คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน วันก่อนเพื่อนสมัยประถมฉันคนหนึ่งพูดด้วยความทึ่งว่า ญี่ปุ่นเอาอะไรต่อมิอะไรมาเป็นธีมทำพิพิธภัณฑ์ได้หมดเลย ฉันก็ว่าจริงด้วยค่ะ โดยทั่วไปแล้วเราอาจจะคุ้นเคยกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และบ้านประวัติศาสตร์ แต่ญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์แหวกแนวออกไปจากนี้อีกเยอะมาก และมีให้ดูทั่วญี่ปุ่นเสียด้วย
จากข้อมูลของกรมวัฒนธรรม ณ เดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์และสถานที่คล้ายพิพิธภัณฑ์รวมกันทั้งสิ้นถึง 5,771 แห่งเลยทีเดียว ฉะนั้นหากใครมีโอกาสไปญี่ปุ่นแล้วไม่ได้ชมพิพิธภัณฑ์เลยก็ออกจะน่าเสียดาย เพราะถ้ามีพิพิธภัณฑ์เยอะขนาดนี้ น่าจะมีอย่างที่เราสนใจอยู่ไม่น้อยเลย ฉันขอยกบางแห่งมาเป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ พอเห็นภาพก่อนก็แล้วกันนะคะ
พิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วย (Cupnoodles Museum)
แม้ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกจัดเป็นอาหารที่ด้อยคุณค่าทางอาหาร เพราะประกอบด้วยแป้งและผงชูรสเป็นหลัก แต่ในอดีตมันก็ถือกำเนิดขึ้นจากเจตนาดีที่อยากให้ประชาชนญี่ปุ่นได้มีกินหลังสงคราม โดยไม่ต้องไปยืนเข้าแถวรอกินบะหมี่ท่ามกลางอากาศหนาวๆ แต่สามารถกินที่บ้านได้ง่ายๆ เพียงแค่ราดน้ำร้อนลงไปที่บะหมี่เท่านั้น
ว่ากันว่าคุณอันโด โมโมฟุกุ บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเราท่านนี้ เฝ้าลองผิดลองถูกตามลำพังทุกวันโดยมีเวลานอนแค่วันละ 4 ชั่วโมง จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการผลิต โดยตอนแรกทำเป็นบะหมี่บรรจุห่อ ต่อมาก็พัฒนาเป็นบะหมี่ถ้วย และบะหมี่สำหรับนักบินอวกาศตามลำดับ
นอกจากคุณอันโด จะมีความคิดสร้างสรรค์และความพยายามอย่างไม่ลดละแล้ว เขายังส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ คิดอย่างสร้างสรรค์ มองสิ่งต่างๆ จากหลายแง่มุม ไม่ละความพยายามง่ายๆ เห็นความสนุกจากการประดิษฐ์และค้นพบสิ่งใหม่ รวมทั้งเห็นคุณค่าของอาหารการกิน จึงเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วยแห่งนี้
ภายในพิพิธภัณฑ์มีอะไรให้เรียนรู้สนุกๆ เยอะแยะ ตั้งแต่ความเป็นมาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แพกเกจแต่ละแบบ ประวัติคุณอันโด ห้องจำลองพื้นที่การประดิษฐ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคุณอันโด เวิร์กชอปทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พื้นที่เล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ ตลาดขายอาหารจานเส้นชนิดต่างๆ จากหลายประเทศที่คุณอันโดเคยลิ้มลองและศึกษา รวมทั้งร้านขายของที่ระลึก
พิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วยมี 2 สาขาคือในเมืองโยโกฮามะ จังหวัดคานางาวะ และเมืองอิเคดะ จังหวัดโอซากา แต่การจัดแสดงและกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์อาจมีส่วนที่แตกต่างกัน
พิพิธภัณฑ์เครื่องประหาร (明治大学博物館常設展示刑事部門)
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ใกล้สถานีโอจาโนะมิสุ (Ochanomizu) กรุงโตเกียว มีชื่อทางการว่า “นิทรรศการถาวรแผนกคดีอาญา แห่งพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเมจิ” นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “พิพิธภัณฑ์ทรมาน” หรือ “โกมง-ฮาขุบุทสึกัง” (拷問博物館) แต่ฉันชอบเรียกว่าพิพิธภัณฑ์เครื่องประหารมากกว่า เพราะเท่าที่เคยไปดูมาจำได้ว่ามีเครื่องประหารเป็นหลัก
พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงกฎหมายและเครื่องมือลงทัณฑ์ตั้งแต่สมัยเอโดะ ไปจนถึงสมัยต้นเมจิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทางกฎหมายของญี่ปุ่นในอดีต ตั้งแต่การจับกุม สอบสวน พิจารณาคดี และลงโทษ รวมทั้งการทรมานและการประหารชีวิตอันโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อคำนึงถึงกฎหมายและการลงโทษในปัจจุบัน ทั้งยังมีจัดแสดงเครื่องทรมานและประหารของต่างประเทศบางส่วนด้วย
แม้มันไม่ใช่สถานที่ที่ไปแล้วจะรู้สึกดี แต่เราก็ได้เห็นภาพของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความไร้มนุษยธรรมของการลงโทษสมัยเก่า แม้บางอย่างอาจดูยุติธรรมที่ลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่มันก็โหดร้ายอยู่ดี และในกรณีที่น่าสงสารที่สุดก็คือจับผู้ร้ายผิดตัว
นอกจากนิทรรศการที่ว่านี้แล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเมจิยังมีนิทรรศการโบราณคดีกับผลิตภัณฑ์โบราณของญี่ปุ่น และประวัติมหาวิทยาลัยเมจิให้ชมด้วย บางครั้งก็มีจัดนิทรรศการพิเศษในช่วงระยะเวลาจำกัดเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์ภูตผีญี่ปุ่น (Miyoshi Mononoke Museum)
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองมิโยชิ จังหวัดฮิโรชิมา เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เรื่องภูตผีอันโด่งดังและเป็นฉากของ 稲生物怪録 (อิโน-โมโนโนเขะ-โระขุ) ซึ่งเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง เขียนขึ้นในสมัยเอโดะ โดยเล่าเหตุการณ์ประหลาดในบ้านของอิโน เฮทาโร่ ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองมิโยชิ ที่น่าสนใจคือชื่อบางคนและสถานที่บางแห่งมีอยู่จริง
สมัยก่อนชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า “โยไค” หรือภูตผี เป็นผู้ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้จะอธิบายว่าพวกมันมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคนญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง ผ่านการจัดแสดงของสะสมเกี่ยวกับภูตผีญี่ปุ่นกว่า 5 พันชิ้นที่บริจาคโดยคุณยุโมโตะ โคอิจิ อันได้แก่ ภาพพิมพ์แกะไม้ หนังสือ แผ่นภาพ มัมมี่ กิโมโน อาวุธ เครื่องราง รูปปั้น ของใช้ในบ้าน ของเล่น และอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยประกอบให้เล่นหลายอย่าง เช่น โปรเจกเตอร์แสดงภาพภูตผีวิ่งไปตามผนัง หน้าจอสัมผัสที่ให้ประสบการณ์เหมือนภูตผีมีชีวิตจริง ถ่ายภาพคู่กับภูติผี เป็นต้น คนชอบเรื่องราวเกี่ยวกับภูตผีปีศาจญี่ปุ่นไม่น่าพลาดค่ะ ไว้ฉันเองก็ต้องหาทางไปชมให้ได้สักครั้ง
พิพิธภัณฑ์อึ (Unko Museum)
ใครเลยจะคาดคิดว่ามีพิพิธภัณฑ์ประเภทนี้อยู่ในโลกด้วย แต่อย่าเพิ่งทำหน้าขยะแขยงไปค่ะ เพราะถึงแม้ที่แห่งนี้จะเอา “อุงโกะ” ซึ่งแปลว่า “อึ” มาเป็นธีม แต่ก็ใช้อึรูปร่างเหมือนไอศกรีม ทั้งยังเน้นสีสันสดใสและความน่ารักให้ผู้เยี่ยมชมได้เล่นสนุกกันเป็นหลัก
พิพิธภัณฑ์อึตั้งอยู่ที่เมืองโอไดบะ กรุงโตเกียว จัดโซนต่างกันออกไปตามธีม เพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจโลกแห่งอึอย่างขำๆ และสนุกสนาน ผ่านงานศิลปะ เกม มุมถ่ายรูป และโรงงานผลิตของฝากจากอึ นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาด้านการศึกษาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ชีววิทยาของอึ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยนำเสนอในลักษณะที่เบาสมองและมีอารมณ์ขัน
