xs
xsm
sm
md
lg

"อภิมหาแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไก" อาจถล่มญี่ปุ่นในทศวรรษ 2030

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน นักวิชาการญี่ปุ่นคาดว่าภายในช่วง 7-17 ปีนับจากนี้ จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่นอย่างแน่นอน โดยเรียกกันว่า “อภิมหาแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไก” ภัยพิบัติน่าสะพรึงกลัวนี้นับว่าใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ ทุกที เรามาดูกันว่าญี่ปุ่นคาดการณ์ความเสียหายไว้อย่างไร และปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายอะไรอยู่บ้าง

ราว 10 ปีก่อนมีการคาดการณ์ว่าเป็นไปได้ 70-80% ที่แผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไกจะเกิดขึ้นจริงภายในระยะเวลา 30 ปี แต่ปัจจุบันศาสตราจารย์ และนักธรณีวิทยาญี่ปุ่นท่านหนึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้านี้ค่อนข้างแน่นอนแล้ว คือประมาณปี ค.ศ.2035 บวกลบ 5 ปี หมายความว่าอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในช่วงปี ค.ศ.2030-2040 ซึ่งก็คือ 7-17 ปีข้างหน้านี้เอง

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไก
คาดว่าแผ่นดินไหวแนวแอ่งนันไกจะมีความรุนแรงระดับแมกนิจูด 8 ขึ้นไป กินอาณาบริเวณตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชิสึโอกะของภูมิภาคฮอนชู เรื่อยไปจนถึงภูมิภาคคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ครอบคลุมแถบแปซิฟิกซึ่งเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมด ทั้งยังมีประชากร บ้านเรือน และโรงงานหนาแน่น เมืองใหญ่อย่างกรุงโตเกียว โยโกฮามา โอซากา นาโงยะ และโกเบ คาดว่าจะพลอยได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย

ชมวิดีโอจำลองสถานการณ์ :https://wwwc.cao.go.jp/lib_012/nankai_02.html

ภาพจาก risktaisaku.com
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไกจะรุนแรงกว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2554 อย่างเทียบไม่ติด ด้วยความเสียหายที่รุนแรงกว่าถึง 10 เท่า แถบชายฝั่งทั้งหมดจะเผชิญกับคลื่นสึนามิความสูง 10 เมตรขึ้นไป โดยสูงสุดอาจอยู่ที่ 34 เมตรที่ชายฝั่งจังหวัดโคจิ เทียบเท่ากับอาคารสูง 11 ชั้น และมวลน้ำมหาศาลจะถาโถมเข้าถึงตัวภายในเวลาเพียง 3 นาที

แรงสั่นสะเทือนรุนแรงระดับ 6-7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น (7 คือสูงสุด) อาจสั่นนานนับนาทีเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไก อาจมีผู้เสียชีวิตจากอาคารที่พังถล่มราว 82,000 คน และเนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไกนั้นใกล้กับแนวชายฝั่ง สึนามิจึงมาถึงแผ่นดินอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 230,000 คน หนึ่งในสองคนที่อยู่ในญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจสูญเสียรายได้สูงถึง 214 ล้านล้านเยน มากกว่าความเสียหายจากแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ.2554 กว่า 10 เท่า และคิดเป็น 2 เท่าของงบประมาณรวมทั้งหมดของประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น รายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งยังกล่าวถึงความเป็นได้ด้วยว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดแมกนิจูด 8 ที่แนวแอ่งนังไก มีความเป็นได้สูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระลอก 2 ตามมาภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่ภายใน 1 สัปดาห์ที่แนวแอ่งนังไกนี้อีก

นักวิชาการยังชี้ว่าภูเขาไฟฟูจิซึ่งยังพร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อ คาดว่าอาจปะทุตามหลังมาภายในไม่กี่เดือนถึงไม่กี่ปี ทว่าหากปะทุพร้อมแผ่นดินไหวที่แนวแอ่งนังไก จะเกิดความเสียหายมหาศาลจนญี่ปุ่นอาจไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อได้

จะรักษาชีวิตรอดยามคับขันได้อย่างไร

นักวิชาการญี่ปุ่นกล่าวว่า เมื่อถึงเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไก คนอาจรู้สึกว่าต้องรีบคว้ามือถือมาตรวจสอบสถานการณ์ แต่ที่จริงจะไม่มีเวลาให้ทำอย่างนั้น และสัญญาณมือถือก็อาจใช้ไม่ได้ด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่จะรักษาชีวิตไว้ได้คือรีบหนีออกจากพื้นที่อันตรายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  

วิธีเดียวที่จะหลบหนีจากคลื่นยักษ์ได้คือการปีนขึ้นสู่พื้นที่ที่สูงกว่า เนื่องจากสึนามิตามมาหลังเกิดแผ่นดินไหว ดังนั้น หากอยู่ใกล้ชายฝั่งหรือแม่น้ำ และรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรง ให้รีบอพยพไปพื้นที่สูงโดยเร็วที่สุด ก่อนที่เส้นทางหลบหนีจะถูกตัดขาด และหนีไม่ทัน

ภาพจาก bosai.yomiuri.co.jp
การจำลองสถานการณ์โดยเมืองโอวาเสะ จังหวัดมิเอะ ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประชาชนราว 17,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ใจกลางเมืองเริ่มอพยพหลังเกิดแผ่นดินไหว 20 นาที จะมี 3 พันกว่าคนที่หนีสึนามิไม่ทัน แต่หากประชาชนเริ่มอพยพหลังเกิดแผ่นดินไหว 5 นาที ทุกคนจะสามารถหนีสึนามิได้อย่างปลอดภัย

สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเคยประเมินไว้ว่า หากผู้คนจำนวนมากเริ่มอพยพแต่เนิ่นๆ ยอดเสียชีวิตทั่วประเทศจะลดลงไปถึงราวร้อยละ 80 ทีเดียว จึงมีแผนอพยพประชาชนในเขตเสี่ยงสูงไปศูนย์อพยพล่วงหน้าถึง 1 สัปดาห์

สำหรับคนที่อยู่ไกลจากชายฝั่งและแม่น้ำ ยังต้องระวังเรื่องเฟอร์นิเจอร์และข้าวของหล่นใส่ นอกจากนี้ ไฟฟ้า ประปา แก๊ส การคมนาคม และอินเทอร์เน็ตอาจถูกตัดการเชื่อมต่อนานถึง 1 สัปดาห์ และในบางกรณีอาจมากกว่า 1 เดือน คนที่อยู่ในญี่ปุ่นจึงต้องเตรียมสิ่งจำเป็นให้พร้อมล่วงหน้าให้พอระยะเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะน้ำ อาหาร ยา ห้องน้ำแบบพกพา ชุดชั้้นในใช้แล้วทิ้ง แผ่นอนามัย ผ้าเปียก ถุงขยะ เป็นต้น

ความท้าทายในการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไก

หลายคนอาจลืมบทเรียนจากแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ.2554 ไปแล้วว่า “สิ่งสำคัญที่จะรักษาชีวิตรอดได้คือการป้องกันไว้ก่อน” ปัจจุบันกลับมีประชากรกระจุกตัวหนาแน่นขึ้นตามพื้นที่ใกล้ชายฝั่งแทบทุกจังหวัด เพราะยิ่งใกล้ทะเลราคาที่ดินยิ่งถูก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจึงมีคนที่ย้ายไปปลูกบ้าน หรือซื้ออพาร์ตเมนต์ในแถบนี้ โดยเฉพาะครอบครัวที่เพิ่งมีลูก เพราะคิดว่าน่าจะเลี้ยงลูกง่าย แต่ไม่ได้นึกไปถึงเรื่องสึนามิเลย

”ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล” ภาพจาก tokiwa-system.com
นอกจากนี้ บ้านพักคนชราที่สร้างใหม่ติดทะเลก็เยอะขึ้น อย่างในจังหวัดมิยาซากิในภูมิภาคคิวชู เคยมีบ้านพักคนชราในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 27 แห่งเมื่อ พ.ศ.2553 แต่ปัจจุบันมีทั้งสิ้นเกิน 100 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3.7 เท่า ผู้อำนวยการบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งกล่าวว่า แม้จะทราบดีว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่มีงบประมาณพอจะสร้างบ้านพักคนชราที่อื่น และอยากให้ผู้สูงอายุในท้องถิ่นสามารถใช้บริการได้ด้วยเงินบำนาญของพวกเขาที่มีจำกัด

สถานที่พักพิงหลายแห่งวางแผนอพยพผู้คนด้วยรถยนต์ไปพื้นที่สูงหรือศูนย์อพยพที่อยู่ใกล้เคียง แต่การอพยพผู้สูงอายุมีความลำบากหลายประการ ส่วนบ้านพักคนชราข้างต้นมีนโยบายไม่อพยพออกไปข้างนอก แต่อพยพไปที่ชั้น 2 ของอาคาร หากคลื่นสูงหรือน้ำท่วมถึงตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 5 เมตร แม้แต่ชั้น 2 จะถูกคลื่นสึนามิกลืนหายไป แต่ผู้อำนวยการกล่าวว่าไม่มีทางเลือกอื่น

ยิ่งไปกว่านั้นในหลายท้องถิ่นยังขาดความพร้อมในการเตรียมแผนรับมือ ทั้งยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถใช้เป็นศูนย์อพยพได้ในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งประชาชนจำนวนมากยังไม่ค่อยจะรู้สึกว่าภัยพิบัติรุนแรงอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ มีความลังเลหากต้องอพยพล่วงหน้า 1 สัปดาห์เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุจริงหรือไม่ บ้างก็กักตุนเสบียงและของจำเป็นในบ้านน้อยไป และผู้สูงอายุไม่ตื่นตัวเรื่องข้อมูลข่าวสารเท่าที่ควร 
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยระบบป้องกันภัยพิบัติเล่าว่า ประชาชน 80% ถึง 90% ตระหนักว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น แต่พอถูกถามว่า “คิดไหมว่าอาจเกิดขึ้นในคืนนี้” คนที่ตอบว่า “คิด” ลดลงเหลือราว 20% เท่านั้น คือแม้คนส่วนใหญ่จะคิดว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นในวันหนึ่ง แต่ไม่ค่อยรู้สึกว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง

แม้คนจำนวนไม่น้อยจะคอยกักตุนเสบียงเผื่อไว้ แต่ส่วนใหญ่กักตุนอาหารไว้เพียงพอสำหรับ 3 วันเท่านั้น แม้แต่ในหมู่คนที่มาฟังบรรยายเรื่องการป้องกันภัยพิบัติ มีเพียง 10% เท่านั้นที่บอกว่ามีตุนไว้เพียงพอเกิน 7 วัน ที่ปรึกษาท่านนี้ย้ำเน้นว่า “สิ่งสำคัญคือไม่ใช่เตรียมพร้อมต่อภัยพิบัติเล็กๆ น้อยๆ แต่เราต้องเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติขนาดใหญ่"

สัปดาห์หน้าจะเล่าให้ฟังต่อนะคะว่า ถ้าอยู่ในญี่ปุ่นจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรได้บ้าง และยามฉุกเฉินควรทำอย่างไร

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น