xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจงานหนังสือครั้งที่ 36 แนว "วิทยาศาสตร์" บางตาดังเช่นเคย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำรวจหนังสือวิทย์ปกใหม่ๆ ในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 พบดังคาด หนังสือวิทย์ค่อนข้างบางตาเมื่อเทียบกับหนังสือแนวอื่นๆ "มติชน-สารคดี-นานมี" ยังรักษาตำแหน่งมีผลงานสู่นักอ่านเหมือนเช่นเคย แต่หลายคนแอบผิดคาดเพราะไม่มีผลงานเกี่ยวกับ "อาร์เธอร์ ซี.คลาร์ก" ผู้เพิ่งล่วงลับไว้อาลัยในงานมากนัก

"งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 36 แล้วระหว่างวันที่ 27 มี.ค.ถึง 7 เม.ย.51 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งไม่เกินจะคาดเดาได้ว่าหนังสือวิทยาศาสตร์ออกใหม่จะไม่อุ่นหนาฝาคั่ง เฉกเช่นทุกทีที่ปรากฏ ทว่านับว่าพอมีให้แฟนพันธุ์แท้ได้หายคิดถึงกัน ซึ่ง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้สังเกตลาดเลาระหว่างวันที่ 27-28 มี.ค.พอสังเขปดังนี้...

เริ่มจากค่ายสำนักพิมพ์มติชนที่เปิดตัว "เดอะแพลเนต ประวัติย่อของดวงดาว" (The Planets) กันสดๆ ร้อนๆ กับผลงานการเขียนของ "ดาวา โซเบล" และเป็นอีกครั้งที่ "คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์" ได้ถ่ายทอดเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ผ่านน้ำหมึกให้ชาวไทยได้อ่านกันอย่างอิ่มเอมอารมณ์

ทั้งโซเบลและคุณากรจะพา "ผู้อ่าน" ไปทัวร์ระบบสุริยจักรวาลเพื่อทำความรู้จักกับดวงดาวต่างๆ รวมถึงอิทธิพลของดวงดาวที่เชื่อมโยงถึงชีวิตมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งด้านดนตรี วรรณคดี ศาสนา หรือแม้แต่โหราศาสตร์ โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่บท "ปัจฉิมลิขิต กรณีสถานะของดาวพลูโต" ซึ่งโซเบลไม่เห็นด้วยกับการปลดดาวพลูโตจากสมาชิกภาพดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล

ที่สำคัญในเล่มยังมีส่วนที่เป็น "อภิธานศัพท์" เพื่อรับประกันได้ว่าคนวงในแวดวงวิทย์หรือจะเป็นผู้สนใจสมัครเล่นจะเข้าถึงเนื้อหาเชิงลึกได้ไม่ต่างกัน แถมถ้ายังอยากค้นคว้าเพิ่มเติมก็มีบรรณานุกรมให้สืบค้นต่อได้อย่างไม่เกรงใจใคร

เล่มต่อมาที่ "มติชน" ภูมิใจเสนอคือ "เดอะ กรีน บุค" (The Green Book) ผลงานของอลิซาเบท โรเจอร์ส และโทมัส เอ็ม.คอสทิเจน แปลโดย "โตมร ศุขปรีชา" ที่เสนอมุมมองผ่านบริบทชาวอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันมีแนวคิดว่าสิ่งละอันพันละน้อยก็เพียงพอที่จะช่วยเหลือโลกได้

ดังที่ผู้เขียนเปรียบเปรยอย่างแหลมคมว่า "การช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัดสมองกันหรอก แค่เดินไปปิดไฟเท่านั้นเอง" ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น ปริมาณกระดาษสลิปเอทีเอ็มที่จะประหยัดลงถึง 2 พันล้านฟุต หากคนอเมริกันทุกคนพร้อมใจ "เซย์โน"

ส่วนฟากสำนักพิมพ์ "สารคดี" ก็มีหนังสือวิทยาศาสตร์ระดับคุณภาพออกสู่สายตานักอ่านกันเป็นประจำทุกครั้งที่มีงานสัปดาห์หนังสือฯ โดยครั้งนี้มี "สุดยอดการค้นพบทางชีวภาพ" (Breakthroughs in Life Science) ผลงานการเขียนของ "มาลินี อัศวดิษฐเลิศ" จากศูนย์พันธูวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้ย้อนรอยเส้นทางจากอดีตสู่ปัจจุบันและเชื่อมโยงถึงอนาคตของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพมากมาย อาทิ พันธุศาสตร์ ชีววิทยา และแพทยศาสตร์ ให้ผู้อ่านได้รู้ดำรู้แดงว่าศาสตร์เหล่านี้ต่างเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามากมายเพียงใด

