xs
xsm
sm
md
lg

กลเม็ดเคล็ดลับ “อาจารย์ปิง” เรียนสนุกเหมือนชมคอนเสิร์ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ กับสถาบันกวดวิชาดาว้องส์
ลองนึกดูซิว่า วิชาภาษาไทย-สังคม ที่ชวนให้นักเรียนนั่งหลับสุด ๆ แต่สำหรับ “อาจารย์ปิง” แห่งดาว้องส์ ได้สร้างกลเม็ดเคล็ดลับการเรียนการสอนวิชานี้ให้เป็นเรื่องตื่นเต้น สนุกสนาน การเรียนแต่ละครั้งมันเหมือนชมคอนเสิร์ตใหญ่หรือการจัดทอร์คโชว์ ซึ่งสอดแทรกความสาระ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยากยิ่งที่ใครจะเลียนแบบได้

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ของสถาบัน “D’VANCE” กับการปลุกปั้น ของ “อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์” ที่เขาบอกว่า การสอนแต่ละครั้งของเขา มันเหมือนกับการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ ทุกครั้งที่สอนจึงต้องใช้พละกำลังมหาศาล กับความสำเร็จในทุกวันนี้ ที่ปัจจุบันมีสาขารวมกันทั่วประเทศแล้วกว่า 23 สาขา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อาจารย์ปิง บอกกับ ผู้จัดการ LITE ว่า มากกว่า 20 ปีแล้วที่เขายึดอาชีพเป็น “ครู” ความเป็นครูของเขามันอยู่ในสายเลือด ตอนเด็ก ๆ เล่นขายของก็มักจะรับบทเป็นครู และความฝันในวัยเด็กก็เป็นจริงเมื่อได้มีโอกาสสอนตั้งแต่สมัยยังเรียนมัธยม ที่ กรุงเทพคริสเตียน

“พอติวให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน เพื่อนก็บอกว่าพูดรู้เรื่องดี ได้ยินถึงหูอาจารย์ ก็เลยให้ลองสอนหน้าห้อง ทุกคนก็ฟังหมด อาจารย์ก็ตกใจว่าทำไมตรึงคนฟังได้ขนาดนี้ พอถึง ม. 5 ก็ติวให้รุ่นพี่ จนเอ็นท์ทรานซ์ติด ช่วงแรกที่สอนเพื่อนหรือสอนให้น้องเพื่อนไม่เก็บเงินและยังเสียเงินอีกด้วย จะต้องจ่ายค่าซีร็อกหนังสือหรือตำราเอง แต่เราทำเพราะอยากสอนอยากเป็นครู”

ครั้นพอถึงตอนเอนทรานซ์ เนื่องจาก เป็นลูกคนโต และทางบ้านเป็นครอบครัวคนจีน ทำกิจการขายยาจีนในย่านเยาวราช ทางบ้านจึงไม่อยากให้เป็นครูมากนัก โดยเฉพาะคุณแม่ถึงกับนอนไม่หลับหลายคืนเมื่อรู้ว่าลูกตัดสินใจเป็นครู ดังนั้น จึงต้องเลือกเรียนตามใจทางบ้าน เข้าเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“พ่อกับแม่ อยากให้เรียนบัญชี จึงตามใจพ่อกับแม่ เพราะเป็นคนที่ตามใจพ่อแม่อยู่แล้ว แล้วก็บอกพ่อกับแม่ว่า ให้ทำอะไรตามใจหมด ยกเว้นเลือกอาชีพ ขอตามใจตัวเอง”

ตอนปลาย ๆ ปี 1 ของการเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์ปิง เริ่มเข้าสู่วงการกวดวิชา เมื่อเข้าไปสอนในสถาบันกวดวิชา SAC แถวนางเลิ้ง (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) โดยเริ่มจากสอนเป็นกลุ่ม ๆ และมีการเล่าปากต่อปาก ถึงการสอนของอาจารย์รุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์คนนี้

ถึงแม้ว่าวิชาที่ถนัดจริง ๆ คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และ สังคมศึกษา โดยวิชาที่ชอบเรียนมากที่สุดคือคณิตศาสตร์ และวิชาที่ติวให้เพื่อนตอนเรียนมัธยมคือภาษาอังกฤษ แต่วิชาที่อาจารย์เลือกสอนตั้งแต่เริ่มต้นในวงการกวดวิชาคือ วิชาภาษาไทยกับสังคมศึกษา