พิพิธภัณฑ์นินจาอิงะ (伊賀流忍者博物館 หรือ 忍者屋敷 / Ninja Museum of Igaryu)
นินจาเป็นชนชั้นนักรบและสายลับที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี มีทักษะในการจารกรรม ปลอมตัว ทำสงครามกองโจร และยุทธวิธีแหวกแนวต่างๆ มีบทบาทสำคัญด้านการเมืองและการทหารที่ซับซ้อนของญี่ปุ่นในยุคเซ็นโงกุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความไม่สงบและความขัดแย้งทางการเมืองในญี่ปุ่น โดยรวบรวมข้อมูล ทำลายล้างศัตรู และปฏิบัติการลับให้แก่ขุนนางที่รับใช้ ส่วนในยามบ้านเมืองสงบ นินจาก็เป็นชาวไร่ชาวนา คนตัดฟืน หรือนักบวช
พิพิธภัณฑ์นินจาอิงะตั้งอยู่ในเมืองอิงะ จังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนินจาอิงะนั่นเอง ที่นี่มีบ้านชาวนาที่ภายในมีกลไกมากมาย ทั้งประตูกล ทางลับ และกับดัก โดย “นินจาหญิง” จะอธิบายและสาธิตวิธีการใช้กับดักและกลอุบายให้ฟัง
นอกจากนี้ ยังมีห้องนิทรรศการซึ่งจัดแสดงเครื่องมือและอาวุธของนินจา และมีการนำเสนอประวัติศาสตร์ รวมทั้งชีวิตประจำวันของนินจา อีกทั้งยังมีการสาธิตวิชานินจา รวมทั้งอธิบายประเภทของเครื่องมือและอาวุธที่นินจาใช้ในการปฏิบัติภารกิจ และวิธีการใช้เครื่องมือเพื่อป้องกันตัวด้วย
หมู่บ้านนินจาโคกะ (甲賀の里忍術村 / Koka Ninja Village)
พูดถึงนินจาอิงะแล้ว จะไม่พูดถึงนินจาโคกะเลยก็คงน่าน้อยใจไปหน่อย แม้เรามักเห็นนินจาอิงะกับนินจาโคกะเป็นคู่อริกันในสื่อบันเทิงทั้งหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วนินจาสองสายหลักนี้ต่างก็เป็นมิตรกันดี
หมู่บ้านนินจาโคกะ ตั้งอยู่ในเมืองโคกะ จังหวัดชิงะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนินจาสายโคกะ สิ่งที่จัดแสดงและกิจกรรมมีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์นินจาอิงะ
ส่วนที่คล้ายคือบ้านกลไกซึ่งมีประตูลับ ช่องลับ บันไดลับ แต่เด็ดตรงที่เป็นบ้านเดิมของตระกูลฟุจิบายาชิ ซึ่งเป็นทายาทตัวจริงของนินจาโคกะ นอกจากนี้ ก็มีจัดแสดงคัมภีร์ลับกับอาวุธนินจาของสายต่างๆ และการสาธิตขว้างดาวกระจาย
ส่วนที่ต่างจากพิพิธภัณฑ์นินจาอิงะคือ หมู่บ้านนินจาโคกะมีลานฝึกนินจากลางแจ้งให้ลองถึง 9 ด่าน อีกทั้งหมู่บ้านยังตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ชวนให้รู้สึกว่าเป็นสถานที่ลับซึ่งคนภายนอกไม่รู้ และมีศาลเจ้าชิโนบิที่สร้างขึ้นเพื่อนินจาที่เสียชีวิตไปโดยไม่มีใครรู้ชื่อเสียงเรียงนามด้วย การได้มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้จึงน่าจะได้บรรยากาศของหมู่บ้านนินจาที่สมจริง
อาจจะมีคนสงสัยว่านินจาสายนี้เรียกว่า “โคงะ” ไม่ใช่หรือ ฉันไปค้นดูแล้วมีคนชาวจังหวัดชิงะอธิบายว่า ตอนเด็กๆ เขาก็เรียกว่านินจา “โคงะ” แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่มีการเปลี่ยนสถานะเมืองโคงะจาก “กุน” เป็น “ชิ” เมื่อ พ.ศ.2547 วิธีอ่านก็เปลี่ยนจาก “โคงะ-กุน” เป็น “โคกะ-ชิ” ชื่อเรียกนินจาสายนี้เลยพลอยเปลี่ยนจาก “โคงะ” เป็น “โคกะ” ไปด้วย ทว่าบางคนก็แย้งว่าที่ถูกคือ “โคกะ” แต่คนอาจจะอ่านผิดว่า “โคงะ” ตาม “อิงะ” เพราะลงท้ายด้วย 賀 เหมือนกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าที่ถูกคืออย่างไรแน่
เวลาเพื่อนๆ จะไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น แนะนำว่าให้ตรวจสอบวันเวลาเปิดทำการให้แน่นอน และดูด้วยว่าต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนไหม หรือว่าซื้อตั๋วที่หน้างานได้ จะได้ไม่ไปเสียเที่ยวนะคะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.