ขณะที่ "ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์" นักวิจัยไบโอเทคอีกรายยังออกผลงานเขียนใหม่ล่าสุดเพื่อควานลึกไปในโลกของสเต็มเซลล์ ใน "สเต็มเซลล์ : เซลล์มหัศจรรย์หรือเรื่องลวงโลก" อันเป็นวิทยาการด้านการแพทย์สมัยใหม่ที่สั่นสะเทือนโลก ด้วยข้อขัดแย้งมากมายจนได้รับการขนานนามว่าเป็นเทคโนโลยีต้องคำสาบ มีการโฆษณาอวดอ้างที่เกินจริง และความหวังในการรักษาโรคร้ายแรงที่การแพทย์ปัจจุบันเอาไม่อยู่ โดยมุมมองของ ดร.นำชัย ต่อสเต็มเซลล์จะเป็นอย่างไร จะถูกตีแผ่ได้ล้วงลึกจับใจแค่ไหน ต้องพิสูจน์กันที่บูธสำนักพิมพ์สารคดี

ทางด้านค่ายบริษัท บรรลือสาส์น จำกัด 1955 ก็ไม่น้อยหน้า คราวนี้นำทีม "ปังปอนด์" ตัวการ์ตูนสัญชาติไทยช่วยแนะนำคนไทยลดปัญหาภาวะโลกร้อน กับหนังสือการ์ตูนสี่สี "ลดโลกร้อนกับปังปอนด์" ที่จะนำผู้อ่านทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ไปรู้จักกับปัญหาและทางแก้ไขตามสไตล์ปังปอนด์และผองเพื่อน

ส่วนฟาก “เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป” ได้คลอดสารานุกรม “โลกของเรา” 1 ชุด จำนวน 10 เล่มออกมาเพื่อให้นักอ่านได้อ่านกันอย่างจุใจ แต่ละเล่มมีความหนาไม่มากนัก แต่อ่านจบได้ความเข้าใจในแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน เช่น โลกของเราฉบับร่างกายของเรา (ไดโนเสาร์) ชีวิตก่อนประวัติศาสตร์ ชีวิตพืช และโลกของสัตว์ เป็นต้น

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ “ส.ส.ท.” ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่นำหนังสือวิทยาศาสตร์ปกใหม่มาอวดโฉมกัน เช่น “สนุกกับ 50 การทดลองวิทยาศาสตร์แบบง่ายๆ” ซึ่งจ่าหัวว่าเป็นการนำการทดลองวิทยาศาสตร์สนุกๆ แบบง่ายมาเสริมสร้างอัจฉริยภาพในตัวเรา เช่น การบีบกระป๋องให้บี้แบนได้ด้วยมือเปล่า ส่วนอีกเล่มคือ “ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีมหัศจรรย์เพื่อชีวิต” ที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับเทคโนโลยีตัวนี้อย่างเจาะลึก

อย่างไรก็ดี ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่กลับพร้อมใจไม่มีปกหนังสือวิทยาศาสตร์ออกใหม่เท่าที่ควร หลายสำนักที่ได้รับการหมายมั่นปั้นมือแบบเชื่อขนมกินได้กลับไม่ปรากฏเงาของหนังสือวิทยาศาสตร์ออกใหม่แต่อย่างใด

"เชตวัน เตือประโคน" นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เปิดเผยแบบไม่อ้อมค้อมว่า ทิศทางหนังสือวิทยาศาสตร์ในบ้านเรายังเน้นไปที่การแปลหนังสือสารคดีวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศเป็นหลัก หลายเล่มได้รับการพิมพ์ซ้ำมากขึ้น โดยเป็นการเกาะกระแสภาวะโลกร้อนจากปีที่แล้ว ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก

เมื่อเดินสำรวจแล้ว ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างสำนักพิมพ์ “มติชน” ได้จัดหนังสือแนวโลกร้อนปกเก่าๆ เป็นชุดหนังสือจำนวนหนึ่งอย่างชัดเจน อาทิ โลกร้อน...ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง ทั้งฉบับแปลเริ่มแรกของ “คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์” รวมถึงฉบับแปลของ “พลอยแสง เอกญาติ” หนังสือ “รุก-รับ โลกร้อน ก่อนโลกหายนะ” ของบัณฑิต คงอินทร์ รวมถึง “ดับโลกด้วยมือเรา” ซึ่งกองบรรณาการมติชนได้รวบรวมคำกล่าวของบุคคลสำคัญเกี่ยวกับโลกร้อนมาตีแผ่ อาทิ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ฯลฯ

