กลุ่มสื่อต่างประเทศ รายงาน (18 ก.ย.) ข้อมูลกระทรวงเผยเมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.ย.) หนึ่งวันก่อนวันผู้สูงอายุ พบว่า 1 ใน 10 ของประชากรญี่ปุ่นมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ในขณะที่อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ตามสถิติทางประชากรศาสตร์ กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนประชากรโดยรวมอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 29.1 ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในบรรดา 200 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระบุจำนวนผู้สูงอายุลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีสถิติเทียบเคียงได้ในปี 1950 โดยลดลงประมาณ 10,000 คนจากปีที่แล้วเหลือ 36.2 ล้านคน
จำนวนผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปทะลุ 20 ล้านคนเป็นครั้งแรก ผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 270,000 คนจากปีที่แล้วเป็น 12.5 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรญี่ปุ่น
ในอีกแง่หนึ่ง ประชากรวัยทำงานในกลุ่มผู้สูงอายุยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 19 ติดต่อกันในปี 2565 รวมเป็น 9.12 ล้านคน
อัตราการจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.2 เช่นกัน เกือบหนึ่งในเจ็ดของการจ้างงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้สูงอายุ อัตราส่วนผู้สูงอายุที่ทำงานของญี่ปุ่นจึงสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักๆ
แม้มีการสนับสนุนคนงานสูงอายุ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากวิกฤตทางประชากร โดยที่นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เตือนเมื่อเดือนมกราคม ว่า ญี่ปุ่น "จวนจะไม่สามารถรักษากลไกประชากรสังคมไว้ได้"
เขาเสริมว่าการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กเป็น “นโยบายที่สำคัญที่สุด” ของรัฐบาล และการแก้ปัญหานี้ “รอไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน กำลังประสบกับวิกฤตการณ์ที่คล้ายกัน โดยพยายามดิ้นรนเพื่อส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวมีลูกมากขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้นและความไม่พอใจทางสังคม
ในขณะที่ประเทศกำลังต่อสู้กับอัตราการเกิดที่ลดลงและการขาดแคลนแรงงานในสังคมสูงวัย กระทรวงฯ กล่าวว่าอัตราส่วนเหล่านี้คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อไป