เป็นที่ทราบกันดีว่าวัสดุที่ทำมาจากพลาสติกนั้น เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก และต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียวกว่าพลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลาย ที่สำคัญ พลาสติก ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโลกอยู่ในขณะนี้หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างหันมาช่วยกันรณรงค์ในเรื่องของการลดสภาวะโลกร้อนด้วยกันหลายวิธี และวิธีลดการใช้พลาสติกก็เป็นอีกแนวทางในการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว
คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยนายพงศธร หนูเล็ก นายจิราณุวัฒน์ แสงมุกด์ และนายชินพันธุ์ แซ่ซิ้ม ได้ร่วมกันคิดค้นวิธีการผลิตกระถางเพาะชำจากวัสดุทางการเกษตรขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดการใช้กระถางพลาสติกลง โดยมี ผศ.สุจิน สุนีย์ และ ผศ.ธีรเวท ฐิติกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นายพงศธร กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครนายก และจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเพาะชำกล้าไม้และพันธุ์พืชหลากหลายชนิด เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ผล ซึ่งในการเพาะพันธุ์พืชเหล่านี้ ชาวสวนส่วนใหญ่จะเพาะชำกล้าไม้ลงในถุงเพาะชำ หรือกระถางเพาะชำที่ทำมาจากพลาสติกเป็นจำนวนมาก ซึ่งพลาสติกเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากและเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสภาวะโลกร้อน จากสาเหตุดังกล่าวจึงได้คิดหาวิธีนำวัสดุทางการเกษตรมาผลิตกระถางเพาะชำ เพื่อทดแทนและลดการใช้กระถางถุงและถุงเพาะชำที่ทำมาจากพลาสติก
“ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้จัดทำได้ทำการศึกษาและจัดสร้างกระถางจากเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวน 5 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ กระถางที่ทำจากแกลบ กระถางที่ทำจากขี้เถ้าแกลบ และกระถางที่ทำจากขุยมะพร้าว กระถางที่ทำจากเศษใบไม้และวัชพืชต่างๆ ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่ากระถางที่ทำจากขุยมะพร้าวมีความแข็งแรงและทนทานที่สุด” นายพงศธรกล่าว
นอกจากนี้ ผลจากการนำเอากระถางที่ทำจากขุยมะพร้าวไปใช้งานจริง พบว่ามีความแข็งแรงและทนทานของกระถางอยู่ในระดับที่ดี มีความยืดหยุ่นสูง รากของกิ่งสามารถชอนไชออกจากก้นของกระถางได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำและการระบายความร้อนของกระถางอยู่ในระดับดี และเมื่อฝังกระถางลงในดินรากของกิ่งชำยังสามารถชอนไชออกทางด้านล่างและด้านข้างของกระถางได้ดี อีกทั้งกระถางที่ทำจากขุยมะพร้าวนี้ยังสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติได้อีกด้วย
สำหรับวิธีการผลิตกระถางจากขุยมะพร้าว ประกอบด้วยส่วนผสมดังนี้ ขุยมะพร้าว 100 กรัม,ใยมะพร้าว 150 กรัม และกาวแป้งเปียก 50 กรัม ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปอัดด้วยเครื่องอัดไฮโดรลิก ด้วยแรงอัดที่ 10 ตัน ซึ่งจากแรงอัดดังกล่าวจะทำให้กระถางที่ได้ออกมามีรูปทรงและลักษณะตามที่ต้องการ และเมื่อนำไปตากแดดจะไม่เกิดรอยร้าวรวมทั้งไม่แตกที่ปากขอบกระถางด้วย ทั้งนี้ ส่วนผสมดังกล่าวจะผลิตกระถางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้วได้จำนวน 1 กระถาง และหลังจากนำกระถางที่ได้ไปตากทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที เมื่อกระถางแห้งดีแล้วก็สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดย พงศธร บอกว่า กระถางจากขุยมะพร้าวดังกล่าวมีต้นทุนอยู่ที่ 4 บาทกว่า/กระถาง
นายพงศธร กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ได้ทำการศึกษาและทดสอบใช้กระถางที่จัดสร้างขึ้นในขั้นต้นแล้ว ทางคณะผู้จัดทำได้นำกระถางจากขุยมะพร้าวไปทดสอบใช้จริง ที่สวนวาสนา เลขที่ 41/2 หมู่ 11 คลอง 15 ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และได้ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการเพาะชำกล้าไม้มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จำนวน 10 คน โดยเป็นเจ้าของสวนเพาะชำกล้าไม้ในพื้นที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำได้ทำการประเมินคุณสมบัติและคุณภาพของกระถางด้วยกันสองส่วน คือ ทางด้านลักษณะทั่วไปของกระถาง ผลการประเมินพบว่าอยู่ในระดับดี ส่วนคุณภาพของกระถางเมื่อนำไปใช้งานจริง ผลการประเมินก็อยู่ในระดับดีเช่นเดียวกัน
ทางด้านนางปวีณา สามเตี้ย อายุ 46 ปี เจ้าของสวนวาสนา กล่าวต่อกรณีการนำกระถางจากขุยมะพร้าวไปทดลองใช้งานในการเพาะชำกล้าไม้ ว่า หากเปรียบเทียบในเรื่องของความคงทน พลาสติกจะทนกว่าอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของการอุ้มน้ำกระถางจากขุยมะพร้าว สามารถอุ้มน้ำได้นานกว่า นอกจากนี้ เวลานำต้นไม้จากกระถางไปปลูก หากใช้กระถางพลาสติกในการเพาะชำจะทำให้รากต้นไม้ขาดได้ เพราะจะต้องดึงต้นไม้ออกจากระถางก่อนนำไปปลูก แต่ในทางกลับกัน หากใช้กระถางที่ทำจากขุยมะพร้าวสามารถนำต้นกล้าไปปลูกทั้งกระถางได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาดึงต้นกล้าออกจากกระถาง รากต้นกล้าจึงไม่มีโอกาสที่จะขาดออกจากต้นทำให้ต้นไม้ที่เพาะในกระถางจากขุยมะพร้าวเจริญเติบโตได้ดีกว่า
“การใช้กระถางที่ทำจากขุยมะพร้าวสามารถอุ้มน้ำได้ดีกว่าและนานกว่า สามารถรดน้ำทิ้งไว้ 2-3 วัน ค่อยกลับมารดอีกทีก็ได้ ทำให้ไม่ตองกังวลเวลาไปไหนนาน 2-3 วัน นอกจากนี้การที่รากต้นกล้าไม่ขาดทำให้เห็นความแตกต่างในการเจริญเติบโตได้อย่างชัดเจนทีเดียว กระถางจากขุยมะพร้าวเหมาะจึงสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลต้นไม้ และยังเหมาะสำหรับผู้ที่รับจัดสวนแบบที่ต้องใช้ต้นไม้เยอะๆ โดยจัดเป็นกลุ่มเป็นโซนตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ต้องดูแลรดน้ำบ่อยๆ หากสามารถลดต้นทุนให้ได้เท่ากับกระถางพลาสติกซึ่งมีราคาอยู่ที่ 3 บาท/กระถาง เชื่อว่าเกษตรกรเจ้าของสวนเพาะชำกล้าไม้จะหันมาใช้กระถางจากวัสดุการเกษตรแบบนี้มากขึ้นทีเดียว” นางปวีณากล่าว
สำหรับผู้สนใจกระถางจากวัสดุการเกษตรดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ผศ.สุจิน สุนีย์ โทร.089-7653743 หรือ พงศธร หนูเล็ก โทร.089-6599509 คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)