แต่กระนั้น เชตวันก็สะท้อนว่าตลาดนิยายไซไฟบ้านเรายังมีน้อย ที่พอเห็นคือ "เดอะไวท์โรด" นิยายไซไฟแฟนตาซีของ ดร.ป๊อป "ฐาวรา สิริพิพัฒน์" จาก "ซีเอ็ด ยูเคชั่น" ที่เปิดตัวผลงานเล่มล่าสุดในงานนี้

ส่วนอีกหนึ่งเล่มที่น่าจับตาในแวดวง “ไซไฟสัญชาติไทย” คือ “ลำนำหกพิภพ” โดยพงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ จากค่ายนานมีบุคส์ คำนิยมโดย ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล หนังสือขายดีรางวัลดีเด่นจากเวทีรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทยปี 2549 โดยมูลนิธิซิเมนต์ไทย ที่เชื่อมโยงเรื่องศาสนาและการกำเนิดโลกผ่านตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ออกมาเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์
 
รวมถึง "อัลฟ่า โอเมก้า ไล่ล่าหาความตาย" ของ "เชษฐา สุวรรณสา" จากค่ายบริษัท "ซัคเซส มีเดีย จำกัด" กับผลงานรวม9 เรื่องสั้นที่ตีโจทย์ชีวิต ความตาย ที่เชื่อมโยงกับโลกและจักรวาลได้อย่างลงตัว ของเจ้าของถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรางวัลแว่นแก้ว ประจำปี 2548  

ขณะที่หลายคนหวังว่าจะมาหาหนังสือเกี่ยวกับปรมาจารย์ไซไฟอย่าง "อาร์เธอร์ ซี.คลาร์ก" ผู้ล่วงลับได้จากงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ ปรากฏว่าสำนักพิมพ์โปรวิชั่นได้นำนิยายไซไฟเพียง 1 เดียวมาวางจำหน่ายคือ “ดุจดั่งอวตาร” ที่ปัจจุบันยังมีผู้แปลเป็นภาษาไทยเพียงเล่มเดียวจากทั้งหมด 4 เล่ม กลับกันกับผลงานของไอแซค อาซิมอฟ ที่มีวางแผงมากกว่า เช่น สถาบันสถาปนาเล่ม 1-10 ไอโรบอต และโลหะนคร

เจ้าหน้าที่จาก “โปรวิชั่น” เผยว่า หนังสือวิทยาศาสตร์ไซไฟยังคงเป็นหนังสือที่เป็นที่รู้จักในวงจำกัดสำหรับประเทศไทย ทางสำนักพิมพ์จึงมีอยู่ไม่กี่ปกดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เรียกได้ว่าขายได้เรื่อยๆ กับแฟนนักอ่านที่ติดตามผลงานอยู่แล้ว ออกงานหนังสือแต่ละที แต่ละปกก็ขายได้ราวๆ 20 เล่ม รวมแล้วก็ขายได้ไม่เกิน 150 เล่มต่องานหนังสือแต่ละครั้ง

"วินทร์ เลียววาริณ" นักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งเคยฝากผลงานไซไฟมาอวดสายตานักอ่านสะท้อนว่า คงเกิดขึ้นได้ยาก และต้องแล้วแต่มุมมองของแต่ละสำนักพิมพ์เป็นหลัก

โดยส่วนตัว วินทร์ยอมรับว่าอยากเห็นการรวมเล่มหนังสือเกี่ยวกับคลาร์กบ้างเช่นกัน แต่เท่าที่พบ คนไทยยังรู้จักคลาร์กในวงจำกัด มีบ้างเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ติดตามผลงานของคลาร์กอย่างจริงจัง แต่ไม่มากพอที่จะเกิดกระแสได้ เพราะหากถามกันจริงๆ แล้ว คนไทยในตอนนี้ยังไม่รู้จักความหมายของนิยายวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องเลยด้วยซ้ำ

สุดท้ายนี้ ทิศทางหนังสือวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในสายตานักอ่าน...คงต้องพิสูจน์กันด้วยตัวเองในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ที่จะปิดฉากลงในวันจันทร์ที่ 7 เม.ย.นี้ แต่หากไม่มาเห็นกับตาตัวเองแล้ว ก็รับรองว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง


คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ "สำรวจหนังสือวิทย์ในงานหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 36" เพิ่มเติม

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia









กำลังโหลดความคิดเห็น