตามทฤษฎีมาร์กซ์

เพราะตามเหตุผลของลัทธิมาร์กซ์–วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ได้ว่าประเทศไทยยังเป็น “ทุนนิยมเบื้องต้นตอนปลายที่ยังมีอิทธิพลศักดินาดำรงอยู่” ความขัดแย้งหลักยังเป็นคู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนใหม่ที่มีกำลังผลิตที่ก้าวหน้า (ก็คือ ทักษิณและพวก) กับกลุ่มทุนเก่าที่ล้าหลัง (เครือข่ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทุนอุตสาหกรรมเก่า ข้าราชการ)

วิกฤตการทางการเมืองครั้งนี้ก็เกิดจากความขัดแย้งคู่นี้ด้วย

ดังนั้น ในฐานะฝ่ายก้าวหน้าจึงต้องร่วมสนับสนุนฝ่ายทุนใหม่ เพราะเป็นด้านที่มีอนาคต

เพราะทุนใหม่ แม้เป็นทุนนิยมสามานย์ แต่ก็ก้าวหน้ากว่าศักดินาล้าหลัง

นี่หมายถึงว่า พวกเขากำลังมีความคิดให้โค่นระบบศักดินาล้าหลัง ที่หมายถึงระบบที่ไพร่ฟ้าประชาชนยังจงรักภักดีในสถาบันฯ ต้องการให้เปลี่ยนมาเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยตัวแทนของทุนนิยมโลกเต็มรูปแบบ

ขบวนการที่พยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับบรรดาสหายเก่า นักวิชาการ และเอ็นจีโอ นักคิดทางทฤษฎีทั้งหลาย เพื่อรับรองอำนาจทักษิณ มีอยู่ตลอดเวลา และพยายามกระจายความคิดลงไปสู่รากหญ้า โดยอธิบายให้ชาวบ้านเห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างที่ทักษิณทำกับสถาบันชั้นสูง

คอลัมน์ “เงาสะท้อน” โดย “ดวงตา วรรณศิลป์” ในมติชนสุดสัปดาห์ (อีกนามปากกาหนึ่งของเสถียร จันทิมาธร) ได้แนะนำหนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล เรื่อง "สืบต่อเจตนารมณ์ 24 มิถุนายน 2475" มีเนื้อความที่สอดคล้องกับทฤษฎีสังคมว่าด้วยทุนเก่า-ทุนใหม่

เขาบอกว่า

"ปรากฏการณ์ในขณะนี้เป็นวิกฤตการณ์ทุนนิยม คือความขัดแย้งกันภายในของระบบทุนนิยม (ที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้น) ระหว่างทุนใหม่ที่ก้าวหน้าที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนกับทุนเก่าที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน ระหว่างทุนทั้ง 2 กลุ่มนี้โดยหลักการแล้วก็เป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ของประชาชนร่วมกันทั้ง 2 กลุ่ม และคอยวันที่จะลงจากเวทีประวัติศาสตร์ด้วยกัน แต่ที่ต่างกันก็คือเป็นทุนที่ก้าวหน้ากับทุนที่ล้าหลัง”

และ ดวงตา วรรณศิลป์ ก็ตบท้ายว่า

“เพราะว่าเป็นการตีพิมพ์โดยสถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย) เพราะว่าเป็นการเขียนโดยสุพจน์ ด่านตระกูล ทรรศนะของเขาจึงดำรงหลักการแห่งความเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมอย่างมั่นคงและเหนียวแน่น อาจแตกต่างไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

ก่อนนี้ เสถียร จันทิมาธร ก็เขียนคอลัมน์ประจำวัน หน้า 3 มติชนรายวัน (พื้นที่ที่ทักษิณ ชินวัตรเคยยกหาง) วันที่ 2 มิถุนายน 2549

อธิบายว่า…..

อำนาจ “อื่น” อิทธิพล “อื่น” บารมี “อื่น” นี้เองที่ทำให้กระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่สามารถดำเนินไปเหมือนกับที่เคยกระทำในการโยกย้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2545
เป็นอำนาจ “อื่น” อิทธิพล “อื่น” และบารมี “อื่น” ที่สามารถบ่อนเซาะสถานะทางการเมืองของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง
จึงมิได้มีแต่เพียงอำนาจจากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ท้าทายอำนาจพรรคไทยรักไทย และท้าทายอำนาจของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้
ตรงกันข้าม ยังมีอำนาจ “อื่น” ยังมีอิทธิพล “อื่น” และยังมีบารมี “อื่น” ที่แสดงความโดดเด่นและเหนือกว่าอำนาจ อิทธิพล และบารมีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่
การดำรงอยู่ของ “ระบอบทักษิณ” จึงใช่ว่าจะแข็งแรง มั่นคง จนไม่มีอะ ไรโยกคลอนได้

ลองทดแทนคำว่า “อำนาจอื่น” ด้วยคำว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ดู

ชัดเจนว่า มีขบวนการที่พยายามอธิบายและสื่อสารปรากฏการณ์ทักษิณชนฟ้า ผ่านคนที่เชื่อใน “ทฤษฎีเปลี่ยนแปลงสังคม” ไปยังสังคมทั่วไป

และก็มีการอธิบายเรื่องเหล่านี้ผ่านเครือข่ายจัดตั้งของสหายเก่าที่เข้ามาร่วมงานพรรคไทยรักไทยในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

สรุปว่า ในด้านการข่าวและงานมวลชน ระบอบทักษิณเลือกใช้วิธีการแตกต่างหลากหลาย

ในระดับรากหญ้าชาวบ้านทั่วไป–จะใช้อิทธิพลของทีวีและการอธิบายความด้วยข่าวลือว่า ทักษิณยังใกล้ชิดและจงรักภักดีกับระบอบ ปัญหาก่อนนี้เกิดจากป๋าเปรมอยากเป็นนายกฯ ม.7 จึงสกัดกั้นขัดขวาง “ข้างบน” ไม่ให้รู้เรื่อง

ในระดับที่สูงขึ้นมา คือระดับผู้ปฎิบัติงานและสหายเก่า–ใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่บอกว่าทุนนิยมแบบทักษิณเป็นระบบที่ก้าวหน้ากว่าระบบเดิม คือศักดินาล้าหลัง จึงควรสนับสนุนทักษิณ ไม่ใช่สนับสนุนผู้มีบารมี

นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายคอลัมนิสต์ที่ถูกอำนาจเงินของทักษิณและพวกพ้องซื้อเอาไว้ คอยเขียนข่าวชักนำ ทิ่มแทง ให้สังคมเข้าใจพันธมิตรฯ ผิดตลอดเวลา

และล่าสุด คือ ปก “มติชนสุดสัปดาห์” ที่นำรูป “ทักษิณ” มาขึ้นปก แล้วเขียนว่า “ปีศาจ?” ซึ่งมาจากหนังสือเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงษ์ ที่นัยคือต้องการชี้ให้เห็นว่า ทักษิณก็เปรียบเหมือนตัวละคร “สาย สีมา” ซึ่งมีความคิดก้าวหน้า เหมือนกับปีศาจที่จะตามหลอกหลอนชนชั้นสูงในสังคม ท่ามกลางกระแสการหมิ่นแคลนสถาบันสูงสุดที่ขึ้นจากใต้ดินมาอยู่บนดิน และท้าทายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน



จาตุรนต์ ฉายแสง
จรัล ดิษฐาอภิชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น