“เรียนสายศิลป์มา ก็บอกกับตัวเองว่าวันหนึ่งแม้ว่าสอนแล้วไม่ได้เงินเยอะก็ยังจะสอน ภาษาไทยกับสังคมอยู่ดี วิชาคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ เป็นวิชาคลาสสิก ทุกคนสอนได้และเป็นวิชาที่ทำเงินได้ แต่เราไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เงินเยอะแยะ แต่ว่าอยากพัฒนาสายศิลป์ นี่คือความคิดของเรา”

ทำงานกับสถาบันกวดวิชา SAC ได้ประมาณปีเศษ พอเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเด็กนักเรียนนำเอาไปพูดกันปากต่อปากบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ ทาง โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จึงมาทาบทามให้เป็นอาจารย์สอน โดยยื่นข้อเสนอให้เลือกว่าจะเป็น ครูให้คะแนน หรือ เป็นติวเตอร์ ก็ได้

“เราชอบมากที่เขาให้เลือกว่าจะเอาแบบไหน ก็เลยเลือกเป็นครูให้คะแนน เพราะอยากเป็นครูจริง ๆ ช่วงแรก ๆ ใครเรียกเราเป็นติวเตอร์เราโกรธนะ ติวเตอร์ หมายความว่า เหมือนเอาเงินมาจ้างเรา รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าเมื่อเทียบกับ Teacher คือผู้สอน เงินมาซื้อเราไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นครูติวดีกว่า เพราะว่ามันอยู่นอกระบบ เราสามารถทำอะไรอิสระ ไม่จำเป็นต้องเขียนแผนการสอน (ไร้สาระ)”

ขณะสอนหนังสืออยู่ที่ อัสสัมชัญธนบุรี ก็มาเปิดสถาบันกวดวิชาไปด้วยควบคู่กัน แต่ก็ยังคงติวเป็นกลุ่มเหมือนเดิม พอคนเยอะก็แรงไม่พอ จึงต้องมารวมเป็นห้อง แล้วก็เปิดเป็น สถาบันกวดวิชาอาจารย์ปิง ดาว้องส์ สาขาเยาวราช เป็นที่แรก สอนหนังสือที่ อัสสัมชัญธนบุรี ได้ประมาณ 10 ปี ก็เลิกและทุ่มเทให้กับโรงเรียนกวดอย่างเต็มตัว

“ตอนแรกเปิดสาขาเดียว เพราะกลัวว่าคนจะคิดว่าเป็นธุรกิจ แต่ว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนมาร้องไห้เยอะ มาแย่งกันสมัครตั้งแต่ตี 4 ตี 5 บางคนมีแป๊ะเจี๊ยะมาให้ด้วย แต่ก็จะรับในกรณีพิเศษ ไม่เอาเงิน เพราะเราไม่ได้มาทำธุรกิจ เขาก็เลยทำเป็นบะจ่าง มาให้กิน แค่นี้ก็ปลาบปลื้มแล้ว”

สำหรับชื่อสถาบัน D’AVANCE (ดาว้องส์) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ ADVANCE แปลว่าก้าวหน้า ที่ถูกต้องควรเขียนว่า D’AVANCE แต่กลัวเด็กอ่านไม่ออก จึงเขียนว่า DA’VANCE แทน

“เหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะว่าน้องสาวเรียนอยู่ โรงเรียนมาแตร์เดอี สะกดคำนี้ผิดอาจารย์ก็สั่งให้สะกดคำนี้เป็นร้อยเลย ก็ถามน้องสาวว่าคำนี้อ่านว่าอะไร แปลว่าอะไร น้องบอกว่า อ่านว่า ดา-ว้อง แปลว่า ก้าวหน้า ก็ปิ้งตรงนั้นเลยว่าไพเราะดี ความหมายดีด้วย เอาเลย จึงเป็นที่มาของชื่อ D’AVANCE”

