xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนกวดวิชาเถื่อนเกลื่อนเมือง ก.ค.ศ.แจ้งครูทั่วประเทศทำบันทึกความดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลขา สช. แย้มหนักใจโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนเกลื่อนเมือง วอนให้มาจดทะเบียนให้ถูกต้อง ด้าน “สมพงษ์” จี้เร่งแก้ปัญหาธุรกิจสีเทา ก่อนจะทำให้วิชาชีพครูตกต่ำ เพราะมีบางกลุ่มแอบแฝงนำใบประกอบวิชาชีพครูมาหาผลประโยชน์ ขณะที่ก.ค.ศ.แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศให้ข้าราชการครูทำสมุดบันทึกความดี เผยเป็นครั้งแรกของวงการครู เชื่อจะส่งผลให้ครูทำดีมากขึ้น ทุจริตน้อยลง และคนทำดีจะมีกำลังใจ เนื่องจากจะใช้ในการพิจารณาเลื่อนขั้นและเงินเดือนด้วย

นายสำรวม พฤกษ์เสถียร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (เลขา สช.) กล่าวว่า ขณะนี้รู้สึกหนักใจโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนกระจัดกระจายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มมีเพิ่มขึ้น และสช.ไม่สามารถจัดการหรือจัดระเบียบกับโรงเรียนเหล่านี้ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ใครที่เปิดสอนและมีนักเรียนเกิน 7 คนต้องมาจดทะเบียนเพื่อขอเปิดโรงเรียน แต่วันนี้ไม่มีใครมาจดถึงแม้จะมีเด็กผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเกินกว่า 7 คน บางรายมีเด็กมาเรียนเป็น 100 คน หากครูมาขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนกวดวิชา สช.ยังสามารถเข้าไปดูสภาพแวดล้อม ตลอดจนหลักสูตรการเรียนการสอนว่าเหมาะสมหรือไม่

“สช.ไม่สามารถไปเดินจี้ให้เขามาขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนกวดวิชาได้ เพราะผู้ปกครอง เด็ก ยินยอมพร้อมใจจ่ายเงินแล้วให้ลูกหลานไปเรียน เพราะเขาคิดว่าการเรียนพิเศษนอกห้องเรียน ช่วยเพิ่มเกรดได้” นายสำรวมกล่าวและว่า ขอให้ครูที่เปิดสอนพิเศษมาจดทะเบียนให้เรียบร้อย เพราะตนเกรงว่าจะมีบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางทำมาหากิน

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า อาจารย์เปิดสอนติวเตอร์ให้แก่เด็กนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางกลุ่มอาจารย์บางคนเขายินดีที่จะช่วยลูกศิษย์ พ่อแม่เต็มใจจ่ายเงิน อาจารย์บางท่านแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก โดยใช้ค่านิยมของพ่อแม่ “ไม่เรียนไม่ได้” เนื่องเพราะการเรียนมีผลทางอ้อมต่อคะแนนในชั้นเรียน หากได้เกรดดีอย่างต่อเนื่องเมื่อจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยก็สามารถเลือกคณะดีๆ ได้ สิ่งเหล่านี้
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปควบคุมดูแล ถ้าไม่มีมาตรการควบคุม อาจทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลง เพียงมีคนกลุ่มหนึ่งใช้วิชาชีพครูมาหากิน

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า วันนี้การปฏิบัติงานของครู ในโรงเรียน-นอกโรงเรียนเกิดความลักลั่นกัน และแสวงหาผลประโยชน์เกิดขึ้น ซึ่งนับวันจะดูสาหัสสากรรจ์มากๆ เพราะเขาใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่ง สช.ไม่สามารถจัดการอะไรกับเขาได้ โดย ตนคิดว่า สช.ต้องมีบทบาทในการควบคุมโรงเรียนกวดวิชาทั้งที่เถื่อนและถูกต้อง ส่วนโรงเรียนเถื่อน สช.ควรระคมความคิดเพื่อควบคุมให้ทำให้ถูกฎหมาย และมีมาตรการหรือมีการกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน

“ผมไม่ได้เหมาโหลนะ เพราะมีอาจารย์บางคนอย่างช่วยลูกศิษย์จริงๆ เราต้องพูดกันอย่างเป็นธรรม ครูดีก็มี แต่มีครูสีเทา แอบแฝงเอาวิชาชีพครูไปทำมาหากิน ปัจจุบันทำกันเยอะ แต่ไม่มีใครกล้าพูด เด็ก ผู้ปกครอง ไม่กล้าพูดหรอก เพราะลูกเขาอยู่ในกำมือของครู ครูเป็นคนตัดสินให้เกรด ยกเว้นกรณีที่เสียหายหนักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุรุสภา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านครู ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จะปฏิเสธไม่ได้” นายสมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ระบุให้ข้าราชการพลเรือน จัดทำสมุดบันทึกผลงานและคุณงามความดีของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ให้รับทราบแล้ว โดยถือเป็นครั้งแรกของวงการข้าราชการครูที่จะได้ทำสมุดบันทึกความดีของตนเอง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูทำความดี มีความประพฤติที่ดีงามมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการครูที่ประพฤติดี โดยผู้บังคับบัญชาจะนำสมุดบันทึกดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ด้วย

“สำหรับการบันทึกความดี สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้จัดทำรูปแบบตัวอย่าง เพื่อให้ครูนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งอาจจะทำเป็นแบบสมุดบันทึกหรือเป็นแฟ้มรวบรวมการทำความดีในแต่ละวันของข้าราชการครู ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานที่จะนำไปปรับใช้กันเอง โดยหัวข้อหลักเบื้องต้นของการบันทึกความดีที่นำมาจดบันทึกนั้น คือ จรรยาบรรณวินัยต่อตนเองและหน่วยงาน จรรยาบรรณต่อประชาชน การประพฤติและปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ”

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้บันทึกความดีมาแล้วช่วงวันที่ 1 ต.ค.50 - 31 มี.ค.51 เพื่อนำไปพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนช่วงแรกของปี และในระยะที่สองจะพิจารณาช่วงเดือนก.ย. ซึ่งตนเชื่อว่าการบันทึกความดีจะทำให้ครูรู้จักการจัดทำบันทึกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก แต่เมื่อมีมติ ครม.ขึ้นมา สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงเห็นว่า น่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับข้าราชการครูได้ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต และประพฤติมิชอบในราชการด้วย ซึ่งบันทึกความดีจะมีผู้รับรองจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยที่ครูสังกัดอยู่ โดยเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของข้าราชการครูทุกคน และทุกระดับจะต้องทำบันทึกเหมือนกันทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น