สำหรับเคล็ดลับของความสำเร็จ ต้องเริ่มจาก การใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่ การตกแต่งอาคารสถานที่เรียน ซึ่งตกแต่งเป็นสไตล์ยุโรปโบราณ ที่อาจารย์บอกว่า ความทันสมัยเมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะเก่า แต่ความคลาสสิกถึงแม้เวลาจะล่วงเลยไป และยิ่งเก่าก็จะยิ่งมีคุณค่า สถานที่ที่ออกแบบมาอย่างดีนี่เองทำให้นักเรียนรู้สึกประทับใจและอยากมาเรียนตั้งแต่แรก

สิ่งสำคัญประการต่อมาคือ ตำราหรือเอกสารประกอบการสอน ที่มีการออกแบบลวดลาย มีความสดใสสมวัย มีลายการ์ตูน และมีการจัดเรียงเนื้อหาที่อ่านเข้าใจง่าย มีมุกตลกแฝงอยู่ในนั้น อ่านแล้วตื่นตาตื่นใจเสมอ แทนที่จะเป็นตำราวิชาการที่เคร่งครึมชวนให้ง่วงนอนเวลาอ่าน ลักษณะข้างต้น จึงตรงใจนักเรียนที่ยังอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น

“อย่างหนังสือหนังหา ถ้าพูดในเชิงธุรกิจมันคือการตลาดใช่ไหม แต่พี่ว่ามันไม่ใช่ ก็เด็กเขาชอบแบบนี้จะพูดอย่างไร เราอาจจะเป็นคนเก็บกด ตอน ม.ปลาย เขาก็เชยนะ หนังสือก็เป็นแบบน้ำตาล ๆ หน้าปกแก่ ๆ อะไรอย่างนี้ เราก็คิดว่าสักวันเป็นครูเราจะทำให้ได้เลย ให้หน้าปกสวย ๆ กระดาษขาว ๆ หน้าเนียน เราก็เลยคิดว่าสักวันเราต้องทำให้เกิดความแตกต่าง”

ยิ่งตื่นตาตื่นใจเข้าไปอีก เมื่อได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ เริ่มตั้งแต่ภาษาที่อาจารย์ปิงใช้สื่อสารกับเด็กนักเรียน ภาษาที่ถ่ายทอดไม่แตกต่างจากภาษาที่เด็กวัยรุ่นใช้กัน แบบว่าชิวชิว สอดแทรกมุกตลกอยู่ตลอดเวลา สไตล์การสอนแบบนี้อาจารย์บอกว่า การสอนแต่ละครั้งมันเหมือนกับการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่

“ทุกวันนี้สอนประมาณวันละ 3 ชั่วโมง แต่ว่าเวลา 3 ชั่วโมงกว่านี้เหมือนออกคอนเสิร์ตเลย บางทีนักร้อง 3-4 เพลงก็ต้องหยุด ไม่เหมือนพี่นะ การสอนของพี่ เป็นเหมือนการร้องเพลง เป็นอาคาเดมี่ อย่างหนึ่ง คือคิดว่าการสอนมันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่มาถึงพูด ๆ เราต้องใส่พลังอย่างเต็มที่”

เมื่อถามว่าตอนนี้ที่สุดของชีวิตหรือยัง อาจารย์ปิง บอกว่า อย่างน้อยขอให้ได้สอนหนังสือทุกวันก็คิดว่ามีความสุขแล้ว เพียงแต่ตอนนี้อยากจะสอนให้มันน้อยลงไปกว่านี้ และอีกอย่างอาจารย์ก็อยากจะให้คุณแม่และน้องสาว 2 คน ที่ช่วยดูแลงานทางด้านธุรกิจ ได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง

“อย่างที่บอกว่าการออกสอนของพี่ทุกครั้งมันใช้พลังเยอะมาก เลยอยากจะลดไปบ้างเล็กน้อย ก็จะมีความสุขขึ้น ถึงอย่างไรก็ต้องสอนเพราะว่าชอบสอน แต่ก็อยากให้แม่กับน้องสาวหยุดบ้าง เพราะการทำโรงเรียนเหนื่อย”

ข้อสรุปจากบทเรียนการสอนของอาจารย์ปิง ทำให้รู้ว่าสไตล์การสอนที่สนุกสนานยากแก่การลอกเลียนแบบนี่เอง ที่เป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ และถ้าคุณเป็นนักการตลาด คุณก็ยิ่งจำเป็นต้องรีบเข้ามาเรียนรู้การตลาดแบบอาจารย์ปิง ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีถึงแนวคิดการตลาดที่ว่า